น้ำตาเทียม (Artificial tears)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 29 ธันวาคม 2563
- Tweet
- บทนำ
- น้ำตาเทียมมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- น้ำตาเทียมมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- น้ำตาเทียมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- น้ำตาเทียมมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- รูปแบบของน้ำตาเทียมต่างกันอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมหยอดน้ำตาเทียมควรทำอย่างไร?
- น้ำตาเทียมมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้น้ำตาเทียมอย่างไร?
- น้ำตาเทียมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาน้ำตาเทียมอย่างไร?
- น้ำตาเทียมมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ตาแห้ง (Dry eye)
- คอนแทคเลนส์ (Contact lens)
- กลุ่มอาการโจเกรน กลุ่มอาการเอสเอส โรคปากแห้งตาแห้ง (Sjogren’s Syndrome: SS)
- กระจกตาถลอก (Corneal abrasion)
- กระจกตาอักเสบ (Keratitis) กระจกตาเป็นแผล (Corneal ulcer)
- ต่อมน้ำตามัยโบเบียนทำงานผิดปกติ หรือ โรคเอ็มจีดี (Meibomian gland dysfunction: MGD)
บทนำ
น้ำตาเทียม (Artificial tears) ถูกผลิตขึ้นด้วยวัตถุประสงค์ที่จะนำมาเป็นสารหล่อลื่นลูกตา ใช้รักษาและบรรเทาอาการตาแห้งเนื่องจากมีน้ำตาน้อย รักษาอาการระคายเคืองในลูกตา หรือใช้หล่อลื่นลูกตาขณะใส่คอนแทคเลนส์
ส่วนประกอบหลักของน้ำตาเทียม เป็นสารเซลลูโลส (Cellulose) ที่พบมากในพืช จากนั้นนำ มาผ่านกระบวนการผลิต คัดกรองและทำการฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ที่อาจปนเปื้อนมากับวัตถุดิบ หากอ่านที่ฉลากของน้ำตาเทียม เราอาจจะเห็นสารสำคัญที่ทำให้เกิดฤทธิ์ของการรักษา/ของการหล่อลื่นลูกตา ได้แก่ Carboxymethyl, Cellulose, Hydroxypropyl cellulos, Hydroxyprepyl methycellulose หรือได้จากการนำสารเมมเบรนโปรตีน (Membrane protein) มาสังเคราะห์ช่วยการหล่อลื่นเช่น กรด Hyaluronic acid หรือแม้แต่สารโพลิเมอร์สังเคราะห์ (Synthetic polymer) เช่น Polyvinyl alcohol
โดยทั่วไปน้ำตาเทียมจัดอยู่ในหมวดยาทั่วไป/ยาแผนปัจจุบัน ชนิดยาใช้ภายนอก ไม่ได้อยู่ในกลุ่มวัตถุออกฤทธิ์ยาเสพติด หรือยาควบคุมพิเศษ แต่สำหรับบางชื่อการค้าก็จะจดทะเบียนเป็นยาใช้ภายนอกชนิดยาอันตราย อย่างไรก็ตามการใช้ยาได้อย่างปลอดภัย มีประสิทธิภาพในการรักษา ยังคงต้องอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์ที่เป็นผู้ดูแลผู้ป่วยเท่านั้น
น้ำตาเทียมมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
น้ำตาเทียมมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- ใช้รักษาอาการตาแห้ง มีน้ำตาน้อย
- บรรเทาอาการแผลที่กระจกตา (กระจกตาอักเสบ)
- ใช้หล่อลื่นลูกตาหลังผ่าตัดต้อกระจกหรือหลังการทำเลซิค (LASIK)
- บรรเทาอาการกระจกตาถลอก
- ใช้เป็นตัวช่วยรักษาอาการของต้อหิน
- น้ำตาเทียมบางสูตรตำรับถูกผลิตขึ้นมาเพื่อประกอบกับการใช้คอนแทคเลนส์
- บรรเทาอาการระคายเคืองของดวงตาอันเนื่องมาจากฝุ่นและควันบุหรี่ อาการตาแห้งเนื่องจากรังสีความร้อน
น้ำตาเทียมมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของน้ำตาเทียม หรือสารหล่อลื่นลูกตาส่วนใหญ่ ตัวยาจะออกฤทธิ์โดยจะทำตัวเป็นฟิล์ม (Film, เยื่อบางๆ) บางๆและมีความหนืดในตัวเอง ทำให้เกิดการจับและหล่อลื่นที่ผิวของดวงตา ลดอาการระคายเคือง และรู้สึกสบายภายในลูกตาหลังหยอดน้ำตาเทียม
น้ำตาเทียมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
น้ำตาเทียมมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาหยอดตา: รูปแบบขวด ขนาดบรรจุ 5, 15, และ 30 มิลลิลิตร ใช้ได้นาน 1 เดือน
- รูปแบบเป็นแท่งใช้หยอดตาได้ไม่เกิน 1 วัน (Monodose eye drop): ขนาดบรรจุ 0.3, 0.6, และ 0.8 มิลลิลิตร
- น้ำตาเทียม รูปแบบขี้ผึ้งป้ายตา (เป็นหลอด): ขนาดบรรจุ 3.5 กรัม ใช้ได้นานตามข้อกำหนด ในเอกสารกำกับยาของแต่ละบริษัทผู้ผลิต
น้ำตาเทียมมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
น้ำตาเทียมมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น
ก. ขนาดการใช้:
- สำหรับอาการตาแห้ง ระคายเคืองเล็กน้อย: ให้หยอดยาวันละ 4 ครั้ง
- สำหรับอาการตาแห้งรุนแรง: ให้หยอดยาวันละ 10 - 12 ครั้ง/วัน
- สำหรับน้ำตาเทียมชนิดขี้ผึ้ง: ให้ป้ายยาวันละ 1 - 2 ครั้ง/วัน แนะนำให้ป้ายตาก่อนนอน
อนึ่ง:
- การเลือกใช้น้ำตาเทียมแบบหยอดตาทั้ง ชนิดขวด ชนิดใช้ครั้งเดียว หรือชนิดขี้ผึ้ง อาจพิจารณาถึงความสะดวกเหมาะสมกับการใช้ชีวิตประจำวัน หากผู้ป่วยมีความสะดวกที่จะใช้ชนิด หยอดตาได้หลายครั้งในระหว่างวัน ก็สามารถเลือกใช้ชนิดรูปแบบขวดหรือชนิดรูปแบบแท่ง ด้วยผลิตภัณฑ์ทั้ง 2 แบบมีความหนืดน้อย จึงรบกวนเรื่องการมองเห็นน้อยกว่าชนิดขี้ผึ้ง ในทางตรงกันข้าม ถ้าในระหว่างวันไม่มีความสะดวกของการใช้น้ำตาเทียมชนิดขวดและชนิดแท่งใช้วันเดียว ให้เลี่ยงมาใช้ชนิดขี้ผึ้งโดยป้าย 1 ครั้งก่อนนอน
- ขนาดการหยอดยารวมถึงความถี่ของการใช้ยาในแต่ละวัน ขึ้นกับชนิดของสารสำคัญในน้ำตาเทียมของผู้ผลิตในแต่ละบริษัท ควรหยอดน้ำตาเทียมตามคำแนะนำของแพทย์ ประกอบกับทำความเข้าใจวิธีใช้จากเอกสารกำกับยาของยาแต่ละบริษัทผู้ผลิต
ข.วิธีใช้น้ำตาเทียม: วิธีการใช้/การหยอด/ป้ายน้ำตาเทียม ให้ปฏิบัติ เช่น
- เอียงศีรษะเล็กน้อย โดยอยู่ในมุมที่ถนัดที่สุด
- ดึงเปลือกตาล่างลงเบาๆ เพื่อเปิดพื้นที่ของการหยอดน้ำตาเทียม
- มองที่ปลายหลอดของยาหยอดตาและวางในตำแหน่งที่ห่างจากดวงตาพอประมาณ
- บีบหลอดยาของน้ำตาเทียมให้ยาหยดตรงบริเวณดวงตา จำนวนหยดให้ใช้ตามคำสั่งของแพทย์ผู้รักษา
- หลับตาประมาณ 2 - 3 นาที โดยเอียงศีรษะเพื่อไม่ให้น้ำตาเทียมไหลออกมาจากดวงตา
- หลังหยอดน้ำตาเทียม ควรหลีกเลี่ยงการกระพริบตาถี่ๆ (เพราะจะทำให้น้ำตาเทียมไหลออกจากตาเร็วขึ้น) และใช้นิ้วมือคลึงเบาๆบริเวณหัวมุมของเปลือกตาเพื่อช่วยกระจายน้ำตาเทียม
- หากมีการใช้ยาหยอดตาชนิดอื่นร่วมด้วย ควรเว้นระยะเวลาห่างกันอย่างน้อยประมาณ 10 นาที
*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ
รูปแบบของน้ำตาเทียมต่างกันอย่างไร?
เปรียบเทียบการบริหารยาของน้ำตาเทียมตามรูปแบบของผลิตภัณฑ์ได้ เช่น
ก. น้ำตาเทียมรูปแบบแท่งใช้วันเดียว (Monodose eye drops):
- แบ่งบรรจุเป็นหลอดเล็กๆและสะดวกต่อการใช้แต่ละวัน
- การใช้หยอดตาแต่ละครั้งจะได้ปริมาณน้ำตาเทียมเท่าๆกันของการหยอดแต่ละครั้ง
- สามารถแบ่งพกพาได้ตามจำนวนวันที่ต้องหยอดตา
- โอกาสปนเปื้อนจากสิ่งสกปรกภายนอกน้อยกว่า ด้วยเหตุที่เปิดภาชนะและใช้หยอดตาเพียง 1 วัน
- ไม่มีสารกันบูด จึงลดโอกาสตาแพ้สารกันบูด แต่อาจแพ้สารเพิ่มความหนืดของน้ำตาเทียมได้
ข. น้ำตาเทียมชนิดรูปแบบขวดใช้ได้นาน 1 เดือน:
- สามารถใช้หยอดดวงตาได้หลายครั้ง หลังเปิดใช้งานแล้วไม่ควรใช้เกิน 1 เดือน
- หลังการเปิดใช้หยอดตาแต่ละครั้ง หากปิดขวดเก็บไม่มิดชิด อาจจะเกิดการปนเปื้อนจากสิ่ง แวดล้อมได้ง่าย ต้องเพิ่มความระมัดระวังด้านการจัดเก็บและการใช้หยอดตาในครั้งถัดไป ต้องระมัด ระวังความเสี่ยงของการติดเชื้อที่ดวงตาติดตามมา
- สารกันบูด ตาจึงอาจแพ้สารกันบูดได้
- ราคาตามท้องตลาดถูกกว่าชนิดใช้ 1 วันมาก
ค. น้ำตาเทียมชนิดรูปแบบขี้ผึ้ง:
- มีความหนืดมากกว่าน้ำตาเทียมชนิดขวดและชนิดใช้ 1 วัน จึงทำให้ความถี่ในการหยอดยาน้อยกว่าน้ำตาเทียมชนิดขวดและชนิดใช้ 1 วัน
- ในสูตรตำรับอาจพบองค์ประกอบของ White petrolatum Lanolin หรือ Mineral oil เพื่อทำให้ฟิล์มของน้ำตาเทียมชนิดขี้ผึ้งจับที่ผิวดวงตาได้นานขึ้น จึงให้ความรู้สึกเหนอะหนะที่ตา
- มักจะรบกวนการมองเห็นมากกว่าชนิดขวดและชนิดใช้ครั้งเดียว จึงแนะนำให้หยอดตาในช่วงก่อนนอน
- ผู้ที่ใช้คอนแทคเลนส์ไม่ควรใช้น้ำตาเทียมชนิดขี้ผึ้ง ด้วยจะรบกวนการมองเห็นภาพและอาจทำให้คุณภาพของคอนแทคเลนส์ลดลงไป
- ต้องจัดเก็บยาหลังการเปิดใช้ด้วยความระมัดระวัง เพราะมีความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนจากสิ่ง แวดล้อมได้ง่าย
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงน้ำตาเทียม ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และ เภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น หยอดยาแล้วมีอาการ ปวด แสบ ระคายเคือง ตา
- มีโรคประจำตัวที่เกี่ยวข้องกับตา รวมทั้งกำลังหยอดยาอะไรอยู่ เพราะน้ำตาเทียมอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาหยอดตาชนิดอื่นๆที่ใช้อยู่ก่อน
หากลืมหยอดน้ำตาเทียมควรทำอย่างไร?
หากลืมหยอดยา สามารถหยอดยาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการหยอดยาในเวลาถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณการหยอดยาเป็น 2 เท่า
น้ำตาเทียมมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
น้ำตาเทียมอาจก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ซึ่งอาการข้างเคียงดังกล่าวอาจมีสาเหตุจากสารอื่นๆที่เป็นองค์ประกอบร่วมในสูตรตำรับยา เช่น สารกันบูด สารเพิ่มความหนืดของยา ทั้งนี้ผลข้างเคียงที่อาจพบได้ เช่น
- ทำให้การมองเห็นภาพไม่ค่อยชัดเจน
- อาจก่อให้เกิดอาการระคายเคืองตา
- ทำให้เกิดการแพ้แสงสว่าง
- ทำให้เปลือกตาบวม
- มีอาการคล้ายกับตาแฉะ
มีข้อควรระวังการใช้น้ำตาเทียมอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้น้ำตาเทียม เช่น
- ห้ามใช้กับผู้แพ้ยา/แพ้น้ำตาเทียมชนิดนั้นๆ
- ห้ามใช้น้ำตาเทียมที่มีการเปลี่ยนสีไปจากมาตรฐานเดิมของผู้ผลิต
- ห้ามนำน้ำตาเทียมที่ออกแบบการใช้เพียง 1 วันกลับมาใช้ใหม่ หากใช้หยอดตาไม่หมดให้ทิ้งทำลายหลังการใช้
- ระวังการแพ้ส่วนประกอบของน้ำตาเทียม เช่น สารยับยั้งเชื้อ/สารกันบูด (Preservatives)
- น้ำตาเทียมที่ใช้กับผู้ใส่คอนแทคเลนส์ ควรเป็นสูตรตำรับสำหรับคอนแทคเลนส์โดยเฉพาะ
- ยังไม่มีข้อมูลของผลกระทบกับการใช้น้ำตาเทียมในสตรีมีครรภ์ หรือสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตรและในเด็ก ด้วยเพราะน้ำตาเทียมเป็นยาที่ใช้เฉพาะที่ แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาและตัดสินใจใน การใช้ยากับกลุ่มผู้ป่วยดังกล่าวเป็นกรณีไป
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมน้ำตาเทียมด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารทุกชนิด และสมุนไพร ต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด เสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
น้ำตาเทียมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
น้ำตาเทียม จัดเป็นยาใช้ภายนอกที่ใช้กับตา จึงมีข้อมูลที่ก่อปฏิกิริยาระหว่างยากับยารับประ ทานน้อยมาก ยกเว้นอาจรบกวนการดูดซึมของยาหยอดตาชนิดอื่น (เมื่อต้องใช้ร่วมกัน ควรหยอดยาแต่ละชนิดให้ห่างกันอย่างน้อยประมาณ 10-15 นาที)
แต่ หากพบอาการผิดปกติหลังการใช้ยาหยอดตา ให้ รีบปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที
ควรเก็บรักษาน้ำตาเทียมอย่างไร?
สามารถเก็บน้ำตาเทียม เช่น
- ชนิดรูปแบบหยอด: เก็บยาที่อุณหภูมิระหว่าง 15 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
- ชนิดรูปแบบขี้ผึ้ง: เก็บยาที่อุณหภูมิระหว่าง 15 - 30 องศาเซลเซียส
- เก็บยาทุกรูปแบบ:
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/ แสงแดด ความร้อน และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
น้ำตาเทียมมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
น้ำตาเทียม มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Cellufresh MD/Celluvisc MD (เซลลูเฟรช เอ็มดี/เซลลูวิส เอ็มดี) | Allergan |
Cellufresh/Celluvise (เซลลูเฟรช/เซลลูวิส) | Allergan |
Endura(เอ็นดูรา) | Allergan |
Duratears (ดูราเทีย) | Alcon |
Optal-Tears (ออพตัล-เทียร์) | Olan-Kemed |
Genteal Gel (เจนเทียล เจล) | Alcon |
Hialid (ไฮอะลิด) | Santen |
Lac-Oph (แล็ค-ออฟ) | Semg Thai |
Lacryvisc (ลาครีวิส) | Alcon |
Liposic (ลิโพซิค) | Bausch & Lomb |
Liquifilm (ลิควิฟิล์ม) | Allergan |
Natear (นาเทียร์) | Silom Medical |
Opsil Tears (ออฟซิล เทียร์) | Silom Medical |
Optive (ออฟทีบ) | Allergan |
Refresh (รีเฟรช) | Allergan |
Tears Naturale Free (เทียร์ แนเชอรอล) | Alcon |
Tears Naturale ll (เทียร์ แนเชอรอล 2) | Alcon |
VislubeA (วิสลูบเอ) | TRB Chemedica |
Vidisic (วิดิซิค) | Bauch & Lomb |
บรรณานุกรม
1 http://en.wikipedia.org/wiki/Artificial_tears [2020,Dec26]
2 http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fThailand%2fdrug%2finfo%2fVislube%2f%3ftype%3dfull#Contraindications [2020,Dec26]
3 http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fUSA%2fdrug%2finfo%2fpolyvinyl%2520alcohol%2f%3ftype%3dfull%26mtype%3dgeneric#Dosage[2020,Dec26]
4 http://www.drugs.com/mtm/artificial-tears.html [2020,Dec26]
5 http://www.drugs.com/sfx/artificial-tears-side-effects.html[2020,Dec26]
6 http://dailymed.nlm.nih.gov/dailymed/lookup.cfm?setid=1a8640de-e2bb-48e5-b664-e0c157a2337d[2020,Dec26]
7 http://www.healthcentral.com/medications/r/medications/artificial-tears-opht-799/dosage [2020,Dec26]
8 http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fthailand%2fdrug%2finfo%2fDuratears%2f [2020,Dec26]
9 http://www.webmd.com/drugs/2/drug-10427/artificial-tear-ointment-opht/details#uses [2020,Dec26]