ผดร้อน (Heat rash)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ผดร้อน หรือ ผด (Heat rash หรือ Prickly heat หรือ Pricky heat rash หรือ Miliaria หรือ Sweat rash) คือโรคที่เกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของต่อมเหงื่อเมื่ออยู่ในภาวะร้อนชื่น เกิดเป็นกลุ่มของตุ่มน้ำเล็กๆที่ผิวหนัง ลักษณะแตกต่างกันไปตามระดับความลึกของท่อต่อมเหงื่อที่อุดตัน

ผดร้อนพบได้ในทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะในผู้ที่อาศัยอยู่กับสภาพอากาศร้อนชื้น พบได้บ่อยในเด็กทารกแรกเกิดอายุไม่เกินหนึ่งเดือน ที่มีการพัฒนาของต่อมเหงื่อไม่สมบูรณ์นัก มีการเก็บข้อมูลในทารกประเทศญี่ปุ่นว่า พบผดร้อนได้ถึง 4% ของทารกอายุก่อน 2 สัปดาห์

ผดร้อนมีกลไกการเกิดอย่างไร?

ผดร้อน

กลไกการเกิดผดร้อน คือ ต่อมเหงื่อที่ฝังอยู่ในผิวหนังชั้นหนังแท้ ที่ทำหน้าที่ผลิตเหงื่อส่งมาตามท่อเปิดออกผ่านผิวหนังชั้นนอกเพื่อระบายความร้อน หากท่อส่งเหงื่ออุดตัน ก็จะเกิดการรั่วของเหงื่อสะสมในชั้นผิวหนังระดับที่มีรอยรั่ว เกิดเป็นตุ่มน้ำที่เรียกว่า Miliaria (ผด หรือ ผดร้อน) โดย Miliaria แบ่งได้เป็น 3 ประเภทตามความลึกของการอุดตันของต่อมเหงื่อ

  • Miliaria crystalina: การอุดตันเกิดที่ผิวหนังชั้นนอกสุด พบได้บ่อยในเด็กทารก
  • Miliaria rubra: มีการอุดตันที่ระดับผิวหนังชั้นนอก แต่เป็นชั้นที่อยู่ลึกกว่าชั้นที่เกิด Miliaria crystalina
  • Miliaria profunda: การอุดตันเกิดในชั้นหนังแท้ พบได้ไม่บ่อยนัก

ผดร้อนมีสาเหตุจากอะไร?

สาเหตุเกิดผดร้อน คือ

  • ต่อมเหงื่อพัฒนาไม่สมบูรณ์ (พบในเด็กทารก)
  • การอุดตันของต่อมเหงื่อจากการปิดพลาสเตอร์ หรือ เสื้อผ้า
  • สภาพภูมิอากาศร้อนชื้น โดยเฉพาะผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่อากาศเย็นสู่สภาพอากาศร้อนชื้น
  • อาการออกกำลังที่ทำให้เกิดเหงื่อ
  • แสงแดด

อะไรคือปัจจัยเสี่ยงให้เกิดผดร้อน?

ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดผดร้อน สอดคล้องกับสาเหตุการเกิดคือ

  • สภาพอากาศร้อนชื้น
  • ผู้ที่ต้องปรับตัวกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง เช่น นักท่องเที่ยวที่เดินทางจากอากาศหนาวมาสู่อากาศร้อนชื้นแถบศูนย์สูตร
  • ผู้ที่ออกกำลังกายในภาวะอากาศร้อนชื้น หรือกลางแจ้ง และ/หรือ
  • ผู้ที่ใส่เสื้อผ้ารัดและเสียดสี

ผดร้อนมีอาการอย่างไร ?

อาการจากผดร้อน ได้แก่

  • Miliaria crystalina : เนื่องจากเกิดการอุดตันในผิวหนังชั้นตื้นที่สุด เหงื่อที่รั่วออกมาจากท่อเหงื่อจึงสะสมอยู่ใต้ผิวหนังชั้นตื้นที่ปกคลุมด้วยผิวหนังบางๆ จึงเห็นเป็นกลุ่มของตุ่มน้ำใสขนาด 1-2 มิลลิเมตร ตุ่มไม่มีอาการเจ็บหรือคัน แตกเป็นสะเก็ดได้ง่าย ในเด็กทารกพบได้ทั่วตัว ในผู้ ใหญ่มักพบบริเวณลำตัว มักเกิดตามหลังจากสัมผัสอากาศร้อนไม่กี่วัน
  • Miliaria rubra: เนื่องจากผดชนิดนี้ เกิดจากการอุดตันท่อต่อมเหงื่อในผิวหนังชั้นนอกที่ลึกลงมา เหงื่อจึงออกมาสะสมอยู่ในผิวหนังชั้นนอก เกิดการอักเสบร่วมด้วย จึงมีอาการเป็นตุ่มน้ำบนพื้นแดง มีอาการแสบหรือคัน มักพบบริเวณผิวหนังที่มีการเสียดสี เช่น อก คอ หลัง ข้อพับ
  • Miliaria profunda: เนื่องจากการรั่วของต่อมเหงื่ออยู่ในชั้นลึกคือชั้นหนังแท้ จึงพบเป็นตุ่มสีเนื้อ ไม่มีอาการ ขนาด 1-3 มิลลิเมตร พบในเวลาไม่กี่ชั่วโมงหลังสัมผัสความร้อน

เมื่อไรควรไปพบแพทย์?

เมื่อมีผดผื่นขึ้น สามารถปรึกษาแพทย์ผิวหนังเพื่อรับการวินิจฉัยและคำแนะนำในการปฏิบัติตัวได้ เมื่อดูแลตนเองแล้วผดยังขึ้นมาก หรือก่ออาการคันมาก หรือเมื่อกังวลไม่แน่ใจว่าเป็นผื่นสา เหตุอะไร

แพทย์วินิจฉัยผดร้อนได้อย่างไร?

โดยทั่วไป แพทย์สามารถวินิจฉัยผดร้อนได้จาก การสอบถามประวัติ การตรวจร่างกาย และการตรวจรอยโรค และอาจต้องตรวจเพิ่มเติมทางห้องปฏิบัติการ กรณีที่สงสัยว่า มีการติดเชื้อแบค ทีเรียแทรกซ้อน มีไข้ หรือเมื่อ วินิจฉัยแยกโรคจากผื่นอื่นๆได้ไม่ชัดเจน

รักษาผดร้อนอย่างไร?

วิธีรักษาผดร้อน คือ

  • กำจัดปัจจัยที่ทำให้เกิดการอุดตันของต่อมเหงื่อ เช่น พลาสเตอร์ที่ปิดทับผิวหนัง เสื้อผ้าที่เสียดสีรัดรูป เลี่ยงอากาศร้อน การออกกำลังกลางแจ้งที่ทำให้เกิดเหงื่อ พยายามอยู่ในที่อากาศเย็นไม่ร้อนอบอ้าว อาบน้ำ ประคบผ้าเย็นเพื่อลดความร้อน
  • รักษาผดตามอาการ เช่น ถ้ามีอาการคัน รับประทานยาแก้แพ้ ทาน้ำยาคาลามาย โลชั่น(Calamine lotion) ทายาฆ่าเชื้อถ้ามีการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อนที่ไม่รุนแรง

ผดร้อนมีการพยากรณ์โรคเป็นอย่างไร?

ผดร้อน เป็นภาวะไม่ก่ออันตราย และหายได้เอง หลังพ้นจากสภาพอากาศร้อนชื้น ผดร้อนจะหายไปเองในเวลา 2-3 สัปดาห์ถึง 1-2 เดือนโดยประมาณ

ผดร้อนก่อผลข้างเคียงอย่างไร?

ผลข้างเคียงที่อาจเกิดได้จากผดร้อน คือ

  • การติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนที่ตุ่มน้ำกลายเป็นตุ่มหนอง
  • ท่อเหงื่อถูกทำลาย ทำให้ไม่สามารถขับเหงื่อมาที่ผิวตามปกติ (Anhidrosis) ได้ ซึ่งใช้เวลา 2 สัปดาห์โดยประมาณ เพื่อสร้างท่อเหงื่อให้กลับมาทำงานใหม่ตามปกติ

ดูแลตนเองอย่างไร?

การดูแลตนเองเมื่อเกิดผดร้อน คือ

  • เลี่ยงอากาศร้อนชื้น
  • อาบน้ำลดความร้อน
  • ดูแลบริเวณที่เป็นรอยซ้อนย่น/เสียดสีของผิวหนัง ให้แห้งและสะอาดเสมอ เช่น ใต้ราวนม และบริเวณข้อพับต่างๆ
  • ประคบผดด้วยผ้าเย็น
  • ทาน้ำยาคารามายบริเวณผด เพื่อบรรเทาอาการแสบ คัน
  • ตัดเล็บให้สั้น และ ไม่ถู แกะเกา ผด ซึ่งจะทำให้เกิดการอักเสบติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำ ซ้อนได้
  • สวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี (เช่น ผ้าฝ้าย 100%) และหลวมสบาย

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์ก่อนนัด?

หลังการรักษาผดร้อน หากผื่นมีมากขึ้น หรือมีการเปลี่ยนแปลงเป็นหนอง มีไข้ ควรมาพบแพทย์ก่อนนัด

ป้องกันผดร้อนได้อย่างไร?

การป้องกันผดร้อน เช่นเดียวกับที่ได้กล่าวในหัวข้อ การดูแลตนเอง เช่น

  • เลี่ยงสภาพอากาศร้อนชื้น
  • ไม่ออกกำลังกลางแจ้ง หรือ ออกกำลังกายที่มีเหงื่อออกมากในฤดูร้อน
  • สวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี เช่น ผ้าฝ้าย 100% และหลวมสบาย
  • อาบน้ำบ่อยๆเมื่อเหงื่อออกมาก

บรรณานุกรรม

  1. ปรียา กุลละวณิชย์, ประวิตร พิศาลบุตร . Dermatology 2020.พิมพ์ครั้งที่ 1.บริษัท โฮลิสติก พับลิชิ่ง จำกัด
  2. Lowell A.Goldsmith,Stephen I.Katz,BarbaraA.Gilchrest,Amy S.Paller,David J.Leffell,Klaus Wolff.Fitzpatrick Dermatology in general medicine .eight edition.McGraw hill
  3. Dermatologic manifestration of miliaria : http://emedicine.medscape.com/article/1070840-overview [2014,March31].