ยาลิเทียม (Lithium)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 20 ธันวาคม 2563
- Tweet
- บทนำ
- ยาลิเทียมมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ยาลิเทียมมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาลิเทียมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาลิเทียมมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยาลิเทียมมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาลิเทียมอย่างไร?
- ยาลิเทียมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาลิเทียมอย่างไร?
- ยาลิเทียมมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคจิต (Psychosis)
- โรคซึมเศร้า (Major Depressive Disorder หรือ MDD)
- โรคซึมเศร้า (Depression): สัญญาณเตือนโรคซึมเศร้า
- ยาต้านเศร้า (Antidepressants)
- ยารักษาทางจิตเวช ยาจิตเวช (Psychotropics drugs)
- โรคแอดดิสัน (Addison disease)
- กลุ่มอาการเซโรโทนิน (Serotonin syndrome)
บทนำ
หากกล่าวถึง ยาลิเทียม (Lithium) ประชาชนส่วนใหญ่จะไม่ค่อยรู้จักในด้านของยารักษาโรค แต่อาจเข้าใจว่าเป็นสารชนิดหนึ่งที่เป็นโลหะ นำมาใช้เป็นวัตถุดิบในโรงงานอุตสาหกรรม เช่น การผลิตเซรามิก แก้ว ส่วนประกอบของแบตเตอรี่ ส่วนประกอบในเครื่องกรองอากาศ ใช้เป็นแหล่งพลัง งานของหัวรบจรวด
สำหรับทางยาหรือเภสัชภัณฑ์ ลิเทียมถูกนำมาใช้ในการรักษาและบำบัดอาการทางจิตที่เรียกว่าโรคไบโพลา/หรือโรคอารมณ์สองขั้ว/ หรือโรคอารมณ์แปรปรวนสองขั้ว (Bipolar disorder) รักษาอาการซึมเศร้า เป็นต้น
จากข้อมูลด้านเภสัชจลนศาสตร์ (Pharmacokinetic, การศึกษาความเป็นไปของยา เมื่อยา เข้าสู่ร่างกาย) พบว่า ยาลิเทียมถูกดูดซึมได้ดีในระบบทางเดินอาหาร หากรับประทานพร้อมอาหารจะทำให้ระดับยาในกระแสเลือดเพิ่มขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ยาลิเทียมสามารถผ่านเข้าสู่กระดูก ต่อมไทรอยด์ รก ซึมผ่านเข้าน้ำนมมารดา แต่ไม่จับกับพลาสมาโปรตีน ตับของมนุษย์ไม่สามารถเปลี่ยนโครงสร้างของลิเทียมได้ ร่างกายต้องใช้เวลา 20 - 24 ชั่วโมง เพื่อกำจัดยาลิเทียมออกจากร่างกาย 50% โดยผ่านไปกับ น้ำปัสสาวะ อุจจาระ น้ำลาย และเหงื่อ
คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้จัดให้ลิเทียมบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติโดยอยู่ในหมวดยาอันตราย การใช้ยาที่ปลอดภัย ถูกต้อง จึงควรต้องอยู่ภายใต้คำสั่งแพทย์เท่านั้น
ยาลิเทียมมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาลิเทียมมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- รักษาโรคทางจิตประสาท เช่น Bipolar disorder
- รักษาโรคซึมเศร้า (Recurrent unipolar depression)
ยาลิเทียมมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ในร่างกายของยาลิเทียมยังไม่แน่ชัด แต่พบมีการเปลี่ยนแปลงทางเคมี ของสารแคทิโคลามีน (Catecholamines, สารที่ทำงานเกี่ยวข้องกับระบบประสาท) ในระหว่างเส้น ประสาท และมีการขนถ่ายเกลือโซเดียมภายในเซลล์ประสาทและภายในเซลล์กล้ามเนื้อ อาจเป็นเพราะกลไกดังกล่าว จึงทำให้ลิเทียมมีฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ
ยาลิเทียมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาลิเทียมมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- เป็นยาแคปซูล ขนาด 300 มิลลิกรัม/แคปซูล
ยาลิเทียมมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาลิเทียมมีขนาดรับประทาน เช่น
ก. สำหรับการป้องกันการกลับมาเป็นใหม่ของโรค: เช่น
- ในผู้ใหญ่และในเด็กอายุมากกว่า 12 ปี: รับประทาน 0.4 - 1.2 กรัม/วัน โดยแบ่งรับประทาน
ข. สำหรับการรักษาอาการของโรค: เช่น
- ในผู้ใหญ่และในเด็กอายุมากกว่า 12ปี: รับประทาน 1.5 - 2 กรัม/วัน โดยแบ่งรับประทาน
อนึ่ง :
- ควรรับประทานยาลิเทียมพร้อมอาหาร และขนาดรับประทานต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ ห้ามมิให้ผู้ป่วยปรับขนาดการรับประทานยาเอง
- ระยะเวลาการรับประทานยานี้ขึ้นกับคำแนะนำของแพทย์
- เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก):
- เด็กอายุ 6 - 12 ปี: ขนาดยาขึ้นกับน้ำหนักตัวของเด็ก และการใช้ยาต้องอยู่ในการดูแล ของแพทย์เท่านั้น
- เด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี: ไม่มีข้อมูลขนาดยาที่เป็นมาตรฐาน การใช้ยานี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์เท่านั้น
*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาลิเทียม ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก /หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาลิเทียมอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะการตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาลิเทียม สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับ ประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
ยาลิเทียมมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาลิเทียมสามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
- คลื่นไส้
- วิงเวียน
- มือสั่น
- ปัสสาวะบ่อย
- กล้ามเนื้ออ่อนแรง
- ท้องเสีย
- แคลเซียมในเลือดสูงผิดปกติ (เช่น คลื่นไส้ อาเจียน กระหายน้ำ ท้องผูก)
- น้ำหนักตัวเพิ่ม
- บวม และ/หรือ
- มีอาการคล้ายภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน
มีข้อควรระวังการใช้ยาลิเทียมอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาลิเทียม เช่น
- ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับ ผู้ป่วยโรคไตระยะรุนแรง ผู้ป่วยที่มีภาวะขาดน้ำ
- ห้ามใช้ยานี้กับ ผู้ป่วยที่เป็นโรคแอดดิสัน (Addison’s disease, โรคที่เกิดจากต่อมหมวกไตสร้างฮอร์โมนได้น้อยกว่าความต้องการของร่างกาย อาการเช่น อ่อนเพลีย น้ำตาลในเลือดต่ำ กล้ามเนื้อไม่มีแรง ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ กระหายน้ำ)
- ห้ามใช้ยานี้กับหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- ระวังการใช้ยานี้กับ ผู้ที่เป็นไข้ ผู้ที่มีอาการอักเสบติดเชื้อ
- ระวังการใช้ยานี้กับ หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีอารมณ์แปรปรวน
- ไม่แบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ไม่ใช้ยาหมดอายุ
- ไม่เก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาลิเทียมด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพร ต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด เสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ยาลิเทียมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาลิเทียมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การรับประทานยาลิเทียม ร่วมกับยาแก้ปวดบางตัว เช่นยา Tramadol อาจทำให้เกิดอาการชักขึ้นได้ จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การรับประทานยาลิเทียม ร่วมกับยาขับปัสสาวะบางตัว เช่นยา Hydrochlorothiazide สามารถเพิ่มผลข้างเคียงของยาลิเทียมต่อผู้ป่วยได้ โดยอาจพบอากา รท้องเสีย คลื่นไส้ ง่วงนอน สั่น กระหายน้ำ ปัสสาวะบ่อย กล้ามเนื้ออ่อนแรง การควบคุมการทรงตัวได้ไม่ดี หากจำเป็นต้องใช้ร่วมกัน แพทย์จะเป็นผู้ปรับขนาดการรับประทานให้เหมาะสมกับคนไข้
- การรับประทานยาลิเทียม ร่วมกับยาลดความดันโลหิตสูง เช่นยา Olmesartan อาจทำให้เกิดอาการ ง่วงนอน วิงเวียน สับสน ท้องเสีย คลื่นไส้ กล้ามเนื้ออ่อนแรง สั่น ตาพร่า กระหายน้ำมาก ปัสสาวะบ่อย เหล่านี้เป็นอาการคล้ายกับมีลิเทียมมากเกินในกระแสเลือด แพทย์จะเป็นผู้ปรับขนาดรับประทานเพื่อความเหมาะสมต่อผู้ป่วยเป็นรายๆไป
- การรับประทานยาลิเทียมร่วมกับยาต้านเศร้า อย่างเช่นยา Fluoxetine อาจเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดกลุ่มอาการเซโรโทนิน Serotonin syndrome โดยมีอาการ รู้สึกสับสน ประสาทหลอน ชัก เกิดความเปลี่ยนแปลงของความดันโลหิต หัวใจเต้นเร็ว มีไข้ เหงื่อออกมาก ตาพร่า กล้ามเนื้อเกร็งตัว ปวดท้อง คลื่นไส้- อาเจียน และท้องเสีย หากไม่มีความจำเป็นควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
ควรเก็บรักษายาลิเทียมอย่างไร?
ควรเก็บยาลิเทียม เช่น
- เก็บยาที่ช่วงอุณหภูมิไม่เกิน 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ
ยาลิเทียมมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาลิเทียม มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Licarb (ไลคราบ) | R.X. |
Limed (ไลเมด) | Medifive |
Lit 300 (ลิต 300) | B L Hua |
Lithium Pharmaland (ลิเทียม ฟาร์มาแลนด์) | Pharmaland |
บรรณานุกรม
1. http://en.wikipedia.org/wiki/Lithium [2020,Dec19]
2. http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fthailand%2fdrug%2finfo%2flithium%3fmtype%3dgeneric [2020,Dec19]
3. http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fThailand%2fdrug%2finfo%2fLimed%2f%3ftype%3dbrief[2020,Dec19]
4. http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fUSA%2fdrug%2finfo%2fLITHIUM%2flithium%3ftype%3dfull%26mtype%3dgeneric [2020,Dec19]
5. http://www.drugs.com/drug-interactions/lithium-index.html?filter=3&generic_only= [2020,Dec19]