น้ำมันงา (Sesame oil)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

น้ำมันงา (Sesame oil) เป็นน้ำมันพืชที่สกัดได้จากเมล็ดงา ทางประเทศอินเดียตอนใต้นำมาใช้สำหรับผัด ทอดอาหาร แถบตะวันออกกลางนิยมใช้น้ำมันงามาแต่งกลิ่น เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใช้ปรุงแต่งอาหาร ธรรมชาติของน้ำมันงาจะมีรสชาติและกลิ่นคล้ายถั่ว นอกจากจะมีคุณค่าทางอาหารแล้ว น้ำมันงายังถูกนำมาใช้เป็นยาทางการแพทย์ทางเลือก หรือใช้เป็นน้ำมันนวดตัว

มนุษย์คุ้นเคยและรู้จักน้ำมันงามาเป็นเวลามากกว่า 5,000 ปีมาแล้ว ธรรมชาติของต้นงาเป็นพืชที่ทนแล้งได้ดีกว่าพืชไร่ประเภทอื่นๆ การสกัดน้ำมันงาในปัจจุบันจะเริ่มหันมาใช้วิธีสกัดเย็นเพื่อรักษาคุณภาพของน้ำมันงาให้มีอายุการใช้งานได้ยาวนานขึ้น นักวิทยาศาสตร์ได้พยายามค้นคว้าหาประโยชน์จากน้ำมันงาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี ค.ศ.2017 (พ.ศ.2560) ได้มีงานวิจัยใช้น้ำมันงามาเป็นยาต้านการอักเสบ/ยาแก้อักเสบ และบำบัดภาวะหลอดเลือดแดงแข็งซึ่งยังต้องรอข้อสรุปในอนาคตอันใกล้

น้ำมันงามีกี่ประเภทอะไรบ้าง?

น้ำมันงา

สามารถแบ่งน้ำมันงาออกเป็นประเภทต่างๆได้ดังนี้

  • Unrefined Sesame Oil เป็นน้ำมันงาดิบที่ยังไม่ผ่านการสกัดแยกความบริสุทธิ์ มีสีเหลืองอัมพัน มีสารต้านอนุมูลอิสระ เกลือแร่ และวิตามิน สูง อาจมีกลิ่นหืนเพียง เล็กน้อย เหมาะที่จะนำมาใช้ผัดอาหาร
  • Refined Sesame Oil เป็นน้ำมันงาที่ผ่านกระบวนการสกัดแยกความบริสุทธิ์ มีจุดเกิดควัน(Smoke point)หรืออุณหภูมิที่ทำให้เกิดควันเมื่อได้รับความร้อนสูงกว่า Unrefined Sesame Oil สามารถนำมาใช้ผัดและทอดอาหาร
  • Toasted Sesame Oil เป็นน้ำมันงาที่ได้จากเมล็ดงาที่ผ่านการคั่วด้วยความร้อน มาแล้ว มีลักษณะเป็นสีน้ำตาลทอง มีจุดเกิดควัน(Smoke point)ต่ำกว่าน้ำมันงา 2 ประเภทแรก ไม่เหมาะที่จะนำมาใช้ผัดหรือทอดอาหาร แต่ด้วยมีกลิ่นแรงจึงใช้เพียงเล็กน้อยเท่านั้นเพื่อเติมปรุงแต่งกลิ่นให้กับอาหาร

องค์ประกอบของสารอาหารในน้ำมันงามีอะไรบ้าง?

สารอาหารในน้ำมันงามีดังนี้ เช่น

1. น้ำมันงา 100 กรัม สามารถให้พลังงาน 884 กิโลแคลอรี

2. ไขมันในน้ำมันงาปริมาณ 100 กรัม ประกอบด้วย

  • ไขมันอิ่มตัว 14.2 กรัม
  • ไขมันไม่อิ่มตัวชนิดที่มีพันธะคู่ 1 ตำแหน่ง 39.7 กรัม
  • ไขมันไม่อิ่มตัวชนิดที่มีพันธะคู่ 2 ตำแหน่งขึ้นไป 41.7 กรัม

3. ปริมาณวิตามินมีดังนี้

  • วิตามินอี 9%
  • วิตามินเค 13%

ประโยชน์ของน้ำมันงามีอะไรบ้าง?

ทั่วไปประโยชน์ของน้ำมันงา ได้แก่

  • น้ำมันงาที่นำมาผัดหรือทอดอาหารจะมีสีเหลืองอ่อนใส อาจมีกลิ่นและรสชาติ คล้ายถั่ว บางประเทศในเอเชียใช้น้ำมันงาเป็นเครื่องปรุงรส เช่น จีนและญี่ปุ่น หรือในอินเดียใช้เป็นส่วนผสมของแกงนานาชนิด
  • ในศาสตร์ของการแพทย์แผนโบราณ/ยาแผนโบราณ อย่างอายุรเวท(Ayurvedic medicine) ใช้น้ำมันงามาทาถูนวดเพื่อช่วยลดการอักเสบของผิวหนัง ด้วยในน้ำมันงา มีส่วนประกอบของกรดไลโนเลอิก(Linoleic acid) ที่มีฤทธิ์ต่อต้านแบคทีเรีย และต้านอนุมูลอิสระ
  • ทางอุตสาหกรรมสกัดน้ำมันงาบริสุทธิ์ เพื่อนำมาใช้เป็นตัวทำละลายของยาฉีด ใช้เป็นส่วนผสมของเครื่องสำอาง ใช้ในสูตรตำรับของยาฆ่าแมลง
  • สำหรับน้ำมันงาที่มีคุณภาพต่ำลงมา ก็ถูกนำไปใช้เป็นส่วนประกอบของ สบู่ สีทาบ้าน และสารสารหล่อลื่นต่างๆ

น้ำมันงาดีต่อสุขภาพอย่างไร?

ประโยชน์ของน้ำมันงาต่อสุขภาพ ได้แก่

1. การใช้น้ำมันงากับเส้นผม จะช่วยทำให้เส้นผมเงางาม น้ำมันงายังมีฤทธิ์ต้านแบคทีเรีย จึงสนับสนุนให้หนังศีรษะมีสุขภาพแข็งแรง

2. การทาน้ำมันงาซึ่งมีวิตามินอีเป็นองค์ประกอบที่ผิวหนัง ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นและเพิ่มความยืดหยุ่นของผิวหนัง เป็นการป้องกันรอยเหี่ยวย่น และยังป้องกันการทำลายเซลล์ ผิวหนังจากแสงแดด

3. ใช้น้ำมันงาเป็นน้ำมันพืชในการปรุงอาหารจะช่วยป้องกันโรคหัวใจ ด้วยน้ำมันงามีไขมันไม่อิ่มตัว รวมถึงสาร Sesamol และ Sesamin กลุ่มกรดไขมันดังกล่าวช่วยทำให้ไขมันชนิดเลวอย่างLDLในเลือดต่ำลง จึงลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ หรือภาวะหัวใจขาดเลือด

4. ทองแดง สังกะสี และแคลเซียม เป็นกลุ่มเกลือแร่ที่พบในน้ำมันงา ธาตุเหล่านี้มีสสนับสนุนการเจริญเติบโตของมวลกระดูกในร่างกาย หรือเร่งการซ่อมแซมกระดูกที่มีความเสียหายแตกหัก การบริโภคน้ำมันงาจึงมีส่วนป้องกันโรคกระดูกพรุนได้

5. ไทโรซีน(Tyrosine) เป็นกรดอะมิโนชนิดหนึ่งที่มีอยู่ในน้ำมันงา ในร่างกายใช้ไทโรซีนมาเป็นสารตั้งต้นในการสังเคราะห์สารสื่อประสาทอย่างเช่น Dopamine, Noradrenaline ,และ Adrenaline ซึ่งสารสื่อประสาทดังกล่าวมีผลในการลดความวิตกกังวล

6. การอมน้ำมันงากลั้วปากสัก 2 นาที จะช่วยป้องกันคราบหินปูน ทำให้ฟันดูขาว ป้องกันมิให้เชื้อแบคทีเรียบางชนิดอย่างเช่น Streptococcus เจริญเติบโต ซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อสุขภาพของช่องปาก

7. น้ำมันงาช่วยเร่งการผลิตเม็ดเลือดแดง ด้วยมีส่วนประกอบของธาตุทองแดงซึ่งจำเป็นในการสร้างเม็ดเลือดแดง การมีปริมาณเม็ดเลือดแดงอย่างเหมาะสมจะทำให้ร่างกายแข็งแรง

8. น้ำมันงามีฤทธิ์ต้านแบคทีเรีย จึงถูกนำมาประยุกต์ใช้โดยทาผิวหนังเพื่อบำบัดอาการของโรคสะเก็ดเงิน และโรคกลาก

จากข้อมูลข้างต้น ประโยชน์บางประการของน้ำมันงาดังกล่าวข้างต้น ก็ยังไม่มีผลรับรองทางคลินิกอย่างชัดเจน ผู้อ่านบทความจึงควรใช้วิจารณญาณมาประกอบกัน การทดลองใช้น้ำมันงาเพื่อสุขภาพที่ไม่ทำให้เกิดความเดือดร้อนต่อร่างกาย ย่อมอยู่ในวิสัยที่สามารถกระทำได้

กรณีที่ใช้น้ำมันงาแล้วเกิดอาการแพ้ อาจเกิดจากการตอบสนองของร่างกายในแต่ละบุคคล หรือมาจากการใช้น้ำมันงาที่มีการปนเปื้อน หรือหมดอายุแล้ว

เก็บรักษาน้ำมันงาอย่างไร?

สามารถเก็บรักษาน้ำมันงาได้ดังนี้

  • สามารถเก็บน้ำมันงาภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น หรือจะเก็บในตู้เย็นที่มีอุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บในช่องแช่แข็งตู้เย็น ด้วยน้ำมันงามีจุดเยือกแข็ง เฉลี่ย -5(ลบห้า) องศาเซลเซียส การเก็บน้ำมันงาในช่องแช่แข็งตู้เย็นจะทำให้ น้ำมันงาแข็งตัวและไม่สามารถนำไปใช้งานได้
  • เก็บน้ำมันงาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
  • เก็บน้ำมันงาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ไม่ทิ้งน้ำมันงาลงในแหล่งน้ำหรือคูคลองตามธรรมชาติ

รูปแบบผลิตภัณฑ์ของน้ำมันงามีอะไรบ้าง?

รูปแบบผลิตภัณฑ์ของน้ำมันงามีดังนี้ เช่น

  • น้ำมันงาที่บรรจุในแคปซูลนิ่มพร้อมรับประทานในรูปแบบอาหารเสริม
  • น้ำมันงาที่บรรจุขวด สำหรับใช้เป็นน้ำมันพืช
  • น้ำมันงาที่บรรจุขวด สำหรับใช้เป็น น้ำมันทาตัว ทาเส้นผม

เลือกใช้น้ำมันงาอย่างไร?

ควรเลือกใช้น้ำมันงา ดังนี้

  • ก่อนซื้อผลิตภัณฑ์น้ำมันงาที่ใช้เป็นอาหารเสริม หรือใช้เป็นน้ำมันพืชเพื่อปรุงอาหาร ควรตรวจสอบเลขที่ผลิต วัน เดือน ปีที่ผลิต วันหมดอายุ สามารถดูเลข อย.(สำนักคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข) ที่กำกับมากับฉลากผลิตภัณฑ์จากเว็บไซต์

https://draxe.com/is-coconut-water-good-for-you/

เมื่อเข้าเว็บไซด์ ให้พิมพ์เลข อย. ที่ระบุในฉลากผลิตภัณฑ์ จะต้องปรากฏชื่อผลิตภัณฑ์ ที่ขึ้นทะเบียนไว้กับ อย.

  • ใช้น้ำมันงาให้ถูกประเภท ห้ามนำน้ำมันงาที่ออกแบบมาเพื่อทาหรือนวดตัว มาใช้ปรุงอาหาร เพราะเสี่ยงต่อการเกิดพิษ/ผลข้างเคียงรุนแรง ด้วยได้รับสารประกอบอื่นที่ไม่ใช่สารอาหารที่ใช้บริโภคกัน
  • น้ำมันงามีจุดเกิดควัน(Smoke point)ที่ 177 องศาเซลเซียส ซึ่งไฟจากเตาแก๊สสามารถทำความร้อนได้เกือบ 2,000 องศาเซลเซียส ดังนั้นการนำน้ำมันงามาใช้ทอดอาหารจึงต้องใช้ไฟอ่อนๆ การเร่งความร้อนสูงจะทำให้น้ำมันงาไหม้และเกิดควัน สูญเสียคุณค่าทางอาหาร และทำให้ได้สารประกอบที่ก่อให้เกิดโทษต่อร่างกายตามมา
  • ไม่บริโภคหรือใช้น้ำมันงาที่หมดอายุหรือมีกลิ่นเหม็นหืน
  • หยุดใช้น้ำมันงาทันที เมื่อเกิดอาการแพ้

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Sesame_oil#Nutrients [2018,July21]
  2. https://www.organicfacts.net/health-benefits/oils/sesame-oil.html [2018,July21]
  3. http://www.mapi.com/ayurvedic-knowledge/massage/ayurvedic-benefits-of-sesame-massage-oil.html [2018,July21]
  4. https://healthyforgood.heart.org/eat-smart/articles/polyunsaturated-fats [2018,July21]
  5. https://en.wikipedia.org/wiki/Tyrosine [2018,July21]
  6. https://www.youtube.com/watch?v=qgiTOkl1wus [2018,July21]
  7. https://www.doesitgobad.com/does-sesame-oil-go-bad/ [2018,July21]
  8. http://www.chemicalbook.com/ChemicalProductProperty_US_CB6125673.aspx [2018,July21]
  9. http://www.recipe4living.com/articles/how_to_choose_the_right_cooking_oil.html [2018,July21]
  10. http://www.foodnetworksolution.com/wiki/word/1528/smoke-point-%E0%B8%88%E0%B8%B8%E0%B8%94%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%99 [2018,July21]