นิ่วต่อมน้ำลาย หรือ นิ่วน้ำลาย หรือ นิ่วท่อน้ำลาย (Sialolithiasis)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 28 พฤศจิกายน 2564
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือ โรคอะไร? พบบ่อยไหม?
- นิ่วต่อมน้ำลายเกิดได้อย่างไร?มีปัจจัยเสี่ยงไหม?
- นิ่วต่อมน้ำลายมีอาการอย่างไร?
- แพทย์วินิจฉัยนิ่วต่อมน้ำลายได้อย่างไร?
- รักษานิ่วต่อมน้ำลายได้อย่างไร?
- นิ่วต่อมน้ำลายมีการพยากรณ์โรคอย่างไร? มีผลข้างเคียงไหม?
- ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
- ป้องกันนิ่วต่อมน้ำลายอย่างไร?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- โรคหูคอจมูก โรคทางหูคอจมูก โรคระบบหูคอจมูก (ENT disease)
- การตรวจทางหูคอจมูก การตรวจทางอีเอ็นที (Clinical examination of Ear Nose Throat or Clinical ENT examination)
- มะเร็งต่อมน้ำลาย (Salivary gland cancer)
- นิ่วทอนซิล ทอนซิลโลลิท (Tonsillolith)
- นิ่วในไต (Kidney stone)
- นิ่วในถุงน้ำดี นิ่วถุงน้ำดี (Gallstone)
- นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ (Vesical calculi)
- นิ่วในท่อไต (Ureteric stone)
บทนำ: คือ โรคอะไร? พบบ่อยไหม?
นิ่วต่อมน้ำลาย(Sialolithiasis) คือ นิ่วที่เกิดในท่อน้ำลายส่วนอยู่ในตัวต่อมน้ำลาย โดยสามารถหลุดเข้ามาอุดตันในท่อน้ำลายส่วนอยู่นอกต่อมน้ำลาย/ส่วนที่นำน้ำลายออกสู่ช่องปากได้จนก่อการอุดตันท่อน้ำลายและเป็นเหตุต่อเนื่องให้เกิดการอักเสบของท่อน้ำลายและของต่อมน้ำลายนั้นๆตามมา และเป็นสาเหตุบ่อยที่สุดที่ทำให้ต่อมน้ำลายบวมโต
นิ่วต่อมน้ำลาย มีหลายขนาด อาจเป็นมิลลิเมตรไปจนถึงประมาณ 2-3 เซนติเมตร แต่โดยทั่วไปมักเล็กกว่า 1 เซนติเมตร และอาจมีได้หลายๆก้อนนิ่วในแต่ละต่อมน้ำลาย
นิ่วต่อมน้ำลาย พบเกิดในต่อมน้ำลายใต้ขากรรไกรบ่อยที่สุด ประมาณ 85%ของนิ่วต่อมน้ำลายทั้งหมด, พบในต่อมน้ำลายพาโรติดประมาณ 5-15%, และพบน้อยมากๆในต่อมน้ำลายใต้ลิ้น ประมาณ 0-5%
นิ่วต่อมน้ำหลาย อาจพบเพียงต่อมน้ำลายเดียว หรือ พบพร้อมๆกันในหลายๆต่อมน้ำลาย แต่มักก่ออาการเพียงต่อมใดต่อมหนึ่งเพียงต่อมเดียวที่มักเป็นอาการจากต่อมน้ำลายใต้ขากรรไกร
นิ่วต่อมน้ำลาย เป็นโรคพบน้อย มีรายงานพบที่ก่ออาการประมาณ 0.5%ของประชากรทั่วไป โดยต่อมฯด้านซ้ายและด้านขวามีโอกาสเกิดโรคได้เท่ากัน เป็นโรคพบในผู้ใหญ่ช่วงอายุ30-60ปี (มีรายงานพบในเด็กโตได้บ้าง) พบในเพศชายสูงกว่าเพศหญิงประมาณ 2 เท่า
อนึ่ง:
- นิ่วต่อมน้ำลาย ชื่ออื่นเช่น นิ่วน้ำลาย, นิ่วในต่อมน้ำลาย, นิ่วในท่อน้ำลาย, หรือ นิ่วท่อน้ำลาย, Sialolithiasis, Salivary gland stone, Salivary duct stone, Salivary calculi)
- นิ่วต่อมน้ำลาย ไม่มีความสัมพันธ์ใดๆกับนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ (เช่น นิ่วในไต หรือ นิ่วกระเพาะปัสสาวะ), ไม่สัมพันธ์กับนิ่วถุงน้ำดี, และไม่สัมพันธ์กับนิ่วทอนซิล
ต่อมน้ำลาย
ต่อมน้ำลาย (Salivary gland) เป็นอวัยวะสร้างน้ำลาย แบ่งเป็นต่อมน้ำลายขนาดใหญ่ และต่อมน้ำลายขนาดเล็กๆที่กระจายอยู่ในเนื้อเยื่อต่างๆตลอดทั่วใน ช่องปาก เช่น เพดาน และลิ้น โดยนิ่วต่อมน้ำลายจะเกิดเฉพาะกับต่อมน้ำลายขนาดใหญ่
ต่อมน้ำลายขนาดใหญ่ มี 3 คู่ ซ้ายและขวาบนใบหน้า คือ
- ต่อมน้ำลายหน้ากกหู เรียกว่า ต่อมน้ำลายพาโรติด (Parotid gland) โดยแต่ละข้างมีท่อน้ำลาย (Salivary duct)เปิดเข้าช่องปากในบริเวณกระพุ้งแก้มด้านบน ตรงตำแหน่งประมาณฟันกรามบนซี่ที่ 2
- ต่อมน้ำลายใต้ขากรรไกร (Submandibular gland หรือ Submaxillary gland) โดยแต่ละต่อมมีท่อน้ำลายเปิดเข้าช่องปากในตำแหน่งใต้ลิ้นซ้ายและขวา และ
ต่อมน้ำลายใต้ลิ้น (Sublingual gland) ซึ่งอยู่ในพื้นของช่องปากส่วนที่อยู่ใต้ลิ้น มีท่อน้ำลายสั้นๆหลายๆท่อ เปิดเข้าสู่ช่องปากในส่วนพื้นของช่องปากที่อยู่ใต้ลิ้น
นิ่วต่อมน้ำลายเกิดได้อย่างไร? มีปัจจัยเสี่ยงไหม?
สาเหตุที่แท้จริงของการเกิดนิ่วต่อมน้ำลายยังไม่ทราบ แต่พบว่า ตรงแกนกลางนิ่วมักเกิดจากสารในกลุ่มโปรตีนและ/หรือซากการตายของเซลล์ต่างๆและของแบคทีเรียจากตัวต่อมน้ำลายนั้นๆ ส่วนด้านนอกของนิ่ว มักเป็นสารพวกแคลเซียม ซึ่งประมาณ 80%-90%ของนิ่วต่อมต่อมน้ำลายจะประกอบด้วยแคลเซียม แต่ทั้งนี้การเกิดนิ่วไม่ได้เกี่ยวข้องกับปริมาณแคลเซียมในเลือดหรือเกี่ยวข้องกับโรคที่เกี่ยวกับการควบคุมสมดุลของแคลเซียมในร่างกาย เป็นคนละเรื่องไม่สัมพันธ์กัน
อนึ่ง: การมีแคลเซียมเป็นส่วนประกอบช่วยให้สามารถใช้เอกซเรย์ถ่ายภาพต่อมน้ำลายเพื่อการวินิจฉัยนิ่วได้ เพราะสารแคลเซียมสามารถตรวจเห็นได้จากเอกซเรย์ อย่างไรก็ตาม ประมาณ 10-20%ของนิ่ว ไม่มีแคลเซียมเป็นส่วนประกอบ ซึ่งการวินิจฉัยอาจจำเป็นต้องใช้การตรวจต่อมน้ำลายด้วยอัลตราซาวด์, เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (ซีทีสแกน) และ/หรือ เอมอาร์ไอ และ/หรือการส่องกล้องท่อน้ำลาย
ปัจจัยเสี่ยง: จากการศึกษาเชื่อว่า กลไก/ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดนิ่วต่อมน้ำลาย คือ จากมีการอุดกั้นทางเดินน้ำลาย/ท่อน้ำลาย จึงทำให้เกิดการกักค้างของน้ำลาย สารต่างๆในน้ำลายจึงตกตะกอนเกิดเป็นก้อนนิ่วได้ง่าย ซึ่งปัจจัยเสี่ยง ได้แก่
- การอักเสบเรื้อรังของต่อมน้ำลาย
- การตีบตันของท่อน้ำลายที่มักเกิดจากการอักเสบ
- การสูบบุหรี่ เพราะสารพิษในควันบุหรี่ส่งผลให้เกิดการอักเสบเรื้อรังของต่อมน้ำลายและของท่อน้ำลาย
- การมีน้ำลายน้อยจากสาเหตุต่างๆ เช่น ต่อมน้ำลายอักเสบเรื้อรัง สูบบุหรี่ และ/หรือดื่มน้ำน้อย
- มีความข้นของน้ำลายมากผิดปกติ เช่น ในคนดื่มน้ำน้อย หรือ จากน้ำลายจากต่อมฯใต้ขากรรไกรที่เป็นน้ำลายชนิดข้น/ชนิดเป็นเมือกมีมากกว่าน้ำลายจากต่อม พาโรติดที่เป็นชนิดใสคล้ายน้ำ จึงตกตะกอนเป็นนิ่วได้ง่ายกว่า ดังนั้นจึงพบนิ่วในต่อมน้ำลายใต้ขากรรไกรสูงกว่านิ่วในต่อมพาโรติดและในต่อมใต้ลิ้น
นิ่วต่อมน้ำลายมีอาการอย่างไร?
นิ่วต่อมน้ำลายส่วนใหญ่ที่มีขนาดก้อนเล็กๆ มักไม่ก่ออาการ และอาจหลุดออกมากับน้ำลายเข้าสู่ช่องปากได้เองโดยเราอาจไม่รู้สึก
แต่เมื่อนิ่วต่อมน้ำลายก่ออาการ พบอาการได้เป็น 2 กลุ่ม คือ อาการจากท่อน้ำลายอุดตันโดยสิ้นเชิง, และอาการจากท่อน้ำลายยังไม่อุดตัน
ก. อาการจากท่อน้ำลายอุดตันโดยสิ้นเชิง: การอุดตันลักษณะนี้ ส่งผลให้น้ำลายไหลเข้าสู่ช่องปากไม่ได้ ซึ่งมักเกิดกับต่อมน้ำลายเพียงต่อมเดียว โดยมีก้อนนิ่วอุดตันท่อน้ำลายที่เปิดสู่ช่องปาก
- ซึ่งเมื่อต่อมฯสร้างน้ำลายปริมาณเต็มที่ คือ เมื่อเริ่มกินอาหาร น้ำลายที่สร้างขึ้นจึงท้นอยู่ในต่อมน้ำลาย ก่ออาการเจ็บปวดต่อมน้ำลายนั้นทันทีหลังเริ่มกินอาหาร
- ที่มักเกิดพร้อมๆกัน ต่อมน้ำลายนั้นจะบวมโต มองเห็นและคลำได้จากการคั่งของน้ำลาย ส่งผลให้เกิดอาการ เจ็บปวดจนต้องหยุดกินอาหาร
- และเมื่อหยุดกิน ต่อมฯจึงหยุดสร้างน้ำลาย น้ำลายที่คั่งค้างอยู่ อาจค่อยๆซึมผ่านท่อฯออกมาได้บ้างถ้าท่อฯไม่ถูกอุดตันโดยสิ้นเชิง อาการปวด และขนาดต่อมน้ำลายจะค่อยๆลดลงภายในประมาณ 1-2 ชั่วโมงหลังหยุดกินอาหาร แต่ถ้าท่อฯอุดตันจนน้ำลายซึมผ่านไม่ได้ ต่อมที่โตจะไม่ยุบ
- ผู้ป่วยมักมาพบแพทย์เป็นการฉุกเฉินจากอาการปวดต่อมน้ำลายต่อมนั้นๆมากร่วมกับต่อมน้ำลายนั้นๆบวมมาก
ข. อาการจากท่อน้ำลายยังไม่อุดตันโดยสิ้นเชิง รูท่อยังเปิดได้: จากก้อนนิ่วอาจมีขนาดเล็ก หรือก้อนนิ่วยังอยู่ในต่อมน้ำลายไม่หลุดเข้าท่อน้ำลาย ซึ่งอาการที่อาจพบได้ เช่น
- ปวดตื้อๆบริเวณต่อมน้ำลายต่อมนั้นเมื่อกินอาหาร
- ต่อมน้ำลายนั้นๆจะ บวมๆยุบๆ หรือถ้าเรื้อรัง อาจบวมโต แต่ไม่ปวดมาก และไม่บวมมาก และมักมีลักษณะคลำได้เป็นก้อนเนื้อค่อนข้างแข็ง
- ต่อมฯอาจ อักเสบติดเชื้อ บวม แดง เจ็บ ร้อน อาจมีหนอง และอาจส่งผลให้ มีไข้ที่อาจเป็น ไข้สูง หรือไข้ต่ำ ขึ้นกับว่า ต่อมน้ำลายนั้นติดเชื้ออักเสบเฉียบพลัน หรือติดเชื้ออักเสบเรื้อรัง
แพทย์วินิจฉัยนิ่วต่อมน้ำลายได้อย่างไร?
แพทย์มักวินิจฉัยโรคนิ่วต่อมน้ำลายได้จาก
- ประวัติอาการของผู้ป่วย
- การตรวจร่างกาย การตรวจดู คลำ ช่องปาก และการตรวจคลำต่อมน้ำลาย
- แต่เพื่อประโยชน์ในการเลือกวิธีรักษา แพทย์จำเป็นต้องรู้ตำแหน่งที่อยู่ของก้อนนิ่ว ด้วยการตรวจภาพต่อมน้ำลาย ท่อน้ำลาย และช่องปาก อาจด้วย
- เอกซเรย์ธรรมดา เอกซเรย์คอมพิวเตอร์(ซีทีสแกน) เอมอาร์ไอ อัลตราซาวด์ เอกซเรย์ฉีดสีเข้าท่อน้ำลาย
- และ/หรือการส่องกล้องท่อน้ำลาย
- ทั้งนี้ การจะเลือกตรวจด้วยวิธีใด หรือใช้หลายวิธีร่วมกัน ขึ้นกับ อาการผู้ป่วย, ความผิดปกติที่แพทย์ตรวจพบ, และดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา
รักษานิ่วต่อมน้ำลายได้อย่างไร?
การรักษานิ่วต่อมน้ำลายมีหลายวิธี ซึ่งการที่แพทย์จะเลือกวิธีใดขึ้นกับ ขนาด, ตำแหน่งของนิ่ว, อาการผู้ป่วย, และดุลพินิจของแพทย์, ทั้งนี้วิธีการต่างๆ เช่น
เมื่อก้อนนิ่วมีขนาดเล็ก: ผู้ป่วยมีอาการไม่มาก แพทย์อาจแนะนำการดื่มน้ำมากๆร่วมกับกินของเปรี้ยวๆเพื่อเพิ่มน้ำลาย ซึ่งจะขับนิ่วฯออกมาได้เอง หรือ
เมื่อก้อนนิ่วมีขนาดเล็กและอยู่ตรงปากรูเปิดเข้าช่องปากของท่อน้ำลายซึ่งแพทย์มองเห็นได้ แพทย์อาจใช้วิธีนวดดันให้ก้อนนิ่วหลุดออกมาได้ หรือ
ใช้การรักษาด้วยเทคนิคทางศัลยกรรม เช่น
- เอาก้อนนิ่วออกผ่านการส่องกล้อง (Sialendoscopy)
- หรือการสลายนิ่วด้วยเทคนิคเดียวกับการสลายนิ่วในไต(Laser lithotripsy หรือ Extracorporeal shock wave lithotripsy/ESWL) เพื่อให้ก้อนนิ่วมีขนาดเล็กลงจนสามารถหลุดออกมาได้เองกับน้ำลาย หรือ เล็กลงจนสามารถเอาออกได้ทางการส่องกล้อง
- หรือ ผ่าตัดต่อมน้ำลายออกทั้งต่อมเมื่อต่อมน้ำลายนั้นมีการอักเสบเรื้อรังจนก่อการเกิดนิ่วซ้ำๆเรื้อรัง และต่อมฯนั้นๆไม่สามารถสร้างน้ำลายได้แล้ว
นิ่วต่อมน้ำลายมีการพยากรณ์โรคอ่างไร ? มีผลข้างเคียงไหม?
การพยากรณ์โรคของนิ่วต่อมน้ำลาย คือ เป็นโรคไม่รุนแรง รักษาได้หาย ซึ่งผลข้างเคียง/ภาวะแทรกซ้อนจากโรคที่อาจเกิดขึ้นได้ คือ อาการเจ็บ/ปวดต่อมน้ำลายเรื้อรังโดยเฉพาะเมื่อกินอาหาร/ดื่มเครื่องดื่ม (เมื่อมีการกระตุ้นการสร้างน้ำลาย), เป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดต่อมน้ำลายอักเสบเรื้อรัง ซึ่งก่ออาการปากคอแห้ง
อย่างไรก็ตาม นิ่วต่อมน้ำลาย เป็นโรคที่เกิดเป็นซ้ำได้เสมอภายหลังการรักษาหายแล้ว แต่ยังไม่เคยมีรายงานว่าเป็นสาเหตุให้เกิดโรคมะเร็งต่อมน้ำลาย
ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
การดูแลตนเอง และการพบแพทย์/การมาโรงพยาบาล เมื่อมีนิ่วต่อมน้ำลาย คือ
- ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
- ดื่มน้ำมากๆ เมื่อไม่มีโรคต้องจำกัดน้ำดื่ม (เพื่ออาจช่วยลดการตกตะกอนของสารต่างๆในน้ำลาย) อย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว
- เลิกบุหรี่ ไม่สูบบุหรี่
- พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ
- พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัด เมื่อ
- มีอาการผิดไปจากเดิม เช่น มีหนองออกจากรูเปิดท่อน้ำลายในช่องปาก
- มีอาการแย่ลง เช่น ต่อมน้ำลายบวมมากขึ้น
- มีการอักเสบติดเชื้อของต่อมน้ำลาย คือ ต่อมน้ำลาย บวม แดง ร้อน เจ็บ
- กังวลในอาการ
ป้องกันนิ่วต่อมน้ำลายอย่างไร?
การป้องกันนิ่วต่อมน้ำลายให้ได้ 100% เป็นไปไม่ได้ เพราะดังกล่าวแล้วว่า เป็นโรคยังไม่ทราบกลไกการเกิดแน่ชัด แต่อาจลดโอกาสเกิดลงได้ จาก
- ดื่มน้ำมากๆ อย่างน้อยวันละ 6-10 แก้ว เมื่อไม่มีโรคต้องจำกัดน้ำดื่ม เพื่อลดโอกาสเกิดการตกตะกอนของสารต่างๆในน้ำลาย
- งดบุหรี่ ไม่สูบบุหรี่ เพราะดังกล่าวแล้วว่า สารพิษในควันบุหรี่เป็นสาเหตุให้เกิดการอักเสบเรื้อรังของต่อมน้ำลายและของท่อน้ำลาย จึงเป็นสาเหตุให้มีน้ำลายน้อย และท่อน้ำลายตีบตันจากการเกิดพังผืดจากการอักเสบเรื้อรังนั้น จึงเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดการคั่งและตกตะกอนของสารต่างๆในน้ำลาย จนเกิดเป็นนิ่วได้
- ป้องกันรูเปิดท่อน้ำลายตีบตันจากสาเหตุมีการติดเชื้อ ซึ่งจะเป็นสาเหตุให้เกิดท่อน้ำลายและต่อมน้ำลายอักเสบเรื้อรัง โดยรักษาความสะอาดช่องปากและฟัน ที่สำคัญ คือ
- แปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้งเมื่อตื่นนอนเช้าและก่อนเข้านอน
- รู้จักใช้ไหมขัดฟัน
- บ้วนปากด้วยน้ำสะอาดเสมอหลังกินอาหาร
- พบทันตแพทย์ ทุก 6 เดือน- 1 ปี หรือบ่อยตามทันตแพทย์นัด
บรรณานุกรม
- Andretta, M. et al. (2005). Current opinions in sialolithiasis diagnosis and treatment. Acta Otorhinolaryngol Ital.25, 145-149.
- Marchal, F., and Dulguerov, P. (2003). Sialolithiasis management. Arch Otolaryngol Head Neck Surg. 129, 951-956.
- https://patient.info/ears-nose-throat-mouth/salivary-gland-disorders-leaflet/salivary-gland-stones-salivary-calculi [2021,Nov27]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Sialolithiasis [2021,Nov27]
- https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK549845/ [2021,Nov27]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Parotid_duct [2021,Nov27]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Submandibular_duct [2021,Nov27]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Major_sublingual_duct [2021,Nov27]