วัคซีนบาดทะยักชนิดอิมมูโนโกลบูลิน (Tetanus Immune Globulin vaccine)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ: เรื่องทั่วไปของโรคบาดทะยักและของวัคซีนบาดทะยัก

บาดทะยัก (Tetanus) คือ โรคเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชื่อว่า ‘Clostridium tetani’ ซึ่งเชื้อนี้พบได้ทั่วไปในสิ่งแวดล้อม เช่น ในฝุ่น ในดิน และในลำไส้ของมนุษย์และสัตว์, เชื้อนี้สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ทางบาดแผลที่ไปสัมผัสกับเชื้อ หรือจากเนื้อเยื่อที่มีภาวะแผลเน่าเปื่อย หรือจากเนื้อเยื่อมีการอักเสบชนิดที่เกิดภาวะไร้ออกซิเจน/เนื้อเยื่อขาดออกซิเจน (Anaerobic),  เชื้อนี้เมื่อเข้าสู่แผล จะเจริญเติบโตและจะสร้างสารชีวพิษ/สารพิษ (Toxin) ปล่อยเข้ากระแสเลือด ซึ่งเป็นพิษต่อระบบประสาท ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการ กล้ามเนื้อหดเกร็ง ชักกระตุก กล้ามเนื้อไม่ทำงานตามปกติ และหยุดหายใจได้

ในทารกแรกเกิด สามารถติดเชื้อบาดทะยักได้ เรียกว่า ‘Tetanus neonatorum’  ที่มีสาเหตุจากการตัดสายสะดือที่ด้วยเครื่องมือ/วิธีการไม่สะอาด และโดยเฉพาะมารดาไม่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่อเชื้อบาดทะยัก ซึ่งเชื้อบาดทะยักสามารถปนเปื้อนบริเวณสะดือและเจริญเติบโตได้ดี เพราะบริเวณสะดือเป็นเนื้อตายที่เน่าเปื่อย, ดังนั้นกรณีที่ทารกไม่มีภูมิคุ้มกันฯ (ถ่ายทอดมาจากมารดาขณะอยู๋ในครรภ์) ต่อสารพิษที่เชื้อบาดทะยักสร้าง จะทำให้ทารกติดโรคได้ ดังนั้นการสร้างภูมิคุ้มกันฯแก่ทารกที่ดีที่สุด คือ การให้วัคซีนแก่มารดา/หญิงตั้งครรภ์เพราะภูมิคุ้มกันฯโรคนี้ (เกิดจากวัคซีนฯ) จากมารดาจะส่งผ่านไปสู่ทารกในขณะอยู่ในครรภ์และจากน้ำนมมารดา ปัจจุบันพบว่าการติดเชื้อบาดทะยักในประเทศไทยมีแนวโน้มลดลงเรื่อยมา จากมีการฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยัก (วัคซีนบาดทะยักท็อกซอยด์) แก่หญิงที่ทำการฝากครรภ์เสมอ

 ประเทศไทยปัจจุบัน วัคซีนที่อยู่ในระบบบริการของกระทรวงสาธารณสุขเพื่อฉีดให้แก่เด็ก 3 เข็มแรกเมื่ออายุ 2, 4 และ 6 เดือน ถือเป็นการให้วัคซีนที่จำเป็นเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันฯแก่เด็ก (Primary immunization) วัคซีนดังกล่าวจะเป็นวัคซีนรวม คอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน และอาจมีวัคซีนตับอักเสบบีรวมอยู่ด้วย ดังนั้น การฉีดวัคซีนชุดแรกนี้ ทำให้เด็กได้รับภูมิต้านทาน/ภูมิคุ้มกันฯต่อบาดทะยัก และแพทย์จะพิจารณาฉีดวัคซีนรวมนี้เพื่อเป็นการกระตุ้น (Booster dose) ให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันฯต่อโรคเหล่านี้อย่างมีประสิทธิภาพได้นานขึ้น คือวัคซีน คอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน อีก 2 ครั้ง เมื่อเด็กอายุ 18 เดือน และเมื่ออายุในช่วงอายุประมาณ 4 ปี

ประเภทของวัคซีนบาดทะยัก

วัคซีนบาดทะยักชนิดอิมมูโนโกลบูลิน

 

วัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก ปัจจุบันถูกแยกออกเป็น 2 ประเภท:  

  1. วัคซีนบาดทะยักท็อกซอยด์ (Tetanus toxoid): คือ วัคซีนชนิดท็อกซอยด์ (Toxoid)นี้ ใช้เฉพาะป้องกันโรคที่เกิดจากพิษ(Toxin)ของเชื้อแบคทีเรียบาดทะยัก, ไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อจากตัวแบคทีเรียโดยตรง, ผลิตโดยนำพิษของแบคทีเรียมาทำให้หมดพิษ แต่ยังสามารถกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต้านทานโรคได้ ซึ่งเป็นวัคซีนสำหรับการสร้างภูมิคุ้มกันฯ ที่เรียกว่า ‘Active immunization’, เป็นวัคซีนที่จำเป็นสำหรับเด็ก(นิยามคำว่าเด็ก) ที่เด็กไทยทุกคนควรได้รับตามตารางการให้วัคซีนของกระทรวงสาธารณสุข   

    ปัจจุบัน วัคซีนชนิดท็อกซอยด์นี้ไม่มีรูปแบบชนิดเดี่ยว แต่จะอยู่ในรูปวัคซีนชนิดผสมรวม คือ ผสมร่วมกับวัคซีนเพื่อป้องกันโรคคอตีบ, และอาจมีวัคซีนโรคไอกรน และ/หรือ วัคซีนตับอักเสบบีรวมอยู่ด้วย  
  1. วัคซีนบาดทะยักชนิดอิมมูโนโกลบูลิน (Tetanus immunoglobulin) ซึ่งมีคุณสมบัติป้องกันโรคบาดทะยักและรักษาโรคบาดทะยักได้ทันที ที่เรียกว่า ‘Passive immunization’  โดยจะใช้วัคซีนชนิดอิมมูโนโกลบูลินนี้กรณีผู้ป่วยมีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อบาดทะยัก หรือไม่เคยมีภูมิคุ้มกันฯต่อเชื้อบาดทะยักมาก่อน ซึ่งการฉีดวัคซีนชนิดนี้ จะเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันฯให้เกิดขึ้นเพียงชั่วคราวตามปริมาณวัคซีนนี้ที่ผู้ป่วยได้รับ

อนึ่ง: เพื่อไม่ให้บทความนี้ยาวเกินไป จึงขอกล่าวถึงเฉพาะ “วัคซีนบาดทะยักชนิดอิมมูโนโกลบูลิน”เพียงอย่างเดียวเท่านั้น  แต่สามารถศึกษาเรื่อง วัคซีนป้องกันบาดทะยักชนิดท็อกซอยด์ เพิ่มเติมได้จากเว็บ haamor.com บทความเรื่อง “วัคซีนบาดทะยักท็อกซอยด์”

มีข้อบ่งใช้วัคซีนบาดทะยักชนิดอิมมูโนโกลบูลินอย่างไร?

ข้อบ่งใช้วัคซีนบาดทะยักชนิดอิมมูโนโกลบูลิน: เช่น  

  • ใช้สำหรับป้องกันโรคบาดทะยักหลังสัมผัสโรค/หลังมีบาดแผล(Tetanus prophylaxis) โดยการให้วัคซีนบาดทะยักชนิดอิมมูโนโกลบูลินนี้จะสามารถป้องกันโรคบาดทะยักได้ทันทีในผู้ป่วยที่มีแผลที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคบาดทะยัก ซึ่งมีประโยชน์อย่างยิ่งในกรณีที่ผู้ป่วยได้รับวัคซีนบาดทะยักที่เป็นวัคซีนภาคบังคับที่เป็นชนิดท็อกซอยด์ (Tetanus toxoid)ไม่ครบ, หรือ ที่ไม่ทราบประวัติการได้รับวัคซีนบาดทะยักอย่างแน่ชัด, หรือผู้ป่วยมีภาวะบกพร่องอย่างรุนแรงในการสร้างภูมิคุ้มกันต้านทานโรค(เช่น ผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะ หรือ ผู้ป่วยโรคเอดส์)
  • ใช้รักษาโรคบาดทะยักในผู้ป่วยที่แสดงอาการแล้ว  โดยควรให้วัคซีนชนิดอิมมูโนโกลบูลินนี้ทันที พร้อมกันการให้วัคซีนบาดทะยักที่เป็นวัคซีนป้องกันโรค/ชนิดท็อกซอยด์ (Tetanus toxoid) เว้นแต่จะมีข้อห้ามใช้ หรือยืนยันได้ว่าผู้ป่วยเคยได้รับวัคซีนขนิดทอกซอยด์ครบถ้วนแล้ว

มีวิธีบริหาร/ฉีดวัคซีนบาดทะยักอย่างไร?

วิธีการบริหาร/ฉีดวัคซีนบาดทะยักชนิดอิมมูโนโกลบูลิน จะโดยฉีดเข้ากล้ามเนื้อ (Intramuscular injection: IM) ซึ่งมีตำแหน่งในการฉีดที่แพทย์มักแนะนำ คือ  

  • ทารก และเด็กวัยหัดเดิน: ฉีดเข้ากล้ามเนื้อกึ่งกลางต้นขาด้านหน้า ค่อนไปทางด้านนอก
  • สำหรับเด็กวัยอื่นและผู้ใหญ่: แนะนำฉีดวัคซีนนี้เข้ากล้ามเนื้อต้นแขน

*ทั้งนี้ ไม่แนะนำฉีดวัคซีนชนิดนี้เข้ากล้ามเนื้อสะโพก เพราะการฉีดวัคซีนนี้บริเวณดังกล่าวอาจกระทบกระเทือนเส้นประสาทบริเวณสะโพกได้

วัคซีนบาดทะยักชนิดอิมมูโนโกลบุลินจะถูกเก็บรักษาในตู้เย็น ดังนั้นก่อนบริหารยา/ฉีดยาให้ผู้ป่วย ควรตรวจสอบสภาพของสารละลายวัคซีนนี้ทุกครั้ง

วัคซีนที่พร้อมใช้จะมีลักษณะเป็นน้ำใส, ห้ามใช้วัคซีนนี้ที่มีลักษณะขุ่น หรือมีตะกอน, รวมถึงควรปรับอุณหภูมิของวัคซีนโดยการคลึงกระบอกยา/กระบอกฉีดวัคซีนนี้ด้วยฝ่ามือทั้งสองข้างประมาณ 1 - 2 นาที เพื่อปรับให้อุณหภูมิวัคซีนนี้ใกล้เคียงกับอุณหภูมิร่างกาย ก่อนฉีดให้ผู้ป่วย

กรณีต้องฉีดวัคซีนจำนวนหลายเข็ม แนะนำฉีดเข้ากล้ามเนื้อในตำแหน่งที่แตกต่างกัน, และหากผู้ป่วยมีความผิดปกติของการแข็งตัวของเลือด ซึ่งเป็นข้อห้ามของการฉีดวัคซีนเข้ากล้ามเนื้อ, จึงสามารถฉีดวัคซีนบาดทะยักชนิดอิมมูโนโกลบูลินเข้าใต้ผิวหนัง (Subcutaneous: SC) ได้, ภายหลังการฉีดวัคซีนนี้เข้าใต้ผิวหนัง ให้กดตำแหน่งที่ฉีดด้วยสำลีจนมั่นใจว่าเลือดหยุดแล้ว, อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีนบาดทะยักชนิดอิมมูโนโกลบูลินนี้เข้าใต้ผิวหนัง ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนที่แสดงประสิทธิภาพทางคลินิกของการฉีดด้วยวิธีนี้

มีข้อห้ามฉีดวัคซีนบาดทะยักอย่างไร?

ข้อห้ามฉีดวัคซีนบาดทะยักชนิดอิมมูโนโกลบูลิน: เช่น  

  • *ห้ามฉีดวัคซีนนี้ ในกรณีที่เคยได้รับวัคซีนบาดทะยักชนิดทอกซอยด์มาก่อน, หรือเคยได้รับสาร/ยาอิมมูโนโกลบูลิน(Immunoglobulin)อื่นๆมาแล้วและเกิดอาการแพ้ยารุนแรง ที่เรียกว่า อะนาไฟแลกซิส/แอแนฟิแล็กซิส (Anaphylaxis) ซึ่งอาการ เช่น ผื่นคันตามร่างกาย อาการหายใจติดขัด/หายใจไม่สะดวก/หายใจลำบาก  บางกรณีอาจมีความดันโลหิตตก/ความดันโลหิตต่ำ ซึ่งเรียกอาการที่มีภาวะความดันโลหิตตกร่วมด้วยนี้ว่า แอแนฟิแล็กติกช็อก(Anaphylacitc shock)

*อนึ่ง: หากมีอาการดังกล่าวเกิดขึ้นหลังฉีดวัคซีนนี้ ควรได้รับการบำบัดรักษาในโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน และควรต้องหลีกเลี่ยงการได้รับวัคซีนนี้ในครั้งถัดไป(ต้องแจ้งให้ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทราบทุกครั้งถึงการแพ้วัคซีนนี้), แต่หากมีความจำเป็นต้องใช้ ผู้ป่วยต้องได้รับการพิจารณาเป็นกรณีๆไปจากแพทย์ด้านโรคภูมิแพ้ก่อนการใช้

มีข้อควรระวัง/ข้อห้ามใช้วัคซีนบาดทะยักอย่างไร?

มีข้อควรระวัง/ข้อห้ามใช้วัคซีนบาดทะยักชนิดอิมมูโนโกลบูลิน เช่น

  1. ห้ามฉีด/และระวังการฉีด วัคซีนป้องกันบาดทะยักชนิดนี้ เข้าหลอดเลือดดำ, โดยวิธีการฉีดวัคซีนบาดทะยักชนิดนี้ที่ถูกต้อง คือ ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ(IM), ผู้ที่ฉีดให้ควรเป็นพยาบาลที่มีความชำนาญเพื่อให้มั่นใจว่าได้ฉีดวัคซีนนี้เข้ากล้ามเนื้ออย่างถูกต้อง, เพราการฉีดวัคซีนนี้เข้าหลอดเลือดดำ อาจทำให้มีโอกาสเสี่ยงในการเกิดภาวะช็อกถึงหมดสติได้

ทั่วไป ควรเฝ้าระวังอาการไม่พึงประสงค์/ผลข้างเคียง (อ่านเพิ่มเติมในบทความนี้ ‘หัวข้อ ผลไม่พึงประสงค์ฯ’) ภายหลังได้รับวัคซีนนี้อย่างน้อยประมาณ 20 นาที, แต่หากกรณีเกิดฉีดวัคซีนนี้เข้าหลอดเลือดดำ ควรเฝ้าติดตามอาการภายหลังได้รับวัคซีนนี้ไปแล้วอย่างน้อย 1 ชั่วโมง

  1. วัคซีนชนิดอิมมูโนโกลบูลินนี้ อยู่ในรูปแบบยาน้ำใสสำหรับฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ดังนั้นควรต้องตรวจสอบลักษณะของรูปแบบยาน้ำใสก่อนบริหารยา/ฉีดวัคซีนให้ผู้ป่วย, โดยห้ามใช้วัคซีนนี้หากมีลักษณะขุ่นหรือมีตะกอน, ซึ่งควรทิ้งไป
  2. การฉีดวัคซีนบาดทะยักชนิดอิมมูโนโกลบูลิน อาจลดประสิทธิภาพของวัคซีนอื่นที่ผลิตจากเชื้อไวรัสที่ถูกทำให้อ่อนฤทธิ์ลง (Live attenuated virus vaccine) เช่น หัด หัดเยอรมัน คางทูม อีสุกอีใส,  ดังนั้น เพื่อให้คงประสิทธิภาพของวัคซีนที่ผลิตจากเชื้อไวรัสอ่อนฤทธิ์ ควรรอระยะเวลาอย่างน้อยประมาณ 3 เดือนภายหลังได้รับวัคซีนบาดทะยักอิมมูโนโกลบูลิน จึงจะรับวัคซีนที่ผลิตจากเชื้อไวรัสที่ถูกทำให้อ่อนฤทธิ์ลง, แต่สำหรับวัคซีนหัด อาจต้องใช้ระยะเวลารอนานถึง 5 เดือนภายหลังได้รับวัคซีนบาดทะยักชนิดอิมมูโนโกลบูลิน จึงจะเหมาะสมสำหรับการฉีดวัคซีนหัด

อาการไม่พึงประสงค์จากวัคซีนบาดทะยักมีอะไรบ้าง?

อาจพบอาการไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/ผลไม่พึงประสงค์) จากการฉีดวัคซีนบาดทะยักชนิดอิมมูโนโกลบูลิน เช่น    

  • อาการเฉพาะที่ ที่ไม่รุนแรง: เช่น ปวดบริเวณที่ฉีด, บริเวณที่ฉีด บวม แดง กดแล้วเจ็บ  
  • ปฏิกิริยา/อาการทั่วๆไป: เช่น มีไข้  หนาวสั่น  รู้สึกไม่สบายตัว อ่อนเพลีย ปวดหัว  เวียนศีรษะ   ปวดข้อ   ปวดกล้ามเนื้อ   

ซึ่งกรณีรู้สึก ปวดบริเวณที่ฉีด มีไข้ ไม่สบายตัว สามารถรับประทานยาพาราเซตามอล (Paracetamol: ยาแก้ปวด, ยาลดไข้) เพื่อบรรเทาอาการได้

*นอกจากนี้ ยังพบรายงานการเกิดปฏิกิริยาแพ้ยา/แพ้ต่อวัคซีนบาดทะยักชนิดนี้อย่างรุนแรง ที่เรียกว่า แอแนฟิแล็กซิส (Anaphylaxis) ดังกล่าวใน’ข้อห้ามฉีดวัคซีนฯ,’ *ซึ่งภาวะดังกล่าวนี้สามารถเกิดขึ้นได้ แม้ผู้ป่วยจะไม่เคยมีอาการแพ้สาร/ยาอิมมูโนโกลบุลินมาก่อนก็ตาม

ตารางการฉีดวัคซีนบาดทะยักและการฉีดเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน

ขนาด และตารางเวลาในการฉีดวัคซีนบาดทะยักชนิดอิมมูโนโกลบูลินสำหรับป้องกัน และการรักษาโรคบาดทะยักในเด็กและในผู้ใหญ่จะมีขนาด และตารางเวลาในการฉีดวัคซีนเหมือนกัน ดังนั้นจึงสามารถปฏิบัติตามตารางเวลาเดียวกันในการฉีดวัคซีนได้ทั้งผู้ป่วยเด็กและในผู้ป่วยผู้ใหญ่ โดยขนาดการฉีดวัคซีนจะแตกต่างกันตามลักษณะทางคลินิกของผู้ป่วย เช่น   

  1. การฉีดวัคซีนบาดทะยักชนิดอิมมูโนโกลบูลินแบบป้องกันโรคบาดทะยักในแผลที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อบาดทะยักทั้งในเด็กและในผู้ใหญ่:
  • ในกรณีลักษณะแผลมีความเสี่ยงสูงมากต่อการติดเชื้อบาดทะยัก แนะนำให้ฉีดวัคซีนบาดทะยักนี้เข้ากล้ามเนื้อ 1 เข็ม ขนาดวัคซีน 250 ยูนิต   
  • พิจารณาเพิ่มขนาดวัคซีนเป็น 2 เข็ม ณ วันเดียวกัน (ขนาดวัคซีน 250 ยูนิต จำนวน 2 เข็ม) ในกรณีเป็นแผลติดเชื้อที่ไม่สามารถผ่าตัดหรือรักษาอย่างเหมาะสมได้ภายใน 24 ชั่วโมง, หรือ ในกรณีบาดแผลที่มีความลึก มีเนื้อถูกทำลายหรือมีเนื้อตาย เช่น แผลถูกกัด แผลถูกสัตว์ต่อย แผลถูกยิง แผลไฟไหม้  หรือ แผลหิมะกัด
  1. การฉีดวัคซีนบาดทะยักชนิดอิมมูโนโกลบูลินแบบรักษาโรคบาดทะยักในผู้ป่วยเด็กและในผู้ป่วยผู้ใหญ่ที่แสดงอาการ: แนะนำให้ฉีดวัคซีนนี้ขนาด 3,000 – 6,000 ยูนิต ครั้งเดียว เข้ากล้ามเนื้อ หรือฉีดเข้าบริเวณบาดแผล, ร่วมกับการรักษาอาการอื่นๆตามที่แพทย์เห็นควร เช่น ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันแผลติดเชื้อ  

*****หมายเหตุ:  ขนาดวัคซีนที่ใช้ในบทความนี้  เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น   ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้วัคซีนชนิดนี้ของแพทย์ผู้รักษาได้  การใช้วัคซีนชนิดนี้ที่เหมาะสมจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา

การปฏิบัติตนเมื่อมีแผลก่อนได้รับวัคซีนป้องกันบาดทะยัก

การปฏิบัติตนภายหลังประสบอุบัติเหตุที่ทำให้เกิดแผลก่อนได้รับวัคซีนบาดทะยักชนิดอิมมูโนโกลบูลิน  ควรปฏิบัติ เช่น

  • ควรปฐมพยาบาลแผลเบื้องต้น(อาจทำพร้อมกับเรียกรถพยาบาล/รถกู้ภัยในกรณีแผลรุนแรง) คือดูแลรักษาบาดแผลก่อน โดยล้างและทำความสะอาดแผลด้วยน้ำสะอาดทันที
  • หลังจากนั้น เช็ดแผลด้วยแอลกฮอล์ 70%, หรือใช้สารละลายโพวิโดน ไอโอดีน(Providone iodine: ยาทำแผล/ยาเบตาดีน/ยาเบตาดีน), ควรเช็ดแผลจนสะอาดไม่ให้เหลือคราบสกปรก(กรณีมียาเหล่านี้), ต่อจากนั้น
  • รีบด่วนไปสถานพยาบาลหรือโรงพยาบาล เพื่อให้แพทย์ตรวจร่างกายและให้การบำบัดรักษาแผล เช่น การล้างแผลซ้ำ หากแผลลึกอาจต้องล้างถึงกันแผล  และถ้าจำเป็นต้องเย็บแผล, แพทย์อาจรอ 3 – 7 วัน เพื่อติดตามการติดเชื้อของแผลก่อน(จะเย็บแผลได้ ต่อเมื่อแผลไม่มีการติดเชื้อ)
  • เมื่อแพทย์ตรวจบาดแผลและประเมินความรุนแรงของแผลแล้ว แพทย์อาจพิจารณาให้ หรือไม่ให้วัคซีนบาดทะยักชนิดอิมมูโนโกลบูลิน แล้วแต่ลักษณะของแผล

การฉีดวัคซีนวัคซีนบาดทะยักชนิดอิมมูโนโกลบลินช่วงตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร

การใช้วัคซีนป้องกันบาดทะยักชนิดอิมมูโนโกลบูลิน ไม่ถือเป็นข้อห้ามระหว่างการตั้งครรภ์และให้นมบุตร อีกทั้งวัคซีนนี้ ยังเป็นหนึ่งในวัคซีนที่แนะนำให้ฉีดในหญิงตั้งครรภ์ที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนบาดทะยักชนิดท็อกซอยด์มาก่อนอีกด้วย

การรักษาในกรณีผู้ป่วยมารับวัคซีนไม่ตรงตามตารางเวลาที่กำหนดหรือฉีดไม่ครบ

การรักษาผู้ป่วยกรณีที่รับการฉีดวัคซีนบาดทะยักชนิดอิมมูโนโกลบูลินไม่ตรงตามตารางเวลาที่กำหนด โดยทั่วไปแล้วจะมีตารางเวลาในการฉีดวัคซีนชนิดนี้เพียงครั้งเดียว ดังนั้นจึงไม่มีปัญหาในการติดตามการฉีดวัคซีนครั้งต่อไปที่ไม่ตรงตามตารางเวลา

มีวิธีเก็บรักษาวัคซีนบาดทะยักชนิดอิมมูโนโกลบูลินอย่างไร?

วัคซีนป้องกันบาดทะยักชนิดอิมมูโนโกลบูลินเป็นวัคซีนชนิดน้ำใสสำหรับฉีดเข้ากล้ามเนื้อ, วิธีการเก็บ เช่น  

  • เก็บในตู้เย็นช่องธรรมดา อุณหภูมิ 2 ถึง 8 องศาเซลเซียส/Celsius
  • ห้ามแช่แข็ง
  • เก็บวัคซีนในบรรจุภัณฑ์เดิม, และหลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงสว่างและแสงแดด
  • ควรใช้วัคซีนนี้ภายหลังการเปิดใช้วัคซีนนี้ทันที, วัคซีนนี้ส่วนที่เหลือให้พิจารณาทิ้งไป

บรรณานุกรม

  1. กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ, เกษวดี ลาภพระ, จุฑารัตน์ เมฆมัลลิกา, ฐิติอร นาคบุญนำ และอัจฉรา ตั้งสถาพรพงษ์. ตำราวัคซีนและการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ปี 2556. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา; 2556
  2. โอฬาร พรหมาลิขิต, อัจฉรา ตั้งสภาพรพงษ์ และอุษา ทิสยากร. วัคซีน 2015. กรุงเทพฯ: นพชัยการพิมพ์; 2558
  3. Lacy CF. Amstrong LL, Goldman MP, Lance LL. Drug Information handbook. 20th ed. Ohio: Lexi-Comp,Inc.; 2011-12.
  4. https://www.drugs.com/monograph/tetanus-immune-globulin.html  [2022,Dec31]
  5. https://www.chularat3.com/knowledge_detail.php?lang=th&id=615  [2022,Dec31]