มะเร็งกล้ามเนื้อ (Muscle tissue cancer)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

มะเร็งกล้ามเนื้อ หรือโรคมะเร็งกล้ามเนื้อ(Muscle tissue cancer)คือโรคที่เกิดจากเซลล์/เนื้อเยื่อกล้ามเนื้อมัดใดก็ได้เกิดกลายพันธ์เจริญเติบโต แบ่งตัว รวดเร็วผิดปกติที่ร่างกายไม่สามารถควบคุมการเจริญแบ่งตัวนี้ได้ จนเกิดเป็นก้อนมะเร็ง/แผลมะเร็ง คือ ก้อนเนื้อที่เซลล์รุกราน/ลุกลามทำลายเนื้อเยื่อกล้ามเนื้อนั้นๆจนสูญเสียการทำงาน ลุกลามทำลายเนื้อเยื่อ/อวัยวะข้างเคียง เช่น กล้ามเนื้อข้างเคียง กระดูก ลุกลามเข้าทำลายต่อมน้ำเหลือง และในที่สุดจะแพร่กระจายเข้าสู่ระบบน้ำเหลืองไปทำลายต่อมน้ำเหลืองทั่วตัว และ/หรือรุกรานเข้ากระแสโลหิต/เลือดเข้าลายอวัยวะต่างๆทั่วร่างกาย ที่พบบ่อยคือ ปอด

มะเร็งกล้ามเนื้อเป็นโรคพบทั่วโลก แต่พบน้อย พบในทุกอายุ ทั้ง2 เพศ และมีหลากหลายชนิดย่อย บางชนิดพบบ่อยในเด็ก บางชนิดพบในผู้ใหญ่

อนึ่ง กล้ามเนื้อ(Muscle)จัดเป็นเนื้อเยื่อกลุ่มเนื้อเยื่ออ่อน ดังนั้นจึงจัดอยู่ในมะเร็ง มะเร็งเนื้อเยื่ออ่อน โดยเนื้อเยื่อกล้ามเนื้อประกอบด้วย เนื้อเยื่อตัวกล้ามเนื้อเอง เนื้อเยื่อเอ็นกล้ามเนื้อ และเนื้อเยื่อพังผืด(Fibrous tissue, เนื้อเยื่อที่ห่อหุ้มกล้ามเนื้อ) ซึ่งทุกชนิดพบเกิดเป็นมะเร็งได้

อนึ่ง เนื้อเยื่อตัวกล้ามเนื้อ แบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่

1. กล้ามเนื้อลาย(Striated muscle) เป็นกล้ามเนื้อที่ติดกับกระดูก ทำงานร่วมกับกระดูก(จึงเรียกอีกชื่อว่า Skeletal muscle)เพื่อการเคลื่อนไหวร่างกายโดยเฉพาะ แขน ขา มือ นิ้ว เป็นกล้ามเนื้อที่ทำงาน/เคลื่อนไหวตามคำสั่งของสมอง จึงมีอีกชื่อว่า ‘Voluntary muscle’ เป็นกล้ามเนื้อที่คิดเป็นประมาณ36%ของกล้ามเนื้อทั้งหมดในผู้หญิง แต่ประมาณ42%ในผู้ชาย

2. กล้ามเนื้อเรียบ(Smooth muscle) เป็นกล้ามเนื้อของผนังอวัยวะภายในทั้งหมด(จึงมีอีกชื่อว่า Visceral muscle)โดยเฉพาะอวัยวะที่มีลักษณะเป็นท่อ เช่น ระบบทางเดินอาหาร ระบบทางเดินปัสสาวะ ผนังมดลูก เป็นกล้ามเนื้อที่ทำงาน/เคลื่อนไหวโดยประสาทอัตโนมัติ จิตใจ/สมองไม่สามารถควบคุมการทำงานของมันได้ เช่น การบีบตัวของกระเพาะอาหารและลำไส้ เป็นต้น จึงมีอีกชื่อว่า ‘Involuntary muscle’

3. กล้ามเนื้อหัวใจ(Cardiac muscle)เป็นกล้ามเนื้อในกลุ่มกล้ามเนื้อเรียบ แต่มีลักษณะคล้ายกล้ามเนื้อลายด้วย เป็นกล้ามเนื้อที่มีการบีบตัวโดยอัตโนมัติเช่นกัน และเป็นชนิดมีอยู่เฉพาะที่หัวใจ

โรคมะเร็งกล้ามเนื้อเกิดได้อย่างไร? มีปัจจัยเสี่ยงไหม?

มะเร็งกล้ามเนื้อ

โรคมะเร็งกล้ามเนื้อ เป็นโรคไม่ทราบสาเหตุและปัจจัยเสี่ยง น้อยรายที่พบมีความสัมพันธ์กับพันธุกรรมผิดปกติที่ส่วนใหญ่เป็นพันธุกรรมชนิดไม่ถ่ายทอด

มะเร็งกล้ามเนื้อมีกี่ชนิด?

เนื้อเยื่อในกลุ่มกล้ามเนื้อทุกชนิด เกิดเป็นมะเร็งได้ทุกชนิดในทั้ง2 เพศ และมีหลากหลายชนิดย่อย อย่างไรก็ตาม ทุกชนิดเป็นโรคพบยาก

ในบทความนี้ขอยกตัวอย่าง มะเร็งกล้ามเนื้อชนิดพบบ่อยกว่าชนิดอื่นๆ แต่ก็ยังเป็นชนิดพบน้อย ได้แก่

1. มะเร็งกล้ามเนื้อลาย เป็นมะเร็งพบในทุกอายุ แต่มักพบในเด็ก โดยใน สหรัฐอเมริกามีรายงานพบได้ปีละประมาณ 4.4 รายต่อประชากรเด็ก 1 ล้านคน แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ‘มะเร็งกล้ามเนื้อลาย’

2. มะเร็งกล้ามเนื้อเรียบ เป็นมะเร็งพบในทุกอายุ แต่ทั่วไปพบในผู้ใหญ่ มีหลากหลายชนิดย่อย จึงยังไม่มีรายงานสถิติเกิดในภาพรวมที่ชัดเจนเพราะมักแยกรายงานในแต่ละชนิดย่อย แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ‘มะเร็งกล้ามเนื้อเรียบ’

3. มะเร็งกล้ามเนื้อหัวใจ เป็นโรคพบทุกอายุ แต่พบน้อยมากๆในเด็ก ทั่วไปเป็นโรคของผู้ใหญ่ แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ‘มะเร็งกล้ามเนื้อหัวใจ’

4 . เนื้องอกเดสมอยด์(Desmoid tumor) เป็นเนื้องอกของเนื้อเยื่อพังผืดที่ประกอบเป็นเอ็นกล้ามเนื้อ เป็นโรคพบทุกอายุ แต่เกือบทั้งหมดพบในผู้ใหญ่ พบเป็นประมาณ0.03%ของเนื้องอกทั้งหมด เป็นโรคที่มีปัจจัยเสี่ยงคือมีพันธุกรรมถ่ายทอดได้ที่เรียกว่า Familial adenomatous polyposis (FAP)ซึ่งผู้ป่วยมีพันธุกรรมนี้มักมีปัจจัยเสี่ยงเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ร่วมด้วย เป็นโรคพบน้อย ทั่วโลกพบโรคเดสมอยด์นี้ได้ประมาณ 1-2รายต่อประชากร 5แสนคน

5. Malignant fibrous histiocytoma ย่อว่า MFH เป็นโรคพบทุกอายุ แต่เกือบทั้งหมดพบในผู้ใหญ่โดยเฉพาะผู้สูงอายุ มักเกิดที่กล้ามเนื้อของ แขน ขา พบเป็นประมาณ 23%ของมะเร็งกล้ามเนื้อทั้งหมด เป็นมะเร็งมีการพยากรณ์โรคไม่ดี โรคแพร่กระจายเข้ากระแสโลหิตได้เร็ว และมักแพร่กระจายสู่ปอด

6. Myxofibrosarcoma เป็นโรคพบในผู้ใหญ่เกือบทั้งหมด มักพบที่ แขน ขา เช่นกัน เป็นมะเร็งที่โตช้า มักมีการย้อนกลับเป็นซ้ำสูงหลังผ่าตัด และยังสามารถกลายพันธ์เป็นชนิดมีการแบ่งตัวสูงที่จะมีการพยากรณ์โรคไม่ดี จะแพร่กระจายทางกระแสโลหิตสูง มักเข้าสู่ปอด และกระดูก และยังลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองได้สูงด้วย

7. Fibrosarcoma พบในทุกอายุ แต่มักพบในวัยกลางคนและวัยสูงอายุ มักเกิดบนรอยแผลเป็น หรือที่เนื้อเยื่อเอ็นกล้ามเนื้อ พบได้บ่อยที่ แขน ขา ลำตัว และศีรษะ นอกจากนั้นยังพบเกิดในอวัยวะภายในต่างๆได้ เช่น รังไข่ ท่อลม

โรคมะเร็งกล้ามเนื้อมีอาการอย่างไร?

อาการหลักของโรคมะเร็งกล้ามเนื้อคือ มีก้อนเนื้อที่โตเร็วโดยเริ่มแรกไม่มีอาการเจ็บปวด

แต่เมื่อโรคลุกลามมากขึ้น อาการที่พบได้คือ

  • ปวด/เจ็บที่ก้อนเนื้อ
  • ก้อนเนื้ออาจแตกเป็นแผลเรื้อรัง แผลอาจติดเชื้อ และมักมีเลือดออกเรื้อรัง
  • การเคลื่อนไหวของอวัยวะที่เกิดโรคมีขีดจำกัด เช่น เดินลำบากกรณีมะเร็งกล้ามเนื้อลาย ลำไส้อุดตัน หรือทางเดินปัสสาวะอุดตันจากก้อนเนื้อกรณีมะเร็งกล้ามเนื้อเรียบ
  • กรณีมะเร็งกล้ามเนื้อหัวใจ อาการคือ อาการของโรคหัวใจ เช่น เหนื่อยง่าย เป็นลมบ่อย หัวใจเต้นผิดปกติ ความดันโลหิตต่ำ บวมเนื้อตัว แขน ขา จนถึงอาการของหัวใจวาย
  • มีต่อมน้ำเหลืองใกล้กล้ามเนื้อที่เป็นมะเร็งโต คลำได้

แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งกล้ามเนื้อได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยมะเร็งกล้ามเนื้อได้จาก

  • การสอบถาม/ซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญคือ ประวัติอาการ
  • การตรวจคลำก้อนเนื้อ
  • การตรวจร่างกาย
  • การตรวจคลำต่อมน้ำเหลือง
  • และที่ได้ผลแน่นอนคือ การตัดชิ้นเนื้อจากก้อนเนื้อหรือถ้าก้อนขนาดเล็ก ก็จะผ่าก้อนนั้นออกทั้งก้อนและนำไปตรวจทางพยาธิวิทยา

ซึ่งถ้าผลออกมาเป็นมะเร็ง แพทย์จะตรวจสืบค้นเพิ่มเติมเพื่อประเมินสุขภาพผู้ป่วยและระยะโรค เช่น

  • การตรวจเลือดซีบีซี
  • การตรวจปัสสาวะ
  • การตรวจเลือด เช่น ดูการเป็นเบาหวาน ดูการทำงานของตับ และดูการทำงานของไต
  • การตรวจภาพก้อนเนื้อด้วยเอกซเรย์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และ/หรือเอมอาร์ไอ

อนึ่ง ทั่วไปมะเร็งกล้ามเนื้อ เป็นเซลล์มะเร็งที่ไม่สร้างสารมะเร็ง แพทย์จึงไม่มีการตรวจหาสารมะเร็ง

โรคมะเร็งกล้ามเนื้อมีกี่ระยะ?

ดังกล่าวแล้วใน’บทนำ’ว่า มะเร็งกล้ามเนื้อ เป็นมะเร็งพบน้อย การศึกษาเรื่องต่างๆของโรคจึงเป็นไปได้ยาก จึงยังไม่มีการจัดระยะเฉพาะโรคนี้ แต่อนุโลมใช้ระยะโรคเช่นเดียวกับ ‘โรคมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อน’ เพราะดังกล่าวแล้วใน ’บทนำ’ ว่า มะเร็งกล้ามเนื้อเรียบจัดอยู่ในกลุ่มของ ‘มะเร็งเนื้อเยื่ออ่อน’

โรคมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อน/ มะเร็งเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน/มะเร็งกล้ามเนื้อ แบ่งเป็น 4 ระยะเช่นเดียวกับโรคมะเร็งชนิดอื่นๆ และในบางระยะอาจแบ่งย่อยได้อีกซึ่งแพทย์โรคมะเร็งใช้เพื่อช่วย บอกวิธีรักษา บอกการพยากรณ์โรค และเพื่อการศึกษา แต่ที่แตกต่างกับโรคมะเร็งชนิดอื่นๆ คือ ยังขึ้นกับการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง(Cell grading ย่อว่า G) ว่าเป็นเซลล์มะเร็งชนิดแบ่งตัวต่ำ(G1) หรือ ชนิดแบ่งตัวสูง(G2,G3) และขึ้นกับว่าโรคเกิดกับกล้ามเนื้อมัดอยู่ตื้นหรือมัดอยู่ลึกๆ ซึ่งทั้ง 4 ระยะได้แก่

  • ระยะที 1 โรคจำกัดอยู่เฉพาะอวัยวะต้นกำเนิด แบ่งย่อยเป็น
    • ระยะ1A: ก้อนมะเร็งโตไม่เกิน 5 ซม. เซลล์มะเร็งเป็นชนิดแบ่งตัวต่ำ(G1)
    • ระยะ1B: ก้อนมะเร็งโตกว่า 5ซม.แต่ไม่เกิน10ซม. และเซลล์มะเร็งยังเป็น G1
  • ระยะที่ 2: ก้อนมะเร็งขนาดไม่เกิน 5 ซม. และเซลล์มะเร็งเป็น G2,หรือ G3
  • ระยะที่ 3: แบ่งเป็น2ระยะย่อย คือ
    • ระยะ3A: ก้อนมะเร็งโตเกิน5ซม. แต่ไม่เกิน10ซม. ยังจำกัดอยู่เฉพาะในอวัยวะที่เกิดโรค และเซลล์มะเร็งเป็นชนิด G2,หรือ G3
    • ระยะ3B: ก้อนมะเร็งโตเกิน10ซม. ยังจำกัดอยู่เฉพาะในอวัยวะที่เกิดโรค แต่เซลล์มะเร็งเป็นชนิด G2,หรือ G3
  • ระยะที่ 4 โรคมะเร็งแพร่กระจายเข้าสู่ต่อมน้ำเหลืองแล้ว และ/หรือแพร่กระจายทางกระแสโลหิต (เลือด) เข้าสู่อวัยวะต่างๆที่อยู่ไกลออกไป ซึ่งเมื่อแพร่กระจาย มักแพร่กระจายเข้าสู่ปอด

โรคมะเร็งกล้ามเนื้อมีวิธีรักษาอย่างไร?

วิธีรักษาหลักของมะเร็งกล้ามเนื้อ คือ ‘การผ่าตัด’

  • ส่วนรังสีรักษาและยาเคมีบำบัด แพทย์จะพิจารณารักษาในผู้ป่วยเป็นรายๆไป เพราะเซลล์มะเร็งกล้ามเนื้อ ทั่วไปมักตอบสนองได้ไม่ดีทั้งต่อรังสีรักษาและยาเคมีบำบัด
  • ส่วน ยารักษาตรงเป้า/ ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง มีการรักษาที่ได้ผลเฉพาะในมะเร็งกล้ามเนื้อบางชนิด เช่น เนื้องอกจีสต์ ส่วนชนิดอื่นๆยังอยู่ในการศึกษา
  • นอกจากนั้น มะเร็งกล้ามเนื้อบางชนิด (เช่น มะเร็งกล้ามเนื้อเรียบของมดลูก/มะเร็งซาร์โคมามดลูก) จะมีตัวรับ(Receptor)ที่สามารถจับฮอร์โมนเพศหญิง(Hormone receptor ย่อว่า HR)ได้ ซึ่งถ้าเซลล์จับฮอร์โมนฯได้เรียกว่า HR+ ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีรายงานว่า
    • สามารถใช้ยาต้านฮอร์โมนเพศฯรักษาควบคุมโรคได้ในระดับหนึ่ง เช่น ยา Tamoxifen, Letrozole แต่ยากลุ่มนี้ใช้ ไม่ได้ผล ในผู้ป่วยที่ ไม่มีตัวรับฮอร์โมนฯ(HR-)
    • *อนึ่ง HR ตรวจได้จากการตรวจชิ้นเนื้อจากก้อนมะเร็งด้วยการตรวจทางพยาธิวิทยา

มีผลข้างเคียงจากการรักษามะเร็งกล้ามเนื้ออย่างไร?

ผลข้างเคียงจากการรักษามะเร็งกล้ามเนื้อขึ้นกับวิธีรักษาเช่นเดียวกับมะเร็งทุกชนิด เช่น

  • การผ่าตัด: เช่น การสูญเสียอวัยวะ การเสียเลือด แผลผ่าตัดติดเชื้อ และเสี่ยงต่อการดมยาสลบ
  • ยาเคมีบำบัด: เช่น อาการ คลื่นไส้ อาเจียน ผมร่วง ภาวะซีด และการติดเชื้อจากภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ (แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำจากเคมีบำบัด และ / หรือรังสีรักษา: การดูแลตนเอง) และการมีเลือดออกได้ง่ายจากภาวะเกล็ดเลือดต่ำ
  • รังสีรักษา: เช่น ผลข้างเคียงต่อผิวหนัง(แนะนำอ่านรายลพเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง การดูแลผิวหนัง และผลข้างเคียงต่อผิวหนังบริเวณฉายรังสีรักษา) และผลต่ออวัยวะต่างๆที่ได้รับการฉายรังสีซึ่งแตกต่างกันไปแล้วแต่อวัยวะที่เกิดโรค (แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com ในแต่ละโรคมะเร็งของอวัยวะต่างๆเหล่านั้น)
  • ยารักษาตรงเป้า/ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง: ผลข้างเคียงที่อาจพบได้ เช่น การเกิดสิวขึ้นทั่วตัวรวมทั้งใบหน้า และยาบางชนิดอาจก่อให้เกิดภาวะเลือดออกได้ง่าย แผลติดยากเมื่อเกิดบาดแผล และอาจเป็นสาเหตุให้ลำไส้ทะลุได้

อนึ่ง ผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งทุกชนิด ที่รวมถึงมะเร็งกล้ามเนื้อจะสูงและรุนแรงขึ้นเมื่อ

  • ใช้หลายวิธีรักษาร่วมกัน
  • มีโรคเรื้อรังประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคไขมันในเลือดสูง
  • สูบบุหรี่
  • ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และ
  • ในผู้สูงอายุ

โรคมะเร็งกล้ามเนื้อรักษาหายไหม/มีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

มะเร็งกล้ามเนื้อ มีธรรมชาติของโรค/ การพยากรณ์โรคที่รุนแรง มักพบโรคในระยะลุกลามเพราะโรคในระยะแรกๆมักไม่ก่ออาการ นอกจากนั้น โรคยังมีการย้อนกลับเป็นซ้ำสูงหลังผ่าตัด และเซลล์มะเร็งยังตอบสนองได้ไม่ดีต่อทั้งรังสีรักษาและยาเคมีบำบัด ทั้งหมดดังกล่าว จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้โรคนี้ในภาพรวมมีการพยากรณ์โรคที่ไม่ดี

การพยากรณ์โรคของมะเร็งกล้ามเนื้อ ขึ้นกับหลายปัจจัย ที่สำคัญคือ

  • ระยะโรค
  • ขนาดก้อนเนื้อ
  • การแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง
  • ตำแหน่งที่เกิดโรคมะเร็ง
  • การผ่าตัดก้อนเนื้อได้หมดหรือไม่
  • และสุขภาพพื้นฐานของผู้ป่วย

    และเนื่องจากมะเร็งกล้ามเนื้อ เป็นโรคพบได้น้อย จึงไม่สามารถศึกษาถึงอัตรารอดที่ห้าปีในแต่ระยะโรค ดังนั้นแพทย์ผู้รักษาจะพิจารณาจากปัจจัยต่างๆดังกล่าวตอนต้นเป็นรายๆผู้ป่วยไป อย่างไรก็ตาม ในภาพรวม

  • เมื่อโรคยังจำกัดอยู่เฉพาะที่ ไม่ลุกลามไปอวัยวะอื่น หรือไปต่อมน้ำเหลือง ผ่าตัดออกได้หมด อัตรารอดที่ห้าปีประมาณ 80%
  • เมื่อโรคลุกลามเข้าอวัยวะอื่น และ/หรือเข้าต่อมน้ำเหลือง แต่ผ่าตัดออกได้หมด อัตรารอดที่ห้าปีประมาณ 50-55%
  • เมื่อโรคแพร่กระจายสู่อวัยวะต่างๆแล้ว ผู้ป่วยมักมีชีวิตอยู่ได้ประมาณ 6 เดือน – 2 ปี ขึ้นกับสุขภาพพื้นฐานของผู้ป่วย อัตรารอดที่ห้าปี ประมาณ 0-10%
  • แต่ถ้าเป็นมะเร็งกล้ามเนื้อที่แขน ขา อัตรารอดชีวิตฯจะดีกว่ามะเร็งกล้ามเนื้อในตำแหน่งอื่น เพราะมักพบโรคตั้งแต่ก้อนเนื้อขนาดยังเล็ก และการผ่าตัดมักทำได้ง่ายและมักผ่าตัดก้อนมะเร็งออกได้หมด ซึ่ง อัตรารอดที่ห้าปีของมะเร็งกล้ามเนื้อ แขน ขา จะประมาณ
    • โรคระยะที่1 ประมาณ 80-90%
    • โรคระยะที่2 ประมาณ 70-80%
    • โรคระยะที่3 ประมาณ 50-55%
    • โรคระยะที่4 ประมาณ 0-10%

ดูแลตนเองอย่างไร?ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็งและการดูแลผู้ป่วยมะเร็งในมะเร็งทุกชนิดที่รวมทั้ง มะเร็งกล้ามเนื้อ จะคล้ายกัน ปรับใช้ด้วยกันได้ ซึ่งที่สำคัญคือ

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • กินยา/ใช้ยาต่างๆที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วน ไม่หยุดยาเอง
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ ไม่หยุดการรักษาไปเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์
  • ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนแพทย์นัดเมื่อ
    • อาการต่างๆเลวลง เช่น ก้อนเนื้อโตขึ้น คลำพบต่อมน้ำเหลืองที่ไม่เคยพบมาก่อน
    • มีไข้โดยเฉพาะเมื่อร่วมกับอาการท้องเสีย
    • มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น วิงเวียนศีรษะมาก ท้องผูกหรือท้องเสียมาก
    • กังวลในอาการ

นอกจากนั้น แนะนำอ่านรายละเอียดในการดูแลตนเอง/ดูแลผู้ป่วยเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง

  • การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็งและการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง และเรื่อง
  • การดูแลตนเอง การดูแลผู้ป่วยเคมีบำบัด

มีวิธีตรวจคัดกรองโรคมะเร็งกล้ามเนื้อไหม?

ปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีตรวจคัดกรองให้พบมะเร็งกล้ามเนื้อก่อนที่จะมีอาการ ดังนั้น เมื่อมีอาการผิดปกติดังกล่าวใน ‘หัวข้ออาการฯ’ ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล

โรคมะเร็งกล้ามเนื้อป้องกันได้ไหม?

ปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีป้องกัน มะเร็งกล้ามเนื้อ ทุกชนิด

เมื่อไรจึงควรพบแพทย์เพื่อตรวจโรคมะเร็งกล้ามเนื้อ?

เมื่อคลำได้ก้อนเนื้อผิดปกติที่กล้ามเนื้อ ถึงแม้จะไม่มีอาการอื่นร่วมด้วย ก็ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อการวินิจฉัยแยกโรคว่า เป็นก้อนเนื้อทั่วไปที่ไม่ใช่มะเร็ง หรือเป็นก้อนเนื้อมะเร็ง ซึ่งการวินิจฉัยโรคได้ตั้งแต่ก้อนมะเร็งยังเล็ก ผลการรักษาควบคุมโรคได้จะอยู่ในเกณฑ์ที่ดี

บรรณานุกรม

  1. AJCC Cancer staging manual, 8th edition
  2. http://haamor.com/th/%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%99%E0%B8%B7%E0%B9%89%E0%B8%AD/ [2018,Dec8]
  3. https://www.cancer.org/cancer/soft-tissue-sarcoma/detection-diagnosis-staging/survival-rates.html [2018,Dec8]
  4. http://www.cancer.ca/en/cancer-information/cancer-type/soft-tissue-sarcoma/soft-tissue-sarcoma/types-of-soft-tissue-sarcoma/muscle-tissue-tumours/?region=on [2018,Dec8]