สะอึก (Hiccup) - Update

สารบัญ

  • เกริ่นนำ
  • การเกิดการสะอีก
  • สัญญาณและอาการ
  • สาเหตุ
  • ทฤษฎีวิวัฒนาการเกี่ยวกับสะอีก
  • ระยะเวลา
  • การรักษา
  • การสะอีกกับสังคมและวัฒนธรรม

เกริ่นนำ

การสะอึก (ชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ singultus มาจากภาษาละตินที่แปลว่า “การสะอื้น การสะอึก” บางครั้งสะกดว่า hiccough) คือการหดตัวของกล้ามเนื้อโดยไม่ตั้งใจ (Myoclonic Jerk) บริเวณกะบังลม ซึ่งอาจเกิดขึ้นซ้ำหลายครั้งต่อนาที การสะอึกเป็นอาการที่เกิดขึ้นโดยไม่ตั้งใจที่เกี่ยวข้องกับวงรีเฟล็กซ์ (Reflex Arc) เมื่อถูกกระตุ้น รีเฟล็กซ์จะทำให้เกิดการหดตัวของกะบังลมอย่างรุนแรง ตามมาด้วยการปิดของฝาปิดกล่องเสียง (Epiglottis) ซึ่งเป็นโครงสร้างภายในลำคอ ส่งผลให้เกิดเสียง “ฮิก” ราวหนึ่งในสี่วินาทีถัดมา

การสะอึกอาจเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวหรือเกิดขึ้นต่อเนื่องเป็นชุด โดยความถี่หรือความห่างระหว่างการสะอึกแต่ละครั้งมักจะคงที่ โดยทั่วไปแม้ว่าการสะอึกที่เกิดขึ้นเป็นชุดมักหายเองได้โดยไม่ต้องลงมือรักษา แต่หลายครั้งเรามักใช้วิธีการรักษาแบบพื้นบ้านเพื่อลดระยะเวลาของการสะอึกได้หลายวิธี อย่างไรก็ตาม ในกรณีของการสะอึกที่เกิดขึ้นเรื้อรัง ผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องได้รับการรักษาทางการแพทย์ด้วย

การเกิดการสะอึก

การสะอึกสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกช่วงวัย และยังพบได้แม้กระทั่งในทารกขณะอยู่ในครรภ์ โดยความถี่ของการสะอึกจะลดลงเมื่ออายุเพิ่มขึ้น การสะอึกที่ไม่สามารถหยุดได้/การสะอึกที่ควบคุมรักษายาก (Intractable Hiccups) ซึ่งหมายถึงการสะอึกที่เกิดต่อเนื่องยาวนานเกินกว่าหนึ่งเดือนมักพบในผู้ใหญ่ และแม้ว่าการสะอึกจะเกิดขึ้นในผู้ชายและผู้หญิงได้ในอัตราเท่าๆ กัน แต่ผู้ชายมีแนวโน้มที่จะเกิดการสะอึกที่ยาวนานและไม่สามารถหยุดได้มากกว่าผู้หญิง

นอกจากในมนุษย์ ยังมีการศึกษาและสังเกตการสะอึกในสัตว์ต่างๆ เช่น แมว หนู กระต่าย สุนัข และม้าอีกด้วย

สัญญาณและอาการ

การสะอึกประกอบด้วยอาการเกร็งของกะบังลม ซึ่งอาจเกิดเป็นครั้งหรือต่อเนื่องเป็นชุด โดยมีช่วงห่างและระยะเวลาที่แตกต่างกัน อาการสะอึกมักเกิดขึ้นพร้อมกับการสั่นสะเทือนแบบสั้นๆ (สั้นกว่าครึ่งวินาที) บริเวณไหล่ หน้าท้อง ลำคอ หรือทั่วทั้งร่างกายนอกเหนือการควบคุมของผู้สะอึก

สาเหตุ

  • สาเหตุทางพยาธิสรีรวิทยา
  • อาหารติดอยู่ในหลอดอาหาร
  • กลืนอากาศเข้าไปมากเกินไป
  • กรดไหลย้อน (Gastroesophageal Reflux)
  • ไส้เลื่อนกระบังลม (Hiatal Hernia)
  • การรับประทานอาหารอย่างรวดเร็ว
  • การดื่มแอลกอฮอล์หรือเครื่องดื่มที่มีแก๊ส
  • การรับประทานอาหารรสจัด
  • การใช้ยาในกลุ่มฝิ่น (Opiate drugs)
  • การหัวเราะอย่างรุนแรงหรือยาวนาน

การสะอึกอาจเกิดจากพฤติกรรมทั่วไปหลายประการของมนุษย์ และอาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพร้ายแรง เช่น หัวใจขาดเลือด (myocardial infarction) แม้พบได้น้อย

  • การกระตุ้นของนิวเคลียสก่อนกระบังลมในเมดัลลา
    • ภาวะไตวาย
  • ความผิดปกติของระบบประสาทส่วนกลาง (Central Nervous System - CNS Disorders)
    • โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)
    • โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple Sclerosis)
    • เยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Meningitis)
    • ความเสียหายที่เส้นประสาท (Nerve Damage)
    • ความเสียหายที่เส้นประสาทเวกัส (Vagus Nerve) หลังการผ่าตัด
  • สาเหตุอื่น ๆ ที่ระบุได้แล้ว
    • แม้ว่าจะยังไม่มีคำอธิบายเกี่ยวกับกลไกทางพยาธิสรีรวิทยาที่ชัดเจน แต่มีประวัติบันทึกไว้ว่าการสะอึกเป็นอาการเริ่มต้นของโรคมาลาเรียชนิดเชื้อ Plasmodium vivax มาแล้วอย่างน้อยหนึ่งราย

ทฤษฎีวิวัฒนาการเกี่ยวกับการสะอึก

  • สมมุติฐานรีเฟล็กซ์การเรอ (The Burping Reflex Hypothesis)

สมมติฐานหลักกล่าวว่าการสะอึกวิวัฒนาการขึ้นมาเพื่อช่วยให้สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในวัยเยาว์สามารถบริโภคน้ำนมได้มากขึ้น เนื่องจากการประสานระหว่างการหายใจและการกลืนขณะดูดนมเป็นกระบวนการที่ซับซ้อน อากาศบางส่วนจะเข้าสู่กระเพาะอาหารและไปครอบครองพื้นที่ที่ควรใช้สำหรับน้ำนมซึ่งให้พลังงานสูง

สมมติฐานนี้ชี้ว่า ฟองอากาศในกระเพาะอาหารจะกระตุ้นส่วนประสาทรับสัญญาณ (afferent) ของรีเฟล็กซ์ผ่านตัวรับสัญญาณในกระเพาะอาหาร หลอดอาหาร และตลอดบริเวณใต้กระบังลม กระตุ้นส่วนที่ทำงานของการสะอึก (ส่วน จากนั้นสายเสียงจะปิดเพื่อป้องกันอากาศเข้าสู่ปอด กระบวนการนี้สร้างแรงดูดในช่องอก ดึงอากาศจากกระเพาะอาหารกลับขึ้นไปยังหลอดอาหาร และเมื่อกล้ามเนื้อหายใจผ่อนคลาย อากาศจะถูกขับออกทางปากในรูปแบบของการ "เรอ"

มีลักษณะหลายประการของการสะอึกที่สนับสนุนสมมติฐานนี้ เช่น การเรอในทารกขณะดูดนมอาจเพิ่มความสามารถในการบริโภคน้ำนมได้มากขึ้นถึง 15–25% ซึ่งให้ข้อได้เปรียบในการรอดชีวิตแก่ทารก นอกจากนี้ ทารกมีแนวโน้มเกิดการสะอึกได้บ่อยมาก และแม้ว่ารีเฟล็กซ์นี้จะคงอยู่ไปตลอดชีวิต แต่ความถี่จะลดลงเมื่ออายุเพิ่มขึ้น ตำแหน่งของเส้นประสาทที่กระตุ้นรีเฟล็กซ์นี้บ่งชี้ว่าการสะอึกเป็นการตอบสนองต่อสภาพในกระเพาะอาหาร อีกทั้งการที่รีเฟล็กซ์หยุดการเคลื่อนไหวของหลอดอาหาร (Peristalsis) ขณะทางเดินหายใจถูกปิด ยังชี้ว่าหลอดอาหารมีส่วนเกี่ยวข้องกับการสะอึกอีกด้วย นอกจากนี้ การสะอึกยังพบเฉพาะในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ซึ่งเป็นกลุ่มสัตว์ที่มีจุดร่วมคือให้น้ำนมแก่ลูกเหมือน ๆ กัน

  • สมมติฐานเชิงวิวัฒนาการ (Phylogenetic hypothesis)
    กลุ่มวิจัยเกี่ยวกับระบบการหายใจ ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกจากนานาประเทศ ได้แก่ แคนาดา ฝรั่งเศส และญี่ปุ่นกลุ่มหนึ่งเสนอว่าการสะอึกเป็นซากวิวัฒนาการที่หลงเหลือมาจากระบบการหายใจของสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำในอดีต

สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ เช่น ลูกอ๊อด จะกลืนอากาศและน้ำผ่านเหงือกด้วยรีเฟล็กซ์การเคลื่อนไหวที่ไม่ซับซ้อน คล้ายกับการสะอึกของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม โดยเส้นทางประสาทที่ควบคุมการสะอึกจะถูงสร้างขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นของพัฒนาการของทารกในครรภ์ ก่อนที่จะพัฒนาเส้นทางประสาทควบคุมการหายใจด้วยปอดแบบปกติเสียอีก นี่จึงหมายความว่าในเชิงวิวัฒนาการ การสะอึกเกิดขึ้นก่อนการหายใจด้วยปอด

นอกจากนี้ กลุ่มวิจัยดังกล่าว (นำโดย C. Straus และคณะ) ยังชี้ว่าการสะอึกและการกลืนอากาศของสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำจะถูกยับยั้งเมื่อระดับคาร์บอนไดออกไซด์สูงขึ้น และอาจหยุดได้ด้วยตัวรับกาบา บี (GABAB receptor agonists) ซึ่งแสดงถึงสรีรวิทยาและมรดกทางวิวัฒนาการที่คล้ายกับมนุษย์ ด้วยทฤษฎีนี้เราอาจอธิบายได้ว่าทำไมทารกคลอดก่อนกำหนดถึงใช้เวลาประมาณ 2.5% ในแต่ละวันไปกับการสะอึกซึ่งคล้ายกับการกลืนอากาศของสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ นั่นเป็นเพราะปอดของทารกยังพัฒนาไม่สมบูรณ์นั่นเอง

ด้วยประการฉะนี้ สมมติฐานวิวัฒนาการนี้อาจอธิบายว่าการสะอึกเป็นซากวิวัฒนาการที่หลงเหลือมาจากบรรพบุรุษของเราที่เป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำได้นั่นเอง

ระยะเวลา

การสะอึกในแต่ละครั้งมักกินเวลาน้อยกว่า 30 นาที แต่ในบางครั้ง การสะอึกอาจเกิดต่อเนื่องยาวนานและมีความร้ายแรง สาเหตุของการสะอึกที่ยืดเยื้อมักยากจะวินิจฉัย และอาจนำไปสู่ความเจ็บป่วยขั้นรุนแรงหรือถึงแก่ชีวิต การสะอึกที่นานกว่าสองสามนาทีเรียกว่า bout และหากเกิดยาวนานกว่า 48 ชั่วโมงจะใช้คำว่า persistent หรือ protracted สำหรับการสะอึกที่กินเวลายาวนานเกินหนึ่งเดือนจะเรียกว่า intractable ในหลายกรณี การสะอึกมักกระทบกับกระบังลมเพียงด้านเดียว (มักเป็นด้านซ้าย) แต่บางครั้งอาการอาจกระทบกระบังลมได้ทั้งสองข้าง

การรักษา

โดยทั่วไป เรามักปล่อยให้การสะอึกหายไปเองเนื่องจากอาการมักจะหยุดลงในเวลาไม่นาน อย่างไรก็แล้วแต่ยังมีการรักษาสะอึกด้วยวิธีพื้นบ้านมากมายและหลากหลาย ส่วนการรักษาทางการแพทย์จะพิจารณาใช้เฉพาะในกรณีของการสะอึกที่รุนแรงและยืดเยื้อ (เรียกว่า intractable hiccups) เท่านั้น

จริงอยู่ที่วิธีการรักษาทางการแพทย์มีอยู่หลายวิธี แต่ยังไม่มีวิธีใดที่ได้รับการยืนยันว่ามีประสิทธิภาพเป็นพิเศษเนื่องจากยังขาดหลักฐานที่มีคุณภาพสูงเพียงพอ
เคยมีการนำตัวกระตุ้นเส้นประสาทเวกัส (Vagus Nerve Stimulator) มาใช้ในกรณีของการสะอึกยืดเยื้อ โดยตัวกระตุ้นนี้จะส่งกระแสไฟฟ้าเป็นจังหวะไปยังสมองผ่านเส้นประสาทเวกัสซึ่งผ่านบริเวณลำคอ และในปี 1997 องค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ (FDA) ได้อนุมัติตัวกระตุ้นเส้นประสาทเวกัสเป็นวิธีหนึ่งในการควบคุมอาการชักในผู้ป่วยลมชักบางรายแล้ว

ในผู้ป่วยรายหนึ่ง การนวดคลึงทวารหนักดิจิทัล (Digital Rectal Massage) อย่างต่อเนื่องยังหยุดการสะอึกแบบยืดเยื้อหยุดได้ด้วย

  • การรักษาแบบพื้นบ้านมีวิธีการรักษาอาการสะอึกด้วยวิธีพื้นบ้านมากมาย เช่น การยืนกลับหัว ดื่มน้ำในท่ากลับหัว การให้ผู้อื่นทำให้ตกใจ การหายใจใส่ถุง การกินเนยถั่วหนึ่งช้อนพูน หรือการวางน้ำตาลไว้บนหรือใต้ลิ้น

การกดจุด (Acupressure) อาจช่วยรักษาการสะอึกในบางรายได้จริงแม้ว่าอาจเป็นผลของปรากฏการณ์ยาหลอก (placebo effect) ตัวอย่างการกดจุดสามารถทำได้โดยผ่อนคลายหน้าอกและไหล่ และหาจุดที่บุ๋มลึกที่สุดใต้ปุ่มกระดูกไหปลาร้า จากนั้นใช้นิ้วชี้หรือนิ้วกลางกดบริเวณรอยบุ๋มแรง ๆ เป็นเวลา 60 วินาที พร้อมทั้งหายใจเข้าให้ลึกและยาว

วิธีการรักษาแบบง่าย ๆ คือการเพิ่มความดันบางส่วนของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) และยับยั้งการทำงานของกระบังลมด้วยการกลั้นหายใจหรือการหายใจเข้า-ออกในถุงกระดาษ วิธีที่ NHS Choices (หน่วยงานสุขภาพแห่งชาติอังกฤษ) แนะนำเพิ่มเติม ได้แก่ การดึงเข่าขึ้นมาชิดหน้าอกพร้อมเอนตัวไปด้านหน้า การจิบน้ำเย็นจัด และการกลืนน้ำตาลเม็ด

วิธีฝึกหายใจที่เรียกว่า Supra-supramaximal inspiration (SSMI) ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าสามารถหยุดการสะอึกชนิดยืดเยื้อได้ วิธีนี้ประกอบด้วยหลักการสามข้อคือ การเพิ่มก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (hypercapnia), การทำให้กระบังลมหยุดเคลื่อนไหว (diaphragm immobilization) และการเพิ่มแรงดันทางเดินหายใจ (positive airway pressure) วิธีการคือ แรกเริ่ม ผู้ฝึกต้องหายใจออกให้หมด จากนั้นหายใจเข้าลึก ๆ แล้วกลั้นหายใจเป็นเวลา 10 วินาที หลังจาก 10 วินาที ให้หายใจเข้าต่อเล็กน้อยโดยไม่ต้องหายใจออก แล้วกลั้นหายใจต่ออีก 5 วินาที เสร็จแล้วหายใจเข้าสั้น ๆ อีกครั้งหนึ่งโดยไม่หายใจออก กลั้นหายใจอีก 5 วินาที หลังจากหายใจออกแล้วการสะอึกควรหยุดลง

อีกหนึ่งวิธีคือการดื่มน้ำผ่านหลอดในขณะที่อุดหูไว้ โดยวิธีนี้มีหลักการคล้ายกับอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ที่เคยมีการนำมาทดสอบกับผู้ที่มีอาการสะอึก 249 คนในปี 2021 ผลการทดสอบครั้งนั้นถูกตีพิมพ์ในวารสาร Journal of the American Medical Association (JAMA) โดยอุปกรณ์นี้มีชื่อว่า FISST (Forced Inspiratory Suction and Swallow Tool) ภายใต้ชื่อทางการค้า HiccAway การทดสอบนี้สนับสนุนการใช้ FISST ว่าเป็นทางเลือกหนึ่งเพื่อหยุดการสะอึกแบบชั่วคราว โดยผู้เข้าร่วมทดสอบกว่า 90% รายงานว่าผลลัพธ์ของเครื่องดีกว่าวิธีการรักษาแบบพื้นบ้าน อุปกรณ์ HiccAway จะหยุดการสะอึกโดยใช้แรงดูดที่เกิดจากการหดตัวของกระบังลม (การทำงานของเส้นประสาทเฟรนิก) ตามด้วยการกลืนน้ำ ซึ่งต้องอาศัยการปิดของฝาปิดกล่องเสียง (epiglottis closure)

การสะอึกกับสังคมและวัฒนธรรม

คำว่า hiccup เกิดจากการเลียนเสียง ส่วนการสะกดอีกแบบว่า hiccough เกิดจากการเชื่อมโยงกับคำว่า cough (ไอ)

  • ชาร์ลส์ ออสบอร์น (Charles Osborne) ชาวอเมริกัน (1894–1991) มีอาการสะอึกต่อเนื่องยาวนานถึง 68 ปี ตั้งแต่ปี 1922 จนถึงปี 1990 และได้รับการบันทึกใน Guinness World Records ว่าเป็นผู้ที่มีอาการสะอึกยาวนานที่สุดในโลก โดยคาดว่าเขาสะอึกรวมทั้งหมดประมาณ 430 ล้านครั้ง
  • เจนนิเฟอร์ มี (Jennifer Mee) วัยรุ่นจากฟลอริดา เป็นที่จับตามองจากสื่อในปี 2007 เนื่องจากเธอสะอึกประมาณ 50 ครั้งต่อนาทีเป็นเวลานานกว่าห้าสัปดาห์
  • คริสโตเฟอร์ แซนด์ส (Christopher Sands) นักร้องชาวอังกฤษ สะอึกประมาณ 10 ล้านครั้งในระยะเวลา 27 เดือน ตั้งแต่กุมภาพันธ์ 2007 ถึงพฤษภาคม 2009 ซึ่งทำให้เขาแทบไม่สามารถกินหรือหลับได้ ภายหลังพบว่าสาเหตุของอาการสะอึกของคริสโตเฟอร์ แซนด์สเกิดจากเนื้องอกบริเวณก้านสมองที่กดทับเส้นประสาทจนทำให้สะอึกทุก ๆ 2 วินาทีตลอด 12 ชั่วโมงต่อวัน โดยอาการของเขาหายไปในปี 2009 หลังผ่าตัด

ในบางวัฒนธรรม เช่น ในแถบทะเลบอลติก เยอรมัน ฮังการี อินเดีย โรมาเนีย กลุ่มชนสลาฟ ตุรกี กรีก และแอลเบเนีย รวมถึงชนเผ่าบางกลุ่มในเคนยา เช่นในตำนานของชนเผ่าลูโอ (Luo) เชื่อว่าการสะอึกเกิดขึ้นเมื่อผู้ที่กำลังสะอึกถูกคนอื่นพูดถึงอยู่

อ่านตรวจทานโดย นพ. ธัชชัย วิจารณ์

แปลและเรียบเรียงจาก https://en.wikipedia.org/wiki/Hiccup [2025, February 5] โดย ภวรัญชน์ วีระวุฒิพล