ยาปรับเปลี่ยนการดำเนินโรครูมาตอยด์ (Disease-modifying anti-rheumatic drugs: DMARDs)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 1 พฤษภาคม 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือยาอะไร?
- ยาปรับเปลี่ยนการดำเนินโรครูมาตอยด์มีสรรพคุณรักษาโรคอะไร?
- ยาปรับเปลี่ยนการดำเนินโรครูมาตอยด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาปรับเปลี่ยนการดำเนินโรครูมาตอยด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาปรับเปลี่ยนการดำเนินโรครูมาตอยด์มีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยาปรับเปลี่ยนการดำเนินโรครูมาตอยด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาปรับเปลี่ยนการดำเนินโรครูมาตอยด์อย่างไร?
- ยาปรับเปลี่ยนการดำเนินโรครูมาตอยด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาปรับเปลี่ยนการดำเนินโรครูมาตอยด์อย่างไร?
- ยาปรับเปลี่ยนการดำเนินโรครูมาตอยด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคข้อรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis)
- โรคกระดูก (Bone disease)
- โรคภูมิต้านตนเอง โรคออโตอิมมูน (Autoimmune disease)
- ยาฆ่าเชื้อ (Antimicrobial drug) ยาแก้อักเสบ (Anti inflammatory drug)
- โรคกล้ามเนื้อหัวใจ โรคกล้ามเนื้อหัวใจเสื่อม (Cardiomyopathy)
- ตับอักเสบ โรคพิษต่อตับ (Toxic hepatitis หรือ Hepatotoxicity)
- โลหิตจางจากไขกระดูกฝ่อ (Aplastic anemia)
บทนำ: คือยาอะไร?
ยาปรับเปลี่ยนการดำเนินโรครูมาตอยด์/ยาปรับเปลี่ยนการดำเนินโรคข้อรูมาตอยด์ (Disease -modifying anti-rheumatic drugs: DMARDs/ดีเอ็มเออาร์ดี) เป็นกลุ่มยาอีกทางเลือกหนึ่งที่นำมาใช้บำบัดอาการป่วยจากโรคข้อรูมาตอยด์ โดยจะช่วยชะลอการดำเนินโรคให้ช้าลง ยากลุ่มนี้มีกลไกที่แตกต่างจากยาในกลุ่มเอ็นเซด (NSAIDs)ที่ใช้ต้านการอักเสบ (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ยาฆ่าเชิ้อ ยาแก้อักเสบ) แต่ไม่ได้รักษาต้นเหตุโรค รวมถึงต่างจากยาสเตียรอยด์ที่มีกลไกกดภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย แต่ยังอาจไม่เพียงพอที่จะชะลอการดำเนินโรครูมาตอยด์ได้
ยาปรับเปลี่ยนการดำเนินโรครูมาตอยด์/ยาดีเอ็มเออาร์ดีไม่ใช่ยาระงับอาการปวด/ยาแก้ปวด แต่จะชะลอการดำเนินโรคจึงส่งผลลดอาการปวดในบริเวณข้อต่อที่เกิดจากโรคด้วย
อาจจำแนกยาปรับเปลี่ยนการดำเนินโรครูมาตอยด์/ยาดีเอ็มเออาร์ดีออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ
- ก.Conventional DMARDs: เป็นกลุ่มยาที่จะชะลอการดำเนินของโรคอย่างช้าๆใช้เวลาหลายสัปดาห์จึงจะเห็นผล การใช้ยากลุ่มนี้ต้องมีการติดตามความก้าวหน้าในประสิทธิภาพโดยแพทย์ผู้รักษาอาจมีการปรับเปลี่ยนขนาดการใช้ยาให้ตรงกับการตอบสนองของร่างกายผู้ป่วยเป็นระยะๆไป ตัวอย่างรายการยาในหมวดนี้ เช่นยา Cyclosporin, Cyclophosphamide, Gold injections, Hydroxychloroquine, Leflunomide, Methotrexate, Mycophenolate และ Sulfasalazine
- ข.Biological therapies: เป็นกลุ่มยาที่ใหม่กว่าหรือเพิ่งถูกพัฒนาขึ้นมาไม่กี่ปีมานี้ สามารถออกฤทธิ์ได้เร็วกว่ากลุ่ม Conventional DMARDs มียาบางตัวในกลุ่ม Biological therapies ที่ถูกเรียกว่า Anti-TNF drugs (Anti-tumor necrosis factor drugs) ซึ่งจะช่วยป้องกันโปรตีนที่มีชื่อว่า Tumor necrosis factor ไม่ให้ก่อให้เกิดการอักเสบกับข้อต่างๆ แพทย์จะเลือกใช้ยา Biological therapies เมื่อการใช้ยากลุ่ม Conventional DMARDs แล้วไม่ได้ผลหรือเกิดอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง) จากการใช้ Conventional DMARDs อย่างมากนั่นเอง แต่ก็บ่อยครั้งที่แพทย์พิจารณาใช้ยาทั้งสองกลุ่มช่วยบำบัดอาการรูมาตอยด์ร่วมกัน สำหรับรายการยาที่อยู่ในกลุ่ม Biological therapies เช่นยา Abatacept, Rituximab, Tocilizumab, Adalimumab, Certolizumab pegol, Etanercept, Golimumab และ Infliximab
อย่างไรก็ตามการเลือกใช้ยาปรับเปลี่ยนการดำเนินโรครูมาตอยด์/ยาดีเอ็มเออาร์ดีได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ปลอดภัยนั้นต้องอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น ห้ามมิให้ผู้ป่วยไปซื้อหายามารับประทานเอง
ยาปรับเปลี่ยนการดำเนินโรครูมาตอยด์มีสรรพคุณรักษาโรคอะไร?
ยาปรับเปลี่ยนการดำเนินโรครูมาตอยด์/ยาดีเอ็มเออาร์ดีมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น
- ชะลอและบำบัดอาการโรคข้อรูมาตอยด์
ยาปรับเปลี่ยนการดำเนินโรครูมาตอยด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาปรับเปลี่ยนการดำเนินโรครูมาตอยด์/ยาดีเอ็มเออาร์ดีขึ้นกับธรรมชาติของยาแต่ละตัวซึ่งมีความแตกต่างกันออกไป หนึ่งในกลไกเหล่านั้นได้แก่ การยับยั้งการทำงานของโปรตีนบางประเภทที่มีชื่อว่า Tumor necrosis factor ซึ่งทำให้เกิดการอักเสบในบริเวณข้อต่อต่างๆของร่างกาย จากกระบวนการดังกล่าวจึงก่อให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ
ยาปรับเปลี่ยนการดำเนินโรครูมาตอยด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาปรับเปลี่ยนการดำเนินโรครูมาตอยด์/ยาดีเอ็มเออาร์ดี มีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- ยาชนิดรับประทาน
- ยาฉีด
ยาปรับเปลี่ยนการดำเนินโรครูมาตอยด์มีขนาดรับประทานอย่างไร?
กลุ่มยาปรับเปลี่ยนการดำเนินโรครูมาตอยด์/ยาดีเอ็มเออาร์ดีมีหลายรายการ ความเหมาะสมของตัวยากลุ่มนี้กับอาการโรคจึงมีความแตกต่างกัน อาจต้องมีการปรับขนาดการรับประทานเป็นกรณีๆไป การใช้ยากลุ่มนี้จึงขึ้นกับแพทย์ผู้ทำการรักษาเท่านั้นที่จะสามารถบริหารยา/ใช้ยาได้อย่างถูกต้องปลอดภัยและเหมาะสม
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงกลุ่มยาปรับเปลี่ยนการดำเนินโรครูมาตอยด์/ยาดีเอ็มเออาร์ดี ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะกลุ่มยาปรับเปลี่ยนการดำเนินโรครูมาตอยด์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/ มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทานยาในกลุ่มยาปรับเปลี่ยนการดำเนินโรค ‘โรคข้อรูมาตอยด์/ยาดีเอ็มเออาร์ดี ตรงเวลา โดยทั่วไปหากลืมรับประทานยาในกลุ่มนี้สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า
ยาปรับเปลี่ยนการดำเนินโรครูมาตอยด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
อาจกล่าวในภาพกว้างว่า กลุ่มยาปรับเปลี่ยนการดำเนินโรครูมาตอย/ยาดีเอ็มเออาร์ดีด์สามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
- มีอาการอักเสบในระบบทางเดินหายใจ
- อาจเกิดการติดเชื้อ เริม และงูสวัด ติดตามมา
- เกิดแผลในปาก
- กระเพาะอาหารอักเสบ
- ผื่นคัน
- ลมพิษ
- วิงเวียน
- เกิดภาวะตับอักเสบ
- ความดันโลหิตสูง
- มีภาวะไขมันในเลือดสูง
- เป็นพิษต่อจอตา
- ผมร่วง
- ผิวแพ้แสงแดด
- หูดับ
- อาจเกิดภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรง
- เกิดภาวะกดไขกระดูก เช่น Leucopenia/เม็ดเลือดขาวต่ำ และ โลหิตจางจากไขกระดูกฝ่อ (Aplastic anemia)
- เกิดลมชัก
- รู้สึกปั่นป่วนในกระเพาะอาหารและลำไส้
- อาจมีอาการทางจิต เช่น สับสน
- ปวดหัว
- มีภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ
- ผมหงอกหรือมีสีขาวเพิ่มขึ้น
- เกิดภาวะ/โรคกล้ามเนื้อหัวใจเสื่อม
มีข้อควรระวังการใช้ยาปรับเปลี่ยนการดำเนินโรครูมาตอยด์อย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาปรับเปลี่ยนการดำเนินโรครูมาตอยด์/ยาดีเอ็มเออาร์ดี เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามปรับเปลี่ยนขนาดรับประทานเอง
- ห้ามใช้ยานี้ในสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก(นิยามคำว่าเด็ก) และผู้สูงอายุ อย่างไรก็ตาม แพทย์เท่านั้นที่จะเป็นผู้พิจารณาการใช้ยากลุ่มนี้กับผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้อย่างเหมาะสม
- ระวังการใช้ยากลุ่มนี้กับผู้ที่มีโรคประจำตัวต่างๆ
- การใช้ยาทุกตัวมีระยะเวลาของการรักษาที่รวมถึงยากลุ่มนี้ หากพบว่าอาการไม่ดีขึ้นหลังจากการใช้ยาควรกลับไปปรึกษาแพทย์/ไปโรงพยาบาลเพื่อแพทย์พิจารณาปรับเปลี่ยนแนวทางการรักษา
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาปรับเปลี่ยนการดำเนินโรครูมาตอยด์/ยาดีเอ็มเออาร์ดีด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ยาปรับเปลี่ยนการดำเนินโรครูมาตอยด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
กลุ่มยาปรับเปลี่ยนการดำเนินโรครูมาตอยด์มี/ยาดีเอ็มเออาร์ดีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาไฮดรอกซีคลอโรควิน (Hydroxychloroquine) ร่วมกับยาแก้โรคกระเพาะอาหาร เช่นยา Cimethidine อาจทำให้ความเข้มข้นของยาไฮดรอกซีคลอโรควินในกระแสเลือดเพิ่มมากขึ้นจนส่งผลให้มีอาการข้างเคียงตามมา หากต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาซัลฟาซาลาซีน (Sulfasalazine) ร่วมกับยา Digoxin ด้วยจะทำให้การดูดซึมของยา Digoxin ลดน้อยลงไปจนส่งผลต่อประสิทธิภาพของการรักษา
ควรเก็บรักษายาปรับเปลี่ยนการดำเนินโรครูมาตอยด์อย่างไร?
ควรเก็บกลุ่มยาปรับเปลี่ยนการดำเนินโรครูมาตอยด์/ยาดีเอ็มเออาร์ดีแต่ละชนิด:
- เก็บยาภายใต้เงื่อนไขที่ระบุมากับ ตัวผลิตภัณฑ์ยา, เอกสารกำกับยา /ฉลากยา
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ยาปรับเปลี่ยนการดำเนินโรครูมาตอยด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
กลุ่มยาปรับเปลี่ยนการดำเนินโรครูมาตอยด์/ยาดีเอ็มเออาร์ดี มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
HCQS (เฮชซีคิวเอส) | IPCA |
Hydroquin (ไฮโดรควิน) | Sun Pharma |
Plaquenil (พลาควินิล) | sanofi-aventis |
Salazine (ซาลาซีน) | Sriprasit Pharma |
Salazopyrin EN (ซาลาโซไพริน) | Pfizer |
Saridine-E (ซาริดีน-อี) | Atlantic Lab |
Simponi (ซิมโพไน) | Janssen-Cilag |
Remicade (เรมิเคด) | Janssen-Cilag |
Enbrel (เอนเบรล) | Pfizer |
Actemra (แอคเทมรา) | Roche |
Arava (อะราวา) | sanofi-aventis |
Endoxan (เอนดอกซ์แซน) | Baxter Healthcare |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Disease-modifying_antirheumatic_drug [2022,April30]
- https://www.drugs.com/dosage/methotrexate.html#Usual_Adult_Dose_for_Rheumatoid_Arthritis [2022,April30]
- https://www.webmd.com/rheumatoid-arthritis/dmard-rheumatoid-arthritis-treatment?page=2 [2022,April30]
- https://www.webmd.com/rheumatoid-arthritis/dmard-rheumatoid-arthritis-treatment [2022,April30]
- https://www.uptodate.com/contents/disease-modifying-antirheumatic-drugs-dmards-in-rheumatoid-arthritis-beyond-the-basics [2022,April30]
- https://patient.info/bones-joints-muscles/rheumatoid-arthritis-leaflet/disease-modifying-antirheumatic-drugs-dmards [2022,April30]
- https://www.webmd.com/rheumatoid-arthritis/dmard-rheumatoid-arthritis-treatment?page=3 [2022,April30]