ยาต้านการแข็งตัวของเลือด: ยากันเลือดแข็งตัว (Anticoagulants)
- โดย พรลภัส บุญสอน
- 10 กันยายน 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือยาอะไร?
- ยากันเลือดแข็งตัวมีคุณสมบัติอย่างไร?
- ยากันเลือดแข็งตัวแบ่งเป็นประเภทใดบ้าง?
- ยากันเลือดแข็งตัวมีรูปแบบจำหน่ายอย่างไร?
- มีข้อบ่งใช้ยากันเลือดแข็งตัวอย่างไร?
- มีข้อห้ามใช้ยากันเลือดแข็งตัวอย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยากันเลือดแข็งตัวอย่างไร?
- การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นอย่างไร?
- การใช้ยาในผู้สูงอายุควรเป็นอย่างไร?
- การใช้ยาในเด็กควรเป็นอย่างไร?
- อันตราย/ผลข้างเคียงจากยากันเลือดแข็งตัวเป็นอย่างไร?
- คำแนะนำ
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ (Venous thrombosis)
- โรคเลือด (Blood Diseases)
- โรคหัวใจ โรคหัวใจและหลอดเลือด (Heart disease หรือ Cardiovascular disease)
- โรคอัมพาต โรคอัมพฤกษ์ โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)
- วาร์ฟาริน (Warfarin) หรือ คูมาดิน (Coumadin)
- ยาเฮพาริน (Heparin)
บทนำ: คือยาอะไร?
ยาต้านการแข็งตัวของเลือด/ยากันเลือดแข็งตัว (Anticlotting drugs หรือ Anticoagulant) หรือที่คนทั่วไปเรียก คือ ‘ยาทำให้เลือดจาง หรือยาเจือจางเลือด (Blood thinner)’ คือยาที่ใช้รักษาโรค/ภาวะผิดปกติต่างๆเพื่อให้เลือดแข็งตัวได้ช้าลง และ/หรือเพื่อเลือดไม่เกิดการจับตัวกันจนเกิดเป็นก้อนหรือเป็นลิ่มเลือด, ทั้งนี้เพื่อป้องกันการอุดตันของหลอดเลือดจากก้อนเลือด/ลิ่มเลือดนั้นๆ จึงช่วยให้เกิดไหลเวียนโลหิตที่เป็นปกติ เช่น ในการรักษาและ/หรือใน การป้องกันอัมพาต: โรคหลอดเลือดสมอง, โรคหัวใจ: โรคหลอดเลือดหัวใจ, ภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ
อนึ่ง: ชื่ออื่นของยานี้ เช่น ยาต้านการจับตัวเป็นก้อนของเลือด, ยาต้านการจับตัวของเลือด
ยาต้านการแข็งตัว/ยากันเลือดแข็งตัว แบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
- ยากันเลือดแข็งตัว (Anticoagulants)
- ยาต้านเกล็ดเลือด (Antiplatelet drugs)
- และยาสลายลิ่มเลือด (Thrombolytics drugs หรือ Fibrinolytic drugs)
แต่ในบทความนี้จะขอกล่าวถึงเพียง “ยากันเลือดแข็งตัว (Anticoagulants)” เท่านั้น โดยอีก 2 เรื่องจะได้แยกเขียนต่างหากในแต่ละเรื่องในเว็บ haamor.com
ยากันเลือดแข็งตัวมีคุณสมบัติอย่างไร?
ยาต้านการแข็งตัวของเลือด/ยากันเลือดแข็งตัว มีคุณสมบัติ คือ ลดโอกาสเกิดการจับตัวเป็นก้อนของเลือด, จึงส่งผลลดการแข็งตัวของเลือด ทำให้เลือดแข็งตัวได้ช้า, จึงลดโอกาสเกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือด
ยากันเลือดแข็งตัวแบ่งเป็นประเภทใดบ้าง?
ยาต้านการแข็งตัวของเลือด/ยากันเลือดแข็งตัว แบ่งเป็นประเภท/ชนิด 2 ชนิดหลัก คือ
1. Heparin (เฮ็พพะริน) ซึ่งยังแบ่งได้อีกเป็น 2 ประเภท คือ
- Unfractionated heparin (UFH) ที่ใช้เฉพาะรักษาโรคลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำเฉพาะผู้ป่วยขณะอยู่ในโรงพยาบาลเท่านั้น
- และ Low molecular weight heparin (LMWH) เช่น อีน็อกซะแพริน (Enoxaparin)
2. Warfarin (วอร์ฟาริน)
ยากันเลือดแข็งตัวมีรูปแบบจำหน่ายอย่างไร?
ยาต้านการแข็งตัวของเลือด/ยากันเลือดแข็งตัวมีรูปแบบจำหน่าย: เช่น
- Heparin: อยู่ในรูปยาฉีดเข้าใต้ผิวหนัง (SC, Subcutaneous injection) และฉีดเข้าหลอดเลือด ดำ (IV, Intravascular injection)
- Warfarin: อยู่ในรูปยากิน
มีข้อบ่งใช้ยากันเลือดแข็งตัวอย่างไร?
มีข้อบ่งใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด/ยากันเลือดแข็งตัว: เช่น
- ใช้ป้องกันและรักษาภาวะลิ่มเลือดที่ลอยไปอุดตันในหลอดเลือด (Thromboembolic disorder) เช่น ลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ (Deep vein thrombosis), ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอด/ สิ่งหลุดอุดหลอดเลือดปอด (Pulmonary embolism), ภาวะเจ็บเค้นอก/ภาวะหัวใจขาดเลือดแบบไม่คงที่/(Unstable angina), และภาวะ/โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (Acute myocardial infarction)
- ใช้ป้องกันการแข็งตัวของเลือดในคนไข้ที่จะเข้ารับการผ่าตัดหัวใจและหลอดเลือด เช่น การผ่าตัดต่อหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจ (By pass)
มีข้อห้ามใช้ยากันเลือดแข็งตัวอย่างไร?
มีข้อห้ามใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด/ยากันเลือดแข็งตัว เช่น
- ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้ยานี้ หรือแพ้องค์ประกอบใดๆในสูตรตำรับยานี้
- มีโรคหรือมีภาวะเลือดออก เช่น โรคฮีโมฟิเลีย, ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ, เลือดออกในกะโหลกศีรษะ, เลือดออกในทางเดินอาหาร
- ห้ามใช้ยา Warfarin ในหญิงตั้งครรภ์ (Pregnancy category index: pregnancy category X)
- ห้ามใช้ยานี้ในระหว่างหรือหลังได้รับ
- การผ่าตัดตา
- การผ่าตัดสมองหรือไขสันหลัง
- การฉีดยาชาเข้าสู่ไขสันหลัง (Regional lumbar block anesthesia)
มีข้อควรระวังการใช้ยากันเลือดแข็งตัวอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด/ยากันเลือดแข็งตัว เช่น
- ระวังการใช้ยากันเลือดแข็งตัว ร่วมกับการใช้ยาต้านอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์/เอ็นเสด(NSAIDs) เช่น ยาแอสไพริน, และยาต้านอักเสบชนิดที่เป็นสเตียรอยด์ เช่นยา Corticosteroid เพราะเพิ่มโอกาสเกิดภาวะเลือดออกได้มากขึ้น
- ระวังการใช้ยากันเลือดแข็งตัว ร่วมกับ การบริโภคอาหารเสริม และสมุนไพรบางชนิด เช่น วิตามินอี (vitamin E), น้ำมันปลา (Fish oil) และแปะก๊วย (Ginko biloba) เพราะเพิ่มโอกาสเกิดภาวะเลือดออกได้มากขึ้น
- อาหารบางชนิด เช่น ผักใบเขียวมีปริมาณวิตามินเคสูง ซึ่งวิตามินเคสามารถลดฤทธิ์ Warfarinลงได้, ดังนั้นไม่ควรรับประทานมากเกินไป เพราะอาจส่งผลต่อการรักษาได้
*Warfarin: เป็นยาที่มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นได้หลายชนิด จึงควรระวังการใช้ Warfarin ร่วมกับยาต่างๆ เช่น
ก. ยาที่เสริมฤทธิ์ Warfarin: เช่น
- ยาต้านแบคทีเรีย/ยาปฏิชีวนะ: เช่น ยาอิริโทรมัยซิน (Erythromycin), คลาริโทรมัยซิน (Clarithromycin), โคไตรม็อกซาโซล (Cotrimoxazole), ไซโปรฟล็อกซาซิน (Ciprofloxacin), เมโทรนิดาโซล (Metronidazole)
- ยาโรคหัวใจ: เช่น นาอะมิโอดาโรน (Amiodarone), โพรพาโนลอล (Propanolol), โพรพาฟีโนน (Propafenone)
- อื่นๆ: เช่น ยาลดกรด (เช่นยา Cimetidine, Omeprazole), เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ข. ยาที่ต้านฤทธิ์ Warfarin: เช่น
- ยาปฏิชีวนะ: เช่น ยากรีซิโอฟูลวิน (Griseofulvin), ไรแฟมพิซิน (Rifampicin)
- ยากันชัก: เช่น ยา Phenyltoin , Phenobarbital, Carbamazepine
- ยาอื่นๆ: เช่น ยา Cholestyramine, Sucralfate
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นอย่างไร?
ในการใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด /ยากันเลือดแข็งตัวในหญิงตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร ควรระวัง เช่น
- ห้ามใช้ยา Warfarin ในหญิงตั้งครรภ์ เพราะยาผ่านรกได้ และอาจทำให้ทารกเกิดความผิดปกติหรือพิการได้
- ในขณะที่ยา Heparin ไม่ผ่านรก จึงมีความปลอดภัยต่อทารกในครรภ์มากกว่ายา Warfarin แต่อาจทำให้เกิดภาวะกระดูกพรุน (Osteoporosis), ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ หรือ ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ ในมารดาแทน
*ดังนั้น: จึงควรระมัดระวังในการใช้ยาเหล่านี้ในหญิงตั้งครรภ์เป็นอย่างมาก
การใช้ยาในผู้สูงอายุควรเป็นอย่างไร?
ในการใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด/ยากันเลือดแข็งตัวในผู้สูงอายุ: ผู้สูงอายุอาจเจ็บป่วยหลายโรค ทำให้ต้องใช้ยาหลายชนิด จึงต้องระวังการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยาดังได้กล่าวแล้วใน 'หัวข้อ ข้อควรระวังฯ'
นอกจากนี้ หากมีการทำงานของตับหรือของไตบกพร่อง ก็ส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยากันเลือดแข็งตัวได้เช่นกัน, และควรระมัดระวังการลื่นล้ม เพราะอาจทำให้เกิดบาดแผลที่เลือดไหลไม่หยุดได้
การใช้ยาในเด็กควรเป็นอย่างไร?
เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก) สามารใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด /ยากันเลือดแข็งตัวได้ โดยหากมีอาการลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือด ในช่วงแรกของการรักษา แพทย์อาจให้ยา Unfractionated heparin (UFH) ก่อน เพราะระยะเวลาที่ยานี้อยู่ในร่างกายสั้น, หากระดับยานี้ในร่างกายสูงมากเกินไปจนส่งผลให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา/ผลข้างเคียงขึ้น แพทย์ก็สามารถลดพิษที่เกิดขึ้นได้โดยใช้ยาโปรตามีนซัลเฟต (Protamine sulfate), และหลังจากผู้ป่วยอาการดีขึ้นแล้ว จึงเปลี่ยนมาใช้ยา Warfarin ระยะยาวในภายหลังง
อันตราย/ผลข้างเคียงจากยากันเลือดแข็งตัวเป็นอย่างไร?
อันตรายหรือผลข้างเคียงจากการใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด/ยากันเลือดแข็งตัว เช่น เลือดออกง่าย, และออกมากผิดปกติ ซึ่งเกิดได้ในหลายอวัยวะ เช่น
- อุจจาระเป็นเลือดจากเลือดออกในทางเดินอาหาร
- เลือดออกตามไรฟัน
- เลือดออกในช่องหน้าลูกตา
- มีรอยจ้ำเลือดใต้ผิวหนัง/ห้อเลือด
- ประจำเดือนมากผิดปกติ
- เลือดกำเดาไหลมากและนานกว่าปกติ
- เลือดออกมากผิดปกติในช่องปากถ้าเกิดมีแผลในช่องปาก เป็นต้น
*ซึ่งหากเกิดอาการดังกล่าวและมีอาการรุนแรง ควรรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน ร่วมกับต้องแจ้งแพทย์ถึงการรับประทานยากลุ่มนี้
คำแนะนำ
ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ “ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาต้านการแข็งตัวของเลือด /ยากันเลือดแข็งตัวด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
บรรณานุกรม
- ภิรดี สุวรรณภักดี, ชาครินทร์ ณ บางช้าง และชาญชัย ไตรวารี. บทความฟื้นวิชา Childhood Stroke Classification and Role Of Anticoagulant. เวชสารแพทย์ทหารบก. 3 (กรกฎาคม – กันยายน 2553) : 163-172
- ศุภนิมิต ทีฑชุณหเถียร. Drugs Used in Disorders of Coagulation. :130-141
- สมชาย อินทรศิริพงษ์. ยาต้านการแข็งตัวของเลือดขนานใหม่. เวชสารโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา. 2 (พฤษภาคม – สิงหาคม 2553) : 77-85
- สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์. แนวทางการรักษาผู้ป่วยด้วยยาต้านการแข็งตัวของเลือดชนิดรับประทาน. http://www.thaiheart.org/images/column_1292154183/warfarin_Guideline(1).pdf [2022,Sept10]
- Lacy C.F., et al. Drug information handbook with international trade names index. 19th ed. Ohio : Lexi-comp, 2011.
- https://www.cvpharmacology.com/thrombolytic/thrombolytic [2022,Sept10]