ยารักษาโรคหืด (Asthma Medications)

บทความที่เกี่ยวข้อง


ยารักษาโรคหืด

ยารักษาโรคหืดคือยาอะไร?

ยารักษาโรคหืด หรือยาโรคหืด(Asthma medications หรือ Asthma drugs) หมายถึง ยาที่ใช้ ควบคุมอาการ บรรเทาอาการ ลดความถี่ และลดความรุนแรงของการกำเริบ ของโรคหืด/อาการหอบหืด นอกจากนี้ยังช่วยให้ผู้ป่วยโรคหืดสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ ลดการเกิดภาวะแทรกซ้อน(ผลข้างเคียง)และอัตราการตายของผู้ป่วยโรคหืดจากอาการหอบหืดรุนแรง

ยารักษาโรคหืดมีกี่ประเภท?

ยารักษาโรคหืด แบ่งประเภทตามกลุ่มยาออกเป็นกลุ่มใหญ่ๆ/ประเภทใหญ่ๆ ได้ 3 กลุ่ม/ประเภท ดังนี้

1. ยาที่ใช้ในการควบคุมอาการหอบหืด (Controller medications):

ก. ยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดสูด (Inhaled corticosteroids ย่อว่า ICS) เช่นยา โคลเมทาโซน (Beclometasone), บูดีโซไนด์ (Budesonide), ไซคลีโซไนด์ (Ciclesonide), ฟลูติคาโซน (Fluticasone), โมเมนทาโซน (Mometasone), ไตรแอมซิโนโลน (Triamcinolone)

ข. ยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดออกฤทธิ์ทั่วร่างกาย (Systemic corticosteroids) แบ่งออกเป็น

  • ยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดรับประทาน (Oral corticosteroids ย่อว่าOCS) เช่นยา เพรดนิโซโลน (Prednisolone)
  • ยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดฉีด (Intravenous corticosteroids) เช่นยา เดกซาเมทาโซน(Dexamethasone), เมทิลเพรดนิโซโลน

ค. ยาสูดในรูปของยาผสมระหว่างคอร์ติโคสเตียรอยด์และยากระตุ้นตัวรับ(Receptor)ที่ชื่อ บีต้าทู(Beta 2 receptor)ชนิดออกฤทธิ์ยาว/Long acting beta agonist/LABA (ICS/LABA Combinations) เช่นยา บีโคลเมทาโซน(Beclometasone) + ฟอร์โมเทอรอล(Formoterol), บูดีโซไนด์(Budesonide) + ฟอร์โมเทอรอล(Formoteral), ฟลูติคาโซน(Fluticasone) + ซัลมีเทอรอล(Salmeterol), ฟลูติคาโซน + ฟอร์โมเทอรอล, ฟลูติคาโซน + ไวแลนเทอรอล (Vilanterol), โมเมนทาโซน(Mometasone) + ฟอร์โมเทอรอล

ง. ยาต้านลิวโคไตรอีน (Leukotriene receptor antagonists, ย่อว่า LTRA) เช่นยา มอนเทลูคาส (Montelukast), ซาเฟอลูคาส (Zafirlukast), แพรนลูคาส (Pranlukast)

จ. ยาในกลุ่มสารที่เรียกว่าโครโมนส์ (Chromones) เช่นยา เนโดโครมิลโซเดียม (Nedocromil sodium), โซเดียมโครโมไกลเคต (Sodium cromoglycate)

ฉ.ยาต้านสารอิมมูโนโกลบูลิน/สารภูมิต้านทาน (Anti-immunoglobulin E, Anti-IgE antibody) เช่นยา โอมาลิซูแมบ (Omalizumab)

ช. ยาแอนติบอดี/สารภูมิต้านทานที่ออกฤทธิ์ต้านสารสื่อการอักเสบชนิดอินเตอร์ลิวคิน-5 (Anti-interleukin-5, Anti-IL5) เช่นยา เมโพลิซูแมบ (Mepolizumab), เรสลิซูแมบ (Reslizumab)

2. ยาบรรเทาอาการหอบหืด(Reliever or Rescue medications):

ก.ยาสูดกระตุ้นตัวรับบีต้าทูชนิดออกฤทธิ์สั้น (Inhaled short-acting beta2 agonists ย่อว่า SABA) เช่นยา ซาลบูทามอล(Salbutamol) หรือ อัลบูเทอรอล(Albuterol), เทอร์บิวทาลีน (Terbutaline)

ข. ยาต้านตัวรับโคลิเนอร์จิกชนิดออกฤทธิ์สั้น(Cholinergic receptor) หรือยา Short-acting muscarinic antagonist หรือ Muscarinic antagonist : เช่นยา ไทโอโทรเพียม (Tiotropium), ออกซิโทรเพียม (Oxitropium)

3. ยาอื่นๆ (Other asthma medications):

ก. ยาต้านตัวรับโคลิเนอร์จิกชนิดออกฤทธิ์ยาว หรือ Long-acting muscarinic antagonist ย่อว่า LAMA เช่นยาไทโอโทรเพียม (Tiotropium)ชนิดออกฤทธ์ยาว

ข. ยากลุ่มที่เป็นอนุพันธ์ของเมธิลแซนทีน (Methylxanthines derivatives) เช่นยา ทีโอฟิลลีน (Theophylline)

ค. ยากระตุ้นตัวรับบีต้าทูชนิดรับประทาน (Oral beta2 agonists) เช่นยา ซาลบูทามอล (Salbutamol), เทอร์บิวทาลีน (Terbutaline), แบมบิวเทอรอล (Bambuterol)

ยารักษาโรคหืดมีจัดจำหน่ายในรูปแบบใด?

รูปแบบการจัดจำหน่ายของยารักษาโรคหืด ได้แก่

  • ยาเม็ด (Tablet)
  • ยาแคปซูล (Capsule)
  • ยาน้ำเชื่อม (Syrup)
  • ยาน้ำแขวนตะกอน (Suspension)
  • ยาน้ำใส (Solution)
  • ยาอิลิกเซอร์ (Elixir)
  • ยาน้ำใส ชนิดปราศจากเชื้อ (Sterile solution)
  • ยาน้ำใส สำหรับใช้กับเครื่องพ่นยาแบบละอองฝอย (Nebulized solution)
  • ยาสูดเข้าลำคอแบบกำหนดขนาด (Metered dose inhaler, MDI)
  • ยาสูดเข้าลำคอชนิดผง (Dry powder inhaler, DPI)

อนึ่ง อ่านเพิ่มเติมเรื่องรูปแบบของยาต่างๆได้จากเว็บ haamor.com บทความเรื่อง “รูปแบบยาเตรียม”

ยารักษาโรคหืดมีข้อบ่งใช้อย่างไร?

ข้อบ่งใช้ยารักษาโรคหืด ได้แก่

1. ยาที่ใช้ในการควบคุมโรค (Controller medications): เป็นยาที่ผู้ป่วยต้องใช้เป็นประจำเพื่อควบคุมอาการที่เกิดจากโรคหืด ลดการอักเสบของผนังหลอดลม เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของปอด รวมถึงลดความถี่และความรุนแรงในการเกิดอาการหอบหืดกำเริบ

2. ยาบรรเทาอาการ (Reliever or Rescue medications): เป็นยาที่ใช้เป็นครั้งคราวในการขยายหลอดลมเพื่อรักษาและป้องกันอาการหลอดลมหดเกร็ง การอุดกั้นของหลอดลม บรรเทาอาการหอบหืดเฉียบพลัน หอบหืดเรื้อรัง ป้องกันอาการหอบหืดจากสารที่ก่อให้เกิดการแพ้หรือการออกกำลังกาย

3. ยาอื่นๆ (Other asthma medications): ใช้เป็นยารักษาเสริมในผู้ป่วย โรคหืดเรื้อรัง โรคหืดในระยะรุนแรง อาการหอบหืดกำเริบ หรือเมื่อใช้ยาโรคหืดหลายชนิดแล้วยังไม่ได้ผล

มีข้อห้ามใช้ยารักษาโรคหืดอย่างไร?

ข้อห้ามใช้ยารักษาโรคหืด ได้แก่

1. ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้ยานั้นๆ หรือมีปฏิกิริยาตอบสนองที่รุนแรง (Hypersensitivity)ต่อยานั้นๆ

2. ห้ามใช้ยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดออกฤทธิ์ทั่วร่างกายในผู้ป่วยที่เป็นโรคติดเชื้อ โรคจิต โรคหัวใจ โรคตับ โรคไต โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคลมชัก โรคต้อหิน โรคกระดูกพรุน มีแผลในทางเดินอาหาร เช่น แผลในกระเพาะอาหาร แผลเปบติค

3. ห้ามใช้ยากระตุ้นตัวรับบีต้าทูในผู้ที่มีภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ (Tachycardia)

มีข้อควรระวังการใช้ยารักษาโรคหืดอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยารักษาโรคหืด เช่น

1. ผู้ป่วยโรคหืดควรหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ และสารระคายเคืองต่างๆ เช่น ฝุ่น ควันบุหรี่ แมลงสาบ ละอองเกสรดอกไม้ หรือขนสัตว์ เพราะอาจทำให้อาการของโรคแย่ลง

2. หากต้องใช้ยารักษาโรคหืดชนิดที่เป็นยาสูดหรือพ่นเข้าลำคอแล้วผู้ป่วยมีเสมหะ ให้กำจัดเสมหะออกก่อน เพื่อให้ยาออกฤทธิ์ได้อย่างเต็มที่

3. หลังจากใช้ยาสูดเสร็จเรียบร้อยแล้ว ให้กลั้วปากและคอด้วยน้ำสะอาดแล้วบ้วนทิ้ง เพื่อลดอาการไม่พึงประสงค์จากยาที่เกิดเฉพาะที่/ในช่องปาก เช่น อาการปากแห้งจากยาต้านตัวรับโคลิเนอร์จิกชนิดสูด, การเกิดเชื้อราในช่องปาก และเสียงแหบจากยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดสูด

4. หากผู้ป่วยต้องใช้ยาสูดรวม 2 ชนิดร่วมกัน ต้องเว้นระยะในการพ่นยาแต่ละชนิด ตัวอย่างเช่น หากต้องใช้ยากลุ่ม Beta2 agonists และยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ ควรพ่นยากลุ่ม Beta2 agonists ก่อนเพื่อให้ยาออกฤทธิ์ขยายหลอดลม หลังจากนั้นจึงพ่นยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ จะทำให้ยาถูกสูดเข้าไปในปอดได้มากขึ้น

5. ยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดสูด เป็นยาที่ใช้ควบคุมอาการในระยะยาว ต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 1-4 สัปดาห์จึงจะเห็นผลการรักษาอย่างเต็มที่ ยากลุ่มนี้ต่างกับยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดออกฤทธิ์ทั่วร่างกายตรงที่มีความปลอดภัยมากกว่า พบอาการไม่พึงประสงค์จากยาได้น้อย สามารถใช้เป็นเวลานานได้ ดังนั้นควรใช้ยานี้ตามที่แพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอ

6. การสูบบุหรี่ ทำให้ร่างกายตอบสนองต่อยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดสูดลดลง ดังนั้นแพทย์อาจพิจารณาปรับขนาดยาขึ้น และแนะนำการหยุดบุหรี่

7. ยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดออกฤทธิ์ทั่วร่างกาย เป็นยาที่ควรใช้ในขนาดและระยะเวลาน้อยที่สุดที่สามารถควบคุมอาการได้ เพื่อลดโอกาสเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา

8. ยาTheophylline เป็นยาที่มีดัชนีในการรักษาแคบ (Narrow therapeutic drugs) หมายความว่ายานี้มีโอกาสเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยาสูงและอันตราย ต้องระมัดระวังในการใช้ ดังนั้นให้ผู้ป่วยใช้ยานี้อย่างเคร่งครัด ไม่ควรเคี้ยวหรือบดยาชนิด/รูปแบบที่ออกฤทธิ์นาน และหากลืมรับประทานยากลุ่มนี้นี้ ให้รับประทานทันทีที่นึกได้ และห้ามเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า

9. ผู้ที่เป็นโรคหืด ควรระวังการใช้ยาบรรเทาอาการอักเสบชนิดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Nonsteroidal anti inflammatory drugs, NSIADs) และยาลดความดันโลหิตสูงกลุ่ม Beta blockers เพราะอาจทำให้มีอาการหอบหืดรุนแรงขึ้น

การใช้ยารักษาโรคหืดในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยารักษาโรคหืดในหญิงตั้งครรภ์/มีครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นดังนี้ เช่น

1. หญิงมีครรภ์ไม่ควรหยุดหรือลดขนาดยารักษาโรคหืดด้วยตนเอง เพราะอาจทำให้อาการหอบหืดกำเริบ ส่งผลให้เกิดอันตรายต่อทารกในครรภ์

2. หญิงมีครรภ์สามารถใช้ยารักษาโรคหืดดังต่อไปนี้ได้ เช่น ยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดสูด, ยาสูดกระตุ้นตัวรับบีต้าทู, Montelukast, และ Theophylline ได้อย่างปลอดภัย โดยไม่พบว่ายาเหล่านี้ทำให้เกิดความผิดปกติใดๆต่อทารกในครรภ์ แต่ต้องใช้ภายใต้คำสั่งแพทย์เท่านั้น

การใช้ยารักษาโรคหืดในผู้สูงอายุควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยารักษาโรคหืดในผู้สูงอายุควรเป็นดังนี้ เช่น

1. เนื่องจากวัยผู้สูงอายุเป็นวัยที่มีโรคประจำตัว และมียาต่างๆที่ต้องใช้เป็นประจำหลายชนิด ดังนั้นควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ว่า กำลังใช้ยาใดอยู่บ้าง รวมทั้งยาหยอดตาด้วย เพื่อป้องกันการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยา

2. ปัจจุบันยังมีข้อมูลด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยของยารักษาโรคหืดในผู้สูงอายุไม่มากเพียงพอ แต่พบว่าผู้สูงอายุมีโอกาสเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยา ได้มากกว่าวัยอื่น เช่น พิษต่อหัวใจจากการใช้ยากระตุ้นตัวรับบีต้าทู, ต้อกระจก กระดูกพรุน และรอยช้ำ/ห้อเลือดบริเวณผิวหนังจากการใช้ยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์

3. เนื่องจากวัยผู้สูงอายุเป็นวัยที่มีการทำงานของตับและของไตลดลง ส่งผลให้ความสามารถในการกำจัดยาต่างๆออกจากร่างกายลดลงตามมา ดังนั้นแพทย์อาจพิจารณาปรับขนาดยาโรคหืดบางชนิดลง เช่นยา Theophylline เพื่อลดโอกาสเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา

การใช้ยารักษาโรคหืดในเด็กควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยารักษาโรคหืดในเด็กควรเป็นดังนี้ เช่น

1. เนื่องจากยาสูดเป็นยาพื้นฐานในการรักษาโรคหืดสำหรับผู้ป่วยเด็กทุกช่วงอายุ ดังนั้นทั้งตัวผู้ป่วยและครอบครัวควรได้รับการฝึกสอนเทคนิคการใช้ยาสูดอย่างถูกวิธีจาก แพทย์ พยาบาล หรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพการรักษาที่ดี

2. รูปแบบของยาสูดที่แนะนำให้ใช้ในเด็ก คือ ยาสูดแบบ MDI (Metered Dose Inhaler)ต่อกับกระบอกช่วยสูด (Spacer) ยาสูดในรูปแบบนี้จะช่วยให้ผู้ป่วยรับยาเข้าสู่ร่างกายได้ดีขึ้น และลดการเกิดอาการไม่พึงประสงค์เฉพาะที่จากยาในบริเวณช่องปาก

3. ผู้ป่วยเด็กสามารถใช้ยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดสูดได้อย่างปลอดภัย ขนาดยาปกติที่ใช้ในการควบคุมโรคไม่มีผลต่อการกดการเจริญเติบโต ในทางกลับกันหากเด็กเป็นโรคหืดระยะรุนแรงหรือไม่สามารถควบคุมอาการได้ จะส่งผลให้อัตราการเจริญเติบโตและส่วนสูงลดลง

4. ยา Theophylline เป็นยาที่ไม่แนะนำให้ใช้ในเด็ก เนื่องจากเป็นยาที่มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นหลายชนิด และมีโอกาสสูงที่จะเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยานี้

มีอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยารักษาโรคหืดอย่างไร?

อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยารักษาโรคหืด เช่น

1. ยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดสูด ทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์เฉพาะที่ ได้แก่ เชื้อราในช่องปาก เสียงแหบ อาการไอจากการระคายเคืองทางเดินหายใจ และหากใช้ยากลุ่มนี้ขนาดสูงเป็นเวลานานอาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ทั่วร่างกายได้ (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง Corticosteroid)

2. ยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดออกฤทธิ์ทั่วร่างกาย ทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ทั่วร่างกาย เช่น ผิวหนังบาง มีรอยแตก รอยช้ำ/ห้อเลือด กระเพาะอาหารทะลุ เลือดออกในกระเพาะอาหาร/เลือดออกในระบบทางเดินอาหาร ต้อกระจก ต้อหิน กดการทำงานของต่อมหมวกไต ระดับโพแทสเซียมในเลือดต่ำ กระดูกพรุน หากใช้ยาขนาดสูงเป็นเวลานานกว่า 2 สัปดาห์ อาจทำให้เกิดกลุ่มอาการ Cushing’s Syndrome

3. ยากระตุ้นตัวรับบีต้า ทำให้เกิด อาการสั่นของกล้ามเนื้อ เช่น มือสั่น ปวดศีรษะ ตะคริว หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ ใจสั่น หลอดลมหดตัวเกร็งผิดปกติ หลอดเลือดส่วนปลาย(หลอดเลือดแขน-ขา)ขยาย วิตกกังวล

4. ยาต้านลิวโคไตรอีน อาการไม่พึงประสงค์จากยานี้ที่พบมักไม่รุนแรง เช่น ปวดศีรษะ ปวดท้อง

5. ยาโครโมนส์ ทำให้มีอาการไอขณะหายใจเข้า รู้สึกไม่สบายบริเวณคอหอย

6. ยา Omalizumab ทำให้ มีไข้ ปวดศีรษะ เหนื่อยล้า อ่อนแรง ความดันโลหิตต่ำ โรคแพ้ภูมิตัวเอง/โรคออโตอิมมูน เช่น โรค Systemic lupus erythematosus หรือ SLE และอาการไม่พึงประสงค์บริเวณที่ฉีดยา เช่น ปวด บวม แดง คัน

7. ยากลุ่ม Anti-interleukin-5 เป็นยาที่พบอาการไม่พึงประสงค์ได้น้อย เช่น อาการแพ้ยาอย่างรุนแรง (Anaphylaxis) นอกจากนี้ยา Mepolizumab อาจทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ ปวดหลัง เหนื่อยล้า โรคติดเชื้อฉวยโอกาส เช่น งูสวัด, ยาReslizumab อาจทำให้เกิดพิษต่อกล้ามเนื้อ เช่น ปวดกล้ามเนื้อมาก

8. ยาต้านตัวรับโคลิเนอร์จิก: ยาในรูปแบบสูดจะทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์เฉพาะที่ คือ ปากแห้ง อาการอื่นๆ เช่น ท้องผูก หัวใจเต้นเร็ว มองเห็นภาพไม่ชัด ต้อหิน ปัสสาวะลำบาก

9. ยาTheophylline ทำให้เกิดอาการ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว และอาจทำให้ชักเมื่อระดับยานี้ในเลือดสูงเกินไป

สรุป

ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยารักษาโรคหืด) ยาแผนโบราญ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะ ยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

บรรณานุกรม

  1. Global Initiative for Asthma. Global Strategy for Asthma Management and Prevention Updated 2017 http://ginasthma.org/2017-pocket-guide-for-asthma-management-and-prevention/ [2017,June3]
  2. Global Initiative for Asthma. Global Strategy for Asthma Management and Prevention Online Appendix 2017 Updated. http://ginasthma.org/2017-online-appendix-global-strategy-for-asthma-management-and-prevention/ [2017,June3]
  3. Schaefer, C., Peters P., and Miller, R.K. Drugs During Pregnancy and Lactation. Third Edition. Oxford : Academic press., 2015.
  4. สมาคมสภาองค์กรโรคหืดแห่งประเทศไทย. แนวทางการวินิจฉัยและรักษาโรคหืดในประเทศไทยสำหรับผู้ใหญ่ พ.ศ. 2560 http://tac.or.th/?p=423 [2017,June3]
  5. สมาคมสภาองค์กรโรคหืดแห่งประเทศไทย. ไทย. แนวทางการวินิจฉัยและรักษาโรคหืดในประเทศไทยสำหรับผู้ใหญ่และเด็ก พ.ศ. 2555 http://rcot.org/datafile/_file/_doctor/18e7dc4ecbfbb3feb6809cd139d0baf4.pdf [2017,June3]