ผื่นผิวหนังอักเสบชนิดตุ่มน้ำใส (Dyshidrosis or Dyshidrotic eczema or Pompholyx)
- โดย รศ.พญ.เปรมจิต จันทองจีน
- 7 มีนาคม 2557
- Tweet
- บทนำ
- ผื่นผิวหนังอักเสบชนิดตุ่มน้ำใสมีสาเหตุจากอะไร?
- อะไรเป็นปัจจัยกระตุ้นให้ผื่นผิวหนังอักเสบชนิดตุ่มน้ำใสกำเริบ?
- ใครเป็นกลุ่มเสี่ยงเกิดผื่นผิวหนังอักเสบชนิดตุ่มน้ำใส?
- ผื่นผิวหนังอักเสบชนิดตุ่มน้ำใสมีอาการอย่างไร?
- ผื่นผิวหนังอักเสบชนิดตุ่มน้ำใสติดต่อหรือไม่?
- ควรพบแพทย์เมื่อไร?
- วินิจฉัยผื่นผิวหนังอักเสบชนิดตุ่มน้ำใสอย่างไร?
- รักษาผื่นผิวหนังอักเสบชนิดตุ่มน้ำใสอย่างไร?
- ภาวะแทรกซ้อนจากผื่นผิวหนังอักเสบชนิดตุ่มน้ำใสมีอะไรบ้าง?
- ผื่นผิวหนังอักเสบชนิดตุ่มน้ำใสมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อเป็นโรคผื่นผิวหนังอักเสบชนิดตุ่มน้ำใส?
- เมื่อไหร่ควรพบแพทย์ก่อนนัด?
- ป้องกันผื่นผิวหนังอักเสบชนิดตุ่มน้ำใสอย่างไร?
- บรรณานุกรม
- โรคภูมิแพ้ (Allergy)
- โรคผื่นแพ้สัมผัสในเด็ก (Childhood contact dermatitis)
- โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังในเด็ก (Atopic dermatitis)
- โรคผิวหนัง (Skin disorder)
- โรคภูมิแพ้หูคอจมูก (ENT and Allergy)
บทนำ
ผื่นผิวหนังอักเสบชนิดตุ่มน้ำใส (Dyshidrosis or Dyshidrotic eczema or Pompholyx ) เป็นผื่นผิวหนังที่พบได้บ่อย มีรายงานการพบได้ 1 รายในประชากร 5,000 คน โดยพบอุบัติ การณ์เท่าๆกันทั้งเพศชายและเพศหญิง มักพบในวัยรุ่น วัยกลางคน และส่วนใหญ่มีอาการดีขึ้นเมื่ออายุมากขึ้นได้
ผื่นผิวหนังอักเสบชนิดตุ่มน้ำใสมีสาเหตุจากอะไร?
ผื่นผิวหนังอักเสบชนิดตุ่มน้ำใส ส่วนใหญ่มักไม่ทราบสาเหตุ แต่จากการศึกษา เชื่อว่าอาจเกิดจากการตอบสนองต่อผื่นแพ้สัมผัส (Allergic contact dermatitis) บางชนิดได้ เช่น ผื่นแพ้สัมผัสจากสารนิกเกิล (Nickel, โลหะที่ใช้เป็นส่วนประกอบของเครื่องใช้ประจำวันหลายชนิด เช่น โทรศัพท์มือถือ เครื่องประดับ และเหรียญต่างๆ) หรือ แพ้ไรฝุ่น เป็นต้น
อะไรเป็นปัจจัยกระตุ้นให้ผื่นผิวหนังอักเสบชนิดตุ่มน้ำใสกำเริบ?
มีการศึกษาพบว่า ภาวะเครียด อดนอน เจ็บป่วย การมีเหงื่อออกมาก ความร้อน การล้างมือบ่อยๆ สามารถกระตุ้นให้ผื่นกำเริบ หรือเกิดเป็นซ้ำได้
ใครเป็นกลุ่มเสี่ยงเกิดผื่นผิวหนังอักเสบชนิดตุ่มน้ำใส?
มักพบผื่นผิวหนังอักเสบชนิดตุ่มน้ำใสนี้ ในผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้ของผิวหนัง และในผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้ทั่วไป
ผื่นผิวหนังอักเสบชนิดตุ่มน้ำใสมีอาการอย่างไร?
ผื่นผิวหนังอักเสบชนิดตุ่มน้ำใส มักมีลักษณะเป็นตุ่มน้ำใสขนาดเล็ก 1-3 มิลลิเมตร ในบางกรณี อาจรวมตัวกันเป็นตุ่มน้ำพองขนาดใหญ่ได้ มักเรียงตัวเป็นแนวตามด้านข้างหรือปลายนิ้วมือ นิ้วเท้า ด้านข้างฝ่ามือ ฝ่าเท้า หรือที่บริเวณฝ่ามือฝ่าเท้า ก็ได้ มักเป็นๆหายๆ และมีอา การคันมาก บางครั้งอาจพบผิวหนังแตก (Fissure) แห้ง หนา จากการเกาที่เรียกว่า Lichenifica tion, รอยเกา (Excoriation), และอาจพบการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อน (Secondary bacterial infection) อันเนื่องมาจากการเกาผื่น/ผิวหนังอย่างมากได้
ผื่นผิวหนังอักเสบชนิดตุ่มน้ำใสติดต่อหรือไม่?
ผื่นผิวหนังอักเสบชนิดตุ่มน้ำใสนี้ ไม่ใช่โรคติดต่อ เป็นโรคผื่นผิวหนังอักเสบเฉพาะบุค คล
ควรพบแพทย์เมื่อไร?
โดยทั่วไป ผื่นผิวหนังอักเสบชนิดตุ่มน้ำใสนี้หายได้เองใน 2-3 สัปดาห์ แต่ถ้าคันมากจนรบกวนคุณภาพชีวิต หรือเกามากจนเป็นแผล ซึ่งอาจมีการติดเชื้อซ้ำซ้อนร่วมด้วย ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษา
วินิจฉัยผื่นผิวหนังอักเสบชนิดตุ่มน้ำใสอย่างไร?
โดยทั่วไป แพทย์วินิจฉัยผื่นผิวหนังอักเสบชนิดตุ่มน้ำใสจาก การสอบถามประวัติอาการ ประวัติการแพ้ต่างๆ ประวัติโรคภูมิแพ้ ร่วมกับการตรวจร่างกาย และตรวจรอยโรคที่ผิวหนัง ก็จะสามารถวินิจฉัยโรคนี้ได้
แต่ในกรณีที่โรคเป็นๆหายๆ รักษายาก อาจพิจารณาทำการทดสอบผื่นแพ้สัมผัส (ทด สอบผิวหนังว่าแพ้สารใดบ้าง) ที่เรียกว่า Patch test ร่วมด้วย เพื่อหาว่า โรคมีความสัมพันธ์กับการสัมผัส/แพ้สารตัวใดร่วมด้วยหรือไม่
รักษาผื่นผิวหนังอักเสบชนิดตุ่มน้ำใสอย่างไร?
การรักษาผื่นผิวหนังอักเสบชนิดตุ่มน้ำใส ได้แก่
- การใช้ยาสเตียรอยด์ที่มีความแรงสูง เช่น Clobetasol cream หรือ Betamethasone diproprionate cream เป็นต้น ในบางกรณีอาจใช้ยากลุ่ม Immunomoderator เช่น 0.1% Tacrolimusointment เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้ยาสเตียรอยด์ได้
- ในกรณีที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนังซ้ำซ้อน อาจใช้ยาทาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย (ยาปฏิ ชีวนะ) หรือถ้ามีลักษณะการติดเชื้อมาก อาจพิจารณารับประทานยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย
- ลดอาการคันด้วยยาต้านฮิสตามีน (ยาแก้แพ้) หรือในบางกรณีที่มีอาการคันมาก ผื่นขึ้นเห่อมาก อาจพิจารณารับประทานยาเพรดนิโซโลน (Prednisolone) เป็นระยะเวลาสั้นๆได้
ภาวะแทรกซ้อนจากผื่นผิวหนังอักเสบชนิดตุ่มน้ำใสมีอะไรบ้าง?
ภาวะแทรกซ้อน/ผลข้างเคียง จากผื่นผิวหนังอักเสบชนิดตุ่มน้ำใส คือ อาการคัน และการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อนที่รอยโรค และ/หรือที่ผิวหนังที่เกาจนเกิดแผล
ผื่นผิวหนังอักเสบชนิดตุ่มน้ำใสมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
ผื่นผิวหนังอักเสบชนิดตุ่มน้ำใสนี้ สามารถหายเองได้ใน 2-3 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม อา การคันจะเป็นสิ่งที่รบกวนคุณภาพชีวิตมาก และจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน/ผลข้างเคียง ที่สำ คัญคือ การติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อน ซึ่งถ้าสามารถควบคุมการเกาได้ ก็จะทำให้ผื่นสงบและหายได้
ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อเป็นโรคผื่นผิวหนังอักเสบชนิดตุ่มน้ำใส?
การดูแลตนเองเมื่อเป็นผื่นผิวหนังอักเสบชนิดตุ่มน้ำใส ได้แก่
- สังเกต และหลีกเลี่ยงปัจจัยที่เป็นตัวกระตุ้นทั้งหลายที่ทำให้เกิดอาการ เช่น ความร้อน ความเครียด เหงื่อออกมาก การล้างมือบ่อย การสัมผัสสารระคายเคือง
- การให้ความชุ่มชื้นที่ผิวหนัง ด้วยการทา Moisturizer (โลชั่นให้ความชุ่มชื้นกับผิว) ที่มือเท้าบ่อยๆ และหลีกเลี่ยง การล้างมือ เท้า ที่ไม่จำเป็น และเมื่อล้างมือ เท้าแล้ว ควรรีบทา Moisturizer ทันที
- ไม่แนะนำให้เจาะหรือทำให้ตุ่มน้ำแตก เพราะจะเพิ่มโอกาสการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อนมากขึ้น
เมื่อไหร่ควรพบแพทย์ก่อนนัด?
เมื่อเคยพบแพทย์แล้ว ถ้าอาการคันยังไม่ลดลง ยังรบกวนคุณภาพชีวิตอยู่มาก หรือมี น้ำ เหลือง หนอง แผล ซึ่งบ่งบอกถึงการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อน ควรไปพบแพทย์/ไปโรงพยา บาลก่อนนัด เพื่อพิจารณาการได้ยาสเตียรอยด์ชนิดรับประทาน หรือยาฆ่าเชื้อ (ยาปฏิชีวนะ) ร่วมด้วย
ป้องกันผื่นผิวหนังอักเสบชนิดตุ่มน้ำใสอย่างไร?
ส่วนใหญ่ ผื่นผิวหนังอักเสบชนิดตุ่มน้ำใส ไม่สามารถป้องกันการเกิดได้เต็มร้อย เพราะยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่นอน แต่สามารถหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นให้โรคกำเริบ หรือให้เกิดเป็นซ้ำได้ เช่น ความเครียด การอดนอน การมีเหงื่อออกมาก เป็นต้น
บรรณานุกรม
- Jean L.Bolognia, Joseph L.Jorizzo, Julie V.Schaffer; Dermatology; third edition; Expert consult
- Klaus Wolff, Lowell A Goldsmith , Stephen I Katz , Barbara A Gilchrest Amy S. Paller, David J.Leffell ; Fitzpatrick's dermatology in general medicine ; eight edition ; McGrawhill medical
- Dyshidrosis http://en.wikipedia.org/wiki/Dyshidrosis [2014,Feb14].