ภาวะขาดวิตามิน บี-3 หรือ โรคเพลลากรา (Vitamin B 3 deficiency or Pellagra)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ และแหล่งอาหาร

ภาวะขาดวิตามินบี-3 (Vitamin B-3 deficiency) หรือ โรคเพลลากรา (Pellagra, มาจากภาษาอิตาลี แปลว่าผิวหนังหยาบ ได้ชื่อโรคนี้เพราะเคยพบโรคนี้เกิดมากในคนอิตาเลียน)เป็นภาวะ หรือ โรคที่เกิดจากร่างกายขาดวิตามินบี-3 จึงก่อให้เกิดอาการสำคัญที่เรียกว่า “3 D” คือ Diarrhea (ท้องเสีย), Dermatitis (ผิวหนังอักเสบ มีลักษณะเป็นสีน้ำตาลแดง หยาบ แห้ง ตกสะเก็ด คันมาก), และ Dementia (สมองเสื่อม) บางคนจึงเรียกโรคนี้ว่า “ โรค3ดี(The 3Ds)” และเมื่อไม่ได้รับการรักษา ผู้ป่วยอาจเสียชีวิต(ตาย/Death)ได้ ซึ่งทำให้บางคนเรียกโรค/ภาวะขาดวิตามินบี-3 นี้อีกชื่อว่า “โรค4ดี (The 4 Ds หรือ Disease of the 4 Ds)”

ภาวะขาดวิตามินบี-3 พบทุกเพศ และทุกวัย โดยไม่ค่อยพบในประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่พบบ่อยในประเทศที่ประชาชนบริโภคข้าวโพดเป็นหลัก เช่น ในชนบทของประเทศแถบอเมริกาใต้ ทั้งนี้เพราะข้าวโพดเป็นพืชที่ไม่มี วิตามินบี-3 และไม่มีสาร *Tryptophan นอกจากนี้ ยังพบในประชาชนที่ขาดอาหารจากความยากจน เช่น คนเร่รอน ผู้อพยพ ในคนติดสุรา ในผู้ติดคุก และในผู้ป่วยจิตเวชที่ปฏิเสธการกินอาหาร

วิตามินบี-3 มีอีกชื่อ คือ “Niacin หรือ Nicotinic acid หรือ Niacinamide หรือ Nicotinamide” เป็นวิตามินที่ร่างกายสามารถสร้างเองได้จากการเปลี่ยนสาร *Tryptophan ในร่างกายให้เป็นวิตามินบี-3

*Tryptophan เป็นกรดอะมิโน (Amino acid, สารตั้งต้นสำคัญของโปรตีน) ชนิดหนึ่งที่จำเป็นต่อร่างกาย ซึ่งร่างกายสร้างเองไม่ได้ ต้องได้จากอาหารเท่านั้น จึงได้ชื่อว่า Essential amino acid โดยTryptophan มีหน้าที่ช่วยการสร้างโปรตีน เพื่อใช้ในการเจริญเติบโตของเซลล์ทุกชนิดของร่างกาย นอกจากนั้น ยังเป็นสารตั้งต้นสำคัญ ของสารสื่อประสาทบางชนิดของสมอง (เช่น Serotonin), ของฮอร์โมนสำคัญบางชนิดของต่อมหมวกไต(เช่น Cortisol), และเป็นสารตั้งต้นในการสร้างวิตามินบี-3

แหล่งอาหารของวิตามินบี 3:

ภาวะขาดวิตามินบี3

Tryptophan/วิตามินบี3 มีมากใน ตับ ไข่ นมและผลิตภํณฑ์จากนม เนย ปลา ไก่งวง เนื้อแดง อาหารทะเล เมล็ดทานตะวัน ธัญพืชเต็มเมล็ด(ที่ยกเว้นข้าวโพด) ถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง ถั่วกินฝัก งา อัลมอนด์ (Almond) เม็ดมะม่วงหิมพาน ถัวลิสง ถั่วพิสทาชิโอ (Pistachio) เห็ด บรอกโคลี ผักใบเขียว หน่อไม้ฝรั่ง มะเขือเทศ มันเทศ แครอด อะโวคาโด (Avocados) และในอาหารเช้าซีเรียล (Cereal)ที่เสริมอาหารด้วยวิตามินบี-3

ทั้งนี้ วิตามินบี-3 ถูกดูดซึมในกระเพาะอาหารและในลำไส้เล็กตอนบน และเมื่อเข้าสู่ร่างกาย บางส่วนจะถูกนำไปใช้ บางส่วนจะถูกเก็บสะสมไว้ในตับ ส่วนที่เหลือจะถูกกำจัดออกจากร่างกายโดยไต ทางปัสสาวะ

ร่างกายต้องการวิตามินบี-3วันละเท่าไร?

ตามคำแนะนำสำหรับคนทั่วไป ต่อปริมาณวิตามินบี-3ที่ควรบริโภคต่อวัน (DRI, Dietary reference intakes) ของสถาบันการแพทย์แห่งชาติ สหรัฐอเมริกา (U.S. Food and Nutrition Board, Institute of Medicine, National Academies)ค.ศ. 2011 คือ

วิตามินบี-3มีประโยชน์และโทษอย่างไร?

วิตามินบี-3/ บี3 มีประโยชน์และโทษ คือ

ก. ประโยชน์ หรือ หน้าทีของวิตามินบี-3: คือ

  • ช่วยเซลล์ต่างๆในร่างกายในการนำพลังงานทั้งจาก โปรตีน ไขมัน และคาร์โบไฮเดรต มาใช้
  • เกี่ยวข้องกับการสร้างสารสื่อประสาทบางชนิด เช่น สาร Serotonin เมื่อขาดวิตามินนี้ จึงมักเกิดอาการหลงลืมง่าย/สมองเสื่อม(Dementia)
  • ช่วยในการทำงานของเซลล์ที่ทำหน้าที่เป็นเซลล์เยื่อบุผิว เช่น เซลล์ผิวหนัง และเซลล์เยื่อบุผิวทางเดินอาหาร ดังนั้นเมื่อขาดวิตามินนี้ จึงมักก่อให้เกิดผื่นผิวหนังอักเสบ(Dermatitis) และเกิดเยื่อบุทางเดินอาหารอักเสบชนิดที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อส่งผลให้เกิด ท้องเสีย(Diarrhea)เรื้อรัง และ
  • ยังเป็นส่วนประกอบสำคัญของฮอร์โมนเพศ และฮอร์โมนจากต่อมหมวกไต ที่ควบคุมการทำงานของเซลล์ต่างๆทั่วร่างกาย

ข. โทษ หรือ ผลข้างเคียงจากได้รับวิตามินบี-3 ปริมาณสูง ต่อเนื่อง: ซึ่งทั่วไปมักเกิดจากการบริโภค อาหารเสริม/ผลิตภัณฑ์สริมอาหารวิตามินบี-3สูงต่อเนื่อง แต่ทั่วไป ไม่ค่อยพบโทษจากบริโภคบี3สูง เพราะบี-3 เป็นวิตามินที่ละลายน้ำได้ ร่างกายจึงมักกำจัดส่วนเกินออกทางปัสสาวะ แต่ถ้ากินเสริมอาหารมากเกินไปจนร่างกายกำจัดไม่ทัน อาจก่อให้เกิดอาการ

  • เบื่ออาหาร
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • ตับอักเสบ
  • จอตาอักเสบ
  • น้ำตาลในเลือดสูง
  • กรดยูริคในเลือดสูง เป็นต้น
  • ดังนั้นอาการของโรคเบาหวานและโรคเกาต์จึงอาจเลวลงได้ และ
  • ในหญิงตั้งครรภ์อาจก่อให้ทารกในครรภ์มีความพิการแต่กำเนิดได้

อนึ่ง คนที่มีปัจจัยเสี่ยงเกิดผลข้างเคียงจากการเสริมอาหารด้วยวิตามินบี-3 คือ ผู้ป่วยที่มีโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคความดันโลหิตต่ำ และโรคปวดศีรษะไมเกรน

อย่างไรก็ตาม มีบุคคลบางกลุ่มอาจไวเกินต่อวิตามินบี-3 แม้จะได้รับในปริมาณเพียงเล็กน้อย โดยอาจเกิดอาการ

  • เนื้อตัว ใบหน้า แดง(Flushing) ซึ่งอาจร่วมกับมีผื่นคันได้ มักมีอาการเหล่านี้นานประมาณ 15-30 นาทีหลังกินวิตามินนี้ โดยทั่วไป อาการที่เกิดจะหายเองภายใน 24 โมง

ภาวะขาดวิตามินบี-3มีสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงจากอะไร?

สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของการขาดวิตามินบี-3 ได้แก่ การขาดอาหารที่มีวิตามินบี-3, จากร่างกายดูดซึมวิตามินบี-3 ได้น้อย, และจากผลข้างเคียงของยาบางชนิดที่ต้านประสิทธิภาพของวิตามินบี-3

ก. จากขาดอาหารที่มีวิตามินบี-3: ส่วนใหญ่พบเกิดในคนมีปัญหาทางเศรษฐกิจจึงขาดแคลนอาหาร เช่น ในประเทศด้อยพัฒนา ในผู้อพยพ นักโทษ ในผู้สูงอายุที่ขาดคนดูแล คนในถิ่นที่กินอาหารแป้งข้าวโพดเป็นหลัก เช่น ในแถบอเมริกาใต้บางประเทศ ผู้ป่วยทางจิตเวชที่ปฏิเสธการกินอาหาร ผู้ป่วยที่ติดสุรา/แอลกอฮอล์เรื้อรังเนื่องจากพิษของสุราทำลายวิตามินตัวนี้โดยตรงและสุรายังร่วมเป็นสาเหตุสำคัญของการขาดอาหารด้วย นอกจากนั้น ปัจจุบันมีรายงาน พบภาวะขาดวิตามินบี-3ได้ในคนที่กินแต่อาหารไม่มีประโยชน์ ที่เราเรียกกันว่า “อาหารขยะ” เป็นประจำ

ข. จากร่างกายดูดซึมวิตามินบี-3ได้น้อย: เช่น

  • จากมีโรคของลำไส้ที่ส่งผลให้ลำไส้อักเสบเรื้อรัง และ/หรือ
  • ท้องเสียเรื้อรัง(เช่น โรคลำไส้แปรปรวน)
  • ในคนที่มีอาการอาเจียนเรื้อรังเมื่อกินอาหาร เช่น โรค Anorexia nervosa
  • ในคนที่ผ่าตัดลำไส้เล็กจากโรคต่างๆ(ทำให้ลำไส้เล็กสั้นลง) เช่นจาก อุบัติเหตุ หรือ เนื้องอก หรือ
  • จากโรคทางพันธุกรรมบางโรคที่ร่างกายไม่สามารถดูดซึมสาร Tryptophan ได้
  • นอกจากนั้น อาจเป็น ผลข้างเคียงของยาบางชนิด เช่น ยาปฏิชีวนะในกลุ่ม Tetracycline

ค.ผลข้างเคียงจากยาบางชนิดที่ต้านประสิทธิภาพของวิตามินบี-3: เช่น ยารักษาวัณโรค บางชนิด และยารักษาทางจิตเวชบางชนิด

ภาวะขาดวิตามินบี-3มีอาการอย่างไร?

อาการจากขาดวิตามินบี-3 ที่พบได้บ่อย มี 3 อาการร่วมกัน (3D) ได้แก่

  • ท้องเสีย (Diarrhea, อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ท้องเสีย) ทั่วไปมักเป็นท้องเสียเรื้อรัง
  • ผื่นผิวหนังอักเสบ (Dermatitis, ผิวหนังมีลักษณะเป็นสีน้ำตาลแดง หยาบ แห้ง ตกสะเก็ด คันมาก) และ
  • โรคสมองเสื่อม(Dementia, อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง สมองเสื่อม)

นอกจากนั้น อาจพบอาการอื่นๆร่วมด้วยได้อีก(ไม่ต้องมีครบทุกอาการ) เช่น

  • เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • ปวดท้อง
  • ลิ้นอักเสบ บวม แดง
  • กระสับกระส่าย
  • ก้าวร้าว
  • อาจมีอาการชาตามร่างกาย ปลายมือ ปลายเท้า
  • อาจชักได้

แพทย์วินิจฉัยภาวะขาดวิตามินบี-3ได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยภาวะขาดวิตามินบี-3 ได้จาก

  • การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น ประวัติอาการ ประวัติการกินอาหาร สถานที่อยู่อาศัย ประวัติการรักษาโรคต่างๆทั้งในอดีตและในปัจจุบัน โรคประจำตัว การใช้ยาต่างๆ
  • การตรวจร่างกาย
  • การตรวจวัดปริมาณวิตามินบี-3 หรือสารที่เกี่ยวข้อง เช่น Tryptophan จากปัสสาวะและ/หรือจากเลือด และ
  • บางครั้งอาจจากการตัดชิ้นเนื้อจากรอยโรคที่ผิวหนังเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา

รักษาภาวะขาดวิตามินบี-3อย่างไร?

แนวทางการรักษาภาวะขาดวิตามินบี-3 ได้แก่ การให้วิตามินบี-3 เสริมอาหาร และการรักษาประคับประคองตามอาการ

ก. การให้วิตามินบี-3 เสริมอาหาร: โดยการกินเป็นยาเม็ด ร่วมกับเพิ่มอาหารที่มี วิตามินบี-3 และTryptophan สูง

ข. การรักษาประคับประคองตามอาการ: เช่น

  • ยาแก้คลื่นไส้ อาเจียน
  • ยากันชัก
  • ยาบรรเทาอาการทางผิวหนัง เช่น ยาแก้คันเมื่อมีอาการคัน เป็นต้น

ภาวะขาดวิตามินบี-3รุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงไหม?

ภาวะขาดวิตามินบี-3 เป็นโรคที่รักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั่วไปมี การพยากรณ์โรคที่ดี แต่เมื่อมีอาการรุนแรงแล้ว เช่น มีอาการทางสมอง ภายหลังการรักษาผู้ป่วยอาจไม่สามารถฟื้นตัวจนเป็นปกติได้

ซึ่งเมื่อมีการขาดวิตามินนี้อย่างรุนแรงและไม่ได้รับการรักษา ผู้ป่วยมักเสียชีวิตภายใน 4-5 ปีนับจากเริ่มมีอาการจากภาวะทุโภชนา

ดูแลตนเองอย่างไร?ควรพบแพทย์เมื่อไร?

การดูแลตนเองที่สำคัญที่สุด คือ

ก. การป้องกันไม่ให้เกิดภาวะขาดวิตามินบี-3: โดย

  • กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบถ้วนในทุกวัน และ
  • จำกัดการดื่มสุรา/เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่เกินวันละ 2 ดริงค์ (Drink)ในผู้ชาย และ 1 ดริงค์ในผู้หญิง

ข. ส่วนเมื่อป่วยด้วยภาวะขาดวิตามินบี3 แล้ว ควรดูแลตนเองดังนี้ เช่น

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • กินยาต่างๆที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วน ถูกต้อง ไม่ขาดยา ไม่หยุดยาเอง
  • กินอาหารมีวิตามินบี-3 และTryptophan สูงในทุกมื้ออาหาร
  • กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบถ้วนในทุกมื้ออาหาร
  • เลิกสุรา ไม่ดื่มสุรา
  • รักษา ควบคุม โรคที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดเสมอ
  • รีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ
    • มีอาการผิดปกติไปจากเดิม
    • อาการต่างๆเลวลง
    • มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนส่งผลกระทบต่อการใช้ ชีวิตประจำวัน เช่น คลื่นไส้มาก วิงเวียนศีรษะมาก
    • เมื่อกังวลในอาการ

ป้องกันภาวะขาดวิตามินบี-3 อย่างไร?

สามารถป้องกันภาวะขาดวิตามินบี-3 ได้เช่นเดียวกับที่ได้กล่าวแล้วในหัวข้อ”การดูแลตนเองฯ” ซึ่งที่สำคัญ คือ

  • กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบถ้วนในทุกๆวัน
  • จำกัดการดื่มสุราโดย ผู้ชาย 2 ดริงค์/วัน ผู้หญิง 1 ดริงค์/วัน
  • ป้องกัน รักษา ควบคุม โรคที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง ดังกล่าวแล้วใน’หัวข้อ สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงฯ’

บรรณานุกรม

  1. Bechgaard, H., and Jesperson, S. (1977). GI absorption of niacin in humans. J Pharm Sci. 66, 871-872. [Pub Med].
  2. Braunwald, E., Fauci, A., Kasper, L., Hauser, S., Longo, D., and Jameson, J. (2001). Harrison’s principles of internal medicine (15th ed.). New York: McGraw-Hill.
  3. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK56068/table/summarytables.t2/?report=objectonly [2019,Feb9]
  4. https://emedicine.medscape.com/article/985427-overview#showall [2019,Feb9]
  5. https://en.wikipedia.org/wiki/Niacin[2019,Feb9]
  6. https://en.wikipedia.org/wiki/Pellagra [2019,Feb9]
  7. https://en.wikipedia.org/wiki/Tryptophan [2019,Feb9]
  8. http://www.ndhealthfacts.org/wiki/Vitamin_B3[2019,Feb9]