ปากแหว่งเพดานโหว่ (Cleft lip and cleft palate)
- โดย ร.ศ. ดร. เบญจมาศ พระธานี
- 24 กันยายน 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือโรคอะไร?
- อุบัติการณ์ของการเกิดภาวะปากแหว่งเพดานโหว่
- ภาวะปากแหว่งเพดานโหว่เกิดร่วมกับภาวะใดได้บ้าง?
- ภาวะปากแหว่งเพดานโหว่มีสาเหตุจากอะไร?
- ภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ก่อปัญหาอะไรบ้าง?
- รักษาภาวะปากแหว่งเพดานโหว่อย่างไร?
- ป้องกันภาวะปากแหว่งเพดานโหว่อย่างไร?
- เมื่อเด็กยังไม่ได้ผ่าตัด จะดูแลเด็กปากแหว่งเพดานโหว่อย่างไร?
- ในคนโตแล้วที่ยังไม่ได้ผ่าตัดจะดูแลตนเองอย่างไร?
- เด็กปากแหว่งเพดานโหว่ควรผ่าตัดตอนอายุเท่าไร?
- ผู้ใหญ่ที่ปากแหว่งเพดานโหว่ควรผ่าตัดหรือไม่? เมื่อไร?
- การผ่าตัดมีผลข้างเคียงไหม? อยู่โรงพยาบาลนานประมาณกี่วัน?
- การผ่าตัดได้ผลอย่างไรบ้าง?
- หลังผ่าตัดมีชีวิตปกติไหม? ต้องดูแลเด็กหรือดูแลตนเองอย่างไร?
- สรุป
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- โรคหูคอจมูก โรคทางหูคอจมูก โรคระบบหูคอจมูก (ENT disease)
- การตรวจทางหูคอจมูก การตรวจทางอีเอ็นที (Clinical examination of Ear Nose Throat or Clinical ENT examination)
- เด็ก: โรคเด็ก (Childhood: Childhood diseases)
- พูดลำบาก ปัญหาในการพูด (Difficulty with speech)
- หูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง หูน้ำหนวก (Chronic otitis media)
- ภาวะขาดโฟเลท (Folate deficiency) หรือ ภาวะขาดกรดโฟลิก (Folic acid deficiency)
- ท่อยูสเตเชียน (Eustachian tube)
บทนำ: คือโรคอะไร?
ภาวะหรือโรคปากแหว่งเพดานโหว่ (Cleft lip and cleft palate) คือโรคความพิการแต่กำเนิดของศีรษะและใบหน้า เป็นความพิการแต่กำเนิดที่พบบ่อยอย่างหนึ่งของเด็ก และมักเป็นภาวะที่มีความบกพร่องหลายอย่างร่วมกัน เช่น
- โครงสร้างของปากและใบหน้าผิดปกติ
- ปัญหาในการดูดกลืนอาหาร
- มีพัฒนาการและการเจริญเติบโตช้า
- ปัญหาในการพูดได้แก่ พูดไม่ชัด เสียงขึ้นจมูก เสียงแหบพูดฟังไม่รู้เรื่อง หูน้ำหนวก
- และการสบกันของฟันผิดปกติ
ทั้งนี้ปัญหาเหล่านี้มีผลกระทบต่อตัวเด็กเอง ต่อบิดามารดาและผู้ปกครองทั้งในด้านร่างกายจิตใจ การอยู่ร่วมกันในสังคม รวมทั้งการสูญเสียทางเศรษฐกิจทั้งของครอบครัวและของชาติ เนื่องจากเด็กต้องการดูแลรักษาซับซ้อนหลายอย่าง และต้องใช้ระยะเวลายาวนานในการรักษาและฟื้นฟูเริ่มตั้งแต่แรกเกิดไปจนถึงอย่างน้อยอายุ 21 ปี
อุบัติการณ์ของการเกิดภาวะปากแหว่งเพดานโหว่
อุบัติการณ์/อัตราเกิดภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ต่างกันในแต่ละประเทศ ในปีค.ศ. 2003 มีการศึกษารายงานทั่วโลกมีอัตราเกิดประมาณ 1 รายต่อทารกแรกเกิด 1,000 คน
ประเทศไทย มีการศึกษาทั่วประเทศในช่วงปี ค.ศ. 2012-2015 รายงานพบภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ 2.14 รายต่อทารกแรกเกิด 1,000 คน
ทั้งนี้ ความแตกต่างของอุบัติการณ์ทั้งในและต่างประเทศมีช่วงค่อนข้างกว้าง ซึ่งขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ลักษณะเฉพาะของการศึกษา, ขนาดของกลุ่มตัวอย่าง, เชื้อชาติของประชากรที่ศึกษา, พื้นที่ที่ศึกษา, คำจำกัดความของชนิดของปากแหว่งเพดานโหว่, และ/หรือระบบการเก็บข้อมูล เป็นต้น
ภาวะปากแหว่งเพดานโหว่เกิดร่วมกับภาวะอะไรได้บ้าง?
ภาวะปากแหว่งเพดานโหว่เป็นความพิการที่อาจเกิดร่วมกับภาวะผิดปกติอื่นๆของศีรษะและใบหน้าได้ (Craniofacial anomaly) เช่น ภาวะเอ็นใต้ลิ้นสั้น, ภาวะกะโหลกศีรษะปิดเร็วกว่าปกติ และภาวะการแหว่งของใบหน้า เป็นต้น
อนึ่ง: ภาวะปากแหว่งเพดานโหว่เป็นโรคทางกรรมพันธุ์ชนิดหนึ่งที่มีโอกาสเกิดซ้ำได้ในลูกคนต่อไปสูงประมาณ 3 - 15% ขึ้นอยู่กับชนิดของปากแหว่งเพดานโหว่ และถ้ามีเพดานโหว่ โอกาสลูกคนต่อไปจะมีเพดานโหว่จะสูงกว่าเด็ก(นิยามคำว่าเด็ก)ทั่วไป และเพศของผู้ที่เกิดความพิการนี้, ถ้าเด็กที่เกิดใหม่เป็นผู้ชาย โอกาสที่จะเกิดเพดานโหว่จะสูงกว่าเด็กที่เกิดเป็นเพศหญิง
ภาวะปากแหว่งเพดานโหว่มีสาเหตุจากอะไร?
สาเหตุของภาวะปากแหว่งเพดานโหว่นั้นแม้ว่าไม่สามารถสรุปได้ชัดเจน แต่พบว่ามีอัตราสูงจากปัจจัยจากภายในและปัจจัยจากภายนอกหรือสิ่งแวดล้อม เช่น
ก. ปัจจัยจากภายใน: เช่น กรรมพันธุ์ ซึ่งพบว่าภาวะนี้มีความเกี่ยวข้องกับพันธุศาสตร์ได้ประมาณ 12 - 20% ของผู้ป่วยทั้งหมด
ข. ปัจจัยจากภายนอกหรือปัจจัยจากสิ่งแวดล้อม: เชื่อว่าปัจจัยภายนอกที่เกี่ยวข้องกับภาวะ ปากแหว่งเพดานโหว่เป็นไปได้สูงถึงประมาณ 80 - 88% ของผู้ป่วย โดยปัจจัยภายนอกที่เชื่อว่าเกี่ยวข้องกับภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ เช่น
- การเจ็บป่วยของมารดาขณะตั้งครรภ์
- ภาวะขาดสารอาหารของมารดาในระหว่างตั้งครรภ์
- มารดาสูบบุหรี่จัด
- มารดาได้รับยาและ/หรือสารบางชนิดต่อเนื่อง เช่น ยากันชัก (เช่น ฟีไนโตอิน/Phenytoin), ไดแลนติน/Dilantin), ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid), สารพิษ, สารเคมี, การสูบบุหรี่, การดื่มแอลกอฮอล์, และ/หรือ ภาวะขาดโฟเลทในมารดาระหว่างตั้งครรภ์
ภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ก่อปัญหาอะไรบ้าง?
ดังได้กล่าวข้างต้นแล้วว่า เด็กปากแหว่งเพดานโหว่มีปัญหาในการดำรงชีวิตที่ซับซ้อนหลายอย่างซึ่งสรุปได้พอสังเขปดังนี้
ก. ปัญหาการดูดกลืนอาหาร และการไหลย้อนของนมขึ้นไปในจมูกโดยผ่านช่องเพดานโหว่ขึ้นไปในช่องจมูกทำให้ระคายเคืองจมูก หากให้ทารกดูดนมผสมจะเพิ่มการระคายเคือง มากกว่านมแม่ ทำให้ทารกกระสับกระส่าย ร้องไห้ กวนบ่อย และไม่อยากดูดนม
ในทารกปากแหว่งเพดานโหว่ที่ไม่สามารถดูดนมแม่ได้เพราะทำให้เกิดสุญญากาศในปากไม่ได้ การดูดนมขวดจะต้องทำจุกรูนมให้ใหญ่เพื่อทำให้น้ำนมไหลอย่างรวดเร็ว ทารกจะได้ไม่เหนื่อย แต่ทารกไม่สามารถควบคุมการไหลของน้ำนมได้จึงต้องกลืนติดกันถี่ๆ ทำให้หายใจไม่ทันเกิดสำลักนมเข้าหลอดลม/เข้าปอดส่งผลให้เกิดภาวะอาการเขียวคล้ำจากการขาดอากาศ
เด็กปากแหว่งเพดานโหว่มีความลำบากในการดูดกลืนอาหารเนื่องจากไม่สามารถทำให้เกิด สุญญากาศในปากเพื่อดูดกลืนนมได้อย่างปกติ โดยจะใช้เวลาในการดูดนมนานทำให้เหนื่อยจากต้องสูญเสียพลังงานมาก มีการกลืนลมเข้าไปมากขณะดูดและกลืนเนื่องจากริมฝีปากปิดไม่สนิทโดยเฉพาะถ้าดูดจากจุกนมยาง ทำให้มีลมผ่านช่องว่างระหว่างริมฝีปากและหัวนมลงสู่กระเพาะอาหารมาก เป็นสาเหตุให้ทารกแน่นอึดอัดไม่สบายท้อง อิ่มนมเร็ว สำรอกและอาเจียนนมบ่อยจากลมในกระเพาะอาหารและลำไส้ที่ดันขึ้นมา
ข. ปัญหาการเจริญเติบโตช้า: เนื่องจากเด็กปากแหว่งเพดานโหว่มีความลำบากในการดูดกลืนอาหารดังกล่าวใน ‘ข้อ ก.’ จึงส่งผลให้เด็กมีการเจริญเติบโตและพัฒนาการด้านต่างๆช้าได้
ค. ปัญหาทางเดินหายใจ: ดังกล่าวข้างต้นแล้วว่าเด็กปากแหว่งเพดานโหว่มีปัญหาดูดนมและการสำลักง่าย จึงเสี่ยงต่อการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ นอกจากนั้นเด็กเหล่านี้มักมีความผิดปกติของโครงสร้างกระดูกของจมูกและของเพดานปาก จึงอาจทำให้ทางเดินหายใจบางส่วนอุดตันจึงเกิดภาวะหายใจไม่สะดวกได้
ง. ปัญหาการได้ยิน: การสำลักบ่อยๆจากการดูดกลืนลำบากจะทำให้มีการไหลย้อนของของเหลว ผ่านท่อปรับความดันของหูชั้นกลางที่เชื่อมระหว่างคอหอยและหูชั้นกลางที่เรียกว่า ท่อยูสเตเชียน (Eustachian tube) ซึ่งท่อนี้ในเด็กจะมีความลาดชันน้อยกว่าในผู้ใหญ่ ของเหลวในช่องปากจึงไหลเข้าไปในหูชั้นกลางได้ง่ายทำให้เกิดหูน้ำหนวก (หูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง, หูน้ำหนวก) ได้ง่ายกว่าเด็กปกติ จึงมีปัญหาทางการได้ยินตามมา ซึ่งถ้าปล่อยทิ้งไว้นานๆโดยไม่ได้รับการรักษา อาจกลายเป็นการสูญเสียการได้ยินจากประสาทหูเสื่อม ซึ่งพบเกิดได้ทุกช่วงอายุของบุคคลปากแหว่งเพดานโหว่ เพราะการรักษาโดยการเย็บซ่อมเพดานอาจยังทำให้โครงสร้างส่วนนี้ไม่สมบูรณ์เช่นคนปกติทุกราย ซึ่งการสูญเสียการได้ยินนี้จะมีผลต่อการพัฒนาภาษาและต่อการพูดโดยตรง
จ. ปัญหาทางภาษาและการพูด: เด็กปากแหว่งเพดานโหว่มักเริ่มพูดคำแรกที่มีความหมายช้ากว่าปกติ และมีการพัฒนาภาษาช้ากว่าวัย โดยมีความจำกัดในด้านการใช้คำศัพท์ ,ความยาวของประโยค, ความสามารถทางจิตวิทยาภาษา, และความยาวของประโยคที่ใช้ในการพูดสั้นกว่าคนปกติ, เพราะเด็กเหล่านี้มีปัญหาทางการได้ยิน ขาดการกระตุ้นทางภาษาเท่าที่ควร และเพราะเด็กพูดไม่ชัด คนฟังไม่ค่อยเข้าใจจึงมักมีปฏิกิริยาไม่ดีจากผู้ฟัง ทำให้เด็กไม่อยากพูดและเด็กมักมีความตั้งใจที่จะพูดสื่อความหมายกับผู้อื่นน้อยกว่าปกติ
ฉ. ปัญหาการพูดไม่ชัด: เสียงขึ้นจมูก เสียงแหบ พูดแล้วฟังไม่ค่อยรู้เรื่อง ความบกพร่องของการ ทำงานของเพดานอ่อนและผนังคอหอย ยังทำให้เด็กปากแหว่งเพดานโหว่พูดมีเสียงขึ้นจมูก ลมรั่วทางจมูก และพูดเบาเพราะขาดแรงดันลมในปาก และเนื่องจากพลังงานของเสียงส่วนหนึ่งสูญเสียออกทางจมูกทำให้เด็กต้องชดเชยโดยการพยายามตะเบ็งเสียงพูดให้ดังขึ้น ส่งผลให้มีการบาดเจ็บของสายเสียง สายเสียงบวมและมีเลือดออก และเกิดปุ่มนูนที่สายเสียงทำให้พูดเสียงแหบ
เมื่อพูดไม่ชัด เสียงขึ้นจมูกมาก เสียงแหบ จึงทำให้การพูดโดยรวมฟังไม่ค่อยรู้เรื่องและคนฟังไม่เข้าใจการพูด เพราะการพูดได้รับอิทธิพลจากตัวแปรหลายอย่าง เช่น การแปรเสียง, การมีเสียงขึ้นจมูก, ลมรั่วทางจมูก, คุณภาพของเสียง, ส่วนประกอบของเสียงพูด, การเน้น สำเนียงการออกเสียง, อัตราการพูด, และเสียงวรรณยุกต์, เมื่อตัวแปรต่างๆที่ผิดปกติเหล่านี้มาประกอบกันจะส่งผลให้ภาษาพูดของบุคคลเพดานโหว่ยิ่งฟังไม่รู้เรื่องหรือฟังไม่เข้าใจมากขึ้น
เด็กปากแหว่งเพดานโหว่มักมีความผิดปกติของการสบกันของฟัน ฟันผิดปกติ ซึ่งมีผลทำให้ พูดไม่ชัดได้อีกทางหนึ่ง เช่น ฟันหน้าบนไม่มีทำให้พูดเป็นเสียง “ส ฟ” , ฟันขึ้นผิดตำแหน่งทำให้ขัดขวางการวางลิ้นจึงออกเสียง “ล ร ท น” ไม่ชัด, และการที่ฟันสบกันผิดปกติจากฟันล่างครอบฟันบน จึงทำให้เวลาพูดลิ้นจะยื่นเลยฟันหน้าบน เป็นต้น, เสียงพูดจึงผิดปกติได้อีกสาเหตุหนึ่ง
เด็กปากแหว่งเพดานโหว่บางรายยังมีความบกพร่องของการทำงานของเพดานอ่อนและของผนังคอหอย แม้จะได้รับการผ่าตัดซ่อมแซมเพดานแล้วก็ตาม เมื่อออกเสียงพูดเสียงจะขึ้นจมูกมากกว่าคนปกติโดยเกิดจากการชดเชยด้วยการพยายามใช้อวัยวะอื่นในช่องปากและลำคอช่วยเสริมการออกเสียงแทน ส่วนใหญ่จะใช้เสียง “ฮ ห อ”, หรือเสียงนาสิก (Nasal sounds) คือ “ม น ง” แทนเสียงพูดอื่นๆ เช่น พูดว่า “ฮี่ฮำฮาน” แทน “พี่ทำงาน”, พูดว่า “อ๊องไอโองเอียน” แทน “น้องไปโรง เรียน”, หรือพูดว่า “หม้องินน้ำไมมัวหมก” แทน “พ่อกินน้ำใบบัวบก” ฯลฯ
ช. ปัญหาฟันผิดปกติ: เด็กปากแหว่งเพดานโหว่มีความผิดปกติของโครงสร้างริมฝีปาก เพดาน และจมูก ทำให้มีความผิดปกติของโครงสร้างของฟันและการสบกันของฟันเช่น ฟันล่างครอบฟันบน ฟันบนและฟันล่างไม่สบกัน ฟันขาดหายไป ฟันขึ้นผิดที่และผิดตำแหน่ง ซึ่งทำให้พูดไม่ชัดดังกล่าวแล้วข้างต้น
ซ. ปัญหาอื่นๆ: เนื่องจากภาวะปากแหว่งเพดานโหว่เป็นความพิการที่เห็นชัดเจน จำเป็นต้องรักษา เป็นระยะเวลายาวนานและในหลายด้าน แม้ว่าจะได้รับการผ่าตัดซ่อมแซมโครงสร้างแล้วก็ตาม หากยังพูดไม่ชัดเสียงขึ้นจมูก เด็กจะมีปมด้อยในการเข้าสังคมเพราะหน้าตาและการพูดไม่ปกติ ซึ่งอาจทำให้เด็กมีพฤติกรรมถดถอย ไม่อยากไปโรงเรียน ก้าวร้าว อารมณ์ไม่ดี ฯลฯ นอกจากนั้นการรักษาที่ยาวนานและสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมาก อาจก่อให้เป็นปัญหาด้านจิตใจ เศรษฐกิจ และสังคมตามมา
รักษาภาวะปากแหว่งเพดานโหว่อย่างไร?
เนื่องจากเด็กปากแหว่งเพดานโหว่มีปัญหาต่างๆหลายด้านดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อ ปัญหา ของเด็ก การรักษาบำบัดจึงต้องอาศัยความร่วมมือจากทีมสหสาขาวิชาชีพ ได้แก่
- ศัลยแพทย์ตกแต่ง
- กุมารแพทย์
- นักแก้ไขการพูด
- พยาบาล
- ทันตแพทย์
- โสต ศอ นาสิกแพทย์
- นักโสตสัมผัสวิทยา
- นักพันธุศาสตร์
- วิสัญญีแพทย์
- จิตแพทย์
- รังสีแพทย์
- นักจิตวิทยา
- นักสังคมสงเคราะห์
- กุมารแพทย์
- ทันตแพทย์สำหรับเด็ก
- ทันตแพทย์ประดิษฐ์
- ผู้เชี่ยวชาญการวัดและประเมินโครงสร้างของใบหน้า
- พยาบาลประสานงานในทีม
การดูแลรักษาของทีมสหสาขาวิชาชีพจะเริ่มตั้งแต่ทราบว่าเด็กมีภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ จากวินิจฉัยขณะเด็กอยู่ในครรภ์หรือแรกคลอด โดยมีวัตถุประสงค์ในการรักษาเพื่อให้เด็กมีสุขภาพที่สมบูรณ์ทั้งด้านโครงสร้างและการทำงานของอวัยวะต่างๆ มีการเจริญเติบโต จิตใจ และสังคมที่ดี จึงขอสรุปแนวทางการรักษาแบบสหสาขาวิชาชีพดัง ตารางที่ 1
ตารางที่ 1: แนวทางการรักษาปากแหว่งเพดานโหว่โดยทีมสหสาขาวิชาชีพ
อายุ |
การดูแลรักษา |
สหสาขาวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง |
แรกเกิด |
การให้นม การประเมินความพิการ และให้ข้อมูล |
กุมารแพทย์ ทีมสหสาขาวิชาชีพ |
0 - 3 เดือน |
การดูแลเหงือกและจมูกก่อนผ่าตัด |
ทันตแพทย์จัดฟัน ศัลยแพทย์ตกแต่ง |
3 - 4 เดือน |
การผ่าตัดซ่อมแซมริมฝีปากและจมูก |
ศัลยแพทย์ตกแต่ง |
12 เดือน |
การผ่าตัดซ่อมแซมเพดาน |
ศัลยแพทย์ตกแต่ง โสต ศอ นาสิกแพทย์ |
18 - 24 เดือน |
กระตุ้นพัฒนาภาษาและการพูด |
นักแก้ไขการพูด |
4 - 6 ปี |
ประเมินผลการรักษา 5 ปี |
ทีมสหสาขาวิชาชีพ นักแก้ไขการพูด ศัลยแพทย์ตกแต่ง |
9 - 11 ปี |
ประเมินผลการรักษา 10 ปี |
ทีมสหสาขาวิชาชีพ ทันตแพทย์จัดฟัน ศัลยแพทย์ตกแต่ง ทันตแพทย์ศัลยศาสตร์ช่องปากและขากรรไกร |
18 - 21 ปี |
การจัดฟัน การผ่าตัดกระดูกขากรรไกร |
ทันตแพทย์จัดฟัน ศัลยแพทย์ตกแต่ง ทันตแพทย์ศัลยศาสตร์ช่องปากและขากรรไกร |
ป้องกันภาวะปากแหว่งเพดานโหว่อย่างไร?
การป้องกันการเกิดภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ทำได้โดยหลีกเลี่ยงสาเหตุที่เป็นปัจจัยภาย นอก โดยขณะมารดาตั้งครรภ์ ควรงดสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ การรับประทานยาระหว่างตั้งครรภ์ควรปรึกษาแพทย์พยาบาลหรือเภสัชกรทุกครั้ง การออกกำลังกายพอควรกับสุขภาพ การนอนหลับพัก ผ่อนให้เพียงพอ การลดความเครียด และที่สำคัญคือต้องรับประทานอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ใน ปริมาณที่เหมาะสมตามแพทย์พยาบาลแนะนำโดยเฉพาะอาหารจำพวกผักผลไม้ และเน้นอาหารที่มีกรดโฟลิกสูง เช่น บรอคโคลี เมล็ดธัญพืช ตับ เป็นต้น
มารดาควรได้รับวิตามินบี 6 วิตามินบี 12 ธาตุสังกะสี และกรดโฟลิก ก่อนการปฏิสนธิในครรภ์หรือก่อนตั้งครรภ์ประมาณ 2 เดือนจนกระทั่ง 3 เดือนหลังการตั้งครรภ์หรือตามคำแนะนำของ แพทย์พยาบาลเพื่อให้เกิดการสร้างอวัยวะของโครงสร้างเพดานในตัวอ่อนของทารกในครรภ์ได้สม บูรณ์ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ได้
ดังนั้น หากวางแผนจะตั้งครรภ์ มารดาควรปรึกษาแพทย์ในการใช้ยาวิตามินต่างๆและกรดโฟลิกตั้งแต่เนิ่นๆเพื่อป้องกันการเกิดภาวะปากแหว่งเพดานโหว่
สำหรับพ่อแม่ที่มีลูกที่เป็นปากแหว่งเพดานโหว่อยู่แล้ว การมีลูกคนต่อไปควรปรึกษาแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุศาสตร์โดยตรงอีกทางหนึ่งด้วย
เมื่อเด็กยังไม่ได้ผ่าตัด จะดูแลเด็กปากแหว่งเพดานโหว่อย่างไร?
ถ้าไม่ได้เป็นการคลอดในโรงพยาบาล เมื่อพบว่าเด็กมีภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ ควรรีบนำ เด็กพบแพทย์เสมอ
เมื่อเด็กยังไม่ได้ผ่าตัด พ่อแม่จะได้รับคำแนะนำในการเลี้ยงดูบุตรเกี่ยวกับการให้นม การดู แลสุขภาพช่องปากและฟันจากแพทย์พยาบาล และมีการประสานงานกับผู้เชี่ยวชาญในทีมปากแหว่งเพดานโหว่เพื่อเตรียมความสมบูรณ์และความพร้อมของร่างกายเด็กสำหรับการผ่าตัด
นอกจากนี้พ่อแม่ควรเตรียมตัวเด็กก่อนการผ่าตัดด้วยการดูแลให้เด็กมีการเจริญเติบโตแข็ง แรงเหมือนเด็กทั่วไป ถ้าพบว่าเด็กตัวเล็ก น้ำหนักไม่ขึ้น ดูดนมไม่ได้ ซึม ต้องรีบปรึกษาแพทย์รีบ พบแพทย์ก่อนนัด
มารดาต้องเรียนรู้วิธีการให้นมอย่างถูกวิธี การให้นมจากเต้านมแม่โดยตรงแก่ทารกที่มีภาวะ ปากแหว่งเพดานโหว่ซึ่งเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดที่จะช่วยป้องกันปัญหาต่างๆได้ เพราะเนื้อของเต้านมแม่ยืดหยุ่นสามารถปรับรูปร่างไปปิดช่องรอยแหว่งและรอยโหว่ได้มากกว่าหัวนมยาง ทำให้ทารก สามารถอมหัวนมแม่ได้แนบสนิทกว่าหัวนมชนิดอื่นๆ ทำให้ลมมีโอกาสเข้าไปในช่องท้องได้น้อยกว่าวิธีอื่น
นอกจากนั้นการดูดนมแม่ ทารกสามารถควบคุมการไหลของน้ำนมแม่ได้เอง ทำให้ทารกลด ปัญหาเรื่องการสำลักนมแม่และลดปัญหาเรื่องการกลั้นหายใจขณะดูดนม จึงลดโอกาสเกิดภาวะเขียวคล้ำขณะให้นมแม่
ถ้าหากมีความจำเป็นที่มารดาไม่สามารถเลี้ยงด้วยนมแม่จากเต้าได้ มารดาควรบีบน้ำนมแม่ และเลือกชนิดของขวดนมตามคำแนะนำของทีมแพทย์และพยาบาล
ในคนโตแล้วที่ยังไม่ได้ผ่าตัดจะดูแลตนเองอย่างไร?
ในผู้ป่วยภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ที่โตแล้วแต่ยังไม่ได้ผ่าตัด จะมีปัญหาต่างๆหลายอย่าง ได้แก่ การมีหน้าตาที่พิการ, การกินอาหารอาจไหลย้อนขึ้นจมูก, ในรายที่มีเพดานโหว่การพูดจะไม่ชัดมาก, มีปัญหาด้านการเรียนหนังสือ, การเข้าสังคม, และปัญหาด้านจิตใจตามมา,เนื่องจากหน้าตาผิดปกติและพูดผิดปกติ
ในรายที่ยังไม่ได้รับการรักษาผ่าตัด ควรพบศัลยแพทย์เพื่อขอรับการผ่าตัดให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้
และในระหว่างรอผ่าตัด ควรดูแลตนเองด้านสุขภาพช่องปากและฟัน รับประทานอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบถ้วนทุกวันเพื่อเตรียมร่างกายให้แข็งแรงสมบูรณ์พร้อมในการผ่าตัด
หากเป็นผู้ป่วยเพดานโหว่ควรระวังในการรับประทาน เพื่อป้องกันอาหารไหลย้อนเข้าจมูก
เด็กปากแหว่งเพดานโหว่ควรผ่าตัดตอนอายุเท่าไร?
เด็กปากแหว่งเพดานโหว่ควรผ่าตัดแก้ไขเมื่อ:
ก. สำหรับเด็กปากแหว่ง: ควรได้รับการประเมินเพื่อวางแผนและเตรียมผ่าตัดตั้งแต่อายุแรกเกิด และจะได้รับการผ่าตัดซ่อมแซมริมฝีปากอายุประมาณ 3 - 6 เดือนโดยใช้กฎของ “10” ได้แก่ อายุ 10 สัปดาห์, น้ำหนัก 10 ปอนด์หรือ 4.5 กิโลกรัม, และเม็ดเลือดแดง/ ฮีโมโกลบิน (Hemoglobin)10 กรัม/เดซิลิตรขึ้นไป, เหตุผลคือโอกาสเสี่ยงที่สูงขึ้นต่อการให้ยาระงับความรู้สึกและการเสริมสร้างกล้ามเนื้อริมฝีปากจะทำได้ยากกว่าในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 3 เดือน
สำหรับเด็กที่ได้รับการรักษาโดยการจัดลักษณะเหงือกก่อนการผ่าตัด: การซ่อมแซมจะทำที่อายุประมาณ 4 - 6 เดือน
สำหรับเด็กเพดานโหว่: การผ่าตัดซ่อมแซมเพดานมักทำเมื่ออายุประมาณ 1 ปีเพราะเป็นช่วงที่ร่างกายแข็งแรงพอที่จะรับการผ่าตัดที่ซับซ้อนกว่าในเรื่องของปากแหว่ง และที่สำคัญเป็นช่วงที่เด็กเริ่มพูดคำแรกจึงเป็นการป้องกันการพูดไม่ชัดและไม่ติดนิสัยการพูดไม่ชัดและเสียงขึ้นจมูกผิดปกติไปจนโต
ผู้ใหญ่ที่ปากแหว่งเพดานโหว่ควรผ่าตัดหรือไม่? เมื่อไร?
ผู้ใหญ่ที่เป็นปากแหว่งเพดานโหว่ควรผ่าตัดซ่อมแซมเพดานโหว่ทันทีเพื่อแก้ปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น เพราะการผ่าตัดจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องโครงสร้างของใบหน้า การพูด และการเข้าสังคม แต่ผลการรักษาจะไม่ดีเท่ากับการผ่าตัดตั้งแต่ในวัยเด็กเพราะรูปร่างของจมูกและริมฝีปากไม่สมบูรณ์เท่ากับเมื่อผ่าตัดในวัยเด็กเพราะโครงสร้างการเจริญเติบโตของจมูก ริมฝีปาก และเพดานได้เจริญ เติบโตเต็มวัยไปแล้ว
สำหรับการพูดจะดีขึ้นบ้างหลังผ่าตัดแต่ไม่ปกติ เนื่องจากผู้ใหญ่มักจะติดนิสัยการพูดผิด ปกติ พูดไม่ชัด เสียงขึ้นจมูก และเสียงผิดปกติอื่นๆเป็นเวลานานจนทำให้ยากต่อการแก้ไข
การผ่าตัดมีผลข้างเคียงไหม? อยู่โรงพยาบาลนานประมาณกี่วัน?
ส่วนใหญ่การผ่าตัด ‘ไม่มีผลข้างเคียงที่ร้ายแรง’ อาจมีการติดเชื้อที่แผลผ่าตัดได้หากดูแลความสะอาดแผลไม่ดี, หรือมีเลือดจางๆปนกับน้ำลายซึ่งมักจะหายไปภายใน 1 - 2 วันหลังผ่าตัด
- การผ่าตัดซ่อมแซมริมฝีปาก: อาจต้องพักอยู่ในโรงพยาบาลประมาณ 2 - 3 วัน
- ส่วนการผ่าตัดซ่อมแซมเพดาน: อาจต้องพักอยู่ในโรงพยาบาลนานขึ้น คือ ต้องรอให้แผลผ่าตัดติดดีก่อนซึ่งอาจใช้เวลาเป็นสัปดาห์
หลังจากแผลหายแล้ว:
- แพทย์ที่ให้การรักษา จะดูแลให้เด็กเริ่มฝึกพูดเพื่อที่จะติดตามว่า เด็กสามารถพูดได้ชัดเจนหรือไม่
- ในบางรายอาจต้องทำการผ่าตัดซ่อมแซมเพิ่มเติม เช่น เกิดรูรั่วของแผลที่เพดานปาก หรือ เกิดภาวะความบกพร่องของการทำงานของเพดานอ่อนกับผนังคอหอย
- ซึ่งมักจะประเมินอีกครั้งเมื่อเด็กมีอายุประมาณ 4 - 6 ขวบเพราะเป็นช่วงที่เด็กมีพัฒนาการทางภาษาและการพูดดีพอที่จะประเมินการทำงานของเพดานอ่อนและของผนังคอหอยขณะพูดได้
การผ่าตัดได้ผลอย่างไรบ้าง?
การผ่าตัดรักษาภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ส่วนใหญ่ได้ผล 'ดีมาก' มักไม่มีผลข้างเคียงหรือถ้ามีก็ไม่รุนแรง
หลังผ่าตัดมีชีวิตปกติไหม? ต้องดูแลเด็กหรือดูแลตนเองอย่างไร?
หลังผ่าตัดรักษาภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ผู้ป่วยจะมีชีวิตปกติ เพียงแต่ในระยะแรกหลังผ่าตัด
- ต้องจัดให้เด็กนอนหงายแต่ศีรษะตะแคงเพื่อให้เสมหะและเลือดไหลออกได้สะดวกป้องกันการสำลัก
- และไม่ดูดเสมหะใกล้บริเวณแผลผ่าตัดเพื่อป้องกันการกระทบกระเทือนแผล,
- หลีกเลี่ยงการนอนคว่ำเพราะจะทำให้แผลถูกกดทับ
- ในเรื่องอาหารให้ดูแลตามคำแนะนำของแพทย์พยาบาลเพื่อป้องกันการติดเชื้อของแผล, แผลเลือดออก, หรือแผลแยก
- เน้นดูแลเด็กหรือตนเองในเรื่องสุขภาพช่องปากและฟันตามแพทย์พยาบาลแนะนำจนกว่า แผลจะหายดี จึงจะสามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติซึ่งใช้เวลาประมาณ 10 - 14 วัน
หลังจากแผลหาย:
- แพทย์ที่ให้การรักษาจะนัดเด็ก/ผู้ป่วยมาตรวจเพื่อ ดูแลแผล, และเริ่มให้ฝึกพูด
- ซึ่งส่วนใหญ่จะนัดให้มาหลังการจำหน่ายผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาลประมาณ 2 สัปดาห์
- แต่หากมีอาการผิดปกติให้รีบมาโรงพยาบาลก่อนวันนัดเสมอ
สรุป
ภาวะปากแหว่งเพดานโหว่เป็นความพิการที่ส่งผลให้เกิดปัญหาหลายด้าน ซึ่งต้องการการดูแลในรูปแบบสหสาขาวิชาชีพตั้งแต่ที่วินิจฉัยได้ขณะมารดาตั้งครรภ์หรือแรกเกิดในรายที่ไม่ได้รับการวินิจฉัยขณะตั้งครรภ์
การดูแลรักษาบำบัดต้องทำอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอจนกระทั่งการเจริญเติบโตทางร่างกายสมบูรณ์ที่อายุประมาณ 21 ปี
การรักษาดังกล่าวต้องอาศัยความร่วมมือและประสานงานอย่างดีจากผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆซึ่งเป็นทีมสหสาขาวิชาชีพ เพื่อร่วมกันวางแผนการดูแลรักษาและป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นเพื่อ ให้เด็กปากแหว่งเพดานโหว่มีคุณภาพชีวิตที่ดีปกติหรือใกล้เคียงปกติมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
การป้องกันการเกิดภาวะปากแหว่งเพดานโหว่สามารถทำได้ด้วยการให้วิตามินและกรดโฟลิกโดยปรึกษาและขอคำแนะนำได้จากแพทย์และพยาบาล
อนึ่ง: หากท่านมีคำถามเกี่ยวการดูแลรักษาในเรื่องของภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ สามารถสอบถามเพิ่มเติมหรือสนใจบริจาคทุนสนับสนุนผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ที่ด้อยโอกาสได้ที่ ‘มหาวิทยาลัยขอนแก่น’ ภายใต้โครงการตะวันฉาย (ศูนย์ตะวันฉาย) หรือ มูลนิธิตะวันฉายเพื่อผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่และพิการทางศีรษะและใบหน้า คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น อ. เมือง จ.ขอนแก่น 40002, Website: https://www.tawanchai-foundation.org/
บรรณานุกรม
- Ratanasiri T, Junthathamrongwat N, Apiwanthanakul S, Wongkam C, Chowchuen B. The incidence of cleft lip and palate in Srinagarind Hospital,1990-1999. Sriagarind Med J. 2001;16:3-7.
- Ruangsitt C, Prasertsang P, Banpho Y, Lamduan W, Giathamnuay S, Nuwantha A. Incidence of cleft lip and palate in three hospitals in Khon Kaen. Khon Kaen: Department of orthodontics, Faculty of Dentistry, Khon Kaen University; 1993.
- Chowchuen B, Godfrey K. Development of a network system for the care of patients with cleft lip and palate in Thailand. Scand J Plast Reconstr Surg Hand Surg. 2003;37(6):325-31.
- Chuangsuwanich A, Aojanepong C, Muangsombut S, Tongpiew P. Epidemiology of cleft lip and palate in Thailand. Ann Plast Surg. 1998 Jul;41(1):7-10.
- Gupta K, Bansal P, Dev N, Tyagi SK. Smile Train project: a blessing for population of lower socio-economic status. J Indian Med Assoc. 2010 Nov;108(11):723-5.
- Hozyasz K, Chelchowska M, Surowiec Z. [Plasma vitaminA in mothers of children with orofacial clefts]. Ginekol Pol. 2004 Feb;75(2):139-44.
- Kelly D, O'Dowd T, Reulbach U. Use of folic acidsupplements and risk of cleft lip and palate in infants: a population-based cohort study. Br J Gen Pract. 2012 Jul;62(600):466-72.
- Knott L, Hartridge T, Brown NL, Mansell JP, Sandy JR. Homocysteine oxidation and apoptosis: a potential cause of cleft palate. In Vitro Cell Dev Biol Anim. 2003 Jan-Feb;39(1-2):98-105.
- Krapels IP, Rooij IA, Wevers RA, Zielhuis GA, Spauwen PH, Brussel W, et al. Myo-inositol, glucose and zinc status as risk factors for non-syndromic cleft lip with or without cleft palate in offspring: a case-control study. BJOG. 2004 Jul;111(7):661-8.
- Lorente C, Cordier S, Bergeret A, De Walle HE, Goujard J, Ayme S, et al. Maternal occupational risk factors for oral clefts. Occupational Exposure and Congenital Malformation Working Group. Scand J Work Environ Health. 2000 Apr;26(2):137-45.
- Lorente C, Cordier S, Goujard J, Ayme S, Bianchi F, Calzolari E, et al. Tobacco and alcohol use during pregnancy and risk of oral clefts. Occupational Exposure and Congenital Malformation Working Group. Am J Public Health. 2000 Mar;90(3):415-9.
- Murthy J. Management of cleft lip and palate in adults. Indian J Plast Surg. 2009 Oct;42 Suppl:S116-22.
- Tolarova M, Harris J. Reduced recurrence of orofacial clefts after periconceptional supplementation with high-dose folic acidand multivitamin Teratology. 1995 Feb;51(2):71-8.
- เบญจมาศ พระธานี. ปัญหาการพัฒนาภาษา การคิดรู้ และการเปล่งเสียง. ใน: บวรศิลป์ เชาวน์ชื่น, เบญจมาศ พระธานี, จารุณี ตันติยากุล,บรรณาธิการ. การดูแลแบบสหวิทยาการของผู้ป่วยปากแหว่ง เพดานโหว่และความพิการแต่กำเนิดของใบหน้า และกะโหลกศีรษะ ขอนแก่น: โรงพิมพ์ศิริภัณฑ์ ออฟเซท; 2545. หน้า. 261-70.
- เบญจมาศ พระธานี. ความบกพร่องของการทำงานของเพดานอ่อนและผนังคอหอย. ใน: บวรศิลป์ เชาว์ชื่น, เบญจมาศ พระธานี, จารุณี รัตนยาติกุล, บรรณาธิการ. การดูแลแบบสหวิทยาการของผู้ป่วยปากแหว่ง เพดานโหว่และความพิการแต่กำเนิดของใบหน้า และกะโหลกศีรษะ. ขอนแก่น: โรงพิมพ์ศิริภันฑ์ ออฟเชท; 2545. หน้า. 271-314.
- เบญจมาศ พระธานี. ภาษา การพูด และการได้ยินของบุคคลปากแหว่งเพดานโหว่: การคัดแยก. ขอแก่น: โรงพิมพ์คลังนานาวิทยา; 2551.
- บวรศิลป์ เชาวน์ชื่น, เบญจมาศ พระธานี, สุธีรา ประดับวงษ์. คู่มือผู้ปกครอง แนวทางการดูแลรักษา. ขอนแก่น: โรงพิมพ์คลังนานาวิทยา; 2554.
- บวรศิลป์ เชาวน์ชื่น, ผกาพรรณ เกียรติชูสกุล. อุบัติการณ์ สาเหตุ การป่องกัน. ขอนแก่น: โรงพิมพ์คลังนานาวิทยา; 2554.
- บวรศิลป์ เชาวน์ชื่น, สมศักดิ์ กิจสหวงศ์, เบญจมาศ พระธานี, และคณะ. การดูแลผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่แบบทีมสหสาขาวิทยาการของศูนย์ปากแหว่งเพดานโหว่และความพิการแต่กำเนิดของใบหน้าและกะโหลกศีรษะ มหาวิทยาลัยขอนแก่น. ใน: บวรศิลป์ เชาวน์ชื่น, เบญจมาศ พระธานี, จารุณี รัตนยาติกุล, บรรณาธิการ. การดูแลแบบสหวิทยาการของผู้ป่วยปากแหว่ง เพดานโหว่ และความพิการแต่กำเนิดของใบหน้า และกะโหลกศีรษะ. ขอนแก่น: โรงพิมพ์ศิริภัณฑ์ ออฟเซท; 2545. หน้า. 16-41.
- https://www.oatext.com/cleft-lip-and-palate-epidemiology-and-etiology.php [2022,Sept24]
- https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/33486980/ [2022,Sept24]