โรคกล้ามเนื้อ โรคระบบกล้ามเนื้อ (Muscle disease)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

โรคกล้ามเนื้อ หรือ โรคของกล้ามเนื้อ (Muscle disease) หมายถึงโรคต่างๆที่เกิดขึ้นกับกล้ามเนื้อ ทั้งนี้ กล้ามเนื้อจัดเป็นเนื้อเยื่อชนิดหนึ่งของ เนื้อเยื่อเกี่ยวพัน

 

กล้ามเนื้อแบ่งได้เป็น 3 ชนิด คือ

 

1.กล้ามเนื้อลาย (Striated muscle หรือ Skeletal muscle) หรืออีกชื่อ คือกล้ามเนื้อที่ทำงานอยู่ในการควบคุมของสมอง (Voluntary muscle)

2.กล้ามเนื้อเรียบ (Smooth muscle) หรืออีกชื่อคือ กล้ามเนื้อที่ทำงานด้วยระบบของตัวเอง ขึ้นกับสมองเป็นบางส่วนโดยมักผ่านทางระบบประสาทอัตโนมัติ (Autonomic nervous system)

3. และกล้ามเนื้อหัวใจ (Cardiac muscle)

 

ก. กล้ามเนื้อลาย (Striated muscle): คือ กล้ามเนื้อของ ศีรษะ ใบหน้า ลำคอ ลำตัว แขน ขา และกระบังลม มีหน้าที่ในการเคลื่อนไหวร่างกาย ซึ่งทำงานประสานกับกระดูกและข้อ ผ่านทางเอ็นกล้ามเนื้อ เอ็นกระดูก และข้อ โดยในผู้ชาย กล้ามเนื้อลายจะคิดเป็นประมาณ 42%ของมวลกายทั้งหมด (Body mass) ส่วนในผู้หญิงจะมีกล้ามเนื้อลายน้อยกว่าผู้ชาย คือ ประ มาณ 36% ของมวลกายทั้งหมด

 

ข. กล้ามเนื้อเรียบ (Smooth muscle): เป็นกล้ามเนื้อของอวัยวะภายใน เช่น กล้ามเนื้อของ หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้ ทวารหนัก หลอดลม กระเพาะปัสสาวะ ท่อปัสสาวะ หลอดเลือด มดลูก (ในผู้หญิง) และในบริเวณผิวหนังตรงรูขุมขนที่ทำหน้าที่ทำให้เกิดขนลุก

 

ค. กล้ามเนื้อหัวใจ (Cardiac muscle): เป็นกล้ามเนื้อเรียบ ชนิดลักษณะเฉพาะ คือโครงสร้างเนื้อเยื่อคล้ายกล้ามเนื้อลาย แต่ทำงานเป็นกล้ามเนื้อเรียบ ซึ่งพบได้ที่เดียวใน ร่างกาย คือ ที่หัวใจ เพราะเป็นกล้ามเนื้อที่ต้องทำงานบีบและคลายตัว (เต้น) อยู่ตลอดเวลา

 

อนึ่ง หน้าที่ของกล้ามเนื้อทุกชนิด คือ การบีบตัว เพื่อให้เกิดการเคลื่อนไหว เพื่อการทำหน้าที่ต่างๆตามแต่งานของแต่ละอวัยวะ เช่น การบีบหดตัวของกล้ามเนื้อ

  • แขน ขา เพื่อการเคลื่อนไหว แขน ขา
  • ของนิ้ว เพื่อการหยิบจับ
  • ของกระเพาะอาหารและลำไส้ เพื่อการย่อยอาหาร และกำจัดกากอาหารออกเป็นอุจจาระ
  • ของหลอดเลือด เพื่อการไหลเวียนโลหิต/เลือด
  • ของหลอดลม เพื่อการแลกเปลี่ยนอากาศภายนอกร่างกายกับคาร์บอนไดออกไซด์จากปอด
  • และของหัวใจ เพื่อการสูบฉีดโลหิตเพื่อนำเลือดและออกซิเจนไปเลี้ยงเซลล์/เนื้อเยื่อ/อวัยวะทั่วร่างกาย

 

ทั้งนี้ ความผิดปกติ/โรคของกล้ามเนื้อ พบได้บ่อย โดยทั่วไปมักเกิดจาก

  • อุบัติเหตุ และการกีฬา เช่น ปวดเมื่อย เป็นตะคริว กล้ามเนื้อพลิก เอ็นกล้ามเนื้อหรือกล้ามเนื้อฉีกขาด
  • ความผิดปกติของระบบประสาทที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อ ส่งผลให้กล้ามเนื้อไม่สามารถหดตัวได้/กล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • อัมพฤกษ์ อัมพาต ที่เกิดจากโรคหลอดเลือดสมอง หรือ โรคไขสันหลัง เช่น อุบัติเหตุต่อไขสันหลัง, โรคมะเร็ง แพร่กระจายเข้า สมอง และ/หรือ กระดูกสันหลัง/เข้าไขสันหลัง

 

อนึ่ง โดยทั่วไป ไม่มีการรวบรวมสถิติความผิดปกติทุกชนิดของกล้ามเนื้อไว้ด้วยกัน การศึกษามักแยกเป็นแต่ละโรค แต่อย่างไรก็ตาม โรคของกล้ามเนื้อพบทั้งสองเพศ โดยมีโอกาสเกิดได้ใกล้เคียงกันทั้งสองเพศ และเป็นโรคที่พบทุกอายุ ตั้งแต่เด็กแรกเกิดไปจนถึงผู้สูงอายุ โดยโอกาสพบโรคจะสูงขึ้น เมื่ออายุมากขึ้น

 

โรคกล้ามเนื้อมีสาเหตุจากอะไร? โรคอะไรพบได้บ่อย?

โรคกล้ามเนื้อ

สาเหตุโรคของกล้ามเนื้อ คือ

 

  • จากการใช้งานกล้ามเนื้อเกินกำลัง ซ้ำๆต่อเนื่อง และ/หรือ ผิดวิธี เช่น ปวดหลัง หรือ ปวดไหล่จากการยกของหนัก หรือ ปวด คอ ไหล่ แขน นิ้ว จากการทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ และสาเหตุจากอุบัติเหตุและการกีฬา เช่น กล้ามเนื้อแพลง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อฉีกขาด เป็นตะคริว เป็นต้น ซึ่งสาเหตุในกลุ่มนี้ เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด และพบได้บ่อยเกือบทุกวันในการใช้ชีวิตประจำวัน
  • จากการอักเสบของเส้นประสาทของสมอง และ/หรือของไขสันหลัง เช่น จากโรค เบาหวาน โรคใบหน้าเบี้ยว/ อัมพาตเบลล์ หรือโรคโปลิโอ
  • จากโรคทางสมอง เช่น โรคหลอดเลือดสมอง หรือโรคของไขสันหลัง ส่งผลให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง ลีบ เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต
  • จากผลข้างเคียงจากยาบางชนิด ส่งผลให้เกิดกล้ามเนื้ออักเสบ เช่น ยาลดไขมันบางชนิด หรือยาต้านฮอร์โมนรักษาโรคมะเร็งเต้านมบางชนิด
  • จากความผิดปกติของภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย เช่น จากโรคออโต อิมมูน/ โรคภูมิต้านตนเอง ส่งผลให้เกิดการอักเสบของกล้ามเนื้อโดยไม่มีการติดเชื้อ หรือโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอมจี (Myasthenia gravis)
  • ภาวะขาดอาหาร โดยเฉพาะอาหารโปรตีน จะส่งผลให้กล้ามเนื้อฝ่อ ลีบ ไม่สามารถเจริญเติบโตได้ตามวัยอันควร
  • กล้ามเนื้ออักเสบติดเชื้อ ซึ่งพบได้น้อย เช่น ติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส (เช่น จาก โรคเอดส์) ติดเชื้อรา (มักพบในคนมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ) หรือติดเชื้อปรสิต (เช่น จากพยาธิตัวตืด (Type worm))
  • จากโรคมะเร็งกล้ามเนื้อ (โรคมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อน/มะเร็งเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน) แต่เป็นโรคที่พบได้น้อย
  • จากพันธุกรรม ส่งผลให้เกิดกล้ามเนื้อลีบ ไม่เจริญเติบโต ซึ่งโรคในกลุ่มนี้พบได้น้อยมาก

 

อะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคกล้ามเนื้อ?

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคกล้ามเนื้อ คือ

  • ผู้ที่เสี่ยงต่ออุบัติเหตุ หรือ การใช้กล้ามเนื้อมาก หรือใช้ซ้ำๆ เช่น นักกีฬา เด็ก (จากการเล่น) หรือบางอาชีพ เช่น เจ้าหน้าที่พิมพ์ดีด ช่างเย็บปักถักร้อย เป็นต้น
  • จากการสวมใส่รองเท้าที่ไม่เหมาะสม เช่น ส้นสูง หรือรองเท้าที่ บีบ คับ หรือ หลวมเกินไป
  • ขาดสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
  • ภาวะขาดอาหาร
  • มีโรคเรื้อรังต่างๆที่ส่งผลให้ไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ตามปกติ กล้ามเนื้อจึงฝ่อ ลีบ ได้ง่าย เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคปอด หรือโรคหลอดเลือดสมอง โรคกระดูก โรคข้อ เป็นต้น

 

โรคกล้ามเนื้อมีอาการอย่างไร?

อาการของโรคกล้ามเนื้อจากทุกสาเหตุ จะคล้ายคลึงกัน ที่พบบ่อย คือ

  • ปวด เมื่อย กล้ามเนื้อ
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • กล้ามเนื้อ ฝ่อ/ลีบ
  • เป็นตะคริว
  • กล้ามเนื้อหดยึดตัว (Contraction) ไม่สามารถ ยืด หด ได้ตามปกติ
  • กล้ามเนื้อ สั่น หรือ กระตุกโดยควบคุมไม่ได้

 

นอกนั้น อาจพบอาการอื่นๆร่วมด้วย ทั้งนี้ขึ้นกับสาเหตุ เช่น

  • มีไข้ และ/หรือขึ้นผื่น เมื่อเกิดจากโรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเอง
  • ปวดข้อ เช่น จากผลข้างเคียงของยา
  • มีก้อนเนื้อ หรือมีแผลเรื้อรังที่กล้ามเนื้อ เมื่อเกิดจากโรคมะเร็ง
  • มีอาการชา เมื่อเกิดจากโรคของสมอง โรคไขสันหลัง หรือ โรคของเส้นประสาท
  • มีหนอง เมื่อเกิดจากการติดเชื้อ เป็นต้น

 

แพทย์วินิจฉัยโรคกล้ามเนื้อได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคของกล้ามเนื้อได้จากหลายปัจจัย เช่น

  • การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น ประวัติอาการของผู้ป่วย ประวัติการเจ็บป่วยของคนในครอบครัว
  • การตรวจร่างกาย
  • การตรวจคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ (Electromyography)
  • การตรวจเลือดเพื่อหาค่าสารผิดปกติต่างๆที่แพทย์สงสัยว่า อาจเกี่ยวข้องกับโรคที่เป็นสาเหตุ เช่น
    • ค่าน้ำตาลในเลือดเมื่อสงสัยโรคเบาหวาน
    • ค่าสารภูมิต้านทานต่างๆเมื่อสงสัยโรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเอง
    • ตรวจเลือดและ/หรือเซลล์ดูความผิดปกติทางพันธุกรรมเมื่อสงสัยโรคทางพันธุกรรม
  • ตรวจภาพกล้ามเนื้อด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และ/หรือเอมอาร์ไอ
  • และอาจต้องตัดชิ้นเนื้อจากส่วนที่ผิดปกติเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา

 

รักษาโรคกล้ามเนื้ออย่างไร?

แนวทางการรักษาโรคกล้ามเนื้อ คือ การรักษาตามสาเหตุ และการรักษาประคับประคองตามอาการ

ก. การรักษาตามสาเหตุ เช่น

  • ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตเมื่อ โรคเกิดจากการทำงาน หรือ การกีฬา
  • การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะเมื่อโรคเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย
  • การผ่าตัด รังสีรักษา และ/หรือยาเคมีบำบัดเมื่อเกิดจากโรคมะเร็ง
  • แต่ทั้งนี้ยังไม่มีวิธีรักษาสาเหตุ เมื่อโรคเกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรม

 

ข. การรักษาประคับประคองตามอาการ เช่น

  • การใช้ยาต่างๆ เช่น ยาแก้ปวด ยาคลายกล้ามเนื้อ ยาลดอาการสั่น หรือยาลด กล้ามเนื้อกระตุก
  • การใช้กายภาพบำบัด/กายภาพฟื้นฟู และการใช้อุปกรณ์ต่างๆ เพื่อช่วยในการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น เครื่องช่วยพยุงในการเดิน หรือในการหยิบจับสิ่งของ เป็นต้น

 

โรคกล้ามเนื้อรุนแรงไหม?มีผลข้างเคียงอย่างไร?

โดยทั่วไปโรคกล้ามเนื้อ ไม่รุนแรงถึงทำให้เสียชีวิต แต่มีผลต่อคุณภาพชีวิตเป็นอย่างมาก เพราะส่งผลถึงการดำรงชีวิตประจำวัน จากกล้ามเนื้ออ่อนแรง

 

อย่างไรก็ตาม ความรุนแรงของโรค ขึ้นกับ สาเหตุ เช่น

  • เป็นโรครุนแรงถ้าสาเหตุเกิดจากโรคมะเร็ง
  • แต่ไม่รุนแรง มักรักษาได้หายเสมอเมื่อเกิดจากเป็นตะคริว เป็นต้น

 

ผลข้างเคียง:

ในส่วนผลข้างเคียงของการเป็นโรคกล้ามเนื้อที่สำคัญที่สุด คือ

  • การไม่สามารถใช้งานกล้ามเนื้อได้ตามปกติจากกล้ามเนื้ออ่อนแรง เช่น กล้ามเนื้อ นิ้ว มือ แขน ขา และใบหน้า จึงส่งผลถึงคุณภาพชีวิต ทั้งในการใช้ชีวิตประจำวัน การงาน การเข้าสังคม การต้องพึ่งพาผู้อื่น และการเป็นภาระต่อครอบครัว รวมไปถึงในด้านความสวยงาม

 

ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

การดูแลตนเองที่สำคัญ คือ เมื่อมีความผิดปกติต่างๆดังกล่าวแล้วในหัวข้อ อาการ ถ้า อาการไม่ดีขึ้นภายใน 2-3 วัน หรือถ้าอาการเลวลงภายใน 24 ชั่วโมง ต้องรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาล หรือไปโรงพยาบาลฉุกเฉินโดยเฉพาะเมื่อมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง

 

ในส่วนเมื่อรู้ตัวว่าเป็นโรคกล้ามเนื้อและหลังพบแพทย์แล้ว การดูแลตนเอง คือ

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • ทำกายภาพบำบัด/กายภาพฟื้นฟูตาม แพทย์ พยาบาล นักกายภาพบำบัด แนะนำสม่ำเสมอ
  • รักษาสุขภาพจิต เพราะดังกล่าวแล้วว่า โรคจะส่งผลถึงคุณภาพชีวิตเสมอ
  • กินยา/ใช้ยาที่แพทย์สั่งให้ถูกต้อง ไม่หยุดยาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ
  • และรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนแพทย์นัด เมื่อ
    • มีอาการผิดปกติไปจากเดิม เช่น มือ เท้า บวม ต่อเนื่อง
    • หรืออาการต่างๆเลวลง เช่น กล้ามเนื้อกระตุกมากขึ้น
    • มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ปวดท้องรุนแรง วิงเวียนศีรษะมาก ขึ้นผื่นทั้งตัว
    • เมื่อกังวลในอาการ

 

หลักการปฐมพยาบาลกล้ามเนื้อที่บาดเจ็บ:

เนื่องจากการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อเป็นสิ่งที่พบได้บ่อยมากในการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งการดูแลตนเอง/การปฐมพยาบาล จะช่วยลดการบาดเจ็บไม่ให้ลุกลามและช่วยให้อาการต่างๆหายเร็วขึ้น

 

ทั้งนี้เมื่อเกิดการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ/กระดูก/ข้อ

  • ควรหาผู้ช่วยเหลือเสมอ
  • ภายหลังการปฐมพยาบาล
    • ถ้าเป็นการบาดเจ็บรุนแรง เช่น ปวด/เจ็บมาก ส่วนที่บาดเจ็บผิดรูป บวมมาก หรือมีเลือดออกมาก ควรรีบไปโรงพยาบาลฉุกเฉิน
    • แต่ถ้าอาการไม่มาก อาจรอดูอาการได้ ประมาณ 1-2 วัน ถ้าอาการไม่ดีขึ้น หรือ อาการเลวลง ควรรีบไปโรงพยาบาล

 

โดยหลักในการปฐมพยาบาล เรียกย่อว่า “PRICE” แพทย์บางท่านแนะนำเพียง “RICE” ซึ่งก็เช่นเดียวกับ PRICE เพียงแต่ตัด “P” ออกโดยนำไปรวมกับ “R และ C ”

  • P คือ Protect การรีบป้องกันไม่ให้การบาดเจ็บลุกลามมากขึ้น โดยการไม่เคลื่อนไหวส่วนที่บาดเจ็บ อาจโดยการดามด้วยวัสดุที่แข็งแรง การพันด้วยผ้ายืด (Elastic bandage) การคล้อง เช่น คล้องแขน ทั้งนี้จะใช้วิธีการใดขึ้นกับตำแหน่งที่บาดเจ็บ
  • R คือ Rest การไม่ใช้งานกล้ามเนื้อที่บาดเจ็บ เช่น ไม่ใช้แขนด้านนั้น ไม่ลงน้ำหนักขาด้านนั้น เป็นต้น อย่างน้อยภายใน 24 ชั่วโมงหลังบาดเจ็บ
  • I คือ ICE การประคบบริเวณที่บาดเจ็บด้วยน้ำแข็ง/ความเย็น เพื่อลดอาการปวด/เจ็บ ลดบวม ลดการเลือดออก และลดการอักเสบ (ชนิดไม่ติดเชื้อ) ของกล้ามเนื้อจากการบาดเจ็บ แต่อย่าใช้ความเย็นจัด เพราะหลอดเลือดจะหดตัว เนื้อเยื่อกล้ามเนื้อจะขาดเลือดได้ และแต่ละครั้งของการประคบไม่ควรนานเกิน 15-20 นาทีเพื่อป้องกันเนื้อเยื่อขาดเลือดเช่นกัน อาจประคบบ่อยทุก 1-2 ชั่วโมงในวันแรกของการบาดเจ็บ และควรประคบต่อเนื่องอีก 1-2 วัน แต่ลดความ ถี่ในการประคบลงได้ตามความเหมาะสมกับอาการ เช่น ทุก 3-4 ชั่วโมง หรือตามแพทย์แนะนำ(เมื่อได้พบแพทย์แล้ว)
  • C คือ Compress พันส่วนที่บาดเจ็บด้วยผ้ายืด เพื่อช่วยไม่ให้มีการเคลื่อนที่ ช่วยลดอาการบวม และช่วยลดการมีเลือดออก ทั้งนี้ต้องพันไม่ให้แน่น ต้องพันพอให้มีเลือดไหลเวียนในส่วนนั้นได้สะดวก การพันแน่นจะส่งผลให้เนื้อเยื่อขาดเลือดและเกิดอาการบวม ทั้งนี้ควรพันผ้ายืดไว้อย่างน้อย 72 ชั่วโมง หรือนานตามแพทย์แนะนำ (เมื่อได้พบแพทย์แล้ว)
  • E คือ Elevate คือ พยายามยกส่วนที่บาดเจ็บ ให้สูงอย่างน้อยในช่วง 24 ชั่วโมงแรกของการบาดเจ็บ ถ้าสามารถทำได้ เช่น แขน ขา เพื่อช่วยเพิ่มการไหลเวียนโลหิต ลดแรงโน้มถ่วงของโลก จะช่วยลดอาการบวมได้

 

มีการตรวจคัดกรองโรคกล้ามเนื้อไหม?

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีตรวจคัดกรอง (ตรวจให้พบโรคตั้งแต่ยังไม่มีอาการ) โรคกล้ามเนื้อ ทั้ง นี้รวมถึงโรคมะเร็งด้วย ดังนั้นการดูแลตนเองที่ดีที่สุด คือ

  • เมื่อมีอาการผิดปกติต่างๆดังได้กล่าวแล้วในหัวข้ออาการ ควรพบแพทย์ภายใน 2-3 วัน
  • ถ้าอาการไม่ดีขึ้นหลังดูแลตนเอง หรือควรรีบพบแพทย์ใน 24 ชั่วโมง เมื่ออาการเลวลง
  • หรือไปโรงพยาบาลฉุกเฉินตั้งแต่แรกเมื่อมีอาการรุนแรง เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรงทันที เป็นต้น

 

ป้องกันโรคกล้ามเนื้อได้อย่างไร?

การป้องกันโรคกล้ามเนื้อให้เต็มร้อยเป็นไปไม่ได้ โดยเฉพาะโรคที่เกิดจากพันธุกรรมและโรคมะเร็ง แต่โรคที่เกิดจากสาเหตุอื่นๆโดยเฉพาะการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ อาจป้องกันได้โดย

  • ในการทำงานที่ต้องใช้การออกแรง หรือกีฬาต่างๆ ควรต้องรู้จักการอบอุ่นกล้าม เนื้ออย่างถูกวิธีก่อนใช้งาน
  • รู้จักวิธีที่ถูกต้องในการยกของหนัก ยืน นั่ง เดิน ก้ม
  • สวมรองเท้าที่สบายเท้า ไม่รัดแน่น หรือ หลวม หรือรองเท้าส้นสูง
  • กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบทุกวัน เพื่อความแข็งแรงของเซลล์กล้ามเนื้อ ซึ่งเช่นเดียวกับเซลล์ทุกชนิดของร่างกาย ที่ต้องการอาหารมีประโยชน์ในการทำ งาน การเจริญเติบโต และการซ่อมแซมเซลล์ที่เสียหาย สึกหรอ
  • รู้จักนวดผ่อนคลายกล้ามเนื้อ เมื่อใช้กล้ามเนื้อออกแรงหนัก
  • ออกกำลังกล้ามเนื้อทุกส่วนสม่ำเสมอตามควรกับสุขภาพ เพื่อความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ และเพื่อการไหลเวียนโลหิต เพื่อกล้ามเนื้อจะได้รับออกซิเจนอย่างเพียงพอในการทำงาน ที่ต้องยืด หด ตลอดเวลา ซึ่งจำเป็นต้องใช้ออกซิเจนเป็นอย่างมาก
  • ปรึกษานักกายภาพบำบัดในการทำกายภาพฟื้นฟูกล้ามเนื้อต่างๆ เพื่อให้เหมาะสมกับสุขภาพ
  • ป้องกัน ควบคุม รักษาโรคต่างๆที่เป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดโรคของกล้ามเนื้อ เช่น โรคหลอดเลือดสมอง
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อให้มีสุขภาพ แข็งแรง ลดโอ กาสติดเชื้อต่างๆ ซึ่งรวมทั้งการติดเชื้อของกล้ามเนื้อ

 

บรรณานุกรม

  1. Merrison,A., and Hanna,M. Muscle disease. (2009). Neurology in Practice.9,54-65.
  2. https://emedicine.medscape.com/article/1168167-overview#showall [2019,March23]
  3. http://en.wikipedia.org/wiki/Muscle [2019,March23]
  4. https://en.wikipedia.org/wiki/Myopathy [2019,March23]
  5. https://en.wikipedia.org/wiki/Myositis [2019,March23]
  6. https://en.wikipedia.org/wiki/Neuromuscular_disease [2019,March23]
  7. https://www.verywellhealth.com/what-is-rice-190446 [2019,March23]
  8. https://www.healthline.com/health/strains#causes [2019,March23]
  9. https://www.nhsinform.scot/illnesses-and-conditions/muscle-bone-and- joints/guidelines/price-guidelines [2019,March23]