สะอึก (Hiccup)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 5 ธันวาคม 2561
- Tweet
- บทนำ
- สะอึกมีสาเหตุจากอะไร?
- แพทย์วินิจฉัยสะอึกได้อย่างไร?
- รักษาสะอึกได้อย่างไร?
- สะอึกรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงไหม?
- ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
- ป้องกันสะอึกได้อย่างไร?
- บรรณานุกรม
- โรคทางเดินอาหาร โรคระบบทางเดินอาหาร (Digestive disease)
- ยาแก้สะอึก (Hiccups Medications)
- อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (Adverse Drug Reaction)
- ความเครียด ภาวะซึมเศร้า และโรคซึมเศร้า (Stress, Depression and Depressive disorder)
- โรคสมอง โรคทางสมอง (Brain disease)
- โรคจิต (Psychosis)
- กรดไหลย้อน (Gastroesophageal reflux disease)
- เจ็บคอ (Sore throat) คออักเสบ คอหอยอักเสบ (Pharyngitis )
บทนำ
สะอึก (Hiccup หรือ Hiccough หรือ Singultus) เป็นอาการไม่ใช่โรค เป็น อาการที่เกิด โดยฉับพลัน/เฉียบพลันจากการหดตัวทันทีของกะบังลมและตามมาด้วยการเคลื่อนปิดตัวเข้าหากันของทั้งสองข้างสายเสียงซ้ายและขวาอย่างรวดเร็วทันที ซึ่งการปิดตัวโดยเร็วของสายเสียงนี้จะทำให้เกิดเป็นเสียงสะอึก ที่ฝรั่งได้ยินว่า’Hic’จึงเป็นที่มาของคำว่า Hiccup/Hiccough
ทั้งนี้ สะอึกจะเกิดโดยไม่ได้ตั้งใจให้เกิด เกิดโดยอัตโนมัติ ร่างกายควบคุมอาการนี้ไม่ได้ ที่เรียกว่า รีเฟล็กซ์ (Reflex)
สะอึก โดยทั่วไป เป็นอาการเป็นๆหายๆ ซึ่งกลไกการเกิดที่แท้จริงยังไม่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อว่า เกิดจากมีการรบกวนเส้นประสาทของกะบังลมและกล้ามเนื้อระหว่างกระดูกซีโครง ซึ่งมีหน้าที่ช่วยการหายใจเช่นเดียวกับกะบังลม จึงส่งผลให้กะบังลมและกล้ามเนื้อระหว่างกระดูกซี่โครงนี้หดตัวทันที ส่งผลให้เกิดการหายใจเข้าทันที ตามด้วยทั้งสองสายเสียงปิดตามทันทีหลังหายใจเข้า จึงเกิดเป็นเสียงขึ้น ซึ่งทั้งหมดคือ อาการสะอึก ซึ่งสามารถพบเกิดได้ประมาณ 4-60 ครั้งของการสะอึกต่อ 1 นาที
อาการสะอึก อาจเกิดโดยมีเพียงอาการสะอึก หรือ อาจร่วมกับรู้สึกแน่นเล็กน้อยในบริเวณ ลำคอ หน้าอก ไหล่ และ/หรือ ช่องท้อง นำก่อนเกิดสะอึก
โดยทั่วไป อาการสะอึกจะหายได้เอง ภายในระยะเวลาเป็น นาที หรือ เป็นชั่วโมง
- แต่เมื่อสะอึกติดต่อกันนานเกิน 2 วันขึ้นไป เรียกว่า สะอึกต่อเนื่อง (Persistent hiccup) หรือ
- ถ้านานเกินกว่า 2 เดือน เรียกว่า สะอึกที่ควบคุมรักษายาก (Intractable hiccup)
สะอึก เป็นอาการพบได้บ่อยมาก ตั้งแต่ทารกในครรภ์จนถึงผู้สูงอายุ แต่จะพบได้บ่อยกว่า ในเด็กแรกเกิด เด็กเล็ก เด็กโต วัยรุ่น และวัยหนุ่มสาว แต่อาการจะพบน้อยลงเมื่อเป็นผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ ซึ่งอาการสะอึกนี้ มีโอกาสเกิดได้ใกล้เคียงทั้งในผู้หญิงและในผู้ชาย
สะอึกมีสาเหตุจากอะไร?
โดยทั่วไป อาการสะอึกเป็นอาการปกติทั่วไป ไม่ได้เกิดจากโรค โดยมีสาเหตุ หรือ ปัจ จัยเสี่ยง ที่พบบ่อย เช่น
- กินอิ่มมากเกินไป
- ดื่มเครื่องดื่มพวกที่ทำให้เกิดแก๊ส (Carbonate)
- ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- สูบบุหรี่จัด
- มีการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของกระเพาะอาหารทันที เช่น ดื่มเครื่องดื่มเย็นจัด หรือ กินอาหารร้อนจัด เมื่อท้องว่าง
- กินอาหารรสจัด เช่น เผ็ด เปรี้ยว เค็ม หวาน จัด
- หายใจเอาควันต่างๆเข้าไป
- ผลข้างเคียงจากยา /อาการไม่พึงประสงค์จากยา บางชนิด เช่น ยาเคมีบำบัดรักษาโรคมะเร็ง
- มีก้อนในบริเวณลำคอ เช่น คอพอก
- อาจสัมพันธ์กับปัญหาทางจิตใจ/อารมณ์ เช่น ตื่นเต้น เครียด กังวล กลัว ซึมเศร้า
- หลังการผ่าตัดช่องท้อง
- โรคสมอง เช่น โรคหลอดเลือดสมอง เนื้องอกสมอง
- โรคที่ระคายเคืองต่อประสาทกะบังลม เช่น ปอดอักเสบ/ปอดบวม หรือเยื่อหุ้มปอดอักเสบ
อนึ่ง การสะอึกต่อเนื่อง หรือ อาการสะอึกที่ควบคุมรักษายาก มักเป็นอาการสะอึกที่เกิดจากโรค โดยโรคที่พบเป็นสาเหตุบ่อย เช่น
- โรคทางสมองต่างๆ เช่น เนื้องอกสมอง โรคอัมพาต โรคอัมพฤกษ์ จากโรคหลอดเลือดสมอง หรือ Stroke และ โรคสมองอักเสบ
- โรคคออักเสบ/คอหอยอักเสบเรื้อรัง
- โรคกรดไหลย้อน
- โรคไตวาย
- โรคตับวาย
- ภาวะหลังผ่าตัดกระเพาะอาหาร หรือ ในช่องท้อง หรือ
- หลังการใช้ยาสลบ
แพทย์วินิจฉัยสะอึกได้อย่างไร?
โดยทั่วไป แพทย์วินิจฉัยอาการสะอึกได้จาก อาการของผู้ป่วย ไม่ต้องมีการตรวจอื่นเพิ่ม เติม(เรียกว่า การวินิจฉัยทางคลินิก) ยกเว้นเพื่อหาสาเหตุเมื่อเป็นการสะอึกต่อเนื่องนานเกิน 2 วันขึ้นไป ซึ่งวิธีตรวจขึ้นกับ ประวัติการเจ็บป่วยของผู้ป่วย อาการร่วมอื่นๆ เช่น ปวดท้อง และดุลพินิจของแพทย์ (เช่น การเอกซเรย์ช่องท้อง เมื่อผู้ป่วยปวดท้องร่วมด้วย เป็นต้น)
รักษาสะอึกได้อย่างไร?
โดยทั่วไป อาการสะอึกจะหายได้เอง ไม่ต้องรักษา แต่มีวิธีการทางภูมิปัญญาพื้นบ้าน ที่อาจช่วยให้สะอึกหายเร็วขึ้น โดยเชื่อว่า วิธีการเหล่านี้สามารถขัดขวางรีเฟล็กซ์ที่ทำให้เกิดสะ อึกได้ ซึ่งที่ใช้กันบ่อย เช่น
- การดมสารที่มีกลิ่นฉุน เช่น แอมโมเนีย /แอมโมเนียสปิริต
- กินของเปรี้ยวจัด เช่น น้ำมะนาว 100%
- การดื่มน้ำมากๆ
- การกินน้ำตาลทรายเม็ดโดยไม่ดื่มน้ำตาม
- การหายใจเข้าออกในถุงปิด เพื่อเพิ่มก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
- การกลั้นหายใจเป็นพักๆ
- การทำให้ตกใจ หรือ การเบี่ยงเบนความสนใจ
แต่เมื่อเป็นการสะอึกที่ต่อเนื่องนานเกิน 2 วันขึ้นไป หรือเมื่อสะอึกจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน แพทย์จะให้การรักษา เพราะการสะอึกจะก่อความรำคาญ และอาการทรมาน มีผลต่อ การกิน การดื่ม การพูด และการนอนหลับ ของผู้ป่วย ซึ่งเป็นการรักษาสาเหตุ เช่น รักษาโรคกรดไหลย้อน เป็นต้น
นอกจากนั้น คือ การรักษาบรรเทาอาการสะอึกด้วยการกินยา /ยาแก้สะอึก และบางครั้งอาจต้องเป็นการฉีดยาเมื่อการกินยาไม่ได้ผล เพื่อขัดขวางการทำงานของประสาทกะบังลม และประสาทกล้ามเนื้อระหว่างกระดูกซี่โครง
โดยยาที่ใช้ช่วยบันเทาอาการสะอึกมีหลายกลุ่ม ทั้งนี้การจะเลือกใช้ยากลุ่มใด ขึ้นกับ สาเหตุ ความรุนแรงของอาการ โรคประจำตัวของผู้ป่วย และดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา เช่น
- กลุ่มยาแก้อาเจียน เช่น Chlorpromazine, Metoclopramide)
- กลุ่มยากันชัก เช่น Valproic acid, Carbamazepine
- กลุ่มยาใช้ทางวิสัญญี/การดมยาสลบ เช่น Ketamine, Lidocaine
- ยาคลายกล้ามเนื้อ เช่น Baclofen, Orphenadrine)
- ยาแก้ปวดกลุ่มมอร์ฟีน เช่น Morphine
- ยารักษาทางจิตเวช เช่น Haloperidol
- ยาคลายเครียด เช่น Chloral hydrate
- ยาต้านเศร้า (เช่น Amitriptyline ) และ
- ยากระตุ้นประสาท เช่น Ephedrine, Methylphenidate
สะอึกรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงไหม?
อาการสะอึกโดยทั่วไป เป็นอาการไม่รุนแรง มักหายได้เองเสมอ ยกเว้น ส่วนน้อยมากที่สะอึกต่อเนื่องนานมากกว่า 2 วันขึ้นไป ซึ่งความรุนแรงของอาการสะอึกในผู้ป่วยกลุ่มนี้ ขึ้นกับ โรคที่เป็นสาเหตุ เช่น
- ความรุนแรงสูงเมื่อเกิดจาก โรคอัมพาต โรคอัมพฤกษ์
- แต่ความรุนแรงต่ำ เมื่อเกิดจากโรคกรดไหลย้อน เป็นต้น
อาการสะอึกโดยทั่วไป ไม่ก่อ ผลข้างเคียง ยกเว้นก่อความรำคาญ และเมื่อมีอาการนานต่อเนื่อง จะส่งผลถึงคุณภาพชีวิต เพราะขัดขวาง การกิน การดื่ม การนอน การพูด และเป็นสา เหตุให้เหนื่อย และอ่อนเพลีย
ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
ไม่จำเป็นต้องดูแลตนเองเป็นพิเศษ เมื่อมีอาการสะอึก เพราะเป็นอาการไม่รุนแรงและมักหายได้เองเสมอ ดังกล่าวแล้ว แต่เมื่อรำคาญ อาจลองใช้วิธีการทางภูมิปัญญาชาวบ้านดังกล่าวแล้วช่วย
แต่เมื่อสะอึกต่อเนื่องนานกว่า 2 วันขึ้นไป ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อหาสาเหตุ เพื่อได้รับการรักษาแต่เนิ่นๆ
ป้องกันสะอึกได้อย่างไร?
การป้องกันการสะอึกทั่วไปให้ได้ 100% เป็นไปไม่ได้ เพราะเป็นกลไกการเกิดโดยอัตโน มัติที่เราควบคุมได้ยาก แต่สามารถลดโอกาสเกิดได้ โดยหลีกเลี่ยงสาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยงต่างๆที่ได้กล่าวแล้วในหัวข้อ ‘สาเหตุฯ’
ส่วนการป้องกันอาการสะอึก ที่เกิดจากโรค คือ การป้องกันโรคต่างๆที่เป็นสาเหตุอาการสะอีก ที่ป้องกันได้ เช่น
- จำกัดอาหารไขมัน และไม่สูบบุหรี่ เพื่อป้องกันโรคอัมพาต โรคอัมพฤกษ์จากโรคหลอดเลือดสมอง
- การกินอาหารแต่ละมื้อปริมาณแต่พอควร ไม่กินอิ่มจนเกินไป
- ไม่กินอาหารรสจัด
- ไม่กินอาหารมื้อเย็นใกล้เคียงกับเวลานอน และควบคุมน้ำหนักตัว เพื่อป้องกันโรคกรดไหลย้อน เป็นต้น
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Hiccup [2018,Nov10]
- https://emedicine.medscape.com/article/775746-overview#showall [2018,Nov10]
- https://rarediseases.org/rare-diseases/hiccups-chronic/ [2018,Nov10]