นิ่วในไต (Kidney stone)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 17 พฤศจิกายน 2561
- Tweet
- บทนำ
- นิ่วในไตเกิดได้อย่างไร?
- อะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดนิ่วในไต?
- นิ่วในไตมีอาการอย่างไร?
- แพทย์วินิจฉัยนิ่วในไตได้อย่างไร?
- รักษานิ่วในไตอย่างไร?
- นิ่วในไตมีผลข้างเคียงอย่างไร?
- นิ่วในไตรุนแรงไหม?
- ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อมีนิ่วในไต? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
- ป้องกันนิ่วในไตได้อย่างไร?
- บรรณานุกรม
- นิ่วในท่อไต (Ureteric stone)
- ไต (Kidney)
- โรคไต (Kidney disease)
- โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ (Urinary tract infection)
- ปวดหลัง: ปวดหลังจากโรคหมอนรองกระดูกสันหลัง (Back pain: Spinal disc herniation)
- ปวดท้อง (Abdominal pain)
- โรคไตเรื้อรัง (Chronic kidney disease)
- ไตวาย ไตล้มเหลว (Renal failure)
- การล้างไต การบำบัดทดแทนไต (Renal replacement therapy)
บทนำ
นิ่วในไต(Kidney stone) คือโรคที่เกิดจากสารเคมีต่างๆในปัสสาวะ ตกตะกอน แข็งตัว และสะสมจนเป็นก้อน ที่เรียกว่า ‘นิ่ว หรือ ก้อนนิ่ว(Stone)’ โดยเกิดภายในไตส่วนที่เรียกว่า ‘กรวยไต’ ซึ่งเป็นส่วนเก็บกักน้ำปัสสาวะที่กรองออกมาจากเนื้อเยื่อไต ก่อนที่จะปล่อยลงใน’ท่อไต’ ทั่วไป สารที่ตกตะกอนมักเป็น สารเคมีที่อยู่ในรูปของเกลือของแร่ธาตุต่างๆที่ปนอยู่ในน้ำปัสสาวะ ซึ่งการเกิดก้อนนิ่วในไตจะส่งผลให้มีการสะสมของแบคทีเรียในนิ่ว/ในกรวยไต ส่งผลต่อเนื่องให้กรวยไตอักเสบติดเชื้อได้ง่าย รวมถึงก้อนนิ่วจะอุดกั้นทางเดินปัสสาวะ จนในที่สุดส่งผลให้เซลล์เนื่อเยื่อไตบาดเจ็บเสียหายเรื้อรังจนสูญเสียการทำงาน และเกิดเป็นไตวายในที่สุด
อนึ่ง นิ่วในไต มีชื่อภาษาอังกฤษได้หลายชื่อ ได้แก่ Kidney calculi, Renal stone, Renal calculi, Nephrolithiasis, Renal lithiasis, Kidney stone disease
นิ่วในไต เป็นโรคพบทั่วโลกรวมทั้งในบ้านเรา ซึ่งในประเทศที่เจริญแล้วพบโรคนี้ได้ประมาณ 0.2% ของประชากร ในเอเซียพบได้ประมาณ 2 - 5% ประมาณ 20%ของประชา กรในซาอุดิอาราเบีย และประมาณ 50% ของคนเป็นนิ่วในไตภายใน 10 ปีมีโอกาสเกิดนิ่วในไตซ้ำได้อีกหลังรักษาหายแล้วและจะสูงเป็น 75% ภายใน 20 ปี
นิ่วในไตพบได้ทุกอายุ ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ แต่พบได้สูงกว่าในช่วงอายุ 30 - 40 ปี โดยพบในผู้ชายสูงกว่าผู้หญิงประมาณ 2 - 3 เท่า
นิ่วในไต อาจเกิดกับไตเพียงข้างเดียว โดยโอกาสเกิดใกล้เคียงกันทั้งไตซ้ายและขวา หรือเกิดนิ่วพร้อมกันทั้งสองไต แต่ความรุนแรงของนิ่วในทั้งสองไตมักไม่เท่ากันขึ้นกับขนาดและตำแหน่งของนิ่ว
นิ่วในไตมีได้หลายชนิด ที่พบบ่อยมี 4 ชนิดคือ
- ชนิดเกิดจากแคลเซียม
- ชนิดเกิดจากการติดเชื้อในไต
- ชนิดเกิดจากกรดยูริค (Uric acid) และ
- ชนิดเกิดจากสารซีสตีน (Cystine/กรดอะมิโนชนิดหนึ่งมีมากในอาหารโปรตีน เช่น เนื้อสัตว์ นม เป็ด ไก่) ซึ่งในคนคนเดียวกันอาจมีนิ่วได้หลายชนิดปะปนกันอยู่
ก. นิ่วชนิดเกิดจากแคลเซียม: พบได้บ่อยที่สุดประมาณ 75 - 85% ของนิ่วในไตทั้งหมด ซึ่งชนิดพบบ่อยคือ แคลเซียมออกซาเลต (Calcium oxalate, สาร oxalate เป็นสารพบในพืช โดยเฉพาะผัก ยอดผักต่างๆ และถั่ว) เป็นนิ่วชนิดพบบ่อยในผู้ชาย เป็นนิ่วที่ตรวจเห็นภาพได้จากการเอกซเรย์ภาพไต
ข. นิ่วชนิดเกิดจากการติดเชื้อในไต: เรียกว่าชนิด Struvive stone ซึ่งเป็นสารประกอบของ แอมโมเนียม แมกนีเซียม และฟอสเฟต (Ammonium, magnesium, phosphate) พบนิ่วชนิดนี้ได้ประมาณ 10 - 15% ของนิ่วในไตทั้งหมด เป็นนิ่วพบบ่อยในผู้หญิงและในคนที่มีการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะบ่อย เช่น ใส่สายสวนปัสสาวะเป็นประจำ (เป็นอัมพาต) จัดเป็นนิ่วที่อันตรายเพราะโตได้เร็ว มีก้อนขนาดใหญ่ เป็นรูปเขากวาง ซอกซอนไปตามรูปร่างของกรวยไต และมักก่อให้เกิดการอุดกั้นทางเดินปัสสาวะ นิ่วชนิดนี้ตรวจพบเห็นได้โดยการเอกซเรย์ไตเช่นกัน
ค.นิ่วชนิดเกิดจากกรดยูริค (Uric acid): พบได้ประมาณ 5 - 10% ของนิ่วในไตทั้งหมด พบเกิดในผู้ชายบ่อยกว่าในผู้หญิง มักเกิดร่วมกับโรคเกาต์ (โรคที่มีกรดยูริคในร่างกายสูง) เป็นนิ่วที่ตรวจไม่เห็นโดยการเอกซเรย์ไต ต้องใช้การตรวจด้วยอัลตราซาวด์ภาพไต
ง. นิ่วชนิดเกิดจากสารซีสตีน(Cystine): พบได้ประมาณ 1% ของนิ่วในไตทั้งหมด มักเกิดจากมีความผิดปกติทางพันธุกรรมที่ทำให้ร่างกายขับสารซีสตีนออกในปัสสาวะสูงขึ้น พบได้เท่ากันทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย และเป็นชนิดตรวจไม่เห็นจากการเอกซเรย์ไต ตรวจพบจากอัลตราซาวด์ภาพไตเช่นกัน
นิ่วในไตเกิดได้อย่างไร?
นิ่วในไต เกิดได้จากมีการตกตะกอนของสารต่างๆในไตมากกว่าปกติ เมื่อนานเข้าจึงรวม ตัวกันเป็นก้อนซึ่งคือ ‘นิ่ว’ นั่นเอง ดังนั้นก้อนนิ่วจึงสามารถโตขึ้นได้เรื่อยๆเมื่อยังไม่มีการรักษา หรือเกิดได้ซ้ำอีกหลังการรักษา ถ้าดูแลรักษาควบคุมปัจจัยเสี่ยง/สาเหตุได้ไม่ดีพอ ซึ่งโดยทั่ว ไป การตกตะกอนมักเกิดในกรวยไตเพราะเป็นตำแหน่งเก็บกักปัสสาวะจากไตก่อนปล่อยลงสู่ท่อไต แต่บางครั้งอาจเกิดในตัวเนื้อเยื่อไตได้ ซึ่งการตกตะกอนมากเกินปกติของสารดังกล่าวในปัสสาวะมีสาเหตุได้จาก
- มีสารที่ก่อนิ่วเข้มข้นในน้ำปัสสาวะ เช่น อาจจากบริโภคสารนั้นๆในปริมาณมากต่อเนื่อง และ/หรือดื่มน้ำน้อย
- มีการอุดกั้นทางเดินปัสสาวะ เช่น มีก้อนเนื้อหรือทางเดินปัสสาวะตีบแคบจากสาเหตุต่างๆ เช่น จากการอักเสบ หรือจากความผิดปกติแต่กำเนิด ปัสสาวะจึงกักคั่งค้างในไต สารต่างๆดัง กล่าวจึงตกตะกอนจับตัวกันเป็นก้อนนิ่วได้ง่าย
- จากการอักเสบเรื้อรังของเนื้อเยื่อไตและ/หรือของกรวยไต ส่งผลให้เกิดการตายของเซลล์และแบคทีเรีย ซึ่งจะสะสมเป็นแกนให้สารดังกล่าวตกตะกอนต่อเนื่องจึงเกิดเป็นก้อนนิ่วขึ้น
อะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดนิ่วในไต?
ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดนิ่วในไต คือ
- กินอาหารมีสารที่ก่อการตกตะกอนเป็นนิ่วปริมาณสูงต่อเนื่องเช่น กินอาหารมีออกซาเลต สูง (เช่น โยเกิร์ต ถั่วรูปไต ถั่วเหลือง งา ลูกนัท ผลเบอร์รีต่างๆ มะเดื่อ แครอด บีทรูท มะเขือ ผักกะหล่ำ หน่อไม้ฝรั่ง บรอคโคลิ หัวหอม มะเขือเทศ ผักกะเฉด และยอดผักทั้ง หลาย) หรือมีกรดยูริคสูง (เช่น เนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์ อาหารทะเล ปลาทะเล หอยแครง น้ำเกรวี/Gravy และจากพืชบางชนิดเช่น หน่อไม่ฝรั่ง ผักขม ยอดผัก และถั่วชนิดมีรูปร่างคล้ายไต/ถั่วดำ/ถั่วแดง) และ/หรือมีสารซีสตีนสูง
- ดื่มน้ำน้อย
- กลั้นปัสสาวะเสมอ
- เคลื่อนไหวร่างกายน้อยเช่น เป็นอัมพฤกษ์/อัมพาต การใส่สายสวนปัสสาวะตลอดเวลา
- ไตอักเสบติดเชื้อเรื้อรัง
- โรคเรื้อรังบางชนิดที่ส่งผลให้ในเลือด/ร่างกายมีสารต่างๆที่ก่อนิ่วสูงกว่าปกติเช่น โรคของ ต่อมพาราไทรอยด์ (Parathyroid gland, ต่อมไร้ท่อขนาดเล็กอยู่ใต้ต่อมไทรอยด์ มีหน้าที่ควบคุมการทำงานของแคลเซียม)ทำงานเกิน หรือโรคเกาต์ซึ่งมีกรดยูริคสูงในร่างกาย
- โรคลำไส้อักเสบเรื้อรังเพราะปัสสาวะมักจะน้อย จากร่างกายเสียน้ำจากอุจจาระบ่อย/ท้อง เสียเรื้อรัง ความเข็มข้นของสารต่างๆในปัสสาวะจึงสูงขึ้น จึงตกตะกอนได้ง่ายขึ้น
- อาจจากดื่มน้ำที่มีฟลูออไรด์ (Fluoride) สูง
- อาจจากกินวิตามิน ซี วิตามิน ดี และแคลเซียมเสริมอาหารปริมาณสูงต่อเนื่อง ดังนั้นการกินวิตามินเกลือแร่เหล่านี้เสริมอาหาร ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ
- พันธุกรรม: เพราะพบโรคนี้ในคนประวัติครอบครัวเป็นนิ่วในไตสูงกว่าคนในครอบครัวปกติ
นิ่วในไตมีอาการอย่างไร?
อาการที่พบได้บ่อยของนิ่วในไตคือ ไม่มีอาการ แต่จะมีอาการเมื่อมีการติดเชื้อซ้ำซ้อน และ/หรือเมื่อก้อนนิ่วอุดกั้นทางเดินปัสสาวะ
ซึ่งเมื่อมีอาการ อาการที่พบได้คือ
- ปวดหลังเรื้อรังด้านมีนิ่ว บางครั้งอาจปวดหลังหรือปวดท้องรุนแรงเมื่อมีก้อนนิ่วหลุดเข้าท่อไต (โรคนิ่วในท่อไต)
- ปัสสาวะเป็นเลือด
- ปัสสาวะขุ่น หรืออาจเป็นหนองเมื่อมีการติดเชื้อรุนแรง
- บางครั้งอาจมีนิ่วก้อนเล็กๆปนมากับปัสสาวะ
- มีไข้ร่วมกับปวดหลัง ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน เมื่อมีการติดเชื้อ/โรคติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะร่วมด้วย
แพทย์วินิจฉัยนิ่วในไตได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยนิ่วในไตได้จาก ประวัติอาการ การตรวจร่างกาย การตรวจปัสสาวะ การตรวจภาพไตด้วยเอกซเรย์ และอาจมีการตรวจสืบค้นอื่นๆเพิ่มเติมขึ้นกับอาการผู้ป่วยและดุลพินิจของแพทย์ เช่น ตรวจอัลตราซวาด์ภาพไต/ช่องท้อง
รักษานิ่วในไตอย่างไร?
แนวทางการรักษานิ่วในไตคือ การกำจัดนิ่วออกจากไต รักษาสาเหตุ และรักษาประคับ ประคองตามอาการ
ก. การเอานิ่วออกจากไต: ขึ้นกับขนาดก้อนนิ่ว เช่น
1. ถ้าก้อนนิ่วขนาดเล็ก เช่น เล็กกว่า 5 มิลลิเมตร หรือ ไม่เกิน 1 ซม.
- นิ่วมักหลุดออกได้เองจากดื่มน้ำมากๆตามแพทย์แนะนำโดยเฉพาะกรณีนิ่วขนาดไม่เกิน5มม. และ/หรือ
- อาจร่วมกับยาละลายนิ่ว(Stone dissolving drugs)ซึ่งจะต้องขึ้นกับชนิดและขนาดของนิ่ว เช่น การใช้ยา Allopurinol ร่วมกับยาSodium bicarbonate ในกรณีที่นิ่วเกิดจากกรดยูริค เป็นต้น และ/หรือ
- อาจร่วมกับยาขับนิ่ว(Stone expulsion drugs) เช่น ยาในกลุ่ม Alpha blocker เพื่อช่วยให้ไต/ท่อไตบีบตัวสูงขึ้น นิ่วจึงหลุดออกมาเองได้เร็วขึ้น
อนึ่ง วิธีการเหล่านี้จะขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์เป็นแต่ละกรณีผู้ป่วย เพราะยาแต่ละชนิดจะมีข้อจำกัด/ข้อห้ามใช้ในผู้ป่วยหลายได้หลากหลาย เช่น กรณีมีการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะร่วมด้วย เป็นต้น ทั่วไป ยาต่างๆเหล่านี้จะใช้เฉพาะตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น ห้ามซื้อยามาใช้เอง
2. การสลายนิ่วด้วยหัตการทางการแพทย์ ที่รวมถึง
- การสลายนิ่วด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงที่เมื่อใช้ซ้ำหลายครั้ง สามารถจะสลายนิ่วที่ก้อนใหญ่ขึ้น แต่ใหญ่ไม่มาก ทั่วไปมักใช้ในกรณีก้อนนิ่วขนาดไม่เกิน2-3ซม.
- หรือผ่าตัดไต เพื่อเอานิ่วออกเมื่อก้อนนิ่วขนาดโตมากสลายนิ่วไม่ได้
- หรือผ่าตัดเอาไตที่มีนิ่วออกทั้งไต เมื่อไตอักเสบเรื้อรังจนเป็นแหล่งเชื้อโรคและไตไม่สามารถทำงานได้อีกต่อไป
ข. การรักษาสาเหตุ: เมื่อทราบสาเหตุของโรคนิ่ว เช่น
- รักษาโรคเกาต์เมื่อมีสาเหตุจากโรคเกาต์
- ดื่มน้ำมากๆมากกว่าปกติอย่างน้อยวันละ 8 - 10 แก้วหรือตามแพทย์แนะนำกรณีดื่มน้ำน้อย/วัน
- ใช้ยาลดกรดยูริคในเลือด กรณีมีกรดยูริคในเลือดสูง เช่นยา Allopurinol
ค. การรักษาประคับประคองตามอาการ: เช่น ยาบรรเทาปวด/ยาแก้ปวด เมื่อมีอาการปวดท้อง/ปวดหลัง เป็นต้น
นิ่วในไตมีผลข้างเคียงอย่างไร?
ผลข้างเคียงจากนิ่วในไตคือ
- เกิดโรคนิ่วในท่อไต หรือ
- โรคไตอักเสบติดเชื้อแบคทีเรียเรื้อรัง ซึ่งอาจรุนแรงเป็นการติดเชื้อในกระแสโลหิต เป็นเหตุให้เสียชีวิต (ตาย) ได้ หรือเป็นสาเหตุให้ไตเสียการทำงานจึงเกิดโรคไตเรื้อรัง และ
- ภาวะไตวาย เป็นสาเหตุเสียชีวิตได้เช่นกัน
นิ่วในไตรุนแรงไหม?
นิ่วในไตเมื่อขนาดก้อนนิ่วยังเล็ก เป็นโรคไม่รุนแรงรักษาได้ แต่เมื่อก้อนนิ่วใหญ่จนก่อการอุดกั้นทางเดินปัสสาวะ อักเสบติดเชื้อและ/หรือเกิดโรคไตเรื้อรัง จัดเป็นโรครุนแรง เป็นสา เหตุให้เสียชีวิต (ตาย) ได้
ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อมีนิ่วในไต? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
การดูแลตนเองเมื่อเป็นนิ่วในไตและเพื่อป้องกันนิ่วย้อนกลับเป็นซ้ำหลังรักษานิ่วหายแล้ว และการพบแพทย์ได้แก่
- ปฏิบัติตามแพทย์/พยาบาลแนะนำ
- กินยาต่างๆให้ถูกต้องครบถ้วน ไม่ขาดยา ไม่หยุดยาเอง
- ดื่มน้ำสะอาดมากๆอย่างน้อยวันละ 2 ลิตรหรือตามแพทย์/พยาบาลแนะนำ
- ไม่กลั้นปัสสาวะนาน พยายามเคลื่อนไหวร่างกายเสมอ
- จำกัดอาหารที่มีสาร ออกซาเลต กรดยูริค และสารซีสตีนสูง
- กินวิตามิน ซี วิตามิน ดี และ แคลเซียม เฉพาะตามคำแนะนำของแพทย์
- สังเกตสีและลักษณะของปัสสาวะเสมอเพื่อรีบพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อมีความผิดปกติเกิด ขึ้นเช่น ขุ่นมากหรือเป็นเลือด และเมื่อมีนิ่วหลุดออกมา ควรเก็บไว้แล้วนำไปพบแพทย์ เพื่อศึกษาทางห้องปฏิบัติการว่าเป็นนิ่วชนิดใด เพื่อการรักษาและการดูแลตนเองได้ถูก ต้อง ซึ่งเมื่อแพทย์แนะนำให้เก็บนิ่วมาให้แพทย์ดู ควรปัสสาวะในกระโถนหรือปัสสาวะผ่านผ้ากรองเพื่อการเก็บนิ่วได้ง่ายขึ้น
- พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามนัดเสมอ และ
- รีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนแพทย์นัดเมื่อ
- อาการต่างๆเลวลง เช่น ปวดหลังมากขึ้น ปัสสาวะเป็นเลือด หรือ
- มีอาการผิดปกติไปจากเดิม เช่น ปัสสาวะขุ่น เป็นฟองมาก กลิ่นเหม็น หรือ
- เมื่อกลับมามีอาการเดิมๆอีกดังกล่าวแล้วในหัวข้อ ‘อาการฯ’
- มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น นอนไม่หลับทุกคืน ท้องผูกหรือท้องเสียมาก วิงเวียนศีรษะมาก
- เมื่อกังวลในอาการ
ป้องกันนิ่วในไตได้อย่างไร?
วิธีป้องกันนิ่วในไตเช่นเดียวกับการป้องกันนิ่วย้อนกลับเป็นซ้ำ เช่น
- ดื่มน้ำสะอาดมากๆ/วัน
- ไม่กลั้นปัสสาวะ
- จำกัดการกินอาหารที่มีสารต่างๆที่ตกตะกอนได้ง่ายในไตดังกล่าวแล้ว และ
- รีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเมื่อมีอาการทางปัสสาวะเพื่อวินิจฉัยรักษาโรคตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อป้องกันการเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงที่เป็นเหตุของโรคไตเรื้อรัง
บรรณานุกรม
- Braunwald, E., Fauci, A., Kasper, L., Hauser, S., Longo, D., and Jameson, J. (2001). Harrison’s principles of internal medicine (15th ed.). New York: McGraw-Hill. [2018,Sept22]
- Pietrow, P. and Karellas, M. (2006). Medical management of common urinary calculi. Am Fam Physician. 74, 86-94. [2018,Sept22]
- Portis, A., and Sundaram, C. (2001). Diagnosis and initial management of kidney stones. Am Fam Physician. 63, 1329-1338. [2018,Sept22]
- http://emedicine.medscape.com/article/437096-overview#showall [2018,Sept22]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Kidney_stone_disease [2018,Sept22]
- https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmedhealth/PMH0085157/ [2018,Sept22]