ผื่นผ้าอ้อม (Nappy rash)
- โดย พญ.ชลธิรศน์ ศรีเกษตรสรากุล
- 26 พฤศจิกายน 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?
- ผื่นผ้าอ้อมมีกลไกการเกิดอย่างไร?
- อะไรเป็นสาเหตุให้เกิดผื่นผ้าอ้อม? อะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดผื่นผ้าอ้อม?
- ผื่นผ้าอ้อมมีอาการอย่างไร?
- เมื่อไรควรพบแพทย์?
- แพทย์วินิจฉัยผื่นผ้าอ้อมได้อย่างไร?
- รักษาผื่นผ้าอ้อมอย่างไร?
- การพยากรณ์โรคของผื่นผ้าอ้อมเป็นอย่างไร?
- ผื่นผ้าอ้อมก่อผลข้างเคียงอย่างไร?
- เมื่อไหร่ควรพบแพทย์ก่อนนัด?
- ดูแลและป้องกันผื่นผ้าอ้อมอย่างไร?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- โรคผิวหนัง (Skin disorder)
- โรคผื่นแพ้สัมผัสในเด็ก (Childhood contact dermatitis)
- โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังในเด็ก (Atopic dermatitis)
- การดูแลผู้สูงอายุ (Elderly care)
- ผดร้อน (Heat rash)
- โรคเซบเดิร์ม โรคผิวหนังอักเสบเซบเดิร์ม (Seborrheic dermatitis)
- ปิโตรเลียม เจลลี่ (Petroleum jelly) วาสลีน (Vaseline)
- ซิงค์ ออกไซด์ (Zinc oxide)
บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?
ผื่นผ้าอ้อม (Nappy rash หรือ Diaper dermatitis หรือ Diaper rash) คือ โรคผื่นผิวหนังที่เกิดจากผิวหนังระคายเคืองจากใส่ผ้าอ้อม พบทุกเชื้อชาติ ทุกเพศ และทุกวัย พบประมาณ 7-35% ในทารก แต่สามารถพบได้ทุกวัยที่ใช้ผ้าอ้อมเช่นกัน เช่น ในผู้สูงอายุที่ใช้ผ้าอ้อม
ผื่นผ้าอ้อมมีกลไกการเกิดอย่างไร?
กลไกการเกิดผื่นผ้าอ้อม คือ ความอับชื้นจากกการใส่ผ้าอ้อม ทำให้ผิวหนังส่วนอับชื้นเกิดการระคายเคืองจากการเสียดสี และจากเอนไซม์ต่างๆ ที่อยู่ในอุจจาระ (เช่น Lipase, Protease), และจากสารก่อการระคายเคืองต่างๆจากปัสสาวะ (เช่น ความเป็น กรด หรือ ด่าง), จึงเกิดเป็นผื่นผิวหนังอักเสบใต้บริเวณผ้าอ้อม จึงได้ชื่อว่า ‘โรคผื่นผ้าอ้อม’
อะไรเป็นสาเหตุให้เกิดผื่นผ้าอ้อม?
สาเหตุของผื่นผ้าอ้อม: ทั่วไป เช่น
- ความอับ เปียกชื้น จาก เหงื่อ อุจจาระ ปัสสาวะ
- ผิวหนังถลอกจากการเสียดสีกับผ้าอ้อม
- ผิวหนังสัมผัสกับ อุจจาระ ปัสสาวะ เป็นเวลานาน
- ผิวหนังสัมผัสผลิตภัณฑ์ซักผ้าอ้อมที่ตกค้างในผ้าอ้อม ที่อาจก่อการระคายเคืองต่อผิวหนังได้
- แพ้สารในผลิตภัณฑ์ผ้าอ้อมชนิดนั้นๆ
อะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดผื่นผ้าอ้อม?
ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดผื่นผ้าอ้อม คือ เด็ก/ผู้ป่วยที่มีประวัติเป็นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic dermatitis เช่น โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังในเด็ก) จะมีโอกาสเป็นมากขึ้น, รวมถึงการที่เด็ก/ผู้ป่วยมีอาการท้องเสีย อาจเพิ่มโอกาสการเป็นผื่นผ้าอ้อมได้
ผื่นผ้าอ้อมมีอาการอย่างไร?
อาการของผื่นผ้าอ้อม:
- เริ่มจากเป็นผื่นแดงนูนบริเวณที่มีการกดทับหรือเสียดสีกับผ้าอ้อมก่อน เช่น อวัยวะเพศ ก้น ต้นขาด้านใน ท้องน้อย
- ต่อมาผื่นจะแดงกว้างขึ้น เป็นรอยถลอก มีสะเก็ด
- หากเป็นรุนแรงขึ้นอาจมี ตุ่มน้ำ ตุ่มหนอง ผื่นแดงจัด คล้ายผิวถูกน้ำร้อนลวกบริเวณใต้ผ้าอ้อม ทำให้ทารก/ผู้ป่วยรู้สึก แสบ คัน ไม่สบายตัว
เมื่อไรควรพบแพทย์?
ควรไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเมื่อ ผื่นบริเวณผ้าอ้อมลุกลามขึ้น เพื่อแพทย์วินิจฉัยแยกโรคออกจากผื่นบริเวณผ้าอ้อมชนิดอื่นๆ เช่น จาก โรคเซบเดิร์ม, โรคเชื้อรา, หรือ ผิวหนังติดเชื้อแบคทีเรีย
แพทย์วินิจฉัยผื่นผ้าอ้อมได้อย่างไร?
โดยทั่วไป แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคนี้ได้จาก
- สอบถามประวัติอาการ (จากมารดาถ้าผู้ป่วยเป็นเด็ก)
- การตรวจร่างกาย และการตรวจลักษณะผื่น
- กรณีที่แยกได้ยากจากการติดเชื้อ อาจต้องทำการส่งตรวจ เชื้อรา และ/หรือ เชื้อแบคทีเรีย
รักษาผื่นผ้าอ้อมอย่างไร?
แนวทางการรักษาผื่นผ้าอ้อม: ทั่วไป เช่น
ถ้ามีการอักเสบมาก อาจต้องใช้ยาสเตียรอยด์ เช่น คอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid) ชนิดอ่อนๆทาบริเวณอักเสบในระยะเวลาสั้นๆ (เช่น ไม่เกิน 1 สัปดาห์) เพื่อลดการอักเสบของผื่น
หลังทำความสะอาดผิวหนังบริเวณผ้าอ้อมทุกครั้ง ให้ทาผิวบริเวณผ้าอ้อมด้วยครีม/ขี้ผึ้ง เช่น ขี้ผึ้ง Petrolatum jelly (วาสลีน) หรือ ครีม หรือขี้ผึ้ง ที่มีส่วนประกอบของ Zinc oxide เพื่อเคลือบผิว ลดการระคายเคือง
การพยากรณ์โรคของผื่นผ้าอ้อมเป็นอย่างไร?
ผื่นผ้าอ้อมมีการพยากรณ์โรคที่ดีมาก อาการต่างๆจะดีขึ้นและหายได้ เมื่อกำจัดปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้เกิดความอับชื้น
ผื่นผ้าอ้อมก่อผลข้างเคียงอย่างไร?
ผลข้างเคียงจากผื่นผ้าอ้อม คือ สามารถก่อให้เกิดการติดเชื้อรา และ/หรือ แบคทีเรีย แทรกซ้อนได้ ซึ่งโดยทั่วไป ผื่นผ้าอ้อมไม่ใช่โรคติดต่อ แต่ถ้ามีการติดเชื้อรา หรือติดเชื้อแบคทีเรีย, เชื้อดังกล่าวอาจแพร่ไปยังผิวหนังส่วนอื่นของร่างกายผู้ป่วย ก่อให้เกิดผิวหนังอักเสบติดเชื้อ เช่นที่ ขา มือ ลำตัว หรือเชื้อติดต่อไปยังผิวหนังบุคคลอื่นที่สัมผัสกับผื่นผ้าอ้อมที่ติดเชื้อได้
เมื่อไหร่ควรพบแพทย์ก่อนนัด?
หลังการพบแพทย์เพื่อรักษาผื่นผ้าอ้อม หากผื่นยังลุกลามมากขึ้น ควรกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัด
ดูแลและป้องกันผื่นผ้าอ้อมอย่างไร?
การดูแลเมื่อเป็นผื่นผ้าอ้อม เช่นเดียวกับการป้องกัน: ทั่วไปได้แก่
- หมั่นเปลี่ยนผ้าอ้อมบ่อยๆ, อย่าให้ผิวหนังอับชื้น, ดูแลผิวใต้ผ้าอ้อมให้แห้งเสมอ, อย่าใส่ผ้าอ้อมแน่นจนเกินไป
- ถ้ายังเป็นซ้ำ อาจต้องลองเปลี่ยนยี่ห้อผ้าอ้อม
- เลือกผ้าอ้อมชนิดที่ระบายอากาศได้ดี
- ไม่ควรใส่ผ้าอ้อมตลอดเวลา ควรมีช่วงเวลาพักการใส่ผ้าอ้อม ให้ผิวได้ลดความอับชื้น
- ควรทำความสะอาดผิวทุกครั้งหลัง อุจจาระ ปัสสาวะ ไม่ปล่อยทิ้งไว้นาน เพราะความชื้น และเอนไซม์ใน อุจจาระ ปัสสาวะ จะทำให้เกิดการระคายเคืองผิว
- ซักผ้าอ้อมให้เกลี้ยง อย่าให้ผลิตภัณฑ์ซักผ้าอ้อมตกค้าง ที่รวมถึงน้ำยาปรับผ้านุ่ม
- เลือกผลิตภัณฑ์ซักผ้าอ้อมที่อ่อนโยนต่อผิว
- ใช้สบู่และแป้งที่อ่อนโยนต่อผิวใต้ผ้าอ้อม
บรรณานุกรรม
- อมรศรี ชุณหรัศมิ์ , วาณี วิสุทธิ์เสรีวงศ์, ศรีศุภลักษณ์ สิงคาลวณิช.คู่มือโรคผิวหนังเด็ก.พิมพ์ครั้งที่ 2. บริษัท บียอนเอ็นเตอร์ไพรซ จำกัด
- http://emedicine.medscape.com/article/911985-overview [2022,Nov26]
- https://www.healthdirect.gov.au/nappy-rash [2022,Nov26]