สารระงับเหงื่อ (Antiperspirant)
- โดย พรลภัส บุญสอน
- 16 กรกฎาคม 2565
- Tweet
สารบัญ
- สารระงับเหงื่อคืออะไร?
- สารระงับเหงื่อแบ่งเป็นกี่ประเภท?
- สารระงับเหงื่อมีรูปแบบจัดจำหน่ายอย่างไร?
- มีข้อบ่งใช้สารระงับเหงื่ออย่างไร?
- มีข้อห้ามใช้สารระงับเหงื่ออย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้สารระงับเหงื่ออย่างไร?
- การใช้สารระงับเหงื่อในหญิงมีครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นอย่างไร?
- การใช้สารระงับเหงื่อในผู้สูงอายุควรเป็นอย่างไร?
- การใช้สารระงับเหงื่อในเด็กควรเป็นอย่างไร?
- สารระงับเหงื่อมีอาการไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- สรุป
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- รูปแบบยาเตรียม (Pharmaceutical Dosage Forms)
- ภาวะหลั่งเหงื่อมาก (Hyperhidrosis)
- แอนตี้มัสคารินิก (Antimuscarinic drugs)
- โบทอกซ์ หรือโบทูไลนัมท็อกซิน (Botox or Botulinum Toxin)
- อะลูมิเนียม คลอไรด์ (Aluminium Chloride)
- กลิ่นตัว (Body smell)
สารระงับเหงื่อคืออะไร?
สารระงับเหงื่อ (Antiperspirant) คือ สารใช้ลดการเกิดเหงื่อและกลิ่นกาย/กลิ่นตัวในผู้ที่มีเหงื่อออกมากผิดปกติ, เหงื่อออกมากแม้ในเวลากลางคืน, เหงื่อออกมากจนส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน, และทำให้มีกลิ่นกายไม่พึงประสงค์ตามมา
สารระงับเหงื่อแบ่งเป็นกี่ประเภท?
สารระงับเหงื่อ แบ่งออกเป็นประเภทต่างๆ เช่น
- ประเภทที่เป็นเกลือของอะลูมิเนียม(Aluminium salts): เช่น อะลูมิเนียม คลอไรด์ เฮกซะไฮเดรต(Aluminium chloride hexahydrate หรืออีกชื่อคือ Aluminium chloride), อะลูมิเนียม คลอโรไฮเดรต (Aluminium chlorohydrate), อะลูมิเนียม เซอร์โคเนียม ไตรคลอโรไฮเดรต (Aluminium zirconium trichlorohydrate)
- ประเภทที่เป็นยากดการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ (Anticholinergics): เช่น ไกลโคไพโรเลต (Glycopyrrolate), อ็อกซี่บิวทินิน (Oxybutynin), เบนซ์โทรปีน (Benztropine), โพรแพนทีลีน (Propantheline)
- ประเภทที่เป็นยาที่ทำให้กล้ามเนื้อหย่อนตัวหรือคลายตัว (Neuromuscular blocking agents): เช่น สารพิษโบทูลินั่ม หรือ โบทูลินั่มท็อกซิน (Botulinum toxin หรือชื่อการค้าคือ Botox®)
สารระงับเหงื่อมีรูปแบบจัดจำหน่ายอย่างไร?
สารระงับเหงื่อมีรูปแบบจัดจำหน่าย: เช่น
ก. ประเภทที่เป็นเกลือของอะลูมิเนียม: มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- โลชั่น (Lotion)
- ครีม (Cream)
- แท่ง (Stick)
- ผง (Powder)
- สเปรย์ (Aerosol) และ
- ยาน้ำใส (Solution)
ข. ประเภทเป็นยากลุ่ม Anticholinergics: มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาเม็ด (Tablet)
- ยาน้ำใส (Solution)
ค. ประเภทโบทอกซ์(Botulinum toxin): มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- เป็นยาผง สำหรับใช้เตรียมเป็นยาฉีด (Powder for Solution for Injection)
อนึ่ง: อ่านเพิ่มเติมเรื่องรูปแบบต่างๆของยาแผนปัจจุบัน ได้จากเว็บ haamor.com บทความเรื่อง รูปแบบยาเตรียม
มีข้อบ่งใช้สารระงับเหงื่ออย่างไร?
ข้อบ่งใช้สารระงับเหงื่อ: เช่น
- ลดการเกิดเหงื่อและกลิ่นไม่พึงประสงค์ที่เกิดจากเหงื่อบริเวณใต้วงแขน (รักแร้) ฝ่ามือ ฝ่าเท้า และ/หรือ หนังศีรษะ
- รักษาภาวะเหงื่อออกมากเกินไป/ภาวะหลั่งเหงื่อมาก(Hyperhidrosis)
มีข้อห้ามใช้สารระงับเหงื่ออย่างไร?
มีข้อห้ามใช้สารระงับเหงื่อ: เช่น
- ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้ยา/แพ้สารระงับเหงื่อชนิดนั้นๆ
- ห้ามใช้ ผ้า พลาสติก หรือวัสดุอื่นๆ พันบริเวณที่ทาสารระงับเหงื่อ เพราะอาจทำให้สารนี้ถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายมากเกินไป จนอาจเกิดพิษต่อผิวหนัง และ/หรือต่อร่างกายได้
- ห้ามใช้สารระงับเหงื่อกลุ่มที่เป็นยากลุ่ม Anticholinergics ในผู้ป่วยโรคต้อหิน, โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอมจี (Myasthenia Gravis: MG), โรคความดันโลหิตสูงที่แพทย์ยังไม่สามารถควบคุมอาการได้, โรค/ภาวะหัวใจล้มเหลว, ภาวะที่มีอาการอุดกั้นของท่อปัสสาวะอย่างรุนแรง
- ห้ามฉีดยาโบทอกซ์ (Botulinum toxin)เมื่อมีการติดเชื้อในบริเวณที่จะฉีดยา, มีนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ(เช่น นิ่วในท่อไต), มีภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ร่วมกับภาวะกระเพาะปัสสาวะอักเสบ, มีภาวะกล้ามเนื้อทำงานผิดปกติชนิดทั่วร่างกาย เช่น โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอมจี
มีข้อควรระวังการใช้สารระงับเหงื่ออย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้สารระงับเหงื่อ เช่น
- ระวังการใช้สารระงับเหงื่อประเภทเกลือของอะลูมิเนียม: เมื่อมีแผลที่ผิวหนัง, หรือมีรอยแผลถลอกบริเวณผิวหนังที่สัมผัสยานี้, และ/หรือ ใช้หลังจากการโกนขนทันที
- หากใช้เกลือของอะลูมิเนียมแล้วมีอาการระคายเคือง คัน แดง มีรอยแผลถลอก หรือมีผื่นขึ้นบริเวณที่ใช้สารนี้ ควรลดความถี่ในการใช้ลง, แต่หากมีอาการแย่ลง หรือ มีอาการรุนแรง ควรหยุดใช้สารระงับเหงื่อทันที
- เมื่อใช้เกลือของอะลูมิเนียมในรูปแบบสเปรย์: ควรหลีกเลี่ยงการฉีดพ่นบริเวณใบหน้าและปาก เพื่อป้องกันการสูดหายใจนำสารนี้เข้าไปในปอด
- ระวังการใช้ยาโบทอกซ์ในผู้ที่มีปัญหาการกลืน, หรือใช้ในขณะที่สำลักเอาน้ำหรืออาหารเข้าไปในปอด, โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกำลังเข้ารับการรักษาภาวะกล้ามเนื้อหดตัวในบริเวณลำคอและไหล่, เมื่ออายุมากกว่า 65 ปี, มีโรคที่เจ็บป่วยอย่างรุนแรง, มีโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาทส่วนกลาง เช่น เส้นประสาทอักเสบ(Motor neutopathy), มีการอักเสบของกล้ามเนื้อหรือของผิวหนังในบริเวณที่จะฉีดยานี้
- ระวังการใช้ยาโบทอกซ์ร่วมกับยาต่อไปนี้ เช่น ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics), ยากลุ่ม Anticholinesterase drug (Acetylcholinesterase inhibitor) , ยาคลายกล้ามเนื้อ, เพราะจะส่งผลให้ยาโบทอกซ์ออกฤทธิ์มากเกินไปจนอาจเกิดอาการไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง)จากการใช้โบทอกซ์เพิ่มขึ้นได้
- นอกจากการใช้สารระงับเหงื่อแล้ว ผู้ป่วยควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ส่งผลให้เหงื่อออกมาก เพื่อลดโอกาสเกิดเหงื่อ และเพื่อเพิ่มความมั่นใจในการดำรงชีวิตประจำวัน เช่น ลดการรับประทานอาหารรสจัด และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์, สวมเสื้อผ้าที่ไม่รัดแน่น, สวมใส่เสื้อผ้า/เครื่องนุ่งห่มที่ระบายอากาศได้ดี เป็นต้น
การใช้สารระงับเหงื่อในหญิงมีครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นอย่างไร?
สารระงับเหงื่อทั้งในรูปแบบของ เกลือของอะลูมิเนียม, ยากลุ่ม Anticholinergics, และยาโบทอกซ์, เป็นสาร/ยาที่ทำให้เกิดความผิดปกติต่อตัวอ่อนในครรภ์ของสัตว์ ทดลอง แต่ยังไม่เคยมีการศึกษาในมนุษย์ ดังนั้น หญิงตั้งครรภ์ หรือหญิงให้นมบุตร จึงควรใช้สาร/ยาเหล่านี้ก็ต่อเมื่อมีการประเมินจากแพทย์ ระหว่างประโยชน์ที่ได้รับ และความเสี่ยงต่อความผิดปกติของทารกในครรภ์ ว่าเกิดประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น
การใช้สารระงับเหงื่อในผู้สูงอายุควรเป็นอย่างไร?
การใช้สารระงับเหงื่อในผู้สูงอายุควรเป็นดังนี้ เช่น
- สารระงับเหงื่อประเภทเกลือของอะลูมิเนียม: สามารถใช้ได้ในผู้สูงอายุ แต่ต้องเฝ้าระวังผลข้างเคียงเรื่องผื่นผิวหนัง เพราะผู้สูงอายุเป็นวัยที่มีผิวแห้ง จึงอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอาการไม่พึงประสงค์/ผลข้างเคียงดังกล่าวต่อผิวหนังบริเวณที่ใช้สารระงับเหงื่อ
- ระวังการใช้สารระงับเหงื่อประเภทยากลุ่ม Anticholinergics: ในผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวต่อไปนี้ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคจิต เพราะอาการไม่พึงประสงค์/ผลข้างเคียงจากการใช้ยาระงับเหงื่อกลุ่มนี้อาจส่งผลให้การดำเนินโรค/ธรรมชาติของโรคแย่ลง
- การใช้ยาโบทอกซ์ในผู้สูงอายุ: ควรเริ่มให้ยาในขนาดต่ำสุดของขนาดยาที่แนะนำให้ใช้ในผู้ใหญ่ เพื่อลดโอกาสเกิดผลข้างเคียงจากยานี้ที่อาจพบได้สูงขึ้นในผู้สูงอายุ
การใช้สารระงับเหงื่อในเด็กควรเป็นอย่างไร?
การใช้สารระงับเหงื่อในเด็ก(นิยามคำว่าเด็ก) ควรเป็นดังนี้ เช่น
- สารประเภทที่เป็นเกลือของอะลูมิเนียม: ยังไม่มีข้อมูลด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการใช้กับเด็ก, ดังนั้น แพทย์จะใช้ยานี้ในเด็กเฉพาะเมื่อจำเป็นเท่านั้น
- สารประเภทที่เป็นยากลุ่ม Anticholinergics: สามารถใช้ได้ในเด็ก โดยแพทย์จะปรับขนาดยาตามน้ำหนักตัวของผู้ป่วยเด็กแต่ละคน
- สารประเภทเป็นยาโบทอกซ์: ยังไม่มีข้อมูลด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการใช้เพื่อระงับเหงื่อในเด็ก นอกจากนี้ยังไม่มีข้อมูลการใช้ยานี้ในเด็กที่อายุต่ำกว่า 2 ปี ดังนั้นการใช้ยานี้ในเด็ก จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป
สารระงับเหงื่อมีอาการไม่พึงประสงค์อย่างไร?
อาการไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง)จากการใช้สารระงับเหงื่อ เช่น
- ผลจากเกลือของอะลูมิเนียม: เช่น อาจทำให้ผิวหนังที่สัมผัสยา/สารระงับเหงื่อ เกิดผื่นผิวหนังอักเสบ คัน ระคายเคือง และอาจเกิดรอยดำในบริเวณผิวหนังที่ใช้สารระงับเหงื่อ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดจากตัวของเกลืออะลูมิเนียมเอง แต่เกิดจากน้ำหอมที่ถูกผสมลงไปในผลิตภัณฑ์
- ผลจากยากลุ่ม Anticholinergics: เช่น อาจทำให้เกิดอาการ ปากคอแห้ง เสมหะเหนียวข้น มองเห็นภาพไม่ชัด/ตาพร่า รูม่านตาขยาย ความดันในลูกตาสูง ท้องผูก ปัสสาวะลำบาก/ปัสสาวะขัด คลื่นไส้ หัวใจเต้นเร็ว และอาจมีผลต่อระบบประสาท เช่น มึนงง เห็นภาพหลอน ง่วงซึม ความจำเสื่อม
- ผลจากยาโบทอกซ์: เช่น อาจทำให้เกิดกล้ามเนื้อบางมัดที่อยู่ไกลจากบริเวณที่ฉีดยานี้อ่อนแรงลง จนส่งผลให้กลืนไม่ได้ พูดไม่ได้ หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย หนังตาตก เสียงแหบ กลั้นปัสสาวะไม่ได้, นอกจากนั้น การฉีดยานี้ที่พลาดตำแหน่ง อาจทำให้กล้ามเนื้อบริเวณใกล้เคียงเป็นอัมพาต
- ส่วนอาการไม่พึงประสงค์ที่พบตรงตำแหน่งที่ฉีดยานี้ เช่น ปวด กดเจ็บ แสบร้อน ฟกช้ำ เป็นต้น
สรุป
ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมสารระงับเหงื่อ) ยาแผนโบราญทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
บรรณานุกรม
- พิมลพรรณ พิทยานุกุล ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. กลิ่นตัว วิธีการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่น https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/277/กลิ่นตัว-วิธีระงับกลิ่นตัว/ [2022,July16]
- คณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ. คู่มือการใช้ยาอย่างสมเหตุผลตามบัญชียาหลักแห่งชาติ บัญชี จ(2) http://elib.fda.moph.go.th/fulltext2/word/17298/1.pdf [2022,July16]
- https://emedicine.medscape.com/article/1073359-medication#3 [2022,July16]
- https://www.drugs.com/mtm/aluminum-chloride-hexahydrate-topical.html [2022,July16]
- https://www.accessdata.fda.gov/scripts/cdrh/cfdocs/cfcfr/CFRSearch.cfm?CFRPart=350 [2022,July16]