ภาวะเจริญพันธ์ก่อนวัย (Precocious puberty)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 6 กุมภาพันธ์ 2562
- Tweet
- บทนำ
- ภาวะเจริญพันธ์ก่อนวัยมีสาเหตุจากอะไร?
- ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดภาวะเจริญพันธ์ก่อนวัย?
- ภาวะเจริญพันธ์ก่อนวัยมีอาการอย่างไร?
- เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?
- แพทย์วินิจฉัยภาวะเจริญพันธ์ก่อนวัยได้อย่างไร?
- รักษาภาวะเจริญพันธ์ก่อนวัยอย่างไร?
- ภาวะเจริญพันธ์ก่อนวัยมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
- มีผลข้างเคียงจากภาวะเจริญพันธ์ก่อนวัยอย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไร?
- ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?
- ป้องกันภาวะเจริญพันธ์ก่อนวัยได้อย่างไร?
- บรรณานุกรม
- โรคต่อมไร้ท่อ โรคระบบต่อมไร้ท่อ (Endocrine disease)
- เนื้องอกสมอง และมะเร็งสมอง (Brain tumor)
- เด็ก: โรคเด็ก (Childhood: Childhood diseases)
- สมองอักเสบ (Encephalitis)
- กายวิภาคและสรีรวิทยาระบบต่อมไร้ท่อ (Anatomy and physiology of endocrine system)
- ไทรอยด์: โรคของต่อมไทรอยด์ (Thyroid: thyroid diseases)
- ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน (Hypothyroidism)
บทนำ
ภาวะเจริญพันธ์ก่อนวัย(Precocious puberty ย่อว่า PP)หมายถึง การที่เด็กหญิงหรือเด็กชายมีการเจริญเติบโตเป็นวัยรุ่นเร็วกว่าวัยที่ควร เช่น การมีเต้านม มีประจำเดือน มีขนที่อวัยวะเพศ โดยอาการเหล่านี้จะต้องพบเกิดก่อนอายุ 8 ปีในเพศหญิง หรือ การมีหนวด มีเสียงห้าว มีขนที่อวัยวะเพศ ก่อนอายุ 9 ปีที่เกิดในเพศชาย
ภาวะเจริญพันธ์ก่อนวัย เป็นภาวะที่พบน้อย เกิดในเด็ก ‘ก่อนวัย 8 ปีในผู้หญิง และ ก่อนวัย 9 ปีในผู้ชาย’ โดยมีรายงานพบได้ประมาณ 1รายต่อเด็กทั่วไป 5,000คน พบในเด็กหญิงได้บ่อยกว่าเด็กชายประมาณ 5-10 เท่า
ภาวะเจริญพันธ์ก่อนวัย อาจแบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่คือ
ก. กลุ่มที่อาการเกิดจากฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน(Gonadotropin ย่อว่า GnRH) ที่เรียกว่า Gonadotropin dependent หรือ Central precocious puberty ย่อว่า CPP หรือ True precocious puberty)
ข. กลุ่มที่อาการผิดปกติแต่ไม่ขึ้นกับฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน(Gonadotropin independent) หรือ Pseudoprecocious puberty หรือ Peripheral precocious puberty/ย่อว่า PPP
ค. กลุ่มที่มีภาพลักษณ์เป็นวัยรุ่นก่อนวัย แต่อาการเพียงเล็กน้อย โดยมีสาเหตุตามธรรมชาติของเด็กคนนั้นๆ เรียกว่า Normal variant puberty
อนึ่ง โกนาโดโทรปินฮอร์โมน ที่ย่อว่า GnRH คือ ฮอร์โมนที่สร้างจากสมองส่วน ไฮโปธาลามัส และร่างกายนำมาเก็บไว้เพื่อการใช้งานที่ต่อมใต้สมองกลีบหน้า ซึ่ง GnRH จะเป็นตัวกระตุ้นและควบคุมการสร้างฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองกลีบหน้า 2 ชนิด คือ ฮอร์โมน LH (Luteinising hormone) และฮอร์โมน FSH (Follicle stimulating hormone) ซึ่งฮอร์โมนทั้ง 2 ชนิดนี้จะทำงานควบคุมการทำงานของ รังไข่ในเพศหญิง หรือ ของอัณฑะในเพศชาย เพื่อการสร้างฮอร์โมนเพศ ทั้งฮอร์โมนเพศหญิงและฮอร์โมนเพศชายให้อยู่ในสมดุลของแต่ละเพศ
ภาวะเจริญพันธ์ก่อนวัยมีสาเหตุจากอะไร?
สาเหตุของภาวะเจริญพันธ์ก่อนวัย ได้แก่
ก.ภาวะเจริญพันธ์ก่อนวัย กลุ่ม Cental precocious puberty: สาเหตุ เช่น จาก
- เนื้องอกสมองที่ส่งผลกระตุ้นการทำงานของสมองไฮโปธาลามัส และ/หรือของต่อมใต้สมอง เช่น เนื้องอกสมองของประสาทตา(Optic glioma) เนื้องอกสมองที่เกิดรอบๆต่อมใต้สมอง(Craniopharyngioma)
- มีรอยโรคในสมองที่เกิดจากโรค/ภาวะต่างๆในสมองส่วนไฮโปธาลามัส และ/หรือต่อมใต้สมองสาเหตุที่ไม่ใช่เนื้องอก เช่น ฝีในสมอง ถุงน้ำในเยื่อหุ้มสมอง การเคยได้รับรังสีรักษาที่สมอง หรือจากยาเคมีบำบัดบางชนิด
- จากความผิดปกติทางพันธุกรรมของสมอง
ข. ภาวะเจริญพันธ์ก่อนวัย กลุ่ม Peripheral precocious puberty: สาเหตุมาจากความผิดปกติของอวัยวะที่ไม่ใช่สมอง เช่น
- มีความผิดปกติทางพันธุกรรมของอวัยวะต่างๆที่ไม่ใช่สมอง เช่น กลุ่มอาการ McCune Albright syndrome ที่เป็นโรคพบได้น้อยมากๆ โดยโรคนี้มีความผิดปกติทางระบบต่อมไร้ท่อ กระดูก และผิวหนัง
- เนื้องอกรังไข่
- เนื้องอกอัณฑะ เช่นชนิด Leydig cell tumor
- เนื้องอก หรือมะเร็ง ของต่อมหมวกไต
- เซลล์ต่อมหมวกไตเจริญเติบโตผิดปกติ(Adrenal hyperplasia)
- มะเร็งรังไข่ ชนิด Germinoma หรือ ชนิด Teratoma
- ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมนชนิดปฐมภูมิ(Primary hypothyroidism)
- การได้รับฮอร์โมนต่อเนื่องจากสิ่งแวดล้อม เช่น จากการทำเกษตรกรรม หรือจากผลข้างเคียงของยาบางชนิด เช่น ยาในกลุ่มสเตียรอยด์
ค. Normal variant puberty: เช่น
- Premature thelarche: เป็นภาวะพบได้บ้างบางครั้ง ซึ่งมักพบในเด็กหญิง ที่มีเต้านมเจริญโตผิดปกติตั้งแต่แรกคลอด และจะมีอาการอยู่จนถึงประมาณอายุ 6 เดือน เต้านมจะค่อยๆยุบเป็นปกติ โดยเกิดจากมีการทำงานแปรปรวนตามธรรมชาติของรังไข่
- Premature adrenarche: เป็นภาวะพบได้น้อย พบได้ทั้งในเด็กหญิงและในเด็กชาย ที่มีขนรักแร้ และมีกลื่นตัว ก่อนวัยรุ่น โดยเกิดจากการทำงานแปรปรวนของต่อมหมวกไต ที่เป็นไปตามธรรมชาติของเด็กนั้นๆ ซึ่งอาการจะค่อยๆหายไปได้เอง โดยไม่ต้องมีการรักษา
ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดภาวะเจริญพันธ์ก่อนวัย?
เด็กที่มีปัจจัยเสี่ยงเกิดภาวะเจริญพันธ์ก่อนวัย เช่น
- เด็กหญิง: เพราะพบภาวะนี้เกิดในเด็กหญิงบ่อยกว่าในเด็กชาย 5-10 เท่า
- เด็กผิวดำอัฟริกันอเมริกัน ซึ่งเชื่อว่าน่าจะมาจากสาเหตุทางพันธุกรรม
- เด็กอ้วน: เพราะฮอร์โมนเพศมักถูกเก็บสะสมในไขมัน เด็กกลุ่มนี้จึงมีฮอร์โมนเพศในร่างกายสูงกว่าเด็กน้ำหนักตัวปกติ
- เด็กที่ได้รับฮอร์โมนเพศที่ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม เช่น จากเกษตรกรรม การปศุสัตว์ หรือจากอาหาร
- มีโรคประจำตัวบางชนิด เช่น โรค McCune Albright syndrome (โรคทางพันธุกรรมที่พบน้อยมากที่มีการสร้างฮอร์โมนผิดปกติของอวัยวะระบบต่อมไร้ท่อ) โรคต่อมไทรอยด์ที่ทำให้เด็กเกิดภาวะขาดไทรอยด์ฮอรโมน
- เคยได้รับการฉายรังสีรักษาที่สมอง
ภาวะเจริญพันธ์ก่อนวัยมีอาการอย่างไร?
อาการของภาวะเจริญพันธ์ก่อนวัย ได้แก่ การมีอาการต่างๆดังจะกล่าวต่อไปก่อนเข้าวัยรุ่น กล่าวคือ ในเด็กหญิง อาการเหล่านี้จะเกิดก่อนอายุ 8 ปี ส่วนในเด็กชาย อาการเหล่านี้จะเกิดก่อนอายุ 9 ปี
ก. อาการที่พบทั้งในเด็กทั้งเพศหญิงและเพศชาย: เช่น
- มีขนที่รักแร้
- มีขนที่อวัยวะเพศ
- มีกลิ่นตัว
ข. อาการที่พบในเด็กเพศหญิง: เช่น
- มีเต้านม
- มีสะโพก
- มีประจำเดือน
- อวัยวะเพศหญิงเจริญเติบโตเร็ว
- ผมยาวเร็ว
ค. อาการที่พบในเด็กชาย: เช่น
- มี หนวด เครา ขนดกขึ้น
- อวัยวะเพศชายขยายขนาด อัณฑะและถุงอัณฑะใหญ่ขึ้น
- เสียงห้าวขึ้น
- มีลูกกระเดือก/กล่องเสียงขยายใหญ่
- มีกล้ามเนื้อเป็นมัด
เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?
เมื่อพบบุตรหลานที่เป็นเด็กมีอาการของภาวะเจริญพันธ์ก่อนวัยดังกล่าวในหัวข้อ “ อาการฯ” ควรรีบนำเด็กพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล เพราะถ้าปล่อยไว้นาน เด็กอาจมีปัญหาทางด้านสังคมจากการมีภาพลักษณ์ที่ผิดปกติไปจากเพื่อนๆ
แพทย์วินิจฉัยภาวะเจริญพันธ์ก่อนวัยได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยภาวะเจริญพันธ์ก่อนวัยได้จาก
- การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น อาการต่างๆของเด็ก อายุเด็ก สภาพแวดล้อม ถิ่นที่อยู่อาศัย อาชีพผู้ปกครอง อาหารที่กินประจำ ประวัติการเจ็บป่วยและการรักษาพยาบาลในปัจุบันและในอดีต ยาต่างๆที่ใช้ในอดีตและในปัจจุบัน โดยเฉพาะยาที่ใช้ต่อเนื่อง และประวัติผู้มีอาการแบบนี้ในครอบครัว
- การตรวจร่างกาย
- การตรวจร่างกายทางประสาทวิทยา
- การตรวจเลือดดูโรคต่างๆที่อาจเกี่ยวข้อง เช่น โรคเบาหวาน โรคต่อมไทรอยด์
- การตรวจเลือดและ/หรือการตรวจปัสสาวะเพื่อตรวจหาระดับฮอร์โมนต่างๆในร่างกายโดยเฉพาะ ฮอร์โมน GnRH, ฮอร์โมนเพศทั้งเพศชายและเพศหญิง
- การตรวจสืบค้นอื่นๆเพิ่มเติมตามดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา เช่น
- การตรวจภาพ ต่อมไทรอยด์, ต่อมหมวกไต, ช่องท้อง, และ/หรือสมอง ด้วย อัลตราซาวด์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และ/หรือเอมอาร์ไอ
- อาจมี การตัดชิ้นเนื้อ/การเจาะตรวจเซลล์จากรอยโรคเมื่อตรวจพบรอยโรคจากการตรวจภาพอวัยวะเหล่านั้น เพื่อการตรวจทางเซลล์วิทยา และ/หรือเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา
รักษาภาวะเจริญพันธ์ก่อนวัยอย่างไร?
แนวทางการรักษาภาวะเจริญพันธ์ก่อนวัย คือ
ก.การรักษาสาเหตุ ได้แก่
- การผ่าตัดและ/หรือรังสีรักษา กรณีพบสาเหตุเกิดจากเนื้องอก
- การใช้ยาต่างๆเพื่อปรับสมดุลฮอร์โมนเพศ เช่น
- ยากลุ่ม Gonadotropin-releasing hormone analogue หรือ GnRH agonists เช่นยา Leuprolide , Triptorelin
- ยากลุ่ม Aromatase inhibitor เช่นยา Anastrozole
ข. การดูแลทางจิตเวช: กรณีเด็กมีปัญหาด้านอารมณ์/จิตใจ จากภาพลักษณ์ที่ไม่เหมือนเพื่อนๆ
ภาวะเจริญพันธ์ก่อนวัยมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
การพยากรณ์โรคในภาวะเจริญพันธ์ก่อนวัย จะขึ้นกับสาเหตุ แต่โดยทั่วไป เป็นโรค/ภาวะที่รักษาควบคุมได้ แต่ผู้ป่วยต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง และผู้ป่วยอาจมีตัวเตี้ยกว่าคนทั่วไปได้ จากกระดูกที่จะหยุดการเจริญเร็วกว่าในเด็กทั่วไป
นอกจากนั้น เด็กบางคนอาจมีปัญหาทางอารมณ์/จิตใจ ที่ต้องอยู่ในการดูแลของจิตแพทย์ต่อเนื่องเช่นกัน
มีผลข้างเคียงจากภาวะเจริญพันธ์ก่อนวัยอย่างไร?
ผลข้างเคียงที่พบได้ในภาวะเจริญพันธ์ก่อนวัย เช่น
- ภาวะตัวเตี้ยกว่าคนทั่วไปเมื่อเป็นผู้ใหญ่ จากกระดูกหยุดการเจริญ เร็วกว่าใน คนทั่วไป
- มีปัญหาทางด้านอารมณ์/จิตใจจากภาพลักษณ์ที่ไม่เหมือนเพื่อนๆ
ดูแลตนเองอย่างไร?
การดูแลเด็กที่มีภาวะเจริญพันธ์ก่อนวัย ได้แก่
- ดูแลเด็กให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล ให้ครบถ้วน ถูกต้อง
- ดูแลให้เด็กกินยาต่างๆที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วนถูกต้อง ไม่หยุดยาเอง
- แจ้งเรื่องภาวะ/โรคของเด็กให้คุณครูและโรงเรียนรับทราบ เพื่อช่วยดูแลเด็กได้ถูกต้องเมื่อเด็กมาโรงเรียน เช่น การกินยา/ใช้ยา และเพื่อความเข้าใจของเด็กอื่นๆต่ออาการโรคของเด็กป่วยที่จะช่วยลดปัญหาทางอารมณ์/จิตใจของเด็กป่วยได้เป็นอย่างดี
- ผู้ปกครองควรต้อง ดูแลเอาใจใส่ ให้เวลา รับฟังปัญหาของเด็ก และช่วยหาทางช่วยเหลือแก้ไข
- พาเด็กพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตรงตามนัดเสมอ
ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?
ควรพาเด็กภาวะเจริญพันธ์ก่อนวัยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ
- เด็กมีอาการมากขึ้น เช่น ประจำเดือนมามาก หรือมานาน หรือการมีก้อนที่เต้านม
- เด็กมีอาการที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่น มีก้อนในเต้านม มีน้ำนม ปวดศีรษะมาก
- เด็กมีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ท้องเสียมาก คลื่นไส้มาก ติดเชื้อบ่อย(มีไข้บ่อย)
- เด็กมีปัญหาทางอารมณ์/จิตใจมาก
- เมื่อผู้ปกครองกังวลในอาการของเด็ก
ป้องกันภาวะเจริญพันธ์ก่อนวัยได้อย่างไร?
ภาวะเจริญพันธ์ก่อนวัย เมื่อดูจากสาเหตุแล้ว เป็นภาวะที่ป้องกันได้ยาก เพราะ สาเหตุมักมาจากเนื้องอกและความผิดปกติทางพันธุกรรม ดังนั้น เมื่อพบบุตรหลานมีอาการดังกล่าวในหัวข้อ “อาการฯ” ควรรีบนำบุตรหลานพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อการวินิจฉัยและการรักษาภาวะนี้แต่เนิ่นๆที่จะทำให้ได้รับผลการรักษาที่มีประสิทธิภาพในการควบคุมรักษาโรค/ภาวะนี้
อนึ่ง สาเหตุอีกประการที่พบได้น้อยกว่า ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงเกิดภาวะเจริญพันธ์ก่อนวัย คือ จากยาบางชนิด หรือจากการปนเปื้อนฮอร์โมนในสิ่งแวดล้อมหรือในอาหาร
ดังนั้น การไม่ใช้ยาพร่ำเพื่อ/ใช้ยาต่างๆเฉพาะตามที่แพทย์สั่ง และการดูแลสิ่งแวดล้อม ที่รวมไปถึงอาหาร ให้มีสุขอนามัย ก็เป็นปัจจัยที่ช่วยลดโอกาสเกิดภาวะนี้ได้
บรรณานุกรม
- Berberoglu,M. J Clin Ped Endo. 2009;1(14):164-174)
- https://emedicine.medscape.com/article/924002-overview#showall [2019,Jan19]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Precocious_puberty [2019,Jan19]
- http://www.med.umich.edu/yourchild/topics/puberty.htm [2019,Jan19]
- http://www.pediatricweb.com/webpost/iframe/MedicalConditions_465.asp?tArticleId=178 [2019,Jan19]
- http://pediatrics.wustl.edu/portals/endodiabetes/PDFs/PrematureAdrenarche.pdf [2019,Jan19]