ลิสเทริโอซิส (Listeriosis) หรือ ลิสทีเรีย (Listeria)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 14 มกราคม 2563
- Tweet
- บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?
- โรคลิสเทริโอซิสเกิดได้อย่างไร?
- โรคลิสเทริโอซิสมีอาการอย่างไร?
- ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดอาการรุนแรง?
- แพทย์วินิจฉัยโรคลิสเทริโอซิสได้อย่างไร?
- รักษาโรคลิสเทริโอซิสอย่างไร?
- โรคลิสเทริโอซิสรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงอย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
- ป้องกันโรคลิสเทริโอซิสได้อย่างไร?
- บรรณานุกรม
- ไข้ อาการไข้(Fever)
- โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ (Infectious disease)
- แบคทีเรีย(Bacterial infection)
- การตั้งครรภ์(Pregnancy)
- การแท้งบุตร(Miscarriage)
- ทารกเสียชีวิตในครรภ์ (Intrauterine fetal demise)
- ไข้หวัดใหญ่(Influenza)
- อาหารเป็นพิษ(Food poisoning)
- โรคระบบทางเดินอาหาร (Gastrointestinal tract disease)
- โรคติดเชื้อทางเดินอาหาร (Gastrointestinal infection)
บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?
โรคลิสเทริโอซิส(Listeriosis)หรือเรียกอีกชื่อว่าโรคลิสทีเรีย(Listeria) เป็นโรคเกิดจากการระบบทางเดินอาหารติดเชื้อแบคทีเรียในสกุล(Genus) ลิสทีเรีย (Listeria) ซึ่งสายพันธุ์ย่อยชนิด (Species) ที่มักก่อให้เกิดโรคในคนคือ Listeria monocyto genes (L. monocytogenes) โดยอาการพบบ่อย คือ มีไข้ร่วมกับท้องเสียหลังจากกินเชื้อนี้ไปแล้วประมาณ 1-90 วัน ทั่วไปประมาณ 30 วัน
อนึ่ง บางคนออกเสียงโรคนี้ว่า ลิสเทอริโอซิส หรือ ลิสเทเรีย
แบคทีเรีย Listeria monocytogenes หรือ เชื้อลิสทีเรียพบได้ใน ดิน ปุ๋ย อาหารสัตว์ และแหล่งน้ำทั่วไปในธรรมชาติ กล่าวคือ แหล่งเหล่านี้เป็นแหล่งรังโรคของเชื้อนี้นั่นเอง นอกจากนั้นยังพบว่า สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั้งสัตว์ป่าและสัตว์บ้าน นกหลายชนิด หอย ปลา และคนบางคน ก็เป็นรังโรคนี้ได้ โดยจะพบเชื้อนี้อยู่ในอุจจาระของสัตว์/คนเหล่านี้
เชื้อลิสทีเรียเป็นเชื้อที่สามารถอยู่ได้ในอุณหภูมิเย็นจัดที่ต่ำได้ถึง 0 องศาเซลเซียส (Celsius) แต่เจริญได้ดีในช่วง 1- 45 องศาเซลเซียส เชื้อนี้ฆ่าตายด้วยความร้อนตั้งแต่ 70 องศา เซลเซียสขึ้นไปเป็นเวลานานอย่างน้อย 3 - 5 นาทีและด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อหลายชนิดเช่น Sodium hypochlorite, สารประกอบในกลุ่ม Iodophor compound, และสารประกอบในกลุ่ม Ammonium compound อย่างไรก็ตาม เชื้อนี้มีชีวิตนอกร่างกายคนได้นานมากเมื่ออยู่ในแหล่งรังโรคของเชื้อนี้
การติดเชื้อลิสทีเรียเกิดจากการบริโภคอาหารที่รวมถึงผัก ผลไม้ หรือดื่มน้ำ หรือดื่มนม/ผลิตภัณฑ์นมที่ปนเปื้อนเชื้อนี้ ซึ่งเรียกการติดเชื้อในลักษณะนี้ว่า “Oral-fecal route หรือ Fecal-oral route หรือ Oro fecal route (การติดเชื้อทางปาก-อุจจาระ หรือ อุจจาระ-ปาก)”
โรคลิสเทริโอซิสเป็นโรคพบได้เรื่อยๆไม่บ่อยนักทั้งในประเทศที่เจริญแล้วและในประเทศที่กำลังพัฒนา อุบัติการณ์แตกต่างกันในแต่ละประเทศ แต่พบการระบาดเกิดได้เป็นครั้งคราวตลอด เวลา เป็นโรคพบในทุกอายุตั้งแต่เป็นทารกในครรภ์ซึ่งติดเชื้อผ่านการติดเชื้อจากมารดา ไปจนถึงผู้สูงอายุ ผู้หญิงและผู้ชายมีโอกาสติดเชื้อนี้ได้เท่ากัน
ทั้งนี้ มีรายงานจากประเทศที่เจริญแล้วทั้งยุโรปและสหรัฐอเมริกา ในแต่ละปีพบโรคนี้ได้ประมาณ 0.3-7.5 รายต่อประชากร 1 ล้านคน
โรคลิสเทริโอซิสเกิดได้อย่างไร?
โรคลิสเทริโอซิสเกิดจาก การกินอาหาร ดื่มน้ำ ดื่มเครื่องดื่ม ที่ปนเปื้อนเชื้อลิสทีเรีย ที่พบได้บ่อยคือ ผัก สลัด เนื้อสัตว์ทุกชนิดที่ปรุงสดหรือสุกๆดิบๆ เนื้อสัตว์สำเร็จรูป/แปรรูปในรูปของอาหารแช่แข็งเช่น ฮอดดอก แฮม ซาลามิ เนย นมโดยเฉพาะนมที่ไม่ผ่านการฆ่าเชื้อ ไอศกรีม และที่มีการระบาดในสหรัฐอเมริกาจนมีผู้เสียชีวิตหลายรายในเดือน กันยายน พ.ศ. 2554 คือจากการปนเปื้อนในแคลตาลูป อย่างไรก็ตาม มีรายงานบางครั้งพบการติดเชื้อเกิดจากอาหาร เครื่อง ดื่มสำเร็จรูปที่ฆ่าเชื้อแล้ว แต่มาเกิดการปนเปื้อนเชื้อในช่วงการหีบห่อหรือในการขนส่ง
ทั้งนี้เมื่อเชื้อนี้เข้าสู่ร่างกาย เชื้อจะรุกรานเข้าสู่กระแสเลือด (โลหิต) ผ่านทางลำไส้เล็ก ซึ่ง เมื่อเชื้อเข้าสู่กระแสเลือดแล้ว จะส่งผลให้เกิดการติดเชื้อได้ ในกระแสเลือด, ในทุกๆเนื้อเยื่อ, และในทุกๆอวัยวะ ก่อให้เกิดอาการได้หลากหลายขึ้นกับว่าเป็นการติดเชื้อของเนื้อเยื่อ/อวัยวะใด ซึ่งอาจเกิดติดเชื้อพร้อมๆกันได้หลายๆเนื้อเยื่อ/อวัยวะ ที่พบมีการติดเชื้อได้บ่อย คือ เยื่อหุ้มสมอง, สมอง, เยื่อบุหัวใจ, กระเพาะอาหารและลำไส้, เยื่อบุช่องท้อง, ตา, ผิวหนัง ต่อมน้ำเหลือง รวมทั้งรกในหญิงตั้งครรภ์
โรคลิสเทริโอซิสมีอาการอย่างไร?
เมื่อได้รับเชื้อลิสทีเรีย ผู้ป่วยมักมีอาการภายใน 1 - 90 วัน (ระยะฟักตัวของโรค) ทั้งนี้ขึ้น กับความรุนแรงของโรคและปริมาณเชื้อที่ได้รับว่าน้อยหรือมาก แต่โดยทั่วไปมักเกิดอาการภายใน 30 วันหลังได้รับเชื้อ
อาการของโรคลิสเทริโอซิสมีได้หลากหลายอาการ ทั้งนี้ขึ้นกับว่ามีการติดเชื้อของเนื้อเยื่อ/ อวัยวะใดบ้าง นอกจากนั้นความรุนแรงของอาการในผู้ป่วยแต่ละคนยังแตกต่างกันด้วยขึ้นกับ ปริมาณเชื้อที่ได้รับ อายุ และภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของแต่ละคน
ก. ในผู้ป่วยที่มีสุขภาพแข็งแรง: ผู้ติดเชื้อนี้อาจมีเพียง อาการไข้ ซึ่งอาจเป็นไข้สูงหรือไข้ต่ำร่วมกับท้องเสียที่ไม่รุนแรง และอาการมักดีขึ้นภายใน 2 - 3 วันหลังการรักษา หรือบางคนอาการอาจดีขึ้นเองด้วยการดูแลตนเองตามอาการ อนึ่งในภาพรวม อาการอาจคล้ายไข้หวัดใหญ่หรือ อาหารเป็นพิษที่ไม่รุนแรง
ข. ในผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดความรุนแรงของโรค: อาการที่พบได้คือ มีไข้สูง, ปวดกล้ามเนื้อทั่วตัว, ปวดหัว, อ่อนเพลีย, อาจมีคลื่นไส้-อาเจียน, และท้องเสียรุนแรง, โดยอาการเริ่มแรกจะคล้ายไข้หวัดใหญ่หรืออาหารเป็นพิษเช่นกัน แต่อาการจะรุนแรง และมีอาการจากมีการติดเชื้อในอวัยวะต่างๆร่วมด้วย เช่น
- เมื่อมีการติดเชื้อในเยื่อหุ้มสมองส่งผลให้เกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบ จะมีไข้สูง, ปวดหัวมาก, คอแข็ง, อาจร่วมกับมีอาการชัก
- เมื่อมีการติดเชื้อในเนื้อสมองส่งผลให้เกิด สมองอักเสบ ผู้ป่วยจะมีอาการ ไข้สูง ปวด หัวมาก แขน/ขาอ่อนแรง ชัก และทรงตัวไม่ได้
- เมื่อมีการติดเชื้อในตับ จะส่งผลให้มีไข้ได้ทั้งไข้สูงหรือไข้ต่ำ ปวด/เจ็บใต้ชายโครงขวา (ตำแหน่ง ที่อยู่ของตับ) คลื่นไส้-อาเจียน ตัวเหลือง ตาเหลือง
- เมื่อมีการติดเชื้อในลูกตา จะส่งผลให้เกิดตาแดงจากเยื่อบุตาอักเสบ, ตาพร่า, เห็นภาพไม่ชัด
- เมื่อเกิดการติดเชื้อที่ผิวหนัง จะเกิดแผลและ/หรือฝี/หนองที่ผิวหนัง
- เมื่อมีการติดเชื้อที่ต่อมน้ำเหลือง ต่อมน้ำเหลืองจะโต คลำได้ เจ็บ
- เมื่อมีการติดเชื้อในม้ามจะมีม้ามโต คลำได้ (ปกติจะคลำม้ามไม่ได้) เจ็บ
- เมื่อมีการติดเชื้อในช่องท้อง (เยื่อบุช่องท้องอักเสบ) จะมีอาการไข้สูง ปวดท้องมาก ท้องอืด อาจมีน้ำในท้อง/ ท้องบวม/ ท้องมาน
- ในหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อ มักมีอาการเหมือนโรคไข้หวัดใหญ่คือ มีไข้สูง (บางคนอาจมีไข้ต่ำได้), ปวดเมื่อยเนื้อตัว/กล้ามเนื้อ, อาจมีหรือไม่มีอาการท้องเสีย, หลังจากนั้นมักคลอดก่อนกำหนด หรือ เกิดการแท้งบุตร หรือทารกเสียชีวิตในครรภ์ หรือเด็กแรกคลอดติดเชื้อรุนแรงจากติดเชื้อนี้ผ่านทางรกและอาจรุนแรงจนเป็นเหตุให้เด็กตายได้ในเวลาต่อมา แต่ถ้าให้การรักษามารดาได้รวดเร็วตั้งแรกที่มารดาติดเชื้อ ทารกที่คลอดมักเป็นทารกปกติและไม่มีการติดเชื้อนี้
ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดอาการรุนแรง?
ผู้ที่เมื่อติดโรคลิสเทริโอซิสแล้วจะมีความรุนแรงโรคสูง หรือที่เรียกว่า “กลุ่มเสี่ยง” คือ
- หญิงตั้งครรภ์
- ทารกในครรภ์
- เด็กแรกเกิด
- เด็กเล็ก
- ผู้สูงอายุ และ
- ผู้มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ เช่น ผู้ป่วยโรคเอดส์ ผู้ป่วยโรคมะเร็ง และผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ควบคุมโรคได้ไม่ดี
แพทย์วินิจฉัยโรคลิสเทริโอซิสได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยโรคลิสเทริโอซิสได้จาก
- การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น ประวัติอาการ ประวัติการบริโภคอาหาร น้ำดื่ม นม และ /หรือบริโภคผลิตภัณฑ์ต่างๆจากนม
- การตรวจร่างกาย
- การตรวจเลือด เช่น ซีบีซี (CBC) เพื่อดูการติดเชื้อแบคทีเรีย
- การเพาะเชื้อ อาจจากสารคัดหลั่งจากแผลในตำแหน่งต่างๆ, จากเลือด, จากน้ำไขสันหลัง และ/หรือจากอุจจาระ และ
- อาจมีการตรวจอื่นๆเพื่อการสืบค้นเพิ่มเติม เช่น การตรวจภาพอวัยวะที่ก่ออาการเช่น เอกซเรย์, อัลตราซาวด์, เอกซเรย์คอมพิวเตอร์(ซีทีสแกน) และ/หรือเอมอาร์ไอ ทั้งนี้ขึ้นกับอาการของผู้ป่วยและดุลพินิจของแพทย์
รักษาโรคลิสเทริโอซิสอย่างไร?
แนวทางการรักษาโรคลิสเทริโอซิสคือ การใช้ยาปฏิชีวนะ และการรักษาตามอาการ
ก. ยาปฏิชีวนะที่ใช้รักษาโรคนี้มีหลายชนิด: เช่น ยาในกลุ่ม Penicillin, Gentamycin, Trimetho prim-Sulfamethoxazole (Co-trimoxazole), Chloramphenicol ซึ่งแพทย์จะเลือกใช้ยาชนิดใด และอาจใช้ยาเพียงชนิดเดียวหรือ 2 ชนิดร่วมกัน ขึ้นกับความรุนแรงของโรคและดุลพินิจของแพทย์
ข. การรักษาตามอาการ: เช่น
- ยาลดไข้เมื่อมีไข้สูง
- ยาแก้ปวดเมื่อ ปวดหัว หรือปวดเมื่อยเนื้อตัว
- การใช้ยาผงเกลือแร่ โออาร์เอส (ORS) เมื่อท้องเสีย และ/หรือ
- การให้สารน้ำ/สารอาหารทางหลอดเลือดเมื่อกินหรือดื่มน้ำได้น้อย
โรคลิสเทริโอซิสรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงอย่างไร?
การพยากรณ์โรค/ความรุนแรงโรคของโรคลิสเทริโอซิส คือ
- ลิสเทริโอซิส จัดเป็นการติดเชื้อที่รุนแรงในผู้ที่เป็น ‘กลุ่มเสี่ยง’ ดังกล่าวใน ’ หัวข้อ ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดอาการรุนแรง’ มีโอกาสตายได้ประมาณ 20 - 30% ถึงแม้จะได้รับการรักษาที่ถูกต้องตั้งแต่แรกมีอาการ
- ส่วนในหญิงตั้งครรภ์ มีโอกาส ทารกเสียชีวิตในครรภ์ ได้ประมาณ 20%
- แต่ในผู้ป่วยที่มีสุขภาพแข็งแรงโรคมักรักษาหายได้ภาย ในประมาณ 7 - 10 วันด้วยการรักษาแบบผู้ป่วยนอก
* ในส่วนผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง
- แพทย์ต้องให้การรักษาเป็นผู้ป่วยในโรงพยาบาล อาจรักษาได้หายภายในประมาณ 2 สัปดาห์เมื่อมีภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด(ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ)
- แต่อาจต้องใช้ระยะเวลารักษานานขึ้นเป็นประมาณ 3 - 6 สัปดาห์เมื่อมีการติดเชื้อในสมอง (เยื่อหุ้มสมอง อักเสบและ/หรือสมองอักเสบ) หรือเมื่อสมองเกิดเป็นฝี/หนอง (ฝีสมอง)
ผลข้างเคียง:
ส่วนผลข้างเคียง/ภาวะแทรกซ้อนจากโรคนี้ที่สำคัญคือ
- เมื่อติดเชื้อนี้ในหญิงตั้งครรภ์จะมีโอกาส แท้งบุตร, เด็กคลอดก่อนกำหนด, ทารกเสียชีวิตในครรภ์, และเด็กเสียชีวิตหลังคลอดได้ ทั้งนี้เกิดจากเด็กมีการติดเชื้อนี้ที่รุนแร
- นอกจากนั้น
- ยังพบว่า เด็กเล็กที่มีการติดเชื้อนี้ที่สมอง ภายหลังการรักษาหายแล้ว เด็กอาจจะมีความผิดปกติทางสมองตลอดไป
ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
การดูแลตนเองโดยเฉพาะผู้เป็น “กลุ่มเสี่ยง” เมื่อมีอาการผิดปกติต่างๆดังกล่าวในหัวข้อ อาการ ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลภายใน 1 - 2 วันเมื่ออาการไม่ดีขึ้นหรืออาการเลวลงหลัง จากดูแลตนเอง
ส่วนเมื่อได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคลิสเทริโอซิสและพบแพทย์แล้ว การดูแลตนเองที่บ้าน คือ
- ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
- กินยา/ใช้ยาต่างๆที่แพทย์แนะนำให้ครบถ้วน ถูกต้อง ไม่ขาดยา ไม่หยุดยาเองถึงแม้อาการ จะปกติแล้ว
- พักผ่อนให้เต็มที่
- รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
- พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามนัดเสมอ และ
- รีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ
- มีอาการผิดไปจากเดิม
- อาการต่างๆเลวลง
- อาการที่เคยหายไปแล้วกลับเป็นใหม่อีก เช่น อาการไข้ และ/หรือ
- เมื่อกังวลในอาการ
ป้องกันโรคลิสเทริโอซิสได้อย่างไร?
ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนหรือตัวยาที่ใช้ป้องกันโรคลิสเทริโอซิส แต่เนื่องจากเป็นโรคติดเชื้อใน กลุ่มติดเชื้ออุจจาระ-ปาก โรคลิสเทริโอซิสจึงสามารถป้องกันได้อย่างมีประสิทธิภาพเช่นเดียวกับในโรคติดเชื้อกลุ่มนี้ทั้งหมดเช่น โรคไทฟอยด์ เป็นต้น ซึ่งวิธีป้องกันที่สำคัญที่สุดคือ
- รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
- กินอาหารปรุงสุกอย่างทั่วถึงทั้งชิ้นอาหาร
- ล้างมือบ่อยๆและล้างมือเสมอก่อนกินอาหารและหลังเข้าห้องน้ำ
- ดื่มนมเฉพาะจากนมที่ผ่านการฆ่าเชื้อแล้ว และดื่มแต่ที่สะอาด
- เมื่อจะกินอาหารสำเร็จรูป อาหารแช่แข็ง หรืออาหารสำเร็จรูปแช่แข็ง โดยเฉพาะใน “กลุ่มเสี่ยง” ควรต้องอุ่นอาหารให้สุกทั่วถึงด้วยอุณหภูมิตั้งแต่ 70 องศาเซลเซียสขึ้น ไปอย่างน้อยนาน 3 - 5 นาทีเพื่อฆ่าเชื้อนี้
- รักษาความสะอาดเครื่องปรุงอาหารทุกชนิด ผัก ผลไม้ รวมทั้งภาชนะต่างๆที่ใช้ในการปรุงอาหาร กินอาหาร ดื่มน้ำ
- การเก็บอาหารในตู้เย็น ควรแยกเก็บไม่ให้ปะปนกัน และมีภาชนะที่ใช้เก็บที่เหมาะ สมระหว่าง เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ และอาหารแช่แข็งต่างๆ เพื่อป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อโรค
บรรณานุกรม
- Braunwald, E., Fauci, A., Kasper, L., Hauser, S., Longo, D., and Jameson, J. (2001). Harrison’s principles of internal medicine (15th ed.). New York: McGraw-Hill.
- Doganay, M. (2003). Listeriosis: clinical presentation. FEMS Immunology and Medical Microbiology. 35, 173-175.
- Listeriosishttp://en.wikipedia.org/wiki/Listeriosis [2020,Jan4]
- Listeriosis (Listeria infection) http://www.cdc.gov/listeria/ [2020,Jan4]
- Listeria infection http://emedicine.medscape.com/article/965841-overview#showall [2020,Jan4]
- Listeria monocytogenese http://en.wikipedia.org/wiki/Listeria_monocytogenes [2020,Jan4]
- Listeriosis http://www.merckvetmanual.com/mvm/index.jsp?cfile=htm/bc/51400.htm [2020,Jan4]
- Weimstein, K. Listeria monocytogenes http://emedicine.medscape.com/article/220684-overview#showall [2020,Jan4]
- https://www.canada.ca/en/public-health/services/laboratory-biosafety-biosecurity/pathogen-safety-data-sheets-risk-assessment/listeria-monocytogenes.html [2020,Jan4]