ฟอสเฟนิโทอิน (Fosphenytoin)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 22 พฤษภาคม 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ:คือยาอะไร?
- ฟอสเฟนิโทอินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ฟอสเฟนิโทอินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ฟอสเฟนิโทอินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ฟอสเฟนิโทอินมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- ฟอสเฟนิโทอินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ฟอสเฟนิโทอินอย่างไร?
- ฟอสเฟนิโทอินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาฟอสเฟนิโทอินอย่างไร?
- ฟอสเฟนิโทอินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ลมชัก (Epilepsy)
- ยาเฟนิโทอิน (Phenytoin) หรือ ยาไดแลนติน (Dilantin)
- ไฮแดนโทอิน (Hydantoin)
- ยากันชัก ยาต้านชัก (Anticonvulsant drugs)
- ภาวะชักต่อเนื่อง (Status epilepticus)
- ถุงยางอนามัยชาย (Male Condom)
- ยาเม็ดคุมกำเนิด (Birth control pill)
บทนำ:คือยาอะไร?
ฟอสเฟนิโทอิน (Fosphenytoin) คือ สารตั้งต้นของยาเฟนิโทอิน(Phenytoin)และนำมาเป็นยารักษาอาการโรคลมชักระดับที่รุนแรงโดยออกฤทธิ์ที่สมองทำให้กลไกของอาการชักถูกปิดกั้น ซึ่งรูปแบบยาแผนปัจจุบันของยานี้จะเป็นยาฉีดเท่านั้น สามารถฉีดเข้าร่างกายทางเส้นเลือดหรือเข้ากล้ามเนื้อก็ได้
เมื่อยาฟอสเฟนิโทอินเข้าสู่กระแสเลือด จะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีนได้ประมาณ 95 - 99% จากนั้นยาฟอสเฟนิโทอินจะถูกร่างกายเปลี่ยนไปเป็นตัวยาเฟนิโทอินภายในประมาณ 15 นาที และออกฤทธิ์ของการรักษาก่อนที่จะถูกขับทิ้งไปกับปัสสาวะ
ยังมีข้อจำกัดบางประการที่แพทย์จะนำมาประกอบการพิจารณาก่อนสั่งจ่ายยาฟอสเฟนิโทอินให้กับผู้ป่วยมีดังนี้ เช่น
- ผู้ป่วยแพ้ยานี้,แพ้ยาเฟนิโทอินหรือแพ้ส่วนประกอบของตัวยาฟอสเฟนิโทอินหรือแพ้ยากลุ่ม Hydantoins (ยากันชัก) มาก่อนหรือไม่
- อยู่ในภาวะอาการความดันโลหิตต่ำอย่างรุนแรง หรือมีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือไม่
- หากเป็นสตรีอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรืออยู่ในภาวะให้นมบุตรหรือไม่
- ติดสุราเรื้อรังหรือดื่มสุราจัดเป็นประจำหรือไม่ด้วยแอลกอฮอล์สามารถส่งผลเพิ่มหรือลดระดับยาฟอสเฟนิโทอินในกระแสเลือดได้
- เคยมีอาการทางจิตเช่น อาการซึมเศร้าหรือความรู้สึกอยากทำร้ายตนเองหรือไม่
ทั้งนี้สภาพอาการของผู้ป่วยที่กล่าวมาข้างต้นล้วนแล้วแต่จะมีอาการหนักขึ้นหากมีการใช้ยาฟอสเฟนิโทอิน
นอกจากนี้ยังมีข้อมูลทางคลินิกที่แสดงถึงอาการผู้ป่วยหลังจากได้รับยานี้อาทิเช่น
- มีอาการวิงเวียนหรือง่วงนอนมากหลังได้รับยานี้จึงควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะ หรือการทำงานกับเครื่องจักร
- ผู้ป่วยบางกลุ่มอาจมีความรู้สึกอยากทำร้ายตัวเองหลังจากได้รับยานี้ บุคลากรทางการ แพทย์และญาติผู้ป่วยควรเฝ้าระวังและสังเกตอาการของผู้ป่วยหลังจากได้รับยานี้อย่างใกล้ชิด
- ยาฟอสเฟนิโทอินอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้น สามารถสังเกตจากอาการของผู้ป่วยที่แสดงออกโดยมีความรู้สึกสับสน ง่วงนอน กระหายน้ำ หายใจเร็ว หน้าแดง
- ยาฟอสเฟนิโทอินที่ให้กับสตรีที่รับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดอยู่สามารถทำให้ฤทธิ์การคุม กำเนิดด้อยลงและสุ่มเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ติดตามมา จึงควรใช้ถุงยางอนามัยชายร่วมในการคุมกำเนิดด้วย
- ผลต่างๆจากการตรวจเลือดของผู้ป่วยที่ได้รับยานี้อาจมีความคลาดเคลื่อนและขาดความแม่นยำในการแปลผลทดสอบได้
- ผู้ป่วยบางรายจะมีอาการผด/ผื่นคันหลังจากได้รับยานี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้ป่วยที่มีสารพันธุกรรมหรือยีน/จีน(Gene) ที่เรียกว่า HLA-B*1502 (Human leukocyte antigen-B)
- การใช้ยาฟอสเฟนิโทอินในผู้สูงอายุจะทำให้ผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง)จากยานี้ได้มากกว่าผู้ป่วยกลุ่มอื่น
- การใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตรสามารถส่งผลต่อสุขภาพและเป็นอันตรายต่อทารกได้
ทั้งนี้การใช้ฟอสเฟนิโทอินจะกระทำในสถานพยาบาลเท่านั้น การฉีดยาให้ผู้ป่วยยังต้องคำนวณปริมาณยาที่ฉีดให้สัมพันธ์กับเวลาที่ร่างกายได้รับยาด้วย การให้ยานี้ที่เร็วเกินไปจะก่อให้ เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำและหัวใจเต้นผิดจังหวะ การคำนวณขนาดยาที่เหมาะสมเป็นอีกประการที่มีแต่แพทย์เท่านั้นที่สามารถคำนวณปริมาณการใช้ได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม
อนึ่งยาชื่อการค้าของยานี้ในต่างประเทศคือ ยา ‘Prodilantin’
ฟอสเฟนิโทอินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาฟอสเฟนิโทอินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น
- รักษาภาวะชักต่อเนื่อง (Status epilepticus)
- รักษาโรคลมชัก (Epilepsy)
ฟอสเฟนิโทอินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
เมื่อยาฟอสเฟนิโทอินเข้าสู่ร่างกาย กลไกการออกฤทธิ์คือตัวยาจะถูกเปลี่ยนโครงสร้างไปเป็นยาเฟนิโทอิน (Phenytoin) ภายในเวลาไม่เกิน 15 นาที ยาเฟนิโทอินจะกดการนำกระแสประสาทที่กระตุ้นการชักจากสมอง โดยมีการปรับสมดุลของประจุไฟฟ้ารวมถึงเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการนี้คือ Sodium-potassium ATPase (Sodium-potassium adenosine triphospha tase) ด้วยกลไกดังกล่าวจึงก่อให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ
ฟอสเฟนิโทอินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาฟอสเฟนิโทอินมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- ยาฉีดที่มีตัวยาเทียบเท่ายาเฟนิโทอิน(Phenytoin)500 มิลลิกรัมในขนาดบรรจุ 10 มิลลิลิตร
ฟอสเฟนิโทอินมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาฟอสเฟนิโทอินมีขนาดการบริหารยา/การใช้ยา: เช่น
- ผู้ใหญ่: ฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำโดยคำนวณเป็นตัวยาเฟนิโทอิน* ขนาด 10 - 20 มิลลิ กรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม การฉีดเข้าหลอดเลือดดำใช้อัตราของยาเฟนิโทอิน 100 - 150 มิลลิ กรัม/นาที ขนาดยาที่ใช้คงระดับของการรักษาอยู่ที่ 6 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน ขนาดยาที่ใช้สูงสุดไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัม/วัน ทั้งนี้การคำนวณการใช้ยาต้องเป็นไปตามความเห็นของแพทย์ผู้รักษาในขณะนั้น
- เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): ขนาดการใช้ยานี้กับเด็กทางคลินิกยังมิได้มีการศึกษาและจัดทำ การใช้ยานี้ในเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป
*อนึ่ง:
- *ตัวยาฟอสเฟนิโทอิน 1.5 มิลลิกรัมเทียบเท่ากับยาเฟนิโทอิน 1 มิลลิกรัม
- การให้ยานี้กับผู้ป่วยในอัตรามากกว่า 150 มิลลิกรัม/นาทีอาจจะทำให้เกิดความดันโลหิตต่ำติดตามมา
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาฟอสเฟนิโทอิน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยา หรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยาฟอสเฟนิโทอินอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆและ/หรือกับอาหารเสริมที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/ มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
ฟอสเฟนิโทอินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาฟอสเฟนิโทอินสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ได้อย่างมาก เช่น
- หากฉีดยานี้เข้าหลอดเลือดดำในอัตราเร็วเกิน 150 มิลลิกรัม/นาที อาจจะทำให้การทำงานของระบบหัวใจและหลอดเลือดผิดปกติ เช่น มีความดันโลหิตต่ำ การไหลเวียนเลือดล้มเหลว, นอกจากนี้ยังอาจก่อให้เกิดอาการทางสมอง เช่น มีอาการซึมเศร้า
- อาการข้างเคียงอื่นที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น
- ตากระตุก
- วิงเวียน
- มีผื่นคัน
- ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน
- ปวดหัว
- มีอาการง่วงนอน
- เดินเซ
*ดังนั้น เพื่อลดอาการข้างเคียงดังกล่าว แนะนำไม่ให้ยานี้กับผู้ป่วยเร็วหรือในปริมาณมากเกินไป
*อนึ่ง: สำหรับผู้ที่ได้รับยาฟอสเฟนิโทอินเกินขนาด: จะพบอาการคลื่นไส้อาเจียน หัวใจเต้นเร็วหรือหัวใจเต้นช้าผิดปกติจนถึงขั้นหัวใจหยุดเต้น มีความดันโลหิตต่ำ เกิดภาวะเกลือแคลเซียมในเลือดต่ำ สำหรับการบำบัดรักษาผู้ที่ได้รับยานี้เกินขนาดนั้นยังไม่มียาที่ใช้ต้านพิษของยาฟอสเฟนิโทอินโดยตรง การช่วยเหลือจะต้องกระทำด้วยความรวดเร็วและถูกต้อง เช่น ใช้เครื่องมือช่วยหายใจ หรือแม้แต่การฟอกเลือดก็อยู่ในข่ายที่นำมาพิจารณาช่วยเหลือผู้ที่ได้รับยานี้เกินขนาดได้เช่นกัน
มีข้อควรระวังการใช้ฟอสเฟนิโทอินอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ฟอสเฟนิโทอิน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาฟอสเฟนิโทอินรวมถึงผู้ที่มีประวัติแพ้กลุ่มยา Hydantoins
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจเต้นช้าผิดปกติหรือผู้ที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้น
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก รวมถึงผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำ สั่งจากแพทย์
- ห้ามฉีดยานี้ให้ผู้ป่วยเร็วกว่าอัตราที่ถูกกำหนดไว้ในเอกสารกำกับยา/ ฉลากยา ด้วยอาจจะนำมาซึ่งอาการข้างเคียงที่รุนแรงดังกล่าวในหัวข้อ ผลไม่พึงประสงค์
- ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
- หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี
- ระหว่างที่ทำการฉีดยานี้ให้ผู้ป่วยต้องคอยเฝ้าระวังสัญญาณชีพต่างๆมิให้ผิดปกติ เช่น ค่าการตรวจคลื่นไฟฟ้าอีเคจี ความดันโลหิต อัตราการหายใจ ให้เป็นปกติเสมอ
- ห้ามใช้ยาที่หมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาฟอสเฟนิโทอินด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ฟอสเฟนิโทอินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาฟอสเฟนิโทอินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่น เช่น
- ห้ามใช้ยาฟอสเฟนิโทอิน ร่วมกับยาต้านเอชไอวี Delavirdine ด้วยจะทำให้ระดับยา Delavirdine ในกระแสเลือดลดต่ำลงจนส่งผลต่อการรักษาอาการติดเชื้อเอดส์ได้
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาฟอสเฟนิโทอิน ร่วมกับยา Propoxyphene ด้วยอาจก่อให้เกิดอาการ วิงเวียน ง่วงนอน มีความรู้สึกสับสน ขาดสมาธิ หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีๆไป
- การใช้ยาฟอสเฟนิโทอิน ร่วมกับยา Hydrocodone อาจทำให้ระดับยา Hydrocodone ในกระแสเลือดลดต่ำลงจนอาจส่งผลต่อการรักษา หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
- การใช้ยาฟอสเฟนิโทอิน ร่วมกับยาเม็ดคุมกำเนิด เช่นยา levonorgestrel อาจทำให้ ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดด้อยลงไปสุ่มเสี่ยงกับการมีประจำเดือนมาผิดปกติ รวมถึงอาจเกิดการตั้งครรภ์ได้ ในช่วงที่มีการใช้ยาร่วมกันนี้ควรใช้วิธีคุมกำเนิดแบบอื่นร่วมด้วยเช่น การใช้ถุงยางอนามัยชาย เป็นต้น
ควรเก็บรักษาฟอสเฟนิโทอินอย่างไร
ควรเก็บยาฟอสเฟนิโทอิน:
- เก็บยาในตู้เย็นช่วงอุณหภูมิ 2 - 8 องศาเซลเซียส (Celsius)
- ห้ามเก็บในช่องแช่แข็งตู้เย็น
- เก็บยาในภาชนะที่มิดชิด พ้นแสง/ แสงแดด ความร้อนและความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ฟอสเฟนิโทอินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาฟอสเฟนิโทอิน มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Cerebyx (ซีรีเบ็กซ์) | pfizer |
Cereneu (ซีรีนิว) | Pfizer |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Fosphenytoin#History [2022,May21]
- https://www.drugs.com/mtm/fosphenytoin.html [2022,May21]
- https://www.drugs.com/mtm/fosphenytoin.html [2022,May21]
- https://pharmacy.mahidol.ac.th/dic/news_week_full.php?id=1212 [2022,May21]
- https://labeling.pfizer.com/ShowLabeling.aspx?id=749 [2022,May21]
- https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Cereneu/ [2022,May21]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/fosphenytoin?mtype=generic [2022,May21]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/fosphenytoin-index.html?filter=3&generic_only=#D [2022,May21]