ยาเฟนิโทอิน (Phenytoin) หรือ ยาไดแลนติน (Dilantin)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 13 มกราคม 2557
- Tweet
- ทั่วไป
- ยาเฟนิโทอินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ยาเฟนิโทอินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาเฟนิโทอินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายในประเทศไทยอย่างไร?
- ยาเฟนิโทอินมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยาเฟนิโทอินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาเฟนิโทอินอย่างไร?
- ยาเฟนิโทอินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาเฟนิโทอินอย่างไร?
- ยาเฟนิโทอินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
ทั่วไป
ยาเฟนิโทอิน (Phenytoin) หรือที่รู้จักทั่วไปในชื่อการค้า คือ ยาไดแลนติน (Dilantin) ถูกสังเคราะห์ขึ้นโดยนักเคมีชาวเยอรมัน และถูกนำมาใช้รักษาอาการชักชนิดเกิดจากสมองมีความผิดปกติเฉพาะบางส่วน (Partial Seizures) และชนิดการชักเกิดจากสมองมีความผิดปกติทั้งซีกซ้ายและซีกขวา (Generalized Tonic – Clonic Seizures) โดยยานี้ มีกลไกยับยั้งการทำ งานของเกลือโซเดียมในร่างกาย และส่งผลให้กลไกที่ทำให้ร่างกายมีอาการชักถูกยับยั้งในที่ สุด
ยาเฟนิโทอินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาเฟนิโทอินมีสรรพคุณดังนี้ คือ
- ใช้ควบคุมอาการชัก (Tonic – Clonic & Complex Partial Seizures)
- ป้องกันการชักระหว่างผ่าตัดหรือหลังผ่าตัดเส้นประสาท
- ใช้รักษาอาการไมเกรน
- ใช้ร่วมกับยาอื่นในการรักษาโรคหัวใจล้มเหลว
ยาเฟนิโทอินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาเฟนิโทอิน คือ หลังจากการรับประทาน ยาจะถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย และจะมีระยะเวลากระจายตัวในกระแสเลือดอยู่ที่ 7 – 42 ชั่วโมง และสามารถถูกขับออกจากร่างกายทางปัสสาวะและทางน้ำดี ขณะที่ตัวยาผ่านเข้าไปในสมอง/ขมอง จะทำให้เกิดการชะลอการแลกเปลี่ยนเกลือโซเดียม และส่งผลให้สมองส่วน Motor Cortex (สมองส่วนควบ คุมการเคลื่อนไหว) ไม่สามารถสร้างกระแสประสาทไปกระตุ้นร่างกายให้เกิดการชักได้
ยาเฟนิโทอินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายในประเทศไทยอย่างไร?
รูปแบบการจัดจำหน่ายในประเทศไทยของยาเฟนิโทอิน ได้แก่
- ชนิดแคปซูลขนาด 100 มิลลิกรัม
- ชนิดเม็ดขนาด 50 มิลลิกรัม
- ชนิดฉีดขนาด 50 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
ยาเฟนิโทอินมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ขนาดรับประทานของ ยาเฟนิโทอิน คือ
- สำหรับผู้ใหญ่ ในโรคลมชัก รับประทานครั้งละ 100 มิลลิกรัมวันละ 3ครั้ง หรือรับประทาน 300 มิลลิกรัมครั้งเดียว
ขนาดสูงสุดไม่ควรรับประทานเกิน 600 มิลลิกรัมต่อวัน
- สำหรับเด็ก รับประทานขนาด 5 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน โดยแบ่งรับประทาน 2 – 3 ครั้งต่อวัน
*****อนึ่ง ขนาดรับประทานของยาทุกชนิด รวมถึง ยาเฟนิโทอิน อาจแตกต่างจากนี้ได้ ทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้สั่งยา
เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาเฟนิโทอิน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยาแล้ว คลื่นไส้มาก หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำ บาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาเฟนิโทอินอาจส่งผลให้อาการ ของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อทารกได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาเฟนิโทอิน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็นสองเท่า
ยาเฟนิโทอินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ผลไม่พึงประสงค์/ผลข้างเคียงของยาเฟนิโทอิน ได้แก่
- ในกรณีของยาฉีด อาจก่อให้เกิดภาวะหัวใจและหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ ทำงานผิด ปกติ และสามารถก่อให้เกิดความดันโลหิตต่ำได้
- ยานี้ยังส่งผลต่อสมอง และสามารถก่อให้เกิดอาการต่างๆ อาทิเช่น การพูดติดขัด วิง เวียนศีรษะ นอนไม่หลับ ปวดศีรษะ อาการสั่น
- ผลข้างเคียงต่อระบบทางเดินอาหาร เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องผูก ภาวะตับถูกทำลายเกิดตับอักเสบได้
- ก่อให้เกิดภาวะโลหิตจาง/ภาวะซีด
- อาการทางผิวหนัง เช่น ลมพิษ ผื่นคัน ริมฝีปากบวม
มีข้อควรระวังการใช้ยาเฟนิโทอินอย่างไร?
ข้อควรระวังในการใช้ยาเฟนิโทอิน คือ
- ห้ามใช้ยากับผู้ที่แพ้ยาเฟนิโทอิน
- ห้ามใช้ยากับผู้ที่มีภาวะหัวใจเต้นช้าและ/หรือ หัวใจผิดจังหวะ
- ห้ามใช้ยาในผู้ป่วยด้วยโรค Adams – Stokes Syndrome (กลุ่มอาการหมดสติจากหัวใจ เต้นผิดปกติ)
- ห้ามใช้ยากับหญิงตั้งครรภ์ เพราะมีผลต่อทารกในครรภ์ ทารกอาจพิการแต่กำเนิดได้
- ระวังการใช้ยาร่วมกับการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เพราะจะทำให้ปริมาณยาเฟนิโทอินในกระแสเลือดมีปริมาณสูงขึ้น แต่ถ้าใช้ยานี้ร่วมกับผู้ป่วยด้วยโรคพิษสุราเรื้อรัง จะก่อให้เกิดการลดปริมาณยาในกระแสเลือดได้เช่นกัน
- ระวังการใช้ยาเฟนิโทอินกับผู้ป่วยด้วยโรคความดันโลหิตต่ำ เพราะสามารถทำให้ผู้ป่วยมีอาการกำเริบมากขึ้น
- ระวังการใช้ยาเฟนิโทอินกับผู้ที่มีภาวะตับโต ผู้ที่มีภาวะดีซ่าน เพราะจะทำให้อาการของภาวะนั้นๆรุนแรงขึ้น
***** อนึ่ง
ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาเฟนิโทอิน ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด ยาแผนโบราณทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวม ทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ยาเฟนิโทอินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ด้วยยาเฟนิโทอิน สามารถเกิดปฏิกิริยาระหว่างยา กับยาได้หลายชนิด จึงขอแบ่งปฏิกิริยาระหว่างยาของเฟนิโทอินกับยาอื่นๆ ออกเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ดังนี้
- การรับประทานยาต่อไปนี้ร่วมกับยาเฟนิโทอิน สามารถทำให้ระดับของ ยาเฟนิโทอินในกระแสเลือดมีปริมาณสูงขึ้น ยากลุ่มดังกล่าว เช่น Dicoumarol Disulfiram Methylphenidate Omeprazole Ticlopidine Viloxazine NSAIDs Halothane Chloramphenical Erythromycin INH Sulfonamides Felbamate Succinimides Amphotericin B Fluconazole Ketonazole Miconazole Itraconazole Benzodiazepines Amiodarone Diltiazem Nifidipine Estrogens Tolbutamide Fluoxetine และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสม
- การรับประทานยาต่อไปนี้ร่วมกับยาเฟนิโทอิน สามารถทำให้ระดับของ ยาเฟนิโทอินในกระแสเลือดลดลง ยากลุ่มดังกล่าว เช่น Fluoroquinolones Diazoxide Reserpine Sucralfate Theophylline Vigabatrin
- กลุ่มยาที่มีผลกระทบต่อฤทธิ์ในการรักษาของยาเฟนิโทอิน ได้แก่ กลุ่มยากันชักกลุ่มอื่นๆ เช่น Chlordiazepoxide Diazepam
- กลุ่มยาที่ได้รับผลกระทบ และทำให้ฤทธิ์การรักษาของยากลุ่มดังกล่าวแตกต่างไปจากเดิม เมื่อรับประทานร่วมกับยาเฟนิโทอิน ได้แก่ Clozapine Corticosteroids Coumarin ยาต้านการจับตัวของเกล็ดเลือด Cyclosporine Diazoxide Furosemide Paroxetine Vitamin D Doxycycline Rifampicin Praziquantel Tetracycline Methadone Sulfonylurea และกลุ่มยาที่ใช้รักษาโรคเบาหวาน (Antidiabetic Drugs)
ควรเก็บรักษายาเฟนิโทอินอย่างไร?
ควรเก็บยาเฟนิโทอิน ในอุณหภูมิไม่เกิน 25 องศาเซลเซียส (Celsius) เก็บยาให้พ้นแสง แดดและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็ก
ยาเฟนิโทอินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ชื่ออื่นและบริษัทที่ผลิตยาเฟนิโทอินในประเทศไทย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
Dantoin (แดนโทอิน) | Pharmasant Lab |
Dilantin (ไดแลนติน) | Pfizer |
Ditoin (ไดโทอิน) | Atlantic Lab |
Fenitoina Rubio (เฟนิโทอินา รูบิโอ) | Lab Rubio |
Pepsytoin-100 (เปปซีโทอิน-100) | Pond’s Chemical |
Utoin-250 (ยูโทอิน-250) | Umeda |
บรรณานุกรม
- http://www.mims.com/Thailand/drug/info/Dilantin/?q=dilantin&type=brief [2013,Dec11].
- http://en.wikipedia.org/wiki/Phenytoin [2013,Dec11].