โรคลักปิดลักเปิด โรคขาดวิตามิน-ซี (Scurvy)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

โรคลักปิดลักเปิด (Scurvy หรือ Vitamin C deficiency) เป็นโรคที่เกิดจากร่างกายขาดวิตามิน-ซี (Vitamin C หรือ Ascorbic acid) โดยอาการสำคัญของโรค คือ เหงือกบวมและเหงือกเลือดออกง่าย ซึ่งผู้ป่วยมักมาพบทันตแพทย์จากแปรงฟันแล้วมีเลือดออกจากเหงือกบ่อย ต่อเนื่อง

ยังไม่มีการศึกษาถึงสถิติการเกิดโรคลักปิดลักเปิดในประชากรทั่วโลก แต่ในสหรัฐ อเมริกาพบโรคนี้ได้ประมาณ 8% ในผู้ชาย และประมาณ 6% ในผู้หญิง ในฝรั่งเศสพบโรคนี้ประ มาณ 12% ในผู้ชาย และ 5% ในผู้หญิง ซึ่งในทุกประเทศดังกล่าว โรคมักเกิดในผู้สูงอายุ

โรคลักปิดลักเปิด พบได้ทั้งในผู้หญิงและในผู้ชายในอัตราส่วนใกล้เคียงกัน และเป็นโรคพบได้ในทุกอายุ แต่พบบ่อยกว่าในเด็กเล็กที่ขาดอาหารเสริมที่เหมาะสมตามอายุ และในผู้สูง อายุที่ขาดผู้ดูแล

โรคลักปิดลักเปิด เกิดจากร่างกายขาด วิตามิน-ซี /วิตามินซี เนื่องจากบริโภคอาหารที่ขาดวิตามิน-ซี แต่ในบางคนอาจเกิดจากมีโรคของลำไส้ ที่ทำให้ลำไส้ดูดซึมวิตามินซีได้น้อยกว่าปกติ เช่น โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง หรือโรคท้องเสียเรื้อรัง เป็นต้น

วิตามิน-ซี เป็นวิตามินที่ร่างกายสร้างขึ้นเองไม่ได้ ร่างกายจึงได้วิตามิน-ซีจากการกินอา หารเท่านั้น โดยวิตามินซีจะถูกดูดซึมในลำไส้เล็ก

ความต้องการ วิตามิน-ซี ของร่างกายขึ้นกับ อายุ เพศ และบางภาวะที่มีผลลดการดูดซึมของวิตามิน-ซี เช่น สูบบุหรี่ และโรคเรื้อรังต่างๆของลำไส้เล็ก ดังได้กล่าวแล้ว

ปริมาณวิตามิน-ซี ที่ควรได้รับในแต่ละวัน (DRI, Dietary reference intakes) ซึ่งแนะนำโดย สถาบันการแพทย์แห่งชาติ สหรัฐอเมริกา IOM ( Food and Nutrition Board, Institute of Medicine, National Academies) ค.ศ. 2011 คือ

อนึ่ง เนื่องจากการได้รับควันบุหรี่ต่อเนื่องที่รวมถึงสูบบุหรี่มือสอง จะส่งผลต่อลำไส้ลดการดูดซึมวิตามิน-ซี แพทย์จึงแนะนำให้ผู้สูบบุหรี่ หรือสูบบุหรี่มือสอง (Second hand smoker, ไม่ได้สูบบุหรี่ แต่ได้รับควันบุหรี่จากสิ่งแวดล้อมต่อเนื่อง) ในทุกอายุ ให้กินวิตามิน-ซี เพิ่มขึ้นอีกวันละ 35 มิลลิกรัมจากตัวเลขที่ได้แนะนำดังกล่าวแล้ว

อาหารที่มีวิตามิน-ซี สูง คือ ผลไม้ โดยเฉพาะที่มีรสเปรี้ยว (เช่น ส้ม มะนาว กีวี สับปะ รด) มะละกอ ฝรั่ง มะม่วง แคนตาลูป เชอรี ผักสีเขียวเข้ม (เช่น ผักโขม บรอกโคลี) มะเขือเทศ กะหล่ำ และพริกหวาน และในอาหารสำเร็จรูปที่เพิ่ม วิตามิน-ซีเสริมอาหาร

อย่างไรก็ตาม วิตามิน-ซี จะเสื่อมคุณภาพจากความร้อน เช่น เมื่อปรุงผักด้วยความร้อนสูง หรือใช้เวลาปรุงนาน มีโอกาสที่วิตามิน-ซีในผักเหล่านั้นจะถูกทำลายได้สูงถึงประมาณ 60%

วิตามิน-ซี เป็นวิตามินที่จำเป็นในการช่วยการทำงานของโปรตีนเพื่อการเจริญเติบโตและซ่อมแซมเซลล์ที่ได้รับความเสียหาย บาดเจ็บ (จึงมีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระด้วย) โดยเฉพาะ ผิวหนัง ผนังหลอดเลือด กระดูกอ่อน ฟัน เหงือก น้ำไขข้อ และสารคอลลาเจน (Collagen) ที่ร่างกายใช้ในการหล่อลื่น และประสานการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อต่างๆ และยังช่วยการดูดซึมธาตุเหล็กของลำไส้ด้วย

ผลจากการขาดวิตามิน-ซี:

เมื่อร่างกายขาดวิตามินซี อาการผิดปกติที่พบได้ เช่น

  • เนื้อเยื่อต่างๆของร่างกายจะเกิดการอักเสบได้ง่าย เช่น เหงือกบวม
  • หลอดเลือดขนาดเล็กจะแตกง่าย (เลือดออกง่าย)
  • ภาวะซีด (จากขาดธาตุเหล็ก/โลหิตจางจากขาดธาตุเหล็ก และจากมีเลือดออกง่าย)
  • กระดูกอ่อนเจริญผิดปกติ (โดยเฉพาะวัยเด็ก)
  • ฟันเจริญผิดปกติ (โดย เฉพาะวัยเด็ก)
  • เหงือกบวม เลือดออกง่ายเมื่อแปรงฟัน
  • และผิวหนังเลือดออกง่าย เห็นเป็นจุดแดงๆคล้ายในโรคไข้เลือดออก หรือเป็นจ้ำห้อเลือดได้ง่าย

ผลจากการได้รับวิตามินซีมากเกินไป:

แต่ถ้ากินวิตามิน-ซี มากเกินไป อาจเกิดผลข้างเคียงได้ เช่น

  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • วิงเวียน
  • ท้องเสีย
  • เป็นปัจจัยเสี่ยงเกิดนิ่วในไต
  • และร่างกายอาจมีธาตุเหล็กมากเกินควร ส่งผลให้ธาตุเหล็กไปสะสมตามอวัยวะต่างๆ โดยเฉพาะตับ ส่งผลให้อวัยวะเหล่านั้นเกิดการอักเสบได้ และถ้าให้วิตามิน-ซี ทางหลอดเลือดดำ อาจเกิดไตวายได้ นอกจากนั้น มีรายงานว่า อาจทำให้เกิดโรคหัวใจได้ด้วย

ใครบ้างมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคลักปิดลักเปิด?

คนที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรคลักปิดลักเปิด เช่น

  • เด็กอายุต่ำกว่า 1 ขวบที่เลี้ยงด้วยนมวัวเพียงอย่างเดียว และผู้สูงอายุที่ขาดคนดู แล
  • คนยากจน หรือผู้อพยพ ที่ไม่มีเงินพอจะซื้อผัก ผลไม้ ที่มีวิตามิน-ซีสูง เพราะมักเป็นประเภทมีราคาสูง
  • ติดสุรา และ/หรือบุหรี่
  • หญิงตั้งครรภ์ และให้นมบุตร
  • โรคไตวายที่ต้องล้างไต
  • คนที่มีโรคเรื้อรังต่างๆที่เป็นสาเหตุให้ขาดอาหาร เช่น โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง
  • คนที่ไม่กิน ผัก และ/หรือ ผลไม้

โลกลักปิดลักเปิดมีอาการอย่างไร?

อาการจากโรคลักปิดลักเปิดที่พบบ่อย คือ

  • เหนื่อยง่าย กระสับกระส่าย
  • ปวดกล้ามเนื้อโดยเฉพาะกล้ามเนื้อขา
  • เหงือกบวม เจ็บ เลือดออกง่ายจากเหงือกโดยเฉพาะเมื่อแปรงฟัน หรือกินของ แข็งๆ
  • ถ้ามีเลือดออกในข้อ ข้อจะบวม
  • ถ้าเลือดออกในตา ตาจะบวม
  • ห้อเลือดง่าย มีผื่น/จุดแดงๆจากเลือดออกตามตัวคล้ายผื่นโรคไข้เลือดออก
  • ในเด็กเล็ก ฟัน และกระดูก จะผิดรูปร่าง อาจมีท้องเสียเรื้อรัง ผอมลง และ/หรือน้ำ หนักไม่ขึ้น

แพทย์วินิจฉัยโรคลักปิดลักเปิดอย่างไร?

การวินิจฉัยโรคลักปิดลักเปิด แพทย์มักวินิจฉัยจาก

  • *การวินิจฉัยทางคลินิก (ทั้งนี้เพราะการตรวจระดับวิตามิน-ซีในเลือดไม่ได้ช่วยการวินิจฉัย)
  • ร่วมกับ การวินิจฉัยแยกโรคจากโรคอื่นๆอื่นๆที่อาการคล้ายคลึงกับโรคลักปิดลักเปิด เช่น
    • โรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเอง
  • ร่วมกับ การให้วิตามิน-ซี เสริมอาหาร ซึ่งถ้าอาการผู้ป่วยดีขึ้น ก็จะเป็นการยืนยันว่า เป็นโรคลักปิดลักเปิดจริง

*การวินิจฉัยทางคลินิก คือ วินิจฉัยจากประวัติอาการ, ประวัติการกินอาหาร, โรคประจำตัวต่างๆ, การตรวจร่างกาย, การตรวจเหงือกและฟัน, และในเด็กอาจมีการเอกซเรย์กระดูกเพื่อดูการเจริญเติบโตของกระดูก

รักษาโรคลักปิดลักเปิดอย่างไร?

การรักษาโรคลักปิดลักเปิด คือ การให้กินวิตามิน-ซี เสริมอาหารจนกว่าอาการจะกลับเป็นปกติ ร่วมกับการเพิ่มอาหารประเภทผัก ผลไม้ ที่มีวิตามิน-ซีสูง เพื่อป้องกันไม่ให้กลับเป็นโรคอีก

โรคลักปิดลักเปิดรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงอย่างไร?

โรคลักปิดลักเปิดเป็นโรคไม่รุนแรง รักษาได้หายเสมอ ยกเว้นการเจริญเติบโตผิดรูปของฟันที่จะเกิดขึ้นอย่างถาวร

ผลข้างเคียงจากโรคลักปิดลักเปิด มักเป็นภาวะซีดจากเลือดออกเรื้อรังเมื่อมีการขาด วิตามิน-ซีต่อเนื่อง และ/หรือจากการขาดธาตุเหล็ก เพราะวิตามินซีช่วยลำไส้ในการดูดซึมธาตุเหล็ก (โลหิตจางจากขาดธาตุเหล็ก)

ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อมีโรคลักปิดลักเปิด? ควรพบแพทย์เมื่อไร?ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

การดูแลตนเอง คือ เมื่อมีอาการดังกล่าวแล้วในหัวข้อ ‘อาการฯ’ ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเสมอ

และเมื่อได้รับการวินิจฉัยว่า เป็นโรคลักปิดลักเปิด การดูแลตนเอง คือ

  • กินวิตามิน-ซีเสริมอาหาร ตามแพทย์แนะนำให้ถูกต้องครบถ้วน
  • กินอาหารที่มีผักและผลไม้มากๆ
  • พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามนัดเสมอ
  • ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัด เมื่อ
    • อาการต่างๆเลวลง
    • หรือมีอาการต่างๆผิดปกติไปจากเดิม เช่น เลือดออกมากขึ้น เป็นต้น
    • หรือเมื่อกังวลในอาการ

ป้องกันโรคลักปิดลักเปิดอย่างไร?

สามารถป้องกันโรคลักปิดลักเปิดได้ง่ายๆ โดยกินอาหารที่มีผัก ผลไม้ ให้มากๆ ในทุกมื้ออาหาร รวมทั้งเป็นอาหารว่าง

ส่วนการกินวิตามิน-ซี เสริมอาหารโดยเฉพาะวิตามิน-ซี ปริมาณสูงตั้งแต่ 500 มิลลิกรัมต่อวันขึ้นไป ควรปรึกษาแพทย์ พยาบาล หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ เนื่องจากอาจเกิดผลข้างเคียงได้ดังกล่าวแล้วใน ‘ หัวข้อ โรคลักปิดลักเปิดเกิดได้อย่างไรฯ ’

บรรณานุกรม

  1. Braunwald, E., Fauci, A., Kasper, L., Hauser, S., Longo, D., and Jameson, J. (2001). Harrison’s principles of internal medicine (15th ed.). New York: McGraw-Hill.
  2. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK56068/table/summarytables.t2/?report=objectonly [2018,Dec29]
  3. http://en.wikipedia.org/wiki/Scurvy [2018,Dec29]
  4. http://emedicine.medscape.com/article/125350-overview#showall [2018,Dec29]
  5. http://emedicine.medscape.com/article/125350-workup [2018,Dec29]
  6. https://ods.od.nih.gov/factsheets/VitaminC-HealthProfessional/ [2018,Dec29]
  7. http://en.wikipedia.org/wiki/Vitamin_C [2018,Dec29]
  8. https://www.betterhealth.vic.gov.au/health/healthyliving/scurvy [2018,Dec29]