ยาคุมกำเนิดชนิดแปะผิวหนัง (Birth control patch or contraceptive patch)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

ยาคุมกำเนิดชนิดแปะผิวหนังคืออะไร?

ยาคุมกำเนิดชนิดแปะผิวหนัง (Birth control patch หรือ Contraceptive patch) เป็นการคุมกำเนิดโดยใช้ยาฮอร์โมนที่เป็นแผ่นแปะ ที่ประกอบด้วยยาฮอร์โมน 2 ชนิด คือ ยาในกลุ่มเอสโตรเจนสังเคราะห์/ Synthetic estrogen และยาในกลุ่มโปรเจสติน/Progestin ซึ่งเมื่อแปะบริเวณผิวหนังแล้วจะมีผลให้ตัวยาดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย โดยกลไกหลัก คือ ยาจะมีผลยับยั้งการตกไข่เช่นเดียวกับยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดรับประทาน หรือชนิดยาฉีดคุมกำเนิด เพราะเป็นยาฮอร์โมนจัดอยู่ในประเภทเดียวกัน

ยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะนี้ มีรูปทรงเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดด้านละ 1 3/4 นิ้ว ผิวเรียบ เป็นแผ่นบางๆ สีเบจ/สีเนื้อ (Beige)ซึ่งได้รับการอนุมัติจากองค์การอาหารและยาของประเทศสหรัฐอเมริกา (FDA, Food and Drug Administration) ในปี คศ. 2001 (พ.ศ.2544)

ยาคุมกำเนิดชนิดแปะผิวหนังมีกลไกการทำงานอย่างไร ?

ยาคุมกำเนิดชนิดแปะผิวหนัง

เนื่องจากยาคุมกำเนิดชนิดแปะผิวหนังนี้ ประกอบด้วยยาฮอร์โมนเพศหญิง 2 ชนิด เช่นเดียวกับ ยาเม็ดคุมกำเนิด ชนิดรับประทาน แต่การปลดปล่อยฮอร์โมน หรือยานี้จะถูกผิวหนังดูดซึมเข้าสู่ร่างกายนั้น จะเป็นไปอย่างช้าๆ หลังจากแปะยาไปแล้วประมาณ 48 ชั่วโมง โดยระดับยาจะคงที่ สม่ำเสมอ ซึ่งประมาณ 20 ไมโครกรัมต่อวัน โดยที่ระดับยาจะใกล้เคียงกันไม่ว่าจะแปะแผ่นยาที่บริเวณ สะโพก หน้าท้อง ต้นแขนด้านนอก หรือ แผ่นหลังด้านบน ทำให้มีการออกฤทธิ์อยู่ได้นาน ซึ่งยาคุมกำเนิดชนิดแปะผิวหนังนี้ มีกลไกป้องกันการตั้งครรภ์หลักคล้ายกับยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดรับประทาน ได้แก่

1. ป้องกันการตกไข่

2. ป้องกันไม่ให้อสุจิผ่านเยื่อเมือกบริเวณปากช่องคลอด (Cervical mucus) เข้ามาปฏิสนธิกับไข่บริเวณโพรงมดลูกและในท่อนำไข่ได้

3. มีผลทำให้เยื่อบุโพรงมดลูก (Endometrial layer) บางและไม่เหมาะสมในการฝังตัวของตัวอ่อนที่เกิดจากการปฏิสนธิ

ประสิทธิภาพของยาคุมกำเนิดชนิดแปะผิวหนังเป็นอย่างไร?

จากข้อมูลพบว่า โอกาสที่จะล้มเหลวหรือเกิดการตั้งครรภ์ จากการคุมกำเนิดด้วยวิธีนี้นั้น น้อยกว่า 1% ซึ่งน้อยกว่าการคุมกำเนิดด้วยยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดรับประทาน ซึ่งอยู่ในระดับประมาณ 5-8%

ยาคุมกำเนิดชนิดแปะผิวหนังนี้เหมาะสมกับใคร?

วิธีคุมกำเนิดวิธีนี้ เหมาะสำหรับผู้ที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ อายุอยู่ในช่วงระหว่าง 18-50 ปีที่ยังไม่พร้อมจะมีบุตร ไม่ชอบการทานยาคุมกำเนิดแบบรับประทาน และไม่มีโรคหรือข้อห้ามในการให้ฮอร์โมน/ให้ยาคุมกำเนิดชนิดนี้ (จะกล่าวถึงในหัวข้อต่อๆไป) โดยช่วงเวลาที่ต้องการคุมกำเนิดที่เหมาะสมประมาณ 5 ปี เพราะหากต้องการคุมกำเนิดนานมากกว่านี้ ก็ควรใช้การคุมกำเนิดวิธีอื่นจะเหมาะสม กว่า ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงของยาฮอร์โมนในระยะยาว เช่น อาจเพิ่มปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเต้านม โรคมะเร็งปากมดลูก ภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ และ/หรือเนื้องอกตับชนิดรุนแรง (Hepatic adenoma)

มีวิธีที่ถูกต้องในการใช้ยาคุมกำเนิดชนิดแปะผิวหนังอย่างไร?

ในยาคุมกำเนิดชนิดแปะผิวหนัง 1 ชุด จะมี 3 แผ่น ใช้ติดสัปดาห์ละ 1 แผ่น โดยแปะยาที่ผิวหนังบริเวณ สะโพก ก้น หน้าท้อง ต้นแขนด้านนอก หรือ แผ่นหลังด้านบนก็ได้ เริ่มในวันแรกของประจำเดือน แปะไว้หนึ่งสัปดาห์ แล้วเปลี่ยนแผ่นใหม่ในวันเดียวกันใน 1 สัปดาห์ต่อมา โดยการดึงแผ่นเดิมออก และแปะยาแผ่นใหม่บริเวณอื่นที่ไม่ซ้ำกับตำแหน่งเดิม เช่น เริ่มแปะยาแผ่นแรกวันอาทิตย์ ก็จะต้องดึงแผ่นแรกนี้ออก และเปลี่ยนเป็นแผ่นที่สองในวันอาทิตย์ต่อมาเช่นเดียวกัน โดยจะแปะครบ 3 แผ่น หลังจากที่ดึงแผ่นที่สามออกนั้น ก็เว้น 1 สัปดาห์ไม่ต้องแปะแผ่นใหม่ ในช่วงนี้ก็จะมีประจำเดือนและจะเริ่มแปะแผ่นใหม่ใน 1 สัปดาห์หลังดึงแผ่นสุดท้ายออก นับเป็น 1 เดือนพอดี

นอกจากนั้น คือ

1. ห้ามใช้ เครื่องสำอาง โลชั่น หรือครีม บนผิวหนังบริเวณที่จะแปะแผ่นยา และห้าม แปะแผ่นยาขณะที่ผิวหนังยังไม่แห้งสนิท ฉีกซองยาที่รอยบากตรงมุมของซอง แล้วดึงแผ่นยาสีเนื้อพร้อมแผ่นพลาสติกใสที่ติดอยู่ออกจากซองยาพร้อมๆกันโดยห้ามโดนบริเวณที่เป็นกาว ลอกแผ่นพลาสติกใสซีกหนึ่งออกจากแผ่นยา

2. จากนั้นติดแผ่นยา ทันทีที่ลอกแผ่นพลาสติกด้านหนึ่งออก บนผิวหนังที่สะอาด ไม่มีผื่นแดง แผล และผิวต้องแห้งสนิท หลังจากนั้น จึงดึงแผ่นพลาสติกอีกซีกหนึ่งออกจากแผ่นยา พร้อมทั้งติดแผ่นยาคุมกำเนิดส่วนที่เหลือให้แนบสนิทกับผิวหนังทั่วทั้งแผ่นยา

3. ผู้ใช้ ควรรีดแผ่นยานี้ให้ทุกส่วนของแผ่นยา แนบสนิทกับผิวหนัง และค่อยๆกดไว้ให้แน่นประมาณ 10 วินาที

หากลืมเปลี่ยนแผ่นยาคุมกำเนิดควรต้องทำอย่างไร?

หากลืมเปลี่ยนแผ่นยาคุมกำเนิด ควร

1.หากลืมในช่วงแผ่นยาแผ่นที่ 2 และ 3

  • ถ้าเลื่อนไปไม่เกิน 48 ชั่วโมง แนะนำให้เปลี่ยนแผ่นใหม่ทันทีที่จำได้ และเปลี่ยนแผ่นยาแผ่นใหม่ตามวันเปลี่ยนแผ่นยาตามกำหนดเดิม ไม่ต้องใช้วิธีคุมกำเนิดอื่น
  • ถ้าเลื่อนไปนานกว่า 48 ชั่วโมง ควรหยุดรอบการใช้แผ่นยาเดิมและให้เริ่มต้นใช้แผ่นยาคุมกำเนิดรอบใหม่ทันที โดยเริ่มต้นนับเป็นวันแรกของการปิดยา และกำหนดเป็นวันเปลี่ยนแผ่นใหม่ในอีกหนึ่งสัปดาห์หน้า ซึ่งระหว่างนี้ควรใช้วิธีคุมกำเนิดอื่น ที่ไม่ใช่ยากลุ่มฮอร์โมนร่วมด้วย เช่น ถุงยางอนามัย ในระยะ 7 วันแรกของการปิดแผ่นยาใหม่ เพราะอาจมีโอกาสตั้งครรภ์ได้ในช่วงเวลาดังกล่าว

2.หากลืมลอกแผ่นสุดท้ายออก

  • แนะนำให้ลอกแผ่นออกทันที และการใช้แผ่นต่อไปควรเริ่มตามปกติ ไม่ต้องใช้วิธีการคุมกำเนิดอื่นร่วมด้วย

3.หากลืมปิดแผ่นยาในวันแรกของรอบการใช้ยา

  • ควรเริ่มแปะแผ่นแรกทันทีที่จำได้ และจำไว้ว่า วันเริ่มต้นใหม่ของรอบเดือนใหม่เป็นวันใด และเปลี่ยรอบแผ่นยาตามวันใหม่นี้ ดังได้กล่าวแล้วในตอนต้น ในวิธีใช้แผ่นยา
  • ควรใช้วิธีคุมกำเนิดอื่นที่ไม่ใช่ยาฮอร์โมนร่วมด้วยในช่วง 7 วันแรก ดังได้กล่าวแล้ว เพราะอาจมีโอกาสตั้งครรภ์ได้ในช่วงเวลานี้เช่นเดียวกัน

อนึ่ง เมื่อลืมเปลี่ยน หรือลืมแปะแผ่นยา ไม่ควรกินยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดใดๆทั้งสิ้นเพิ่มเติม ให้ปฏิบัติตามที่ได้กล่าวแล้ว เพราะยาเหล่านั้นไม่ได้ช่วยลดโอกาสเกิดการตั้งครรภ์ แต่อาจส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงจากยาสูงขึ้น เช่น คลื่นไส้ อาเจียน และ/หรือ มีเลือดออกทางช่องคลอดกะปริดกะปรอย

มีข้อควรทราบสำหรับผู้ที่ใช้การยาคุมกำเนิดชนิดแปะผิวหนังอย่างไร?

มีข้อควรทราบสำหรับผู้ที่ใช้การยาคุมกำเนิดชนิดแปะผิวหนัง คือ

1. ถ้าแผ่นหลุดหรือแผ่นลอกออก ให้ลองกดดูถ้ายังติดได้ก็ใช้ต่อ แต่ถ้าหมดยางเหนียวหรือไม่สามารถติดเหมือนเดิมได้ต้องเปลี่ยนแผ่นใหม่ (แปะเท่าเวลาที่เหลือ เช่นแผ่นนั้นยังเหลือ 3 วันแล้วหลุด ก็แปะแผ่นใหม่แค่ 3 วัน แล้วก็เปลี่ยนเป็นแผ่นใหม่ตามรอบเดิม)

2. ถ้าหากต้องการจะเปลี่ยนจากยาคุมกำเนิดแบบกินมาเป็นแบบแปะนั้น ให้เริ่มวันแรกที่รอบประจำเดือนมาได้เลย และหากต้องการเปลี่ยนจากแบบแปะ เป็นแบบกินก็เช่นเดียวกัน

3. สามารถ อาบน้ำ ว่ายน้ำ และออกกำลังกายได้ตามปกติโดยไม่ต้องแกะแผ่นแปะออก

4. ไม่ควรตัดแบ่งตัวแผ่นแปะให้เล็กลง เพราะอาจจะทำให้ยาลดประสิทธิภาพ จนไม่สามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้

5. การคุมกำเนิดด้วยวิธีนี้ ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ได้

6.ไม่ควรใช้ยานี้ในช่วงให้นมบุตร เพราะยาซึมเข้าสู่หลอดเลือดและผ่านเข้าสู่น้ำนม ได้ จึงส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงของยา (ดังจะกล่าวในหัวข้อต่อไป) ต่อทารกที่ดื่มนมแม่ได้

สามารถใช้ยาคุมกำเนิดชนิดแปะผิวหนังติดต่อกันได้นานกี่ปี?

สามารถใช้การคุมกำเนิดด้วยวิธีนี้นานหลายปีตราบเท่าที่ต้องการ เหมือนกับการใช้ยาคุมกำเนิดแบบรับประทาน (ยาเม็ดคุมกำเนิด)

แต่หากใช้ยานี้นานมากกว่า 5 ปีขึ้นไป ควรใช้การคุมกำเนิดวิธีอื่นแทน เช่น การใช้ถุงยางอนามัยชาย และ/หรือ การใส่ห่วงอนามัย (ฝ่ายหญิง) จะเหมาะสมกว่า (อ่านเพิ่มเติม ในบทความ เรื่อง วิธีคุมกำเนิด) เพื่อลดผลข้างเคียงของยาฮอร์โมนในระยะยาว เช่น อาจเพิ่มปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเต้านม โรคมะเร็งปากมดลูก ภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ และ/หรือเนื้องอกตับชนิดรุนแรง (Hepatic adenoma) หรือ ปรึกษาสูตินรีแพทย์เพื่อหาวิธีที่เหมาะสมในการคุมกำเนิดต่อไป (บทบาทของการวางแผนครอบครัว)

ค่าใช้จ่ายเมื่อเปรียบเทียบกับยาคุมกำเนิดแบบรับประทานเป็นอย่างไร?

ยาคุมกำเนิดชนิดแปะผิวหนัง จะมีราคาแพงกว่า ยาคุมกำเนิดชนิดรับประทาน (ยาเม็ดคุมกำเนิด) โดยจะแพงกว่ามากหรือน้อย ขึ้นกับชนิดของยารับประทาน ซึ่งมีราคายาแตกต่างกันออกไปตามชนิดยา ปริมาณยา และตามบริษัทผู้ผลิต

หากต้องการหยุดยาหรือต้องการมีบุตรควรทำอย่างไร?

หลังจากหยุดยาคุมกำเนิดด้วยวิธีนี้ ภาวะตกไข่ตามธรรมชาติจะสามารถกลับมาได้ภายในเดือนแรกหลังหยุดยา (ทั่วไป มักภายใน 3 เดือนหลังหยุดยา) ดังนั้นการตั้งครรภ์ จึงอาจเกิดขึ้นได้ตั้งแต่เดือนแรกหลังหยุดแปะยา

หลังแท้งควรเริ่มใช้ยาคุมกำเนิดชนิดแปะผิวหนังได้เมื่อไหร่?

สามารถเริ่มแปะยาคุมกำเนิดวิธีนี้ได้ภายใน 2 สัปดาห์ หลังการแท้งที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน เช่น ยังมีเลือดออกทางช่องคลอดอยู่ หรือ มีการติดเชื้ออยู่ เป็นต้น เช่นเดียวกับยาคุมกำเนิดชนิดอื่นๆ เพราะในภาวะเช่นนั้น การคุมกำเนิดด้วยการใช้ยา มักมีประสิทธิภาพลดลง

ผลข้างเคียงของยาคุมกำเนิดชนิดแปะผิวหนังมีอะไรบ้าง?

ผลข้างเคียงของยาคุมกำเนิดชนิดนี้ก็เหมือนผลข้างเคียงของยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดรับประทานทั่วไป แต่ของยาคุมกำเนิดชนิดแปะผิวหนังนั้นพบได้น้อยกว่า โดยผลข้างเคียงที่อาจพบได้ คือ

1.คลื่นไส้ อาเจียน ปวดหัว/ปวดศีรษะ ซึมเศร้า เหงือกอักเสบ

2.ผื่นแพ้ คัน ในผิวหนังบริเวณที่แปะ

3.น้ำหนักเพิ่มเล็กน้อย รู้สึกตัวบวมขึ้น ซึ่งจะขึ้นกับแต่ละบุคคล

4.อาจมีเลือดออกทางช่องคลอดกะปริบกะปรอย

5.เต้านมอาจ บวม ตึง และใหญ่ขึ้น อาจมีน้ำนมไหลได้

6.มีความต้องการทางเพศเปลี่ยนไป โดยอาจลดลง

7.มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ แต่พบได้น้อยมาก

มีข้อควรระวังและข้อห้ามใช้ยาคุมกำเนิดชนิดแปะผิวหนังอย่างไร?

หากมีภาวะดังต่อไปนี้ ควรต้องปรึกษาสูตินรีแพทย์เพื่อให้คำแนะนำก่อนใช้ยาคุมกำเนิดชนิดนี้เสมอ

1.น้ำหนักตัวมากกว่า 90 กิโลกรัมขึ้นไปนั้นอาจทำให้ประสิทธิภาพของยาต่ำลง

2. สตรีที่สูบบุหรี่ เพราะจะเสริมกันก่อให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจได้

3. มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และ/หรือ โรคตับ เพราะ อาจส่งเสริมให้โรครุนแรงขึ้น

4. มีประวัติเป็น โรคมะเร็งเต้านม หรือ โรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก เพราะอาจส่งเสริมให้โรคลุกลมแพร่กระจายได้

5. มีประวัติเลือดจับเป็นก้อนง่าย เพราะจะเพิ่มปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ

6. มีประวัติโรคหัวใจ หรือ สมองขาดเลือด/โรคหลอดเลือดสมอง เพราะอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ และ/หรือ โรคหลอดเลือดสมองได้

7. มีประวัติ แพ้ยา กลุ่มฮอร์โมนเพศ

8. มีเลือดออกทางช่องคลอดที่ยังไม่ทราบสาเหตุ

9. ควรระวัง หากใช้ร่วมกับยาบางชนิด เช่น ยาปฏิชีวนะ ยารักษาเชื้อรา ยากันชัก เพราะอาจลดประสิทธิภาพของยาเหล่านั้น หรือยาเหล่านั้นอาจลดประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดของยาคุมกำเนิดชนิดนี้ให้ลดลงได้ ดังนั้นเมื่อมีการเจ็บป่วยและมีการใช้ยาต่างๆ ควรปรึกษาแพทย์ผู้รักษาถึงผลกระทบของยารักษาโรคเหล่านั้นต่อยาคุมกำเนิดเสมอรวมทั้งยาชนิดแปะนี้ด้วย หรือต้องใช้วิธีคุมกำเนิดอื่นที่ไม่ใช่ยาคุมกำเนิดเพิ่มร่วมไปด้วย เช่น การใช้ถุงยางอนามัยชาย เป็นต้น

เมื่อไรต้องไปพบสูตินรีแพทย์ก่อนนัด?

หากมีอาการผิดปกติต่างๆหลังใช้การคุมกำเนิดชนิดแปะผิวหนัง เช่น เจ็บหน้าอก ผื่นแดง บวม คัน ปวดตามผิวหนัง มีเลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติ ตัวเหลือง ตาเหลือง (โรคดีซ่าน) และ/หรือมีอาการของการตั้งครรภ์ ควรพบสูตินรีแพทย์ทันที

สรุปข้อดีและข้อเสียของยาคุมกำเนิดชนิดแปะผิวหนัง

ข้อดี

1.มีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดสูง หากใช้อย่างถูกต้อง

2.แก้ปัญหาสำหรับผู้ที่ทาน ยาเม็ดคุมกำเนิด แล้วลืมบ่อยๆ

3.ผลข้างเคียงจากยาคุมกำเนิดชนิดนี้ น้อยกว่ายาคุมกำเนิดชนิดรับประทาน

4.สามารถกลับมาสู่ภาวะเจริญพันธุ์/ตั้งครรภ์ได้รวดเร็วตั้งแต่หยุดแปะยา หากต้องการมีบุตร

ข้อเสีย

1.ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ได้

2.การใช้ยาชนิดนี้ ต้องปรึกษาและสั่งโดยแพทย์

3.ต้องมีความร่วมมือจากผู้ใช้ยาวิธีนี้ ในการแปะแผ่นยาอย่างถูกต้อง

บรรณานุกรม

  1. http://en.wikipedia.org/wiki/Contraceptive_patch[2017,April8]
  2. http://www.mayoclinic.org/tests-procedures/birth-control-patch/home/ovc-20167246[2017,April8]
  3. http://www.americanpregnancy.org/preventingpregnancy/birthcontrolfailure.html[2017,April8]
  4. Medpage Today. Evidence on Ortho Evra Patch Thrombosis Risk Is Contradictory. Published February 17, 2006.
  5. FDA Approves Update to Label on Birth Control Patch FDA. January 18, 2008.
Updated 2017,April 8