หู: กายวิภาคหู (Ear anatomy) / สรีรวิทยาของหู (Ear physiology)
- โดย แพทย์หญิง วัชราภรณ์ บัวโฉม
- 13 ตุลาคม 2562
- Tweet
- บทนำ
- หูแต่ละชั้นประกอบด้วยอะไรบ้าง? และทำหน้าที่อย่างไร?
- ถ้าการได้ยินลดลง จะมีความผิดปกติเกิดที่หูส่วนไหนได้บ้าง?
- บรรณานุกรม
- โรคหูคอจมูก โรคทางหูคอจมูก โรคระบบหูคอจมูก (ENT disease)
- การตรวจทางหูคอจมูก การตรวจทางอีเอ็นที (Clinical examination of Ear Nose Throat or Clinical ENT examination)
- เส้นประสาทสมอง (Cranial nerve)
- มะเร็งหู (Ear cancer)
- หูดับ หูตึง หูหนวก (Deaf)
- หูอื้อ (Tinnitus)
- ยาหยอดหู (Ear drops)
- โรคหินปูนในหู โรคตะกอนหินปูนหูชั้นในหลุด (Benign Paroxysmal Positional Verti go: BPPV)
- ปวดหู (Earache)
- ภาวะขี้หูอุดตัน (Impacted cerumen)
- แก้วหูทะลุ (Ruptured eardrum)
บทนำ
หู (Ear) ของมนุษย์แบ่งออกเป็น 3 ชั้น คือ
- หูชั้นนอก (External ear)
- หูชั้นกลาง (Middle ear)
- และหูชั้นใน (Inner ear)
ซึ่งเสียงจะต้องเดินทางผ่านหูทั้ง 3 ชั้นและผ่านทาง เส้นประสาทสมอง คู่ที่ 8 ไปสู่สมองทำให้เราได้ยินเสียงขึ้น และรับรู้ว่าเป็นเสียงอะไร
หูแต่ละชั้นประกอบด้วยอะไรบ้าง? และทำหน้าที่อย่างไร?
หูแต่ละชั้นมีส่วนประกอบและหน้าที่ดังนี้
ก. หูชั้นนอก:
- หูชั้นนอกประกอบด้วย
- ใบหู (Pinna หรือ Auricle) ที่สามารถมองเห็นจากภายนอก ประกอบ ด้วยกระดูกอ่อนซึ่งยืดหยุ่นและพับงอได้ ยกเว้นบริเวณติ่งหูจะไม่มีกระดูกอ่อน ใบหูจะยึดติดกับศีรษะด้วยกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น
- ต่อจากใบหูจะเป็นช่องหู(Outer/ External ear canal) ส่วนของช่องหูด้านนอกจะมีขนและต่อมสร้างขี้หู ซึ่งทำหน้าที่สร้างขี้หูออกมา
- ด้านในสุดของหูชั้นนอกจะเป็นเนื้อเยื่อ เรียกว่า แก้วหู หรือบางท่านเรียกว่า เยื่อแก้วหู (Eardrum หรือ Tympanic membrane) เป็นตัวกั้นระหว่างหูชั้นนอกและหูชั้นกลาง
- หน้าที่ของหูชั้นนอก:
หูชั้นนอก จะทำหน้าที่เปรียบเสมือนเครื่องขยายเสียงและส่งผ่านเสียงไปยังหูชั้นกลาง
ข. หูขั้นกลาง:
- หูชั้นกลางประกอบด้วย กระดูกชิ้นเล็กมาก 3 ชิ้นและกล้ามเนื้อ ซึ่งทำหน้าที่ในการส่งผ่านและขยายเสียง และป้องกันเสียงที่ดังมากๆ ไม่ให้เข้าไปทำลายหูชั้นใน ซึ่งกระดูกฯทั้ง3ชิ้นได้แก่
- กระดูกรูปค้อน (Malleus)
- กระดูกรูปทั่ง (Incus)
- และกระดูกรูปโกลน (Stapes)
- นอกจากนี้ยังมี
- ท่อยูสเตเชียน(Eustachian tube) ซึ่งเป็นท่อเชื่อมระหว่างหูชั้นกลางและหลังโพรงจมูก โดยท่อนี้จะมีหน้าที่ปรับความดันในหูชั้นกลางให้เท่ากับบรรยากาศภายนอก ซึ่งจะเห็นได้จากเวลาเราขึ้นที่สูง หรือโดยสารเครื่องบินจะทำให้หูอื้อได้ นอกจากนี้ยังมีหน้าที่ป้องกันสิ่งแปลกปลอมจากบริเวณช่องคอหลังโพรงจมูกย้อนเข้ามาในหูชั้นกลาง และเป็นทางระบายสารคัดหลั่งต่างๆจากหูชั้นกลางลงสู่ช่องคอหลังโพรงจมูกอีกด้วย
ค. หูชั้นใน:
ส่วนประกอบและหน้าที่ของหูชั้น คือ
- ส่วนรับฟังเสียง เรียกว่าคอเคลีย (Cochlea) เป็นรูปก้นหอย เป็นอวัยวะรับฟังเสียงที่ส่งต่อมาจากหูชั้นกลาง และส่งผ่านไปยังเส้นประสาทหู(เส้นประสาทสมอง คู่ที่8) ไปแปลผลที่สมอง ทำให้เราสามารถรับรู้ความหมายว่าเป็นเสียงอะไร
- นอกจากนี้ในหูชั้นใน ยังมีอวัยวะที่ควบคุมระบบการทรงตัวอีกด้วย เรียกว่า เวสติบูลา (Vestibular system ซึ่งมีส่วนประกอบสำคัญคือท่อรูปครึ่งวงกลม/Semicircular canal 3 ท่อที่ภายในบรรจุของเหลวที่ควบคุมระบบการทรงตัวของร่างกาย) ซึ่งถ้ามีความผิดปกติ จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการเวียนศีรษะได้
ถ้าการได้ยินลดลง จะมีความผิดปกติเกิดที่หูส่วนไหนได้บ้าง?
โดยทั่วไปถ้าผู้ป่วยมาด้วยการได้ยินลดลง แพทย์ที่ตรวจคงต้องหาว่ามีความผิดปกติของหูชั้นนอก หูชั้นกลาง หรือหูชั้นใน ซึ่งถ้ามีความผิดปกติของหู ไม่ว่าจะหูชั้นใดก็ตาม ก็เป็นสาเหตุทำให้การได้ยินลดลงได้ โดย
- ถ้าเป็นความผิดปกติของหูชั้นนอกและหูชั้นกลาง มักเป็นความผิดปกติแบบคอนดักทีฟ หรือการได้ยินผ่านกระดูกหูผิดปกติ (Conductive hearing loss)
- แต่ถ้าเป็นความผิดปกติของหูชั้นใน จะเกิดการสูญเสียการได้ยินทางระบบประสาท (Sensory neural hearing loss)
บรรณานุกรม
- Christina L. Runge-Samuelson and David R. Friedland .Anatomy of the Auditory System. . In: Cummings Otolaryngology: Head and Neck.5th ed.vol.2.Philadelphia,USA:Lippincott Williams & Wilkins; 2010: 1831-37.
- Mills JH, Khariwala SS, Weber PC. Anatomy and physiology of hearing. In: Bailey BJ, Johnson JT, Newlands SD, editors. Head and Neck Surgery-Otolaryngology. 4th ed. Vol. 2. Philadelphia, USA: Lippincott Williams & Wilkins; 2006: p.1883-1903.
- Wade Chien and Daniel J. Lee. Physiology of the Auditory system. In: Cummings Otolaryngology: Head and Neck.5th ed.vol.2.Philadelphia,USA:Lippincott Williams & Wilkins; 2010:1838-49.