ฟอสโฟไดเอสเทอเรส อินฮิบิเตอร์ (Phosphodiesterase inhibitor)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 10 มิถุนายน 2559
- Tweet
- บทนำ
- ฟอสโฟไดเอสเทอเรส อินฮิบิเตอร์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ฟอสโฟไดเอสเทอเรส อินฮิบิเตอร์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ฟอสโฟไดเอสเทอเรส อินฮิบิเตอร์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ฟอสโฟไดเอสเทอเรส อินฮิบิเตอร์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ฟอสโฟไดเอสเทอเรส อินฮิบิเตอร์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ฟอสโฟไดเอสเทอเรส อินฮิบิเตอร์อย่างไร?
- ฟอสโฟไดเอสเทอเรส อินฮิบิเตอร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาฟอสโฟไดเอสเทอเรส อินฮิบิเตอร์อย่างไร?
- ฟอสโฟไดเอสเทอเรส อินฮิบิเตอร์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- อัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease)
- ยาขยายหลอดลม (Bronchodilator)
- ยารักษาทางจิตเวช ยาจิตเวช (Psychotropics drugs)
- นกเขาไม่ขัน (Erectile dysfunction)
- ภาวะหัวใจล้มเหลว ภาวะหัวใจวาย (Heart failure)
- โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอมจี (Myasthenia gravis หรือ MG)
บทนำ
ยา/กลุ่มยาฟอสโฟไดเอสเทอเรส อินฮิบิเตอร์ (Phosphodiesterase inhibitor) เป็นกลุ่มยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ (Enzyme) ชื่อ ฟอสโฟไดเอสเทอเรส (Phosphodiesterase /PDE, เอนไซม์ช่วยการทำงานต่างๆของเซลล์อวัยวะต่างๆทั่วร่างกาย) ซึ่งส่งผลต่ออวัยวะต่างๆของร่างกายให้ตอบสนองตัวยาออกมาในลักษณะที่แตกต่างกันโดยขึ้นกับว่าตัวยาฟอสโฟไดเอสเทอเรส อินฮิบิเตอร์แต่ละชนิดนั้นออกฤทธิ์ต่อการทำงานของอวัยวะใดอย่างเช่น หลอดลม หลอดเลือด หัวใจ สมอง มดลูก และ/หรืออวัยวะเพศชาย
ทางคลินิกอาจจำแนกยากลุ่มฟอสโฟไดเอสเทอเรส อินฮิบิเตอร์โดยใช้ความจำเพาะเจาะจงของการออกฤทธิ์ได้ดังนี้เช่น
- Non selective phosphodiesterase inhibitors: เป็นกลุ่มยาที่ออกฤทธิ์กระตุ้นที่สมองช่วยให้หลอดลมคลายตัว, ช่วยให้หลอดเลือดดำขยายตัว รวมถึงลดอาการปวดกล้ามเนื้อ โดยจำแนกออกเป็นรายการยาได้หลายชนิดตัวยาดังนี้เช่น Caffeine, Aminophylline, Paraxanthine, Pentoxifylline, Theobromine, Theophylline
- PDE 1 selective inhibitors: เป็นกลุ่มยาที่ออกฤทธิ์ทำให้หลอดเลือดดำในส่วนต่างๆของร่างกายขยายตัว ทางคลินิกนำมาช่วยให้การไหลเวียนของเลือดในสมองดีขึ้นและสนับสนุนเรื่องความจำ ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้เช่น Vinpocetine
- PDE 2 selective inhibitors: เป็นกลุ่มยาที่ออกฤทธิ์ที่หัวใจและที่สมอง ทางคลินิกนำมารักษาอาการของโรคหัวใจ ภาวะ/โรคความดันโลหิตสูง รวมถึงลดอาการปวดและเป็นยาสงบประสาท/ยาคลายเครียด ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้เช่น Oxindole
- PDE 3 selective inhibitors: เป็นกลุ่มยาที่ออกฤทธิ์ต่อการทำงานของหัวใจโดยนำใช้รักษาภาวะหัวใจล้มเหลวรวมถึงอาการที่เป็นผลจากการสร้างเกล็ดเลือดของร่างกายมากเกินไป ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้เช่น Inamrinone, Milrinone, Enoximone, Anagrelide, Cilostazol, Pimobendan
- PDE 4 selective inhibitors: เป็นกลุ่มยาที่มีผลต่อระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคในร่างกายมนุษย์ ทางคลินิกนำมาใช้ปรับปรุงระบบความทรงจำ, รักษาอาการทางจิตประสาท, โรคระบบประสาท, บำบัดอาการภาวะพาร์กินสัน และใช้ต้านการอักเสบของร่างกายอย่างเช่นในโรคข้อรูมาตอยด์ ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้เช่น Mesembrenone, Rolipram, Ibudilast, Piclamilast, Luteolin, Drotaverine, Roflumi last, Apremilast
- PDE 5 selective inhibitors: ยาในกลุ่มนี้จะออกฤทธิ์ต่อกล้ามเนื้อเรียบที่ผนังหลอดเลือดถูกนำ มาประยุกต์ใช้เพิ่มสมรรถนะทางเพศของบุรุษ และบำบัดรักษาอาการความดันโลหิตของหลอดเลือดภายในปอดสูง ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้เช่น Avanafil, Lodenafil, Mirodenafil, Sildenafil, Tadalafil, Vardenafil, Udenafil, Zaprinast, Icariin, Benzamidenafil
- PDE 7 selective inhibitor: เป็นกลุ่มยาที่ออกฤทธิ์ต่อต้านการอักเสบช่วยป้องกันเส้นประสาทอักเสบ ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้เช่น Quinazoline
- PDE 10 selective inhibitor: เป็นกลุ่มยาที่มีฤทธิ์ลดการหดเกร็งตัวของกระเพาะอาหารและลำไส้ ท่อน้ำดี อีกทั้งทำให้หลอดเลือดในสมองและในบริเวณหัวใจเกิดการขยายตัว นอกจากนี้ยังนำมาใช้เป็นยาเพิ่มสมรรถนะทางเพศในบุรุษอีกด้วย ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้เช่น Papaverine
จากจำนวนตัวยาที่แยกย่อยออกมาหลากหลายรายการทำให้เห็นภาพว่า ยาในกลุ่มยาฟอสโฟไดเอสเทอเรส อินฮิบิเตอร์มีประโยชน์มากมายและใช้เป็นยาทางเลือกได้หลายขนาน ยาหลายตัวที่บรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติของไทยอย่าง Aminophylline, Theophylline, Milrinone, Sildenafil และจัดอยู่ในหมวดยาอันตราย
ยาฟอสโฟไดเอสเทอเรส อินฮิบิเตอร์ยังมีรูปแบบผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างกันออกไปไม่ว่าจะเป็น ยาชนิดรับประทาน ยาฉีด หรือยาเหน็บทวาร อีกทั้งผลข้างเคียงของยาในกลุ่มยานี้ก็มีมาก และการใช้ยากลุ่มนี้กับผู้ที่มีโรคประจำตัวต่างๆก็ต้องใช้ความระมัดระวัง โดยต้องตรวจประเมินร่างกายผู้ป่วยจากแพทย์ก่อนใช้ยากลุ่มนี้เท่านั้น
ดังนั้นการเลือกใช้ยาในกลุ่มฟอสโฟไดเอสเทอเรส อินฮิบิเตอร์จึงต้องเป็นหน้าที่ของแพทย์เท่านั้น ห้ามผู้บริโภค/ผู้ป่วยไปซื้อหายากลุ่มนี้มารับประทานเองโดยเด็ดขาด
ฟอสโฟไดเอสเทอเรส อินฮิบิเตอร์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
อาจสรุปสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ของยาในกลุ่มฟอสโฟไดเอสเทอเรส อินฮิบิเตอร์ได้ดังนี้เช่น
- ใช้เป็นยาขยายหลอดลม ช่วยรักษาอาการหอบหืด และบรรเทาอาการโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง
- เป็นยากระตุ้นระบบประสาทและบำบัดอาการทางจิตประสาท/ยารักษาทางจิตเวช
- เพิ่มการไหลเวียนโลหิตในสมองและนำมาบำบัดอาการของโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer disease)
- ช่วยเพิ่มแรงบีบตัวให้กับกล้ามเนื้อหัวใจใช้รักษาอาการหัวใจล้มเหลว (Heart failure)
- บำบัดอาการปวดตะคริว ชาตามกล้ามเนื้อ หรือกล้ามเนื้ออ่อนแรงอันมีสาเหตุจากโรคหลอดเลือดแดงฝอยผิดปกติเช่น เกิดการตีบแคบ หรืออาจเกิดจากภาวะเกล็ดเลือดมีมากเกินไปจนเกิดเป็นลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือด จึงส่งผลต่อการทำงานของหลอดเลือดตามมา
- เพิ่มการไหลเวียนของเลือดในบริเวณองคชาติจึงใช้เป็นยาเพิ่มสมรรถนะทางเพศชาย/บำบัดอาการนกเขาไม่ขัน
- บำบัดอาการหดเกร็งตัวของกระเพาะอาหารและลำไส้จนส่งผลให้เกิดอาการปวดท้องที่รุนแรง
ฟอสโฟไดเอสเทอเรส อินฮิบิเตอร์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาฟอสโฟไดเอสเทอเรส อินฮิบิเตอร์มีกลไกการออกฤทธิ์คือ ตัวยาจะยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ที่มีชื่อว่า ฟอสโฟไดเอสเทอเรส/PDE จึงเกิดการเพิ่มของสารประกอบบางตัวที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของเซลล์ต่างๆเช่น Cyclic adenosine monophosphate และ Cyclic guanosine mono phosphate ซึ่งส่งผลต่อการทำงานของอวัยวะต่างๆในร่างกายไม่ว่าจะเป็นหลอดลม สมอง หัวใจ กระเพาะอาหาร ลำไส้ อวัยวะเพศ จนทำให้เกิดการบำบัดรักษาอาการโรคต่างๆตามสรรพคุณ
ฟอสโฟไดเอสเทอเรส อินฮิบิเตอร์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาฟอสโฟไดเอสเทอเรส อินฮิบิเตอร์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายเช่น
- ยาเม็ด ยาแคปซูล และยาน้ำ ชนิดรับประทาน
- ยาฉีด
- ยาเหน็บทวาร
ฟอสโฟไดเอสเทอเรส อินฮิบิเตอร์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
การบริหารยา/ใช้ยาชนิดต่างๆในกลุ่มยาฟอสโฟไดเอสเทอเรส อินฮิบิเตอร์ต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น ห้ามผู้บริโภคไปซื้อหายานี้มาใช้หรือรับประทานด้วยตนเอง
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาฟอสโฟไดเอสเทอเรส อินฮิบิเตอร์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/ พยาบาลและเภสัชกรดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาฟอสโฟไดเอสเทอเรส อินฮิบิเตอร์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภท สามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาฟอสโฟไดเอสเทอเรส อินฮิบิเตอร์สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้า เวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า
อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรรับประทานยาฟอสโฟไดเอสเทอเรส อินฮิบิ เตอร์ตรงเวลา
ฟอสโฟไดเอสเทอเรส อินฮิบิเตอร์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยากลุ่มฟอสโฟไดเอสเทอเรส อินฮิบิเตอร์สามารถก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ชีพจรเต้นผิดปกติ หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจล้มเหลว ความดันโลหิตต่ำ
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียน ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ ซึมเศร้า
- ผลต่อระบบหายใจ: เช่น คัดจมูก เยื่อจมูกอักเสบ ไซนัสอักเสบ มีการติดเชื้อในระบบทางเดินหาย ใจ/โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ
- ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ
- ผลต่อตา: เช่น มีภาวะตาพร่า
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ อาเจียน อาหารไม่ย่อย ปวดท้อง ท้องเสีย เบื่ออาหาร
- ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดหลัง
มีข้อควรระวังการใช้ฟอสโฟไดเอสเทอเรส อินฮิบิเตอร์อย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาฟอสโฟไดเอสเทอเรส อินฮิบิเตอร์เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยากลุ่มนี้
- ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
- ห้ามใช้ยานี้ที่มีสภาพเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
- หลังการใช้ยานี้ถ้าอาการป่วยไม่ดีขึ้นต้องรีบมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
- ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์พยาบาลไม่ว่าจะเป็นเรื่องการรับประทานยานี้และยาต่างๆ อาหาร การพักผ่อน การออกกำลังกาย และต้องมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดทุกครั้ง
- หากเกิดอาการแพ้ยานี้เช่น แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก มีผื่นคันขึ้นเต็มตัว ตัวบวม ต้องหยุดการใช้ยานี้ทันทีแล้วรีบพาผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็วทันที/ฉุกเฉิน
- สำหรับข้อห้ามและข้อควรระวังการใช้ยากลุ่มนี้กับผู้มีโรคประจำตัวต่างๆนั้นมีรายละเอียดปลีกย่อยและมีความแตกต่างกันของตัวยาแต่ละตัว จึงขอไม่กล่าวในบทความนี้และแนะนำอ่านเพิ่มเติมรายละเอียดของตัวยาต่างๆในยากลุ่มฟอสโฟไดเอสเทอเรส อินฮิบิเตอร์นี้ได้ในเว็บ haamor.com เช่นยา Aminophylline, Theophylline, Sildenafil
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุก ชนิด (รวมยากลุ่มฟอสโฟไดเอสเทอเรส อินฮิบิเตอร์ด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
ฟอสโฟไดเอสเทอเรส อินฮิบิเตอร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาฟอสโฟไดเอสเทอเรส อินฮิบิเตอร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น
- การใช้ Non selective phosphodiesterase inhibitors อย่างยา Theophylline ร่วมกับยา Nebivolol อาจทำให้ประสิทธิภาพของยา Nebivolol ลดลง แต่กลับเพิ่มอาการข้างเคียงให้มากขึ้นจากยา Theophylline เพื่อป้องกันสภาวะดังกล่าวจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- ห้ามใช้ยา PDE 5 inhibitors ร่วมกับยาประเภทไนเตรท (Nitrate) อย่างเช่นยา Isosorbide ด้วยจะทำให้เกิดความดันโลหิตต่ำ
- ห้ามรับประทานยาฟอสโฟไดเอสเทอเรส อินฮิบิเตอร์ร่วมกับสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ด้วยจะเพิ่มผลข้างเคียงให้สูงขึ้นจากยากลุ่มนี้
- การใช้ PDE 4 selective inhibitors อย่างเช่นยา Apremilast (ยาโรคข้อที่สาเหตุจากโรคสะ เก็ดเงิน) ร่วมกับยา Phenobarbital อาจทำให้ระดับยา Apremilast ในกระแสเลือดลดต่ำลงจนทำให้ด้อยประสิทธิภาพในการรักษา หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
ควรเก็บรักษาฟอสโฟไดเอสเทอเรส อินฮิบิเตอร์อย่างไร?
ควรเก็บยาฟอสโฟไดเอสเทอเรส อินฮิบิเตอร์ตามเงื่อนไขที่ระบุในเอกสารกำกับยา เก็บยาให้ พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ หรือในช่องแช่แข็งของตู้เย็นเว้นแต่แนะนำในเอกสารกำกับยา
ฟอสโฟไดเอสเทอเรส อินฮิบิเตอร์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาฟอสโฟไดเอสเทอเรส อินฮิบิเตอร์ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่ายเช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Amino Patar (อะมิโน พาตาร์) | Patar Lab |
Aminophylline A.N.H. (อะมิโนฟิลลีน เอ.เอ็น.เฮช) | A N H Products |
Aminophylline Atlantic (อะมิโนฟิลลีน แอตแลนติก) | Atlantic Lab |
Aminophylline Greater Pharma (อะมิโนฟิลลีน เกรทเตอร์ ฟาร์มา) | Greater Pharma |
Almarion (อัลมาเรียน) | Chew Brothers |
Almasal (อัลมาซอล) | Chew Brothers (Theo+salbutamal sulfate) |
Asiabron (เอเซียบรอน) | Asian Pharm (Theo+glyceryl) |
Asma-Dec (แอสมา-เดค) | Medicine Products (Theo+glyceryl) |
Asmasolon (แอสมาโซลอน) | Great Eastern |
Bronchil (บรอนชิล) | Siam Bheasach (Theo+Guaifenesin) |
Brondry (บรอนดราย) | Suphong Bhaesaj (Theo+glyceryl) |
Chintasma (จินทัสมา) | Chinta (Theophylline+glyceryl guaiacolate) |
Sinmaline (ซินมาไลน์) | SSP Laboratories |
Sinoline (ไซโนไลน์) | SSP Laboratories |
S-Phylline (เอส-ฟิลลีน) | Umeda |
Temaco (เทมาโก) | Nakornpatana |
Elonza (อีลอนซา) | Unison |
Revatio (เรวาทิโอ) | Pfizer |
Sidegra (ซิเดกร้า) | GPO |
Tonafil (โทนาฟิล) | T.O. Chemicals |
Viagra (ไวอากร้า) | Pfizer |
Cialis (เซียลิส) | Eli-Lilly |
ERECTALIS (อีเรคทาลิส) | Cipla |
FORZEST (ฟอร์เซส) | Ranbaxy |
MEGALIS (เมกาลิส) | Macleods |
ONEAID (วันเอด) | BMW |
MILDFIL (ไมด์ฟิล) | Fourrts |
POPUP (ป็อปอัฟ) | AHPL |
PULMOPRES (พูลโมเพลส) | Cipla |
TADACIP (ทาดาซิป) | Cipla |
TAGIL (ทากิล) | Asclepius |
TAZZLE (ทาเซิล) | Dr. Reddy's |
TD-PILL (ทีดี-พิล) | Delvin |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Phosphodiesterase_inhibitor#PDE2_selective_inhibitors [2016,May21]
- https://www.scribd.com/doc/53142332/Oxindoles-and-Their-Pharmaceutical-Significance-an-Overview [2016,May21]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Phosphodiesterase-4_inhibitor [2016,May21]
- https://en.wikipedia.org/wiki/PDE5_inhibitor [2016,May21]
- https://en.wikipedia.org/wiki/PDE3_inhibitor [2016,May21]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Papaverine#Uses [2016,May21]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Roflumilast [2016,May21]
- https://en.wikipedia.org/wiki/PDE5_inhibitor#Adverse_effects [2016,May21]
- http://www.drugs.com/drug-interactions/alkabel-sr-with-otezla-288-8724-3516-16399.html [2016,May21]