ออสโมติก ไดยูเรติก (Osmotic diuretic)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 3 กรกฎาคม 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ:คือยาอะไร?
- ออสโมติก ไดยูเรติกมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- ออสโมติก ไดยูเรติกมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ออสโมติก ไดยูเรติกมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ออสโมติก ไดยูเรติกมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ออสโมติก ไดยูเรติกมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ออสโมติก ไดยูเรติกอย่างไร?
- ออสโมติก ไดยูเรติกมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาออสโมติก ไดยูเรติกอย่างไร?
- ออสโมติก ไดยูเรติกมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาขับปัสสาวะ (Diuretics Drugs)
- ยาไอโซซอร์ไบด์ (Isosorbide)
- แมนนิทอล (Mannitol)
- ความดันในกะโหลกศีรษะสูง (Increased intracranial pressure)
- สมองบวม (Brain Edema)
- เจ็บหน้าอกจากหัวใจขาดเลือด กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด อาการปวดเค้นหัวใจ (Angina Pectoris)
- ภาวะโพรงสมองคั่งน้ำ (Hydrocephalus)
บทนำ:คือยาอะไร?
ออสโมติก ไดยูเรติก (Osmotic diuretic) คือ ยาขับปัสสาวะที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการดูดกลับของน้ำและเกลือโซเดียมจากปัสสาวะ(ที่ไต)กลับสู่ร่างกาย ผลิตภัณฑ์ในทางคลินิกที่พบเห็นของยานี้จะเป็นลักษณะของยาฉีดและยารับประทาน
ในที่นี้ขอยกตัวอย่างของยาในกลุ่มนี้ที่มีการใช้อยู่บ่อยๆได้แก่
- Mannitol: มีลักษณะเป็นผลึกแข็งสีขาว มีรสหวานคล้ายน้ำตาลทราย ใช้ในการรักษาความดันในกะโหลกศีรษะสูง หรือใช้เป็นยาระบาย/ยาแก้ท้องผูกโดยใช้ผลิตภัณฑ์ในรูปแบบยารับประทาน ยานี้ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่ปัสสาวะไม่ออก และผู้ป่วยที่มีประวัติเป็น ภาวะหัวใจล้มเหลว
- ปIsosorbide: ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ และรักษาอาการเจ็บหน้าอกเนื่องจาก กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และภาวะหัวใจล้มเหลว รวมถึงโรคต้อหิน ภาวะโพรงสมองคั่งน้ำ และห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีโรคความดันโลหิตต่ำอย่างรุนแรง
ทั้งนี้อาจเปรียบเทียบข้อเหมือนและข้อแตกต่างทางเภสัชวิทยาระหว่างยาทั้ง 2 ตัวดัง กล่าวได้ดังนี้ เช่น
- Mannitol มีรูปแบบของผลิตภัณฑ์เป็นยาฉีดและยารับประทาน ในขณะที่ Isosorbide ถูกใช้ในลักษณะยารับประทานเท่านั้น
- Mannitol ใช้ลดความดันในกะโหลกศีรษะที่ได้รับบาดเจ็บ หรือใช้เป็นยาระบาย ขณะที่ Isosorbide ใช้รักษาอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และภาวะหัวใจล้มเหลว
- Mannitol จะยับยั้งการดูดกลับของน้ำที่บริเวณไตรวมถึงอิเล็กโทรไลต์/เกลือแร่ในเลือด (อีเล็กโทรไลต์/Electrolyte) ต่างๆโดยก่อให้เกิดแรงดันออสโมติก (Osmotic pressure, แรงดันที่ป้องกันไม่ให้ของเหลวไหลออกจากหลอดเลือดหรือจากเซลล์) ขณะที่ Isosorbide ทำให้หลอดเลือดคลายตัว อีกทั้งลดแรงดันของหัวใจห้องล่างซ้าย และทำให้หลอดเลือดแดงทนต่อแรงดันได้ดีขึ้น
- Isosorbide มีการกระจายในร่างกายในบริเวณกล้ามเนื้อเรียบของหลอดเลือด ขณะที่ Mannitol จะกระจายตัวในบริเวณภายนอกของเซลล์ของร่างกาย (Extracellular)
- Mannitol มีระยะเวลาของการออกฤทธิ์ประมาณ 1.5 - 6 ชั่วโมง ส่วน Isosorbide ที่เป็นยาอมใต้ลิ้นมีระยะเวลาการออกฤทธิ์อยู่ที่ประมาณ 2 ชั่วโมง และประมาณ 4 - 6 ชั่วโมงในกรณีที่เป็นยารับประทาน
โดยการจะเลือกใช้ยาตัวใดของกลุ่มยาออสโมติก ไดยูเรติกในการรักษา ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของผู้ป่วยและดุลยพินิจของแพทย์เป็นสำคัญ กรณีของยา Mannitol จะพบเห็นการใช้แต่ในสถานพยาบาล แต่ยา Isosorbide จะมีการใช้ทั้งในสถานพยาบาลและหาซื้อได้จากตามร้านขายยาโดยทั่วไป
ออสโมติก ไดยูเรติกมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาออสโมติก ไดยูเรติกมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น
ก.Isosorbide:
- ใช้บำบัดรักษาโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (Angina)
- ใช้รักษาภาวะหัวใจล้มเหลว
ข.Mannitol:
- ลดอาการบวมของสมอง/สมองบวม
- ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ
ออสโมติก ไดยูเรติกมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาออสโมติก ไดยูเรติก คือ
ก. Isosorbide: จะออกฤทธิ์กระตุ้นให้หลอดเลือดเกิดการคลายตัว รวมถึงลดแรงดันของหัวใจห้องล่างซ้าย (Left ventricular pressure) ตลอดจนเพิ่มความสามารถในการทนต่อแรงดันของหลอดเลือดแดงได้ดีขึ้น
ข. Mannitol: จะออกฤทธิ์ยับยั้งการดูดกลับของน้ำและโซเดียมที่บริเวณไต รวมถึง อีเล็กโทรไลต์/เกลือแร่ต่างๆโดยก่อให้เกิดแรงดันที่มีชื่อเรียกว่า แรงดันออสโมติก จนเป็นที่มาของสรรพคุณ
ออสโมติก ไดยูเรติกมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาออสโมติก ไดยูเรติก มีรูปแบบการจัดจำหน่าย: เช่น
ก. Isosorbide:
- ยาแคปซูลชนิดรับประทาน ขนาด 20, 60 มิลลิกรัม/แคปซูล
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 10, 20, 50, 60 มิลลิกรัม/เม็ด
- ยาเม็ดชนิดอมใต้ลิ้น ขนาด 5 มิลลิกรัม/เม็ด
- สเปรย์ ขนาด 1.25 มิลลิกรัม/การใช้ 1 ครั้ง
- ยาฉีด ขนาด 10 มิลลิกรัม/10 มิลลิลิตร
ข. Mannitol:
- ยาฉีด ขนาดความเข้มข้น 20%
ออสโมติก ไดยูเรติกมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ขนาดการบริหารยา/ใช้ยาออสโมติก ไดยูเรติก จะขึ้นอยู่กับอาการป่วยและดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษามาประกอบกัน จึงแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละรายเป็นกรณีๆไป
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาออสโมติก ไดยูเรติก ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาลและเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาหรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยาออสโมติก ไดยูเรติกอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาและ/หรือกับอาหารเสริมอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาออสโมติก ไดยูเรติกสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้ เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรรับประทานยาออสโมติก ไดยูเรติกให้ตรงเวลา
ออสโมติก ไดยูเรติกมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาออสโมติก ไดยูเรติกมีผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
ก.Isosorbide: สามารถทำให้เกิดอาการข้างเคียง เช่น ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นเร็ว ปวดหัว วิงเวียน ใจสั่น คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง อ่อนเพลีย ปากคอแห้ง เจ็บหน้าอก ปวดหลัง บวมน้ำ ท้องผูกหรือท้องเสีย ท้องอืด และอาหารไม่ย่อย
ข. Mannitol: สามารถทำให้เกิดอาการข้างเคียง เช่น อาการ แน่นหน้าอก ไอ หายใจลำบาก คัดจมูก เจ็บคอ/คออักเสบ อาเจียน และปวดหัว
มีข้อควรระวังการใช้ออสโมติก ไดยูเรติกอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ออสโมติก ไดยูเรติก เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยากลุ่มนี้
- ห้ามใช้ยากลุ่มนี้กับผู้ป่วยที่มีภาวะปัสสาวะไม่ออก
- ห้ามใช้ยา Mannitol กับผู้ป่วยด้วยอาการปอดบวมน้ำ ผู้ที่มีภาวะเลือดออกที่สมอง ผู้ที่มีภาวะสูญเสียน้ำ/ภาวะขาดน้ำในระดับรุนแรง ผู้ป่วยโรคไตวาย ผู้ที่มีภาวะหัวใจล้มเหลว
- ห้ามใช้ยา Isosorbide กับผู้ชายที่มีสมรรถภาพทางเพศเสื่อม/นกเขาไม่ขัน
- ห้ามใช้ยากลุ่มนี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก) และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
- ห้ามปรับขนาดการใช้ยานี้หรือหยุดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง
- หากพบอาการแพ้ยานี้ต้องหยุดการใช้ยานี้ทันที แล้วรีบพาผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว/ทันที/ฉุกเฉิน
- มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดทุกครั้ง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาออสโมติก ไดยูเรติกด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่น กัน
ออสโมติก ไดยูเรติกมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาออสโมติก ไดยูเรติกมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- ห้ามรับประทานยา Isosorbide ร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ด้วยจะก่อให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำอย่างรุนแรง
- การใช้ยา Isosorbide ร่วมกับยาลดความดันของหลอดเลือดแดงในถุงลมปอด เช่นยา Todalafil จะทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำอย่างมาก จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ร่วมกัน
- การใช้ยา Mannitol ร่วมกับยา Amikacin อาจทำให้เกิดความเสียหายต่อไตของผู้ป่วย หรือทำให้สูญเสียการได้ยิน/หูหนวก หากใช้ยาทั้งสองตัวกับผู้สูงอายุจะเกิดผลกระทบดังกล่าวได้ง่าย หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยา Mannitol ร่วมกับยา Droperido (ยาจิตเวช) อาจทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะจนก่อให้เกิดอันตรายติดตามมา หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วม กัน
ควรเก็บรักษาออสโมติก ไดยูเรติกอย่างไร?
ควรเก็บยาออสโมติก ไดยูเรติก: เช่น
- เก็บยาภายใต้อุณหภูมิระหว่าง 20 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
- เก็บยาให้พ้น แสง/แสงแดด และความชื้น
- ไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ยาออสโมติก ไดยูเรติก มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาออสโมติก ไดยูเรติก มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Corodil (โคโรดิล) | T.O. Chemicals |
Hartsorb (ฮาร์ทซอร์บ) | Siam Bheasach |
Imdex (อิมเด็กซ์) | CCM Pharma |
Ismo-20 (อีสโม-20) | Riemser |
Isobide (ไอโซไบด์) | Patar Lab |
Isobinate (ไอโซไบเนท) | General Drugs House |
Isoket (ไอโซเคท) | Schwarz Pharma |
Isoket 0.1% IV (ไอโซเคท 0.1% ไอวี) | Schwarz Pharma |
Isoket Spray (ไอโซเคท สเปรย์) | Schwarz Pharma |
Isopen-20 (ไอโซเพน-20) | Siam Bheasach |
Isorem (ไอโซเรม) | Remedica |
Isosorbide Dinitrate GPO (ไอโซซอร์ไบด์ ไดไนเตรท จีพีโอ) | GPO |
Isotrate (ไอโซเตรท) | Berlin Pharm |
Monolin/Monolin SR (โมโนลิน/โมโนลิน เอสอาร์) | Berlin Pharm |
Monosorb (โมโนซอร์บ) | GPO |
Monotrate (โมโนเตรท) | Sun Pharma |
Solotrate 20 (โซโลเตรท 20) | Zydus Cadila |
Sorbinate SR 60 (ซอร์ไบเนท เอสอาร์ 60) | Zydus Cadila |
Sornil (ซอร์นิล) | Utopian |
Mannitol Thai Otsuka (แมนนิทอล ไท โอสุกะ) | Thai Otsuka |
Mannitol 20% ANB (แมนนิทอล 20% เอ เอน บี) | ANB |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Osmotic_diuretic [2022,July2]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Isosorbide [2022,July2]
- https://www.drugs.com/monograph/mannitol.html [2022,July2]
- https://www.pharmacology2000.com/Autacoids/Renal/osmo1.htm [2022,July2]
- https://www.rxlist.com/diuretics/drugs-condition.htm#What%20are [2022,July2]
- https://www.anaesthesiamcq.com/FluidBook/fl8_5.php [2022,July2]
- https://www.healthline.com/health/diuretics [2022,July2]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/isosorbide%20mononitrate?mtype=generic [2022,July2]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/isosorbide%20dinitrate?mtype=generic [2022,July2]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/mannitol-index.html?filter=3&generic_only= [2022,July2]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/isosorbide-mononitrate-index.html?filter=3&generic_only= [2022,July2]