บิวพรีนอร์ฟีน (Buprenorphine)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือยาอะไร?

ยาบิวพรีนอร์ฟีน (Buprenorphine) คือ ยากลุ่มโอปิออยด์ (ยาออกฤทธิ์เหมือนฝิ่นและอยู่ในกลุ่มยาเสพติด)ที่ทางแพทย์ใช้บำบัดรักษาอาการเจ็บปวดรุนแรงระดับปานกลางถึงระดับสูง ถูกพัฒนาขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1969 (พ.ศ.2512) โดยนักวิทยาศาสตร์จากบริษัทนานาชาติที่ผลิตยาและเครื่องใช้ทางการแพทย์ในประเทศอังกฤษชื่อ บริษัท Reckitt Benckiser จนยาสามารถ วางจำหน่ายได้ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1978 (พ.ศ. 2521) ที่ประเทศอังกฤษ

ทางคลินิก ใช้ยาบิวพรีนอร์ฟีนในการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดที่ต้องเสพยาในขนาดสูงๆ อีกทั้งช่วยบรรเทาอาการปวดทรมานแบบเฉียบพลันและแบบเรื้อรังจากโรคต่างๆ เช่น ในโรคมะเร็ง มักผลิตออกมาในรูปแบบ ยาอมใต้ลิ้น, ยาฉีด, พลาสเตอร์ปิดผิวหนัง, ยาพ่นจมูก, ยาเหน็บทวาร, ไปจนถึงยารับประทาน, ซึ่ง’ชื่อการค้าของยานี้’ที่สามารถพบเห็นได้ เช่น Buprenex, Subutex, Suboxone, Butrans เป็นต้น

การดูดซึมยาบิวพรีนอร์ฟีนเข้าสู่ร่างกายโดยการอมใต้ลิ้นอยู่ที่ประมาณ 55% ซึ่งเมื่อยาเข้าสู่กระแสเลือดจะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีนประมาณ 96% โดยตับจะเป็นผู้เปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีของยา และต้องใช้เวลาเฉลี่ย 37 ชั่วโมงในการกำจัดยา 50% ออกจากร่างกายโดยผ่านไปกับอุจจาระและปัสสาวะ

ในบางประเทศแถบยุโรปจัดให้การใช้ยานี้อยู่ภายใต้ข้อควบคุมกฎหมายของยาเสพติด หากพิจารณาถึงข้อห้ามใช้ ผลข้างเคียง ข้อควรระวังที่มีมากมาย รวมถึงกลุ่มผู้ป่วยที่สามารถใช้ยานี้ได้อย่างปลอดภัยและเกิดประโยชน์สูงสุดนั้น จะต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น

บิวพรีนอร์ฟีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

บิวพรีนอร์ฟีน

ยาบิวพรีนอร์ฟีนมีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้:

  • บรรเทาอาการปวดตั้งแต่ระดับกลางจนถึงขั้นรุนแรง
  • เป็นยาร่วมโดยใช้ก่อนได้รับยาสลบเมื่อต้องเข้ารับการผ่าตัด
  • ช่วยลดอาการปวดระหว่างการผ่าตัด

บิวพรีนอร์ฟีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาบิวพรีนอร์ฟีน คือ ตัวยาจะออกฤทธิ์เข้าไปจับกับตัวรับ(Receptor)ในสมองที่เรียกว่า Mu-opioid receptors และออกฤทธิ์ต่อต้านบรรเทาอาการปวดได้ ซึ่งจะออกฤทธิ์อยู่ได้เป็นเวลานานกว่ายามอร์ฟีน(Morphine)

บิวพรีนอร์ฟีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาบิวพรีนอร์ฟีนในประเทศไทยมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:

  • ยาเม็ดชนิดอมใต้ลิ้น ขนาด 200 ไมโครกรัม/เม็ด
  • ยาฉีด ขนาด 0.3 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
  • ยาฉีด ขนาด 0.3 และ 0.6 มิลลิกรัม/ 2 มิลลิลิตร
  • พลาสเตอร์ปิดผิวหนัง ขนาดความแรง 7.5, 10, 15 และ 20 ไมโครกรัม/ชั่วโมง

บิวพรีนอร์ฟีนมีขนาดใช้ยาอย่างไร?

ยาบิวพรีนอร์ฟีน มีขนาดยาสำหรับบรรเทาอาการปวดระดับกลาง – รุนแรง เช่น:

  • ผู้ใหญ่: อมใต้ลิ้น 200 - 400 ไมโครกรัมทุก 6 - 8 ชั่วโมง
  • เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก)ที่อายุมากกว่า 6 ปีขึ้นไป:
    • ช่วงน้ำหนักตัว 37.5 - 50 กิโลกรัม อมใต้ลิ้น 200 - 300 ไมโครกรัมทุก 6 - 8 ชั่วโมง
    • ช่วงน้ำหนักตัว 25 - 37.5 กิโลกรัม อมใต้ลิ้น 100 - 200 ไมโครกรัมทุก 6 - 8 ชั่วโมง
    • ช่วงน้ำหนักตัว 16 - 25 กิโลกรัม อมใต้ลิ้น 100 ไมโครกรัมทุก 6 - 8 ชั่วโมง
    • ช่วงน้ำหนักตัวอื่นๆอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ โดยประเมินจาก ความรุนแรงของ อาการปวด สุขภาพโดยรวม และน้ำหนักตัวของเด็ก
    • เด็กที่อายุต่ำกว่า 6 ปี: ไม่สามารถใช้ยารูปแบบนี้ได้เพราะยังอมยาใต้ลิ้นไม่เป็น

*****หมายเหตุ:

  • การใช้ยานี้ในรูปแบบยาฉีด จะใช้ในสถานพยาบาล ส่วนรูปแบบยาพลาสเตอร์ปิดผิวหนัง ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาจะขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา
  • ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้นไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาบิวพรีนอร์ฟีน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาบิวพรีนอร์ฟีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาบิวพรีนอร์ฟีน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานในครั้งถัดไปให้รับประทานยาตามปกติ ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณการรับประทานเป็น 2 เท่า

บิวพรีนอร์ฟีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาบิวพรีนอร์ฟีนสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง) เช่น

  • มีฤทธิ์ของการสงบประสาท (ยาคลายเครียด)
  • คลื่นไส้
  • วิงเวียนเหมือนบ้านหมุน
  • มีความดันโลหิตต่ำ
  • ปวดหัว
  • กดการหายใจ เช่น หายใจตื้น เบา แผ่ว จนถึงหยุดหายใจได้
  • หัวใจเต้นช้า หรือไม่ก็หัวใจเต้นเร็ว
  • ปัสสาวะขัด
  • อาเจียน
  • ง่วงนอน
  • หงื่อออกมาก
  • จิตใจสับสน
  • ปากคอแห้ง
  • อาจมีอาการถอนยา /ลงแดงเกิดขึ้นได้
  • อาจมีอาการโคม่าได้

มีข้อควรระวังการใช้บิวพรีนอร์ฟีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาบิวพรีนอร์ฟีน เช่น

  • ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้กับผู้ป่วยโรคพิษสุราเรื้อรังชนิดเฉียบพลัน ผู้ป่วยโรคลมชัก ผู้ที่ได้รับบาดแผลบริเวณศีรษะ ผู้ที่มีภาวะความดันในสมองสูง/ความดันในกะโหลกศีรษะสูง ผู้ที่มีภาวะอุดกั้นของทางเดินหายใจ (เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง/โรคซีโอพีดีระยะที่รุนแรง) รวมถึงผู้ป่วยที่ใช้ยาแก้ปวดที่มีฤทธิ์เสพติดอยู่แล้ว
  • ระวังการใช้ยากับผู้ป่วยโรคตับ โรคไต ผู้ป่วยโรคหืด ผู้ป่วยโรคต่อมลูกหมากโต ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตต่ำ ผู้ป่วยที่มีภาวะ/โรคลำไส้แปรปรวน ผู้ป่วยด้วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • ระวังการใช้ยากับเด็กแรกคลอด ทารก สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาบิวพรีนอร์ฟีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

บิวพรีนอร์ฟีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาบิวพรีนอร์ฟีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาบิวพรีนอร์ฟีน ร่วมกับ ยาหรือสารที่มีฤทธิ์กดการทำงานของสมองจะยิ่งส่งผลกดการทำงานของสมองมากยิ่งขึ้น จนอาจเกิดอันตรายติดตามมา เช่น หายใจแผ่วเบาจนถึงหยุดหายใจ ภาวะหัวใจล้มเหลว จึงห้ามใช้ยาร่วมกัน ซึ่งกลุ่มยาหรือสารดังกล่าว เช่น
    • แอลกอฮอล์
    • ยาชา/ยาสลบ
    • ยาคลายความวิตกกังวล (ยาคลายเครียด)
    • ยานอนหลับ
    • ยากันชัก
    • ยาในกลุ่ม TCAs

ควรเก็บรักษาบิวพรีนอร์ฟีนอย่างไร?

ควรเก็บยาบิวพรีนอร์ฟีน:

  • เก็บยาระหว่างอุณหภูมิ 15 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำ
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

บิวพรีนอร์ฟีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาบิวพรีนอร์ฟีน มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Addnok (แอดนอก) Rusan Healthcare Pvt Ltd
Bunogesic (บิวโนเจสิก) Rusan Healthcare Pvt Ltd
Buprenex (บิวพรีเน็ก) Reckitt Benckiser Pharmaceuticals Inc
BuTrans (บิวทรานส์) Bard Pharmaceuticals Limited
Buprene (บิวพรีน) Tribhawan injectables
Buprigesic (บิวไพรเจสิก) Neon Laboratories Ltd
Buprine (บิวไพรน์) Paksons Pharmaceuticals (P) Ltd.
Buprinor (บิวไพรนอร์) Astra Zeneca Pharma India Limited
Morgesic (มอร์เจสิก) Samarth Pharma Pvt Ltd.
Norphin (นอร์ฟีน) Unichem Laboratories Ltd.
Pentorel (เพนทอเรล) Khandelwal Laboratories Ltd.
Subutex (ซูบิวเทค) Reckitt Benckiser
Talgesic (ทาลเจสิก) Indus Pharma Pvt. Ltd.
Tidigesic (ไทไดเจสิก) Sun Pharmaceutical Industries Ltd.

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Buprenorphine#History [2021,July24]
  2. https://www.everydayhealth.com/drugs/buprenorphine [2021,July24]
  3. https://www.everydayhealth.com/drugs/subutex [2021,July24]
  4. https://www.medindia.net/drug-price/buprenorphine.htm [2021,July24]
  5. https://www.mims.co.uk/drugs/poisoning-and-drug-dependence/opiate-dependence/buprenorphine [2021,July24]
  6. https://www.mims.com/malaysia/drug/info/buprenorphine?mtype=generic [2021,July24]
  7. https://www.drugs.com/buprenorphine.html[2021,July24]
  8. https://www.butrans.com/hcpportal/f?p=BUTRANSRX:HOME:0 [2021,July24]
  9. https://www.medicines.org.uk/emc/medicine/17008 [2021,July24]
  10. https://www.accessdata.fda.gov/scripts/cder/daf/index.cfm?event=report.page [2021,July24]