โรคปวดศีรษะคลัสเตอร์ (Cluster Headache)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

อาการปวดศีรษะ เป็นอาการผิดปกติทางระบบประสาทที่พบบ่อยที่สุด บางการศึกษากล่าวว่า ทุกคนที่เกิดมาย่อมเคยมีอาการปวดศีรษะ ซึ่งก็น่าจะถูกต้อง เพราะทุกวันเราต้องพบกับปัญหาต่างๆมากมายในการดำรงชีวิตซึ่งส่งผลให้เกิดอาการปวดศีรษะได้

อาการปวดศีรษะ มีสาเหตุหลักๆ 2 สาเหตุ คือ

  • กลุ่มอาการปวดศีรษะชนิดที่ไม่มีรอยโรคในสมองอย่างชัดเจน (ไม่ร้ายแรง) ได้แก่
    • ปวดศีรษะจากกล้ามเนื้อในส่วนของศีรษะหดตัว (Muscle contraction หรือ Tension typed headache)
    • ปวดศีรษะไมเกรน
    • ปวดศีรษะข้างเดียวเป็นเวลานาน (Hemicranial continua)
    • ปวดศีรษะร่วมกับอาการน้ำตาไหลโดยปวดเป็นระยะเวลาสั้นๆ (SUNCT,Short-lasting Unilatral Neuralgiform headache attacks with Conjuntival injection and Tearing)
    • และ กลุ่มอาการปวดศีรษะเป็นชุดๆ เป็นในเวลาเดิม ร่วมกับมีอาการระบบประสาทอัตโนมัติผิดปกติร่วมด้วย ที่เรียกว่า “โรค/อาการปวดศีรษะคลัสเตอร์(Cluster headache)”
  • กลุ่มอาการปวดศีรษะชนิดมีสาเหตุ คือ
    • กลุ่มที่มีรอยโรคในสมอง
    • มีรอยโรคในเยื่อหุ้มสมอง
    • มีรอยโรคในโพรงไซนัส
    • หรือจากผลข้างเคียงของยา/ อาการไม่พึงประสงค์จากยา บางชนิด (เช่น ยาเม็ดคุมกำเนิดบางชนิด ยาโรคหืดบางชนิด)เป็นต้น

ทั้งนี้ บทความนี้ จะกล่าวถึงเฉพาะ “โรค/อาการปวดศีรษะคลัสเตอร์” เพราะเป็นกลุ่มอาการที่พบได้เรื่อยๆ ถึงแม้จะไม่บ่อยเท่าปวดศีรษะไมเกรน หรือปวดศีรษะจากกล้ามเนื้อหดตัว แต่เนื่องจากเป็นกลุ่มอาการปวดศีรษะที่มีลักษณะจำเพาะ ดังตัวอย่างผู้ป่วยต่อไปนี้

“คุณหมอช่วยผมด้วยครับ ผมมีอาการปวดศีรษะช่วงตี 3 ถึง ตี 4 มา 2 สัปดาห์แล้วครับ อาการปวดศีรษะรุนแรงจนผมต้องตื่นจากการนอน ปวดรุนแรงมากครับ ปวดบริเวณขมับและเบ้าตาด้านขวา อาการปวดแบบนี้เคยเป็นเมื่อ 3 ปีก่อน ครั้งก่อนนั้นเป็นอยู่ 1 สัปดาห์ก็หายไปเอง แต่ครั้งนี้ไม่หายครับ อาการปวดศีรษะนั้นจะเป็นเวลาเดิมๆ ของทุกวัน ร่วมกับมีน้ำตาไหล น้ำมูกไหล ตาแดง ลืมตาข้างขวาไม่ค่อยขึ้น อาการปวดรุนแรงมาก อยากเอาหัวโขกฝาบ้าน เนื่องจากเป็นกลางคืนก็เลยไม่ได้ไปหาหมอ พอเป็นประมาณ 1 ชั่วโมง อาการก็ค่อยๆ หายไปเอง กลางวันไม่มีอาการเลย ผมเป็นอะไรครับหมอ”

ลองติดตามดูครับว่าอาการปวดศีรษะคลัสเตอร์คืออะไร

ปวดศีรษะคลัสเตอร์คืออะไร?

ปวดศีรษะคลัสเตอร์

ปวดศีรษะคลัสเตอร์ คือ อาการปวดศีรษะชนิดไม่ร้ายแรงแบบหนึ่ง มีลักษณะสำคัญคือ จะมีอาการปวดศีรษะเป็นชุดๆ (Cluster) คือ จะมีอาการปวดศีรษะแต่ละครั้งนานประมาณ 1 ชั่วโมง เป็นเวลาเดิมๆ ของทุกวัน และเป็นติดต่อกันเป็นระยะเวลาหนึ่ง เช่น 1-2 สัปดาห์ แต่ก็มีบางกรณีเป็นนานหลายสัปดาห์ถึงหลายเดือน

อาการปวดศีรษะคลัสเตอร์ ได้แก่

  • ปวดตุ๊บๆ บริเวณขมับ เบ้าตา ด้านใด ด้านหนึ่ง ความรุนแรงจะรุนแรงมากๆ จนทรมาน หรือต้องหยุดทำกิจกรรมที่กำลังทำอยู่ ร่วมกับ
  • มีอาการ น้ำตาไหล น้ำมูกไหล
  • ลืมตาลำบาก
  • กระสับกระส่าย
  • อยากเอาศีรษะไปโขกฝาบ้าน หรือบางคนบอกว่า ไม่อยากมีหัวเลย
  • อาการเป็นนานประมาณ 1 ชั่วโมง ก็จะค่อยๆ หายไปเอง
  • เมื่อได้เวลาเดิมของวันใหม่ ก็มีอาการอีกแบบเดิม ส่วนใหญ่เป็นช่วงเวลา 7-10 โมงเช้า และ 2-4 โมงเย็น

อาการปวดศีรษะคลัสเตอร์เกิดจากอะไร?

ปัจจุบันเชื่อว่า อาการปวดศีรษธคลัสเตอร์ เกิดจากความผิดปกติของ เส้นประสาทสมองคู่ที่ 5 และหลอดเลือดที่เกี่ยวข้อง (Trigeminal autonomic cephalalgia) และการทำงานของต่อมไพเนียล (Pineal gland)

ทั้งนี้ กลไกการเกิดอาการและลักษณะการดำเนินโรคที่เป็นเวลาชัดเจนนั้น ยังไม่ทราบ แต่มีสมมุติฐานที่ทำให้เกิดความผิดปกติของอาการต่างๆดังกล่าว ได้แก่

  • ต่อมไพเนียล ซึ่งเป็นอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการรับรู้เวลาและแสงสว่างว่าเป็นเวลาใดของวัน อาจมีความผิดปกติเกิดขึ้น
  • และร่วมกับอาจมีความผิดปกติของส่วนที่เรียกว่านิวเคลียส (Nucleus)ของเซลล์เส้นประสาทสมองคู่ที่ 5
  • โดยอาจมีความผิดปกติในการเชื่อมโยงของสารสื่อประสาทบางชนิด ส่งผลให้เกิดความผิดปกติของระบบประสาทอัตโนมัติที่ควบคุมการหลั่งน้ำมูก น้ำตา และตา
  • และมีการปล่อยสารเคมีบางชนิดไปที่เยื่อหุ้มสมองชั้นนอก (Dura)

นอกจากนั้น พบว่า อาการปวดศีรษะคลัสเตอร์มีการถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ แต่พบไม่บ่อย โดยพบว่ามีประวัติครอบครัวในผู้ป่วยโรคปวดศีรษะคลัสเตอร์ร้อยละ 10 (10%) แต่มีประวัติปวดศีรษะไมเกรนสูงกว่าร้อยละ 25 (25%)

ใครมีโอกาสเกิดอาการปวดศีรษะคลัสเตอร์?

ผู้มีปัจจัยเสี่ยงหรือโอกาสในการเกิดอาการปวดศีรษะตลัสเตอร์ คือ

  • ผู้ชาย พบเป็นได้บ่อยกว่าผู้หญิงมาก
  • อายุช่วง 30-50 ปี
  • และมีประวัติครอบครัวที่พ่อแม่เคยมีอาการของโรคนี้

มีอะไรเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดปวดศีรษะคลัสเตอร์ไหม?

ปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะได้บ่อยและรุนแรง ที่รวมถึง อาการปวดศีรษะคลัสเตอร์ด้วย ที่พบบ่อย คือ

  • การดื่มแอลกอฮอล์
  • การออกกำลังกายอย่างหนัก
  • อุณหภูมิสิ่งแวดล้อมที่สูงขึ้น
  • กลิ่นที่รุนแรง

ปวดศีรษะคลัสเตอร์กับปวดศีรษะไมเกรนต่างกันอย่างไร?

อาการปวดศีรษะคลัสเตอร์ มีลักษณะแตกต่างกับปวดศีรษะไมเกรนดังนี้

เมื่อไหร่ถึงควรมาพบแพทย์?

กรณีที่มีอาการปวดศีรษะรุนแรง ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเสมอ เพื่อให้แพทย์ ประเมินอาการว่าเป็นการปวดศีรษะจากสาเหตุใด

และกรณีเมื่อได้รับการวินิจฉัยแล้วว่า เป็นอาการปวดศีรษะคลัสเตอร์ แต่การปวด ไม่ตอบสนองต่อการรักษาที่ได้รับและ/หรืออาการปวดรุนแรงขึ้น ก็ควรต้องรีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อให้แพทย์ประเมินอาการใหม่ และปรับการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

แพทย์ทราบได้อย่างไรว่าเป็นโรคปวดศีรษะคลัสเตอร์?

แพทย์จะวินิจฉัยโรคปวดศีรษะคลัสเตอร์จาก

  • ลักษณะของอาการปวดศีรษะ
  • อาการร่วมต่างๆ
  • และธรรมชาติของอาการปวดที่ปวดตรงเวลา เป็นต้น
  • โดยไม่มีความจำเป็นต้องตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองหรือเอม อาร์ ไอ สมอง

รักษาปวดศีรษะคลัสเตอร์อย่างไร?

การรักษาโรคปวดศีรษะคลัสเตอร์ ที่ได้ผลดีระดับหนึ่ง คือ ให้การสูดดมออกซิเจน ขนาด 10 ลิตร ผ่านหน้ากากให้ออกซิเจน (Oxygen mask with bag 10 ลิตรต่อนาที) ซึ่งได้ผลพอๆ กับการให้ยาแก้ปวดศีรษะคลัสเตอร์ เช่น ยากลุ่มทริปแทน (Triptans), ยาสเตียรอยด์

ซึ่งกรณีเกิดเป็นซ้ำๆ จะจำเป็นต้องได้ยาป้องกันอาการปวดศีรษะระยะยาว เช่น เวอราพามิล (Verapamil), ท๊อพพิราเมต (Topiramate), โซเดียมวาวโปเอต (Sodium valproate), ลิเที่ยม (Lithium) และอาจร่วมกับการผ่าตัด เช่น ผ่าตัดเส้นประสาทอ็อคซิปิตอล (Occipital nerve block)

โรคนี้รุนแรงถึงชีวิตหรือไม่? รักษาได้หายหรือไม่?

ปวดศีรษะคลัสเตอร์ เป็นกลุ่มอาการปวดศีรษะที่ตัวโรคไม่รุนแรง แต่ก็มีผู้ป่วยส่วนน้อยที่อาจเกิดจากเนื้องอกสมอง หรือเลือดออกในสมองได้ ซึ่งจะก่อให้เกิดอาการคล้ายปวดศีรษะคลัสเตอร์ แต่พบน้อยมากๆ และลักษณะก็แตกต่างกัน คือ ปวดศีรษะรุนแรงเป็นระยะเวลานาน โดยไม่มีช่วงหายปวด และตรวจพบความผิดปกติอื่นๆ ทางระบบประสาท ร่วมด้วย

โรคปวดศีรษะคลัสเคอร์นี้ สามารถรักษาให้หายได้โดยการให้ยาเพื่อป้องกันการเป็นซ้ำ ซึ่งยาที่ใช้ป้องกัน คล้ายกับยาป้องกันการเป็นซ้ำของปวดศีรษะไมเกรน

โรคปวดศีรษะคลัสเตอร์ก่อผลผลค้างเคียงแทรกซ้อนอะไรบ้าง?

โรคปวดศีรษะคลัสเตอร์นี้ไม่ส่งผลต่อความจำ หรือ ต่อโอกาสการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง (อัมพฤกษ์ อัมพาต) หรือโรคอื่นๆทางระบบประสาท

กรณีมีอาการของโรคปวดศีรษะคลัสเตอร์ที่บ้านไม่สามารถเดินทางมาโรงพยาบาลจะทำอย่างไร?

ถ้าเกิดอาการปวดศีรษะคลัสเตอร์ที่บ้าน อาจทานยาคาร์เฟอก๊อต (Cafergot) ที่เป็นยารักษาไมเกรน หรือ ยาเพร็ดนิโซโลน (Prednisolone) ก็ได้ ถ้ามีออกซิเจนก็ดมออกซิเจน หลังจากนั้นให้พยายามหาทางมาโรงพยาบาล

เมื่อเป็นโรคปวดศีรษะคลัสเตอร์ควรดูแลตนเองอย่างไร?

ในขณะที่มีอาการปวดศีรษะคลัสเตอร์ ให้ทานยารักษาอาการปวด ถ้ามีออกซิเจนก็ให้ดมออกซิเจน และถ้ามีอาการเป็นชุดนานหลายๆวัน หรือเป็นซ้ำบ่อยๆก็จำเป็นต้องทานยาเพื่อป้องกันการเป็นซ้ำร่วมด้วย ร่วมกับการมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนแพทย์นัด

เมื่อเป็นโรคปวดศีรษะคลัสเตอร์มีข้อห้ามอะไรบ้าง?

ข้อห้ามเมื่อเป็นโรคปวดศีรษะคลัสเตอร์เช่นเดียวกับปวดศีรษะไมเกรน คือ ควรหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นให้เกิดอาการ เช่น

  • เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • การสูบบุหรี่
  • การใช้น้ำหอมกลิ่นแรง
  • การออกกำลังกายอย่างหนัก เป็นต้น
  • ส่วนการดื่มกาแฟนั้น ไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่าก่อให้เกิดอาการบ่อยขึ้นหรือลดอาการปวดศีรษะได้

ป้องกันไม่ให้เกิดอาการปวดศีรษะคลัสเตอร์ได้หรือไม่?

ไม่มีข้อมูลทางการศึกษาชัดเจนว่า จะสามารถป้องกัน ไม่ให้เกิดอาการปวดศีรษะคลัสเตอร์นี้ได้ แต่ถ้าเราดูแลสุขภาพให้ดี ก็น่าจะช่วยป้องกันอาการปวดศีรษะทั่วๆไปได้ ซึ่งรวมถึงการปวดศีรษะคลัสเตอร์ด้วย เช่น

  • ออกกำลังกายพอควรกับสุขภาพสม่ำเสมอ
  • นวดคลายกล้ามเนื้อต้นคอ และขมับ
  • ใช้สายตาให้เหมาะสม แสงสว่างเพียงพอในการอ่านหนังสือ
  • ทำงาน นอนเป็นเวลา พักผ่อนให้เหมาะสม
  • ไม่ดื่มแอลกอฮอล์

คำแนะนำ

อาการปวดศีรษะ เป็นอาการที่พบบ่อย บางครั้งก็เพียงรู้สึกรำคาญ แต่บางครั้งก็ปวดรุนแรง ดังนั้น ถ้ามีอาการปวดศีรษะผิดปกติ หรือไม่มั่นใจว่าเป็นการปวดปกติทั่วไป ก็ควรปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อให้ได้คำแนะนำที่เหมาะสมต่อไป