ปัสสาวะเป็นเลือด (Hematuria)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คืออะไร? พบบ่อยไหม?

ปัสสาวะเป็นเลือด(Hematuria)คือ อาการที่เมื่อถ่ายปัสสาวะจะมีเลือดสดปนออกมาในน้ำปัสสาวะ ทางการแพทย์ ‘นิยามปัสสาวะเป็นเลือด’ คือ ‘มีปริมาณเม็ดเลือดแดงในปัสสาวะสูงผิดปกติ ซึ่งปกติคือ มีเม็ดเลือดแดงไม่เกิน 2 เซลล์ต่อการตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ชนิดกำลังขยายสูง/High power field(HPF)พบเม็ดเลือดแดงน้อยกว่าหรือเท่ากับ 2 cells/HPF’ ซึ่งสาเหตุปัสสาวะเป็นเลือดมีหลากหลาย โดยจะกล่าวต่อไปใน ‘หัวข้อ สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงฯ’แต่ที่พบบ่อยคือ จากโรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ

อนึ่ง: ปัสสาวะเป็นเลือด/ฉี่เป็นเลือด/ปัสสาวะปนเลือด ไม่ใช่’โรค’ แต่เป็น’อาการ’ หนึ่งของโรค(โรค-อาการ-ภาวะ)

  • ผู้ป่วยอาจปัสสาวะเป็นเลือดสดที่มองเห็นด้วยตาเปล่า เป็นปัสสาวะมีเลือดปนที่เห็น เป็นสีแดง หรือสีคล้ายน้ำปลา ดังนั้นผู้ป่วยจึงรู้ตัวว่ามีอาการ ‘ปัสสาวะเป็นเลือด’ หรือ ปัสสาวะผิดปกติ
  • อย่างไรก็ตาม บ่อยครั้ง ผู้ป่วยจะไม่ทราบว่ามีปัสสาวะเป็นเลือดเพราะสีปัสสาวะจะใสเป็นปกติ(ไม่มีอาการ) แต่การตรวจปัสสาวะทางห้องปฏิบัติการพบว่ามีเม็ดเลือดแดงในปัสสาวะสูงผิดปกติ เช่น จากตรวจสุขภาพประจำปี หรือ เมื่อสงสัยมีโรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ หรือมีปัญหาโรคไต เรียกปัสสาวะเป็นเลือดกรณีนี้ว่า ‘ปัสสาวะเป็นเลือดชนิดมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า’ หรือ ‘ปัสสาวะเป็นเลือดชนิดไม่แสดงอาการ’

ปัสสาวะเป็นเลือด/ฉี่เป็นเลือด/ปัสสาวะปนเลือด พบทุกอายุ ตั้งแต่เด็กแรกเกิด(นิยามคำว่าเด็ก)ไปจนถึงผู้สูงอายุทั้งนี้ขึ้นกับสาเหตุ แต่พบบ่อยกว่าในผู้ใหญ่ เพศหญิงและเพศชายมีโอกาสเกิดใกล้เคียงกัน

สถิติเกิดอาการปัสสาวะเป็นเลือดไม่แน่นอน เพราะขึ้นกับลักษณะผู้ป่วยของแต่ละโรงพยาบาล อย่างไรก็ตามมีการศึกษารายงานจากสหรัฐอเมริกาพบ ‘ปัสสาวะเป็นเลือดชนิดไม่มีอาการ(Microscopic hematuria)’ตามโรงพยาบาลต่างๆได้ประมาณ 2%-30%

*อนึ่ง บางครั้ง อาจมีปัสสาวะสีแดงโดยไม่ใช่จากปัสสาวะเป็นเลือด/ฉี่เป็นเลือด แต่เกิดจากสีของอาหารที่บริโภค เช่น สีผสมอาหาร, กินผักในกลุ่มบีทรูท, หรืออาจจากกินยาบางชนิด เช่น ยาบางชนิดที่ใช้รักษาโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ, หรือ ยาวัณโรคบางชนิด

นอกจากนั้น บ่อยครั้งในเพศหญิงอาจมีเลือดปนในปัสสาวะสาเหตุจากเลือดที่ออกทางช่องคลอดหรือประจำเดือนได้โดยแพทย์มีการวินิจฉัยแยกโรคได้จากประวัติ การมีประจำเดือนของผู้ป่วย ซึ่งกรณีเหล่านี้ทางแพทย์ไม่จัดเป็น ‘ปัสสาวะเป็นเลือด/ฉี่เป็นเลือด/ปัสสาวะปนเลือด’

ปัสสาวะเป็นเลือดเกิดได้อย่างไร?

ปัสสาวะเป็นเลือด

ปัสสาวะเป็นเลือด/ฉี่เป็นเลือด/ปัสสาวะปนเลือด อาจเกิดจาก

  • มีความผิดปกติของเซลล์ของไต เช่น การอักเสบ จึงส่งผลให้การกรองปัสสาวะจากเลือดผิดปกติ จึงมีเม็ดเลือดแดงปนออกมาในปัสสาวะมากกว่าปกติ ทั้งนี้ถ้าเกิดจากสาเหตุนี้ ในการตรวจปัสสาวะมักพบมีโปรตีนในปัสสาวะ(ซึ่งตรวจไม่พบในภาวะปกติ)และคาสในปัสสาวะ(Cast)ร่วมออกมาในปัสสาวะร่วมด้วย
  • มีการอักเสบติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ(โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ) จึงส่งผลให้ระบบทางเดินปัสสาวะอักเสบบวม จึงมีเลือดออกได้ง่าย หรือมีการบาดเจ็บ ระคายเคืองต่อเนื้อเยื่อเมือกที่บุทางเดินปัสสาวะ เช่น มีนิ่วในไต หรือ นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ
  • มีแผลในระบบทางเดินปัสสาวะ ซึ่งเมื่อมีเลือดออกจากแผลก็จะก่อให้มีอาการปัสสาวะเป็นเลือด เช่น จากแผลอุบัติเหตุ หรือแผลมะเร็ง
  • อีกกลไกหนึ่งที่ส่งผลให้เกิดอาการปัสสาวะเป็นเลือด/ฉี่เป็นเลือด/ปัสสาวะปนเลือดได้ แต่ไม่เกี่ยวกับโรคในระบบทางเดินปัสสาวะ(ไต ท่อไต กระเพาะปัสสาวะ ท่อปัสสาวะ และต่อมลูกหมากในเพศชาย) คือ สาเหตุจากโรคเลือดซึ่งส่งผลให้เกิดภาวะเกล็ดเลือดต่ำ เลือดจึงออกง่ายในอวัยวะทุกระบบของร่างกายรวมถึงระบบทางเดินปัสสาวะ
  • ผลข้างเคียงที่ทำให้เกิดเลือดออกในอวัยวะต่างๆได้ง่ายรวมถึงจากระบบทางเดินปัสสาวะจากยาต้านการแข็งตัวของเลือดซึ่งใช้รักษาโรคบางโรค เช่น โรคหัวใจ:โรคหลอดเลือดหัวใจ, อัมพาต:โรคหลอดเลือดสมอง

ปัสสาวะเป็นเลือดมีสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงจากอะไร?

สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงของอาการปัสสาวะเป็นเลือด/ฉี่เป็นเลือด/ปัสสาวะปนเลือด ทั้งชนิดมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า และชนิดเป็นเลือดสด ที่พบบ่อย คือ

  • นิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ: พบประมาณ 5-25% เช่น นิ่วในไต, นิ่วในท่อไต, นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ
  • โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะที่รวมถึงโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์: พบได้ประมาณ 25-30%
  • โรคของต่อมลูกหมาก (ในผู้ป่วยเพศ ชาย): พบประมาณ 23-25% ของปัสสาวะเป็นเลือดในผู้ชาย เช่น ต่อมลูกหมากอักเสบติดเชื้อ
  • โรคมะเร็งในระบบทางเดินปัสสาวะ: พบประมาณ 2-18% เช่น โรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ โรคมะเร็งไต และโรคมะเร็งไตในเด็ก (Wilms’ tumor)
  • โรคเซลล์ไตอักเสบ: พบประมาณ 10% เช่นโรค โกลเมอรูโลเน็ปไฟรติส(Glomerulonephritis)
  • อุบัติเหตุของระบบทางเดินปัสสาวะ: พบประมาณ 3% เช่น ไตถูกกระแทกจากอุบัติเหตุรถยนต์
  • บางครั้งแพทย์หาสาเหตุไม่ได้: พบประมาณ 5%-10%

อนึ่ง: สาเหตุ/ปัจจัยอื่นๆที่พบได้น้อยและไม่ได้เกิดจากโรคในระบบทางเดินปัสสาวะ เช่น

  • โรคเลือดที่ส่งผลให้เกิดภาวะเกล็ดเลือดต่ำ เลือดจึงออกง่ายจากหลอดเลือดของทุกอวัยวะทั่วร่างกาย
  • ผลข้างเคียงจากการใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือดในการรักษาโรคบางชนิด เช่น โรคหัวใจ: โรคหลอดเลือดหัวใจ หรือ อัมพาต:โรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น

ปัสสาวะเป็นเลือดมีอาการอื่นร่วมด้วยไหม?

ดังกล่าวแล้ว บ่อยครั้งเมื่อปัสสาวะเป็นเลือด/ฉี่เป็นเลือด/ปัสสาวะปนเลือดในลักษณะมองไม่เห็นจากตาเปล่า ผู้ป่วยอาจไม่มีอาการอื่นร่วมด้วย เป็นการตรวจพบโดยบังเอิญจากการตรวจปัสสาวะจากตรวจสุขภาพประจำปี

แต่ทั้ง ปัสสาวะเป็นเลือด/ฉี่เป็นเลือด/ปัสสาวะปนเลือดทั้งชนิดมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า, และชนิดปัสสาวะเป็นเลือดสด อาจมีอาการอื่นร่วมด้วยได้ ซึ่งมักเป็นอาการจากสาเหตุ ซึ่งอาการร่วมเหล่านี้ แพทย์จะใช้เป็นตัวช่วยการวินิจฉัยหาสาเหตุของปัสสาวะเป็นเลือด เช่น

  • ปวดแสบเมื่อถ่ายปัสสาวะที่มักเกิดจากกระเพาะปัสสาวะอักเสบ
  • ปวดเอว/ ปวดท้อง/ ปวดหลังมากโดยปวดบีบเป็นพักๆ อาจร่วมกับเคยมีประวัติมีนิ่วหลุดปนในปัสสาวะ เมื่อเกิดจากโรคนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ
  • มีไข้ ปวดเมื่อยเนื้อตัวร่วมกับ ปัสสาวะขุ่น กลิ่นแรง เมื่อเกิดจาก กระเพาะปัสสาวะอักเสบ
  • มีหนอง หรือสารคัดหลั่งผิดปกติจากอวัยวะเพศ และ/หรือจากปากท่อปัสสาวะ เมื่อเกิดท่อปัสสาวะอักเสบจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  • มีจ้ำห้อเลือดตามลำตัว แขน ขา เมื่อเกิดจากโรคเลือด หรือกินยาต้านการแข็งตัวของเลือด

แพทย์วินิจฉัยหาสาเหตุปัสสาวะเป็นเลือดได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยหาสาเหตุปัสสาวะเป็นเลือด/ ฉี่เป็นเลือด/ ปัสสาวะปนเลือด ได้จาก

  • ซักถามประวัติอาการผู้ป่วย ประวัติเจ็บป่วยทั้งในอดีตและในปัจจุบัน ประวัติใช้ยาต่างๆ การงานอาชีพ ประวัติอุบัติเหตุที่ช่องท้อง
  • การตรวจร่างกาย
  • การตรวจปัสสาวะ
  • ตรวจเลือดดูการทำงานของไต
  • ตรวจไขกระดูก เพื่อวินิจฉัยโรคเลือด
  • ตรวจภาพอวัยวะระบบทางเดินปัสสาวะด้วย เอกซเรย์ธรรมดา, อัลตราซาวด์, และ/หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (ซีทีสแกน)
  • อาจมีการตรวจอื่นๆเพื่อการสืบค้นเพิ่มเติมตามอาการผู้ป่วยและดุลพินิจของแพทย์ เช่น
    • ส่องกล้องตรวจอวัยวะในระบบทางเดินปัสสาวะ และ
    • อาจร่วมกับการตัดชิ้นเนื้อเมื่อพบรอยโรคในเนื้อเยื่อ/อวัยวะต่างๆของระบบทางเดินปัสสาวะเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา

รักษาปัสสาวะเป็นเลือดอย่างไร?

แนวทางการรักษาอาการปัสสาวะเป็นเลือด/ฉี่เป็นเลือด/ปัสสาวะปนเลือด คือ การรักษาสาเหตุ และการรักษาตามอาการ (การรักษาประคับประคองตามอาการ)

ก. รักษาสาเหตุ: เช่น

  • รักษาโรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะด้วยการให้ยาปฏิชีวนะ เมื่อสาเหตุเกิดจากการอักเสบ/โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ
  • รักษาโรคมะเร็งไต เมื่ออาการเกิดจากโรคมะเร็งไต
  • รักษานิ่วเมื่อสาเหตุมาจากโรคนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ เช่น นิ่วในไต ฯลฯ
  • ปรับเปลี่ยนยาหรือลดขนาดยาเมื่ออาการเกิดจากการกินยาต้านการแข็งตัวของเลือด เป็นต้น

(แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเรื่องโรคต่างๆที่เป็นสาเหตุที่รวมถึงการรักษาได้จากเว็บ haamor.com)

ข.การรักษาตามอาการ: เช่น

  • ให้เลือดเมื่อเลือดออกมากจนเกิดภาวะซีด
  • ให้ยาแก้ปวดเมื่อมีอาการปวดท้อง /ปวดหลัง/ ปวดเอวร่วมด้วย
  • ให้ยาลดไข้ กรณีมีไข้ร่วมด้วย

ปัสสาวะเป็นเลือดรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงอย่างไร?

ดังนั้น การพยากรณ์โรคของอาการปัสสาวะเป็นเลือด/ฉี่เป็นเลือด/ปัสสาวะปนเลือดจึงต่างกันในผู้ป่วยแต่ละรายตามแต่ละสาเหตุและความรุนแรงของอาการ แพทย์ผู้รักษาผู้ป่วยเท่านั้นที่จะให้การพยากรณ์โรคของผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสมเป็นรายๆไป

ผลข้างเคียงของอาการปัสสาวะเป็นเลือด/ฉี่เป็นเลือด:

ผลข้างเคียงจากปัสสาวะเป็นเลือด/ฉี่เป็นเลือด/ปัสสาวะปนเลือด คือ

  • โรคซีดเมื่อมีเลือดออกมากหรือมีเลือดออกเรื้อรัง และถ้าเลือดออกมากและออกไม่หยุดอาจส่งผลเกิดภาวะช็อกได้

ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อปัสสาวะเป็นเลือด? ควรพบแพทย์เมื่อไร?

การดูตนเองเมื่อมีปัสสาวะเป็นเลือด/ฉี่เป็นเลือด/ปัสสาวะปนเลือด คือ

ก. ก่อนพบแพทย์/มาโรงพยาบาล: ได้แก่

  • รีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลภายใน 1-2 วันเมื่อเลือดออกไม่มากและไม่มีอาการอื่นร่วมด้วย
  • แต่ถ้ามีอาการอื่นร่วมด้วย และ/หรือมีเลือดออกมาก ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลภายใน 24 ชั่วโมง หรือ มาโรงพยาบาลฉุกเฉิน/ทันทีขึ้นกับความรุนแรงของอาการ
  • ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอในแต่ละวันเพื่อป้องกันเลือดแข็งตัวเป็นลิ่มเลือดจนอุดกั้นท่อปัสสาวะที่ส่งผลให้ปัสสาวะขัด/ปัสสาวะไม่ออก เช่น วันละ8-10แก้ว เมื่อไม่มีโรคที่แพทย์ให้จำกัดน้ำดื่ม

ข. หลังพบแพทย์/มาโรงพยาบาลแล้ว: การดูแลตนเอง ที่สำคัญคือ

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • กินยา/ใช้ยาต่างๆที่แพทย์สั่งให้ถูกต้อง ครบถ้วน ไม่ขาดยา หรือหยุดยาเองเมื่ออาการดีขึ้น
  • รักษา ควบคุม สาเหตุฯให้ได้ดี
  • ดื่มน้ำสะอาดให้พอเพียงอย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว เมื่อไม่มีโรคต้องจำกัดน้ำดื่ม หรือตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เพื่อป้องกันการเกิดลิ่มเลือดในกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งจะก่อให้เกิดอาการปัสสาวะไม่ออกจากการอุดตันท่อปัสสาวะจากลิ่มเลือด
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ
  • รีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัด เมื่อ
    • อาการต่างๆแย่ลง เช่น ปัสสาวะเป็นเลือดมากขึ้น , มีอาการเกิดใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิม
    • มีผลข้างเคียงอย่างต่อเนื่องจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ขึ้นผื่น, วิงเวียนศีรษะ
    • กังวลในอาการ

ป้องกันปัสสาวะเป็นเลือดอย่างไร?

การป้องกันปัสสาวะเป็นเลือด/ฉี่เป็นเลือด/ ปัสสาวะปนเลือด คือ การป้องกันสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง (ดังกล่าวใน ‘หัวข้อ สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงฯ’) ที่ป้องกันได้ ที่สำคัญ คือ

  • ป้องกันเกิดนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ (แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง นิ่วในไต, นิ่วในท่อไต, และเรื่อง นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ)
  • ป้องกันโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบเพราะเป็นสาเหตุที่พบบ่อย (แนะนำอ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง กระเพาะปัสสาวะอักเสบ)
  • ป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ด้วยการใช้ถุงยางอนามัยชายทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ รวมถึงหลีกเลี่ยงเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย (แนะนำอ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์)
  • รักษาสุขภาพให้แข็งแรงเพื่อลดโอกาสติดเชื้อต่างๆโดยรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)

บรรณานุกรม

  • Cohen, R., and Brown, R. (2003). Microscopic hematuria. N Engl J Med. 348, 2330-2338.
  • Faysal A. Yafi. Et al. (2011).Can Urol Assoc J.5(2):97-101.
  • Karnath, B. et al. (2007). Hospital Physician. 43, 20-26.
  • Mcdonald, M. et al. (2006). Assessment of microscopic hematuriain adults. Am Fam Physician. 73, 1748-1754.
  • https://en.wikipedia.org/wiki/Hematuria [2021,Sept4]
  • https://emedicine.medscape.com/article/981898-overview#showall [2021,Sept4]
  • https://www.niddk.nih.gov/health-information/urologic-diseases/hematuria-blood-urine [2021,Sept4]
  • https://www.labpedia.net/urine-analysis-part-6-urine-microscopic-examination-and-interpretations/ [2021,Sept4]