ปวดท้องจากตกไข่ (Painful ovulation or Mittelschmerz)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

อาการปวดท้องจากการตกไข่คืออะไร?

ปวดท้องจากการตกไข่/ปวดท้องจากตกไข่ ในภาษาอังกฤษเรียกว่า Painful ovulation หรือ Mid cycle pain ส่วนภาษาเยอรมันใช้คำว่า Mittelschmerz ซึ่งแปลว่า ตรงกลาง ตามอาการที่มีการปวดท้องน้อยประมาณกลางๆของรอบเดือน/รอบประจำเดือน หรือช่วงประมาณ 2 สัปดาห์ก่อนเป็นประจำเดือนรอบถัดไปซึ่งตรงกับช่วงที่มีการตกของไข่ออกจากรังไข่ในสตรีที่มีประจำเดือนมาสม่ำเสมอทุก 28 - 30 วันนั่นเอง

ทั้งนี้พบอาการปวดท้องจากตกไข่ได้ประมาณ 1 ใน 5 ของสตรีวัยมีประจำเดือน

เหตุใดการตกไข่จึงทำให้เกิดอาการปวดท้อง?

กลไกที่ทำให้เกิดอาการปวดเมื่อเกิดการตกไข่ เกิดจากการที่เมื่อมีการเจริญเติบโตและพัฒนาขยายตัวของฟองไข่จากขนาดเล็กไปเป็นขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ผนังของฟองไข่ขยายตัว ทำให้เกิดอาการปวดท้องได้ จนกระทั่งฟองไข่สมบูรณ์เต็มที่พร้อมที่จะตกออกจากรังไข่ ผนังของรังไข่จะแตกออกและมีของเหลวในฟองไข่หลุดออกมาด้วย และบางครั้งอาจมีเลือดออกจากการฉีกขาดของเส้นเลือดเล็กๆบริเวณนี้ ทำให้เกิดการระคายเคืองเยื่อบุช่องท้อง จึงกระตุ้นให้เกิดอาการปวด/ปวดท้องร่วมด้วย

สังเกตได้อย่างไรว่าเป็นอาการปวดท้องจากตกไข่?

หากเป็นอาการปวดท้องจากการตกไข่จะสังเกตได้โดยที่จะมีอาการบริเวณท้องน้อยด้านข้าง ข้างใดข้างหนึ่ง (คือข้างที่มีไข่ตก) หรือสลับไปมาในช่วงกลางรอบเดือนแต่ละเดือน หรือระหว่างการมีประจำเดือน 2 ครั้งจะมีอาการเป็นซ้ำๆสม่ำเสมอ และอาการปวดส่วนใหญ่จะเป็นอยู่ไม่นานเกิน 2 - 3 วัน ซึ่งหากปวดไม่มากก็จะไม่เป็นปัญหา แต่หากปวดท้องมากควรต้องรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล เพราะในบางครั้งอาจเป็นโรคอื่นที่ทำให้เกิดอาการปวดท้องคล้ายกับการตกไข่ เช่น อุ้งเชิงกรานอักเสบ (การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน), การตั้งครรภ์นอกมดลูก (ท้องนอกมดลูก), ไส้ติ่งอักเสบ (ถ้าปวดท้องน้อยด้านขวา), ซึ่งโรคดังกล่าวต้องการการรักษาที่ทันท่วงที

อาการปวดท้องจากการตกไข่อันตรายหรือไม่? ก่อผลข้างเคียงอย่างไร?

อาการปวดท้องจากการตกไข่ส่วนมากไม่มีอันตราย มักไม่ก่อผลข้างเคียง มักมีอาการไม่รุนแรง สตรีส่วนมากจะไม่มีอาการเจ็บ ยกเว้นกรณีที่การตกไข่ใกล้เส้นเลือด เมื่อผนังรังไข่ฉีกขาดทำให้เส้นเลือดฉีกขาดไปด้วย จึงอาจทำให้เลือดออกในช่องท้อง (เหตุการณ์นี้พบได้น้อยมาก) ได้ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่อันตราย บางครั้งต้องทำการผ่าตัดเข้าไปหยุดจุดเลือดออก หรืออาจทำให้วินิจฉัยผิดว่าเป็นการแตกของการตั้งครรภ์นอกมดลูก/ท้องนอกมดลูกได้

แพทย์วินิจฉัยอาการปวดท้องจากการตกไข่อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยปวดท้องจากการตกไข่ได้โดย

  • ประวัติทางการแพทย์: ประวัติอาการจะเกิดเฉพาะในในสตรีวัยเจริญพันธุ์ที่มีอาการ ปวดท้องน้อยด้านใดด้านหนึ่งหรือสลับด้าน และเป็นในช่วงระยะเวลาเดิมๆของแต่ละรอบเดือน (ช่วงกลางระหว่างรอบเดือน) อาการปวดท้อง/ปวดท้องน้อยอาจไม่มากหรือปวดพอรำคาญ นอนพักหรือรับประทานยาแก้ปวดสามารถหายได้
  • การตรวจร่างกาย: ตรวจร่างกายทั่วไปมักปกติ ตรวจภายในมักปกติ มักตรวจพบว่ามีมูกที่ปากมดลูกมากกว่าปกติ มูกจะใส ไม่เหนียว เป็นสิ่งที่บอกว่ามีการตกไข่จากอิทธิพลของฮอร์โมนเอสโตรเจน อาจมีกดเจ็บที่ปีกมดลูกด้านที่มีการตกไข่ได้ไม่มาก และคลำไม่พบก้อนผิด ปกติในท้องน้อยหรือในช่องท้อง
  • การตรวจทางห้องปฏิบัติการ: ไม่มีวิธีการตรวจที่เฉพาะเจาะจง ไม่มีความผิดปกติของผลการตรวจต่างๆ เช่น
    • ตรวจเลือด ซีบีซี/CBC  
    • การตรจปัสสาวะ
    • หากทำการตรวจอัลตราซาวด์ภาพท้องน้อยอาจพบว่า มีการแฟบของถุงฟองไข่ที่ตกออกไป และอาจพบมีของเหลวเล็กน้อยหลังตัวมดลูก

ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อปวดท้องจากการตกไข่?

หากมีอาการปวดท้องน้อยตามลักษณะที่กล่าวมาแล้ว 

  • สามารถรับประทานยาบรรเทาปวด/ยาแก้ปวด/ ยาลดไข้ พาราเซตามอล (Paracetamol)ได้ 
  • หากอาการปวดท้องยังไม่บรรเทา สามารถรับประทานยากลุ่มต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (เอ็นเสด) เช่นยา  พอนสแตน (Ponstan)/ เมเฟนามิค (Mefenamic)  หรือ ไอบูโปรเฟน (Ibuprofen) ครั้งละ 1 เม็ดได้ 
  • นอกจากนี้ การที่ทำให้ไม่มีการตกไข่ก็จะไม่มีอาการปวดเกิดขึ้น จึงสามารถใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดรักษาภาวะปวดท้องจากการตกไข่ได้เพราะการรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดจะทำให้ไม่มีการตกไข่

*อย่างไรก็ตาม ถ้าอาการปวดท้องเลวลงหรือมีอาการมาก ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล เพราะดังกล่าวแล้วใน ‘หัวข้อ อันตรายจากการเกิดอาการนี้’ ว่า กรณีเช่นนี้อาจเป็นอาการปวดท้องจากสาเหตุอื่นที่อันตรายได้

ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?

อาการปวดจากการตกไข่ส่วนมากมักมีอาการไม่รุนแรง สามารถบรรเทาด้วยยาดังที่กล่าวแล้วใน หัวข้อ การดูแลตนเอง แต่อย่างไรก็ตามหากมีอาการต่อไปนี้ควรรีบไปพบแพทย์/ไปโรง พยาบาล

  1. รับประทานยาแก้ปวดต่างๆที่กล่าวมาแล้วไม่ได้ผล
  2. มีอาการปวดท้องนานกว่า 3 วัน
  3. มีอาการผิดปกติอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น
  • มีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด
  • มีตกขาว มีสี -กลิ่นผิดปกติ
  • มีไข้
  • ซีด
  • วิงเวียนศีรษะ
  • เป็นลม

หากปวดท้องต้องระวังเป็นโรคอื่นที่ร้ายแรงได้หรือไม่?

โรคที่สามารถทำให้ปวดท้องน้อยด้านใดด้านหนึ่งมีหลายโรค (แต่ส่วนมากจะไม่เกิดซ้ำๆในช่วงเวลาเดิม) เช่น

  1. โรคไส้ติ่งอักเสบจะปวดท้องน้อยด้านขวา มักมีอาการไข้ มีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย
  2. โรคตั้งครรภ์ที่ท่อนำไข่หรือท้องนอกมดลูก สามารถปวดท้องน้อยข้างใดข้างหนึ่งขึ้นกับพยาธิสภาพว่าการตั้งครรภ์เกิดที่ท่อนำไข่ข้างใด ไม่มีไข้ มีอาการเจ็บ/ปวดท้องมาก มีภาวะซีด
  3. โรคอุ้งเชิงการอักเสบ (การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน) เฉียบพลัน มีอาการปวดท้องน้อยทั้ง 2 ข้าง มีไข้ มีตกขาวผิดปกติ
  4. โรครังไข่บิดขั้ว  อาการปวดท้องน้อยจะเกิดขึ้นโดยฉับ พลัน ปวดท้องน้อยที่ข้างใดข้างหนึ่งตามพยาธิสภาพว่าเกิดที่ถุงน้ำรังไข่ข้างใด ไม่มีไข้ คลำท้องน้อยจะมีอาการเจ็บมาก

ปวดท้องจากการตกไข่เกิดในสตรีทุกคนหรือไม่?

สตรีที่ปกติจะต้องมีการตกไข่ทุกคนเมื่อเข้าสู่วัยสาว(วัยเจริญพันธุ์) แต่สตรีทุกคนเหล่า นั้นไม่จำเป็นต้องมีอาการปวดท้องน้อยจากการตกไข่ สตรีในวัยเจริญพันธุ์ (20 - 45 ปี) จะมีการตกไข่ค่อนข้างสม่ำเสมอจึงอาจพบภาวะปวดท้องนี้ได้บ่อย อาการปวดมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับการทนได้ต่อความเจ็บปวด (Pain threshold) ของแต่ละคน และในบางรอบเดือนที่ไม่มีการตกไข่ก็จะไม่มีอาการปวด การตกไข่จะไม่สม่ำเสมอในช่วงเริ่มเปลี่ยนจากเด็กมาเป็นวัยรุ่นและใน ช่วงที่จะใกล้หมดประจำเดือน ซึ่งทำให้ในช่วงวัยเหล่านี้ไม่ค่อยมีปัญหาในเรื่องปวดท้องน้อยจากการตกไข่

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Mittelschmerz [2022,Feb26]
  2. https://www.emedicinehealth.com/mittelschmerz/article_em.htm [2022,Feb26]
  3. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK549822/ [2022,Feb26]
  4. https://www.verywellhealth.com/what-is-mittelschmerz-2721896 [2022,Feb26]