ยาลดกรดชนิดน้ำแขวนตะกอน (Antacid Suspension) ยาอลัมมิล (Alum milk)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 28 ธันวาคม 2562
- Tweet
- บทนำ
- ยาลดกรดชนิดน้ำแขวนตะกอนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ยาลดกรดชนิดน้ำแขวนตะกอนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาลดกรดชนิดน้ำแขวนตะกอนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาลดกรดชนิดน้ำแขวนตะกอนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยาลดกรดชนิดน้ำแขวนตะกอนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาลดกรดชนิดน้ำแขวนตะกอนอย่างไร?
- ยาลดกรดชนิดน้ำแขวนตะกอนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาลดกรดชนิดน้ำแขวนตะกอนอย่างไร?
- ยาลดกรดชนิดน้ำแขวนตะกอนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- โรคระบบทางเดินอาหาร (Gastrointestinal tract disease)
- ยาลดกรด (Antacids)
- แผลเปบติค (Peptic ulcer) / แผลในกระเพาะอาหาร (Gastric ulcer)
- อาหารไม่ย่อย ธาตุพิการ (Indigestion)
- กระเพาะอาหารอักเสบ (Gastritis)
- อะลูมิเนียม ไฮดรอกไซด์ (Aluminium Hydroxide)
- แมกนิเซียมไฮดรอกไซด์ (Magnesium hydroxide)
บทนำ
ยาลดกรดชนิดน้ำแขวนตะกอน (Antacid Suspension) หรือ ที่ทั่วไปมักเรียกว่า ยาอลัมมิล (Alum milk) ประกอบด้วยตัวยาหลัก 2 ตัว คือ อะลูมิเนียม ไฮดรอกไซด์ (Aluminium hy droxide) และ แมกนิเซียม ไฮดรอกไซด์ (Magnesium hydroxide) ออกฤทธิ์ต้านกรดในกระ เพาะอาหารได้รวดเร็ว โดยตัวยาจะทำให้กรดมีความเป็นกลางมากขึ้น นอกจากนี้เรายังพบเห็นในรูปของยาเม็ดได้เช่นเดียวกัน แต่ยาน้ำแขวนตะกอนจะออกฤทธิ์ได้เร็วกว่าชนิดเม็ด อย่างไรก็ตาม การรับประทานยาควรต้องอยู่ในคำสั่งจากแพทย์ หรือได้รับคำแนะนำจากเภสัชกร เพราะยากลุ่มนี้มีผลข้างเคียง อีกทั้งข้อห้าม และสามารถส่งผลต่อการดูดซึมต่อยาบางชนิดที่ต้องรับประทาน ร่วมกัน
ยาลดกรดชนิดน้ำแขวนตะกอนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาลดกรดชนิดน้ำแขวนตะกอนมีสรรพคุณ/ข้องบ่งใช้ ดังนี้คือ
- รักษากระเพาะอาหารอักเสบ แผลในกระเพาะ-ลำไส้ /แผลเปบติค
- อาหารไม่ย่อยอันเนื่องจากมีกรดหลั่งออกมามาก
ยาลดกรดชนิดน้ำแขวนตะกอนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยากลุ่มนี้ไม่ได้ยับยั้งการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร แต่จะออกฤทธิ์ต้านกรดที่หลั่งออกมาแล้วเท่านั้น ทำให้ฤทธิ์ของกรดที่หลั่งออกมาเบาบาง และมีความเป็นกลางเพิ่มขึ้น จนช่วยลดอาการปวดท้องจากกรดที่หลั่งออกมามากได้
ยาลดกรดชนิดน้ำแขวนตะกอนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาลดกรดชนิดน้ำแขวนตะกอน มีรูปแบบการจัดจำหน่าย คือ
- เป็นยารับประทานชนิดน้ำแขวนตะกอนขนาด 240 และ1,000 มิลลิลิตร
- และเป็นชนิดเม็ด ซึ่งจะต้องเคี้ยวให้ละเอียดก่อนกลืนยา
ยาลดกรดชนิดน้ำแขวนตะกอนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาลดกรดชนิดน้ำแขวนตะกอนมีขนาดรับประทาน เช่น
ก. สำหรับผู้ใหญ่:
- รับประทานยาลดกรดชนิดน้ำแขวนตะกอน ครั้งละ 1-2 ช้อนโต๊ะ วันละ 3-4 ครั้ง ก่อนอาหาร ไม่ควรรับประทานเกิน 4 ครั้ง/วัน
- และถ้าเป็นชนิดเม็ด รับประทานครั้งละ 1-2 เม็ด วันละ 3-4 ครั้งก่อนอาหาร และไม่ควรเกินวันละ 4 ครั้งเช่นเดียวกับชนิดน้ำ แต่ต้องเคี้ยวยาให้ละเอียดก่อนการกลืน
ข.สำหรับเด็ก: ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป
*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิด รวมถึงยาลดกรดชนิดน้ำแขวนตะกอน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยา บาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด /หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาอาจส่งผลให้อาการของโรค เหล่านั้นรุนแรงขึ้นหรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาทุกชนิดรวมถึง ยาลดกรดชนิดน้ำแขวนตะกอน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็นสองเท่า
ยาลดกรดชนิดน้ำแขวนตะกอนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาลดกรดชนิดน้ำแขวนตะกอนมีผลไม่พึงประสงค์จากยา /ผลข้างเคียง/ อาการข้างเคียง เช่น
- สามารถก่อให้เกิดทั้งอาการท้องผูก หรือท้องเสีย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการตอบสนองของร่างกายแต่ละบุคคล
- ในกรณีถ้ามีอาการท้องผูก ต้องระวังการเกิดริดสีดวงทวารติดตามมา
- การรับประทานยานี้ต่อเนื่องติดต่อเป็นเวลานานๆ สามารถทำให้ร่างกายมีภาวะฟอสเฟตต่ำ (อาการ เช่น อ่อนเพลีย ปวดกระดูก กล้ามเนื้ออ่อนแรง) ด้วยเหตุผลที่อะลูมิเนียมไฮดรอกไซด์สามารถจับกับฟอสเฟตในระบบทางเดินอาหาร และสามารถลดการดูดซึมฟอสเฟต
- ทั้งนี้ ควรต้องพบแพทย์ทันที หากพบอาการ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย กล้ามเนื้ออ่อนแรง อุจจาระมีสีคล้ำ หรือดำ อาเจียน
- นอกจากนั้นยังอาจพบอาการผื่นคันตามผิวหนัง หน้าบวม วิงเวียนศีรษะ หายใจติดขัด/หายใจลำบาก
มีข้อควรระวังการใช้ยาลดกรดชนิดน้ำแขวนตะกอนอย่างไร?
ข้อควรระวังในการใช้ ยาลดกรดชนิดน้ำแขวนตะกอน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ระวังการใช้ในหญิงตั้งครรภ์ หรือหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- ระวังการใช้ในผุ้ป่วยด้วย โรคไต เช่น นิ่วในไต
- ไม่ควรใช้ยากับผู้ที่มีภาวะฟอสเฟตในกระแสเลือดต่ำ
- ระวังการใช้ยากับผู้ที่มีภาวะท้องผูกประจำ
- ไม่แบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ไม่ใช้ยาหมดอายุ
- ไม่เก็บยาหมดอายุ
*****หมายเหตุ: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาลดกรดชนิดน้ำแขวนตะกอน) ยาแผนโบราญ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะ ยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ยาลดกรดชนิดน้ำแขวนตะกอนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาลดกรดชนิดน้ำแขวนตะกอน สามารถยับยั้งการดูดซึมของยาได้หลายกลุ่ม/มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆได้หากรับประทานพร้อมกัน ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงการรับประทานร่วมกับยาดังต่อไปนี้
- ยาบำรุงเลือดที่มีธาตุเหล็กเป็นองค์ประกอบ
- ยาต้านเชื้อแบคทีเรีย/ยาปฏิชีวนะ เช่นยา Tetracycline
- ยายับยั้งการหลั่งกรด/ยาลดกรด เช่นยา Cimetidine
- ยาโรคหัวใจ เช่นยา Digoxin
- ยารักษาทางจิตเวช เช่นยา Chlorpromazine
ควรเก็บรักษายาลดกรดชนิดน้ำแขวนตะกอนอย่างไร?
ควรเก็บยาลดกรดชนิดน้ำแขวนตะกอน เช่น
- เก็บยาในอุณหภูมิห้อง
- เก็บยาให้ พ้นแสงแดด และ
- เก็บยาให้พ้นมือเด็ก
ยาลดกรดชนิดน้ำแขวนตะกอนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ชื่ออื่นของยาลดกรดชนิดน้ำแขวนตะกอน และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
Admag (แอดแมก) | T P Drug |
Alticon (อัลทิคอน) | K.B. Pharma |
Aludon Forte (อลูดอน) | Acdhon |
Alum Gel (อลัม เจล) | Utopian |
Alumed (อลูเมด) | Medicpharma |
Alutop Gel (อลูทอป เจล) | General Drugs House |
Amico-L Mixture (อมิโค-แอล มิกซ์เจอร์) | T.O. Chemicals |
Amogin (อโมจิน) | Millimed |
Antacia-SM (แอนตาเซีย-เอสเอ็ม) | The Forty-Two |
Antacil (แอนตาซิล) | Thai Nakorn Patana |
Asialum (อเซียลัม) | Asian Pharm |
Belcid (เบลซิด) | Biolab |
Bowa Gel (โบวา เจล) | Thai Nakorn Patana |
Burajel (บูราเจล) | Burapha |
Cophargel (โคพาร์เจล) | Community Pharma PCL |
Gasitone (กาซิโทน) | ANB |
Gastacin (แก๊สตาซิน) | Heromycin Pharma |
Herogel (ฮีโรเจล) | Heromycin Pharma |
Maalox Alum Milk (มาลอกซ์ อลัม มิลค์) | Sanofi-aventis |
Max 77 (แม็กซ์ 77) | Osotspa |
Malugel-S (มาลูเจล-เอส) | Charoen Bhaesaj Lab |
Solumag-D (โซลูแมก-ดี) | Chew Brothers |
Stomac (สโตแมก) | Greater Pharma |
T.O. Gel (ที.โอ. เจล) | T.O. Chemicals |
Ulcegel (อัลซีเจล) | T.O. Chemicals |
V Day Milk (วี เดย์ มิลค์) | P P Lab |
Voragas (โวราแก๊ส) | V S Pharma |
Ziga-Gel (ซีกา-เจล) | Bangkok Lab & Cosmetic |
บรรณานุกรม
- http://www.mims.com/Thailand/drug/info/Maalox%20Alum%20Milk/?q=Maalox%20Alum%20Milk&type=brief [2019,May4]
- https://www.medicinenet.com/aluminum_hydroxide_suspension-oral/article.htm [2019,May4]
- https://www.drugs.com/international/alum-milk.html [2019,May4]
- http://haamor.com/th/%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B8%A5%E0%B8%B9%E0%B8%A1%E0%B8%B4%E0%B9%80%E0%B8%99%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%A1%E0%B9%84%E0%B8%AE%E0%B8%94%E0%B8%A3%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B9%84%E0%B8%8B%E0%B8%94%E0%B9%8C/ [2019,May4]
- http://haamor.com/th/%E0%B9%81%E0%B8%A1%E0%B8%81%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B9%80%E0%B8%8B%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%A1%E0%B9%84%E0%B8%AE%E0%B8%94%E0%B8%A3%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B9%84%E0%B8%8B%E0%B8%94%E0%B9%8C/ [2019,May4]