การนอนกรน (Snoring) - Update

เกริ่นนำ

การกรนคือการสั่นสะเทือนของโครงสร้างทางเดินหายใจ และเสียงกรนคือเสียงที่เกิดเมื่อการเคลื่อนที่ของอากาศถูกขัดขวางระหว่างหายใจขณะหลับ เสียงกรนอาจเบา หรืออาจดังและไม่พึงประสงค์ การนอนกรนอาจเป็นสัญญาณเตือนแรกของภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ (obstructive sleep apnea : OSA) และมีงานวิจัยชี้ว่าการกรนยังเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้นอนหลับไม่เพียงพอด้วย

สาเหตุ

การนอนกรนเกิดจากการคลายตัวของกล้ามเนื้อลิ้นไก่และเพดานอ่อน โดยเนื้อเยื่อทั้งสองคลายตัวจนไปปิดกั้นทางเดินหายใจบางส่วน ส่งผลให้การไหลผ่านของอากาศไม่สม่ำเสมอและเกิดการสั่นสะเทือน การกรนอาจเกิดจากสาเหตุต่อไปนี้

  • ความโน้มเอียงทางพันธุกรรม ซึ่งบางส่วนอาจเป็นผลจากปัจจัยด้านการดำเนินชีวิตที่สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรม เช่น ดัชนีมวลกาย การสูบบุหรี่ และการบริโภคแอลกอฮอล์
  • ความอ่อนแอของกล้ามเนื้อคอหอย ทำให้คอหอยปิดขณะนอนหลับ
  • ขากรรไกรที่อยู่ในตำแหน่งผิดปกติ มักเกิดจากความตึงของกล้ามเนื้อ
  • โรคอ้วนที่ทำให้มีไขมันสะสมภายในและรอบ ๆ ลำคอ
  • การอุดตันในทางเดินหายใจส่วนจมูก
  • ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ (Obstructive sleep apnea : OSA)
  • ภาวะนอนไม่พอ
  • สารคลายกล้ามเนื้อ เช่น แอลกอฮอล์หรือยาอื่น ๆ ที่ทำให้กล้ามเนื้อคอผ่อนคลาย
  • การนอนหงาย ซึ่งอาจทำให้ลิ้นตกไปส่วนหลังของปาก
  • การหายใจทางปาก

ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้

การนอนกรนทำให้ผู้กรนและคนรอบข้างนอนหลับไม่เพียงพอ รวมถึงง่วงนอนระหว่างวัน หงุดหงิด ขาดสมาธิ และมีความต้องการทางเพศลดลง นอกจากนี้การกรนยังอาจก่อให้เกิดผลกระทบทางจิตวิทยาและสังคมอย่างมาก งานวิจัยในปี 2008 แสดงให้เห็นว่าการกรนเสียงดังสัมพันธ์กับความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจวาย (ความเสี่ยงเพิ่มขึ้นร้อยละ 34) และโรคหลอดเลือดสมอง (ความเสี่ยงเพิ่มขึ้นร้อยละ 67) สอดคล้องกับการศึกษาในปี 2021 ที่รายงานความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมองเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 46

แม้ว่าการกรนมักถูกมองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ในบางกรณี ผู้กรนอาจได้รับผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตอย่างรุนแรง งานวิจัยทดลองระหว่างกลุ่มโดย Armstrong และคณะพบว่าหลังจากแก้ไขการกรนด้วยการผ่าตัด ความสัมพันธ์ในชีวิตคู่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ผลการวิจัยนี้ได้รับการยืนยันโดยหลักฐานจาก Gall และคณะ, Cartwright และ Knight รวมถึง Fitzpatrick และคณะด้วย

งานวิจัยหลายชิ้นยังชี้ให้เห็นว่าการกรนเสียงดังอาจเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคหลอดเลือดแดงคาโรติดแข็งตัว (Carotid artery atherosclerosis) โดย Amatoury และคณะพบว่าการกรนสามารถส่งผ่านการสั่นสะเทือนไปถึงหลอดเลือดแดงคาโรติด ซึ่งอาจเป็นกลไกหนึ่งที่นำไปสู่ความเสียหายของหลอดเลือดและการเกิดคราบไขมันอุดตัน (Atherosclerotic plaque)

การสั่นสะเทือนของหลอดเลือดแดงคาโรติดจากการกรนอาจเป็นกลไกหนึ่งที่ทำให้คราบไขมันที่เส้นเลือดแตกตัว และนำไปสู่โรคหลอดเลือดสมองขาดเลือด (Ischemic stroke) ได้ นอกจากนี้ นักวิจัยยังตั้งสมมติฐานว่าการกรนเสียงดังอาจรบกวนการไหลเวียนเลือดในหลอดเลือดแดงคาโรติด ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว การรบกวนการไหลเวียนสามารถทำให้เซลล์เม็ดเลือดเกิดระคายเคือง สอดคล้องกับก่อนหน้านี้ที่มีผู้ระบุว่าการกรนเป็นสาเหตุของภาวะหลอดเลือดแข็งตัว

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีเหตุผลและหลักฐานเบื้องต้นมาสนับสนุนว่าการกรนอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ก่อให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดแดงคาโรติด แต่เรายังจำเป็นต้องค้นคว้าวิจัยเพิ่มเติมเพื่อยืนยันสมมติฐานนี้ให้ชัดเจนยิ่งขึ้นต่อไป

การรักษา

ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาที่สามารถระงับการกรนได้โดยสมบูรณ์ การรักษาส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่การลดอาการหายใจไม่สะดวกโดยการขจัดสิ่งอุดกั้นในทางเดินหายใจ การรับประทานยาไม่สามารถรักษาอาการกรนได้โดยตรง แต่สามารถช่วยควบคุมสาเหตุพื้นฐานบางประการ เช่น อาการคัดจมูกและอาการแพ้ได้ ด้วยเหตุนี้ แพทย์จึงมักแนะนำให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นแนวทางแรกในการรักษาการกรนนั่นเอง ผู้ที่มีอาการกรนมักได้รับคำแนะนำให้ลดน้ำหนัก (เพื่อลดไขมันที่กดทับบริเวณลำคอ) เลิกบุหรี่ (เพราะบุหรี่ทำให้เนื้อเยื่อในลำคออ่อนแอและอุดตัน) หลีกเลี่ยงแอลกอฮอล์และยากล่อมประสาทก่อนเข้านอน (เนื่องจากสารเหล่านี้ทำให้กล้ามเนื้อลำคอและลิ้นคลายตัว ส่งผลให้ทางเดินหายใจแคบลง) และนอนตะแคง (เพื่อป้องกันไม่ให้ลิ้นตกไปอุดกั้นทางเดินหายใจ)

มีทางเลือกในการรักษาการกรนอีกหลายวิธี ตั้งแต่การใช้ผลิตภัณฑ์ที่หาซื้อได้เอง เช่น สเปรย์พ่นจมูก แผ่นแปะจมูก คลิปหนีบจมูก สเปรย์หล่อลื่น อุปกรณ์ภายในช่องปาก และเสื้อผ้าหรือหมอนที่ช่วย “ป้องกันการกรน” ไปจนถึงการทำกิจกรรมพิเศษ เช่น การเป่าเครื่องดนตรีดิดเจอริดู (didgeridoo) อย่างไรก็ตาม ผลิตภัณฑ์บางประเภทที่ขายตามท้องตลาด เช่น แหวนหยุดกรนหรือสายรัดข้อมือที่ใช้กระตุ้นไฟฟ้า ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่รองรับประสิทธิภาพในการรักษาการกรนตามที่สินค้ากล่าวอ้างไว้

  • การออกกำลังกายลิ้น

การบำบัดด้วยการออกกำลังกายกล้ามเนื้อในช่องปากและลำคอ (Myofunctional therapy) ซึ่งรวมถึงการบริหารลิ้นและกล้ามเนื้อบริเวณช่องปาก สามารถช่วยลดอาการกรนในผู้ใหญ่ได้ อ้างอิงจากผลการศึกษาทั้งจากแบบสอบถามเชิงอัตวิสัยและการศึกษาการนอนหลับเชิงวัตถุวิสัย ซึ่งพบว่าความรุนแรงของการกรนลดลงถึงร้อยละ 51

  • หมอนจัดกระดูก

หมอนเพื่อการจัดกระดูก (Orthopedic pillows) เป็นทางเลือกในการลดอาการกรนที่รบกวนการนอนหลับน้อยที่สุด หมอนเหล่านี้ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับศีรษะและคอให้อยู่ในตำแหน่งที่ช่วยให้ขากรรไกรเปิดออกและเคลื่อนไปข้างหน้าเล็กน้อย ทำให้ทางเดินหายใจโล่งขึ้นและส่งผลให้การกรนลดลงเล็กน้อย

  • อุปกรณ์ทางทันตกรรม

เครื่องมือรักษาอาการกรนที่พบได้บ่อยคืออุปกรณ์ทางทันตกรรมซึ่งออกแบบมาเป็นพิเศษเรียกว่า เครื่องมือดึงขากรรไกรล่างไปข้างหน้า (Mandibular advancement splints) ซึ่งจะช่วยดันขากรรไกรล่างไปข้างหน้าเล็กน้อยและดึงลิ้นไปด้านหน้า อุปกรณ์เหล่านี้ได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพในการลดอาการกรนและภาวะหยุดหายใจขณะหลับในระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง อีกทั้งยังเป็นที่ยอมรับและทนต่อการใช้งานได้ดีกว่าเครื่องอัดแรงดันอากาศแรงดันบวก CPAP (Continuous positive airway pressure)

  • การใช้แรงดันบวกในทางเดินหายใจ

เครื่องอัดแรงดันอากาศแรงดันบวก CPAP มักถูกใช้เพื่อควบคุมภาวะหยุดหายใจขณะหลับและอาการกรนที่เกี่ยวข้องกับภาวะนี้ โดยเครื่อง CPAP เป็นการรักษาทางการแพทย์ที่ค่อนข้างปลอดภัย เครื่องจะปล่อยลมที่ควบคุมความดันแล้วผ่านท่อยืดหยุ่นไปยังหน้ากากที่สวมใส่บริเวณจมูก ปาก หรือทั้งสองส่วน เพื่อเปิดทางเดินหายใจ ความดันอากาศที่จำเป็นในการคงทางเดินหายใจให้เปิดจะถูกส่งผ่านหน้ากากนี้และเชื่อมต่อกับเครื่อง CPAP ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับเครื่องอัดอากาศ

  • การผ่าตัด

การผ่าตัดยังเป็นวิธีหนึ่งในการแก้ไขอาการกรน โดยการทำหัตถการบางชนิด เช่น การผ่าตัดตกแต่งกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่ออ่อนบริเวณเพดานอ่อน ลิ้นไก่ ผนังคอหอยให้ตึงและกระชับขึ้น (Uvulopalatopharyngoplasty) มีจุดประสงค์เพื่อขยายทางเดินหายใจโดยการนำเนื้อเยื่อส่วนหลังของลำคอรวมถึงลิ้นไก่และคอหอยออกไป การผ่าตัดเหล่านี้เป็นการผ่าตัดที่ค่อนข้างรุกราน และเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ ความเสี่ยงที่ร้ายแรงที่สุดคือการเกิดเนื้อเยื่อแผลเป็นภายในลำคอจากการผ่าตัด ซึ่งอาจทำให้ทางเดินหายใจยิ่งแคบลงมากกว่าก่อนการผ่าตัด และทำให้ช่องอากาศในโพรงหลังจมูกและช่องปากลดลง

  • การผ่าตัด Pillar

การผ่าตัด Pillar เป็นการรักษาอาการกรนและภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับที่มีการรุกรานน้อย การผ่าตัดนี้ได้รับการรับรองในสหรัฐอเมริกาจากคณะกรรมการอาหารและยา (Food and Drug Administration: FDA) ในปี 2004 โดยระหว่างการผ่าตัดจะมีการใส่แถบผ้า Dacron จำนวน 3 ถึง 6 ชิ้นเข้าไปในเพดานอ่อนโดยใช้เข็มฉีดยาดัดแปลงและยาชาเฉพาะที่ การผ่าตัด Pillar เป็นการผ่าตัดผู้ป่วยนอกและใช้เวลาน้อยกว่า 30 นาที จะช่วยทำให้เพดานอ่อนแข็งขึ้น ซึ่งอาจช่วยลดการเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับและอาการกรนได้

ระบาดวิทยา (Epidemiology)

สถิติเกี่ยวกับการกรนยังไม่ชัดเจนตรงกัน แต่ประมาณการได้ว่าผู้ใหญ่อย่างน้อยร้อยละ 30 ถึง 50 มีอาการกรน อิงตามการสำรวจผู้พักอาศัย 5,713 คนในสหรัฐอเมริกา พบว่าผู้ชายร้อยละ 24 และผู้หญิงร้อยละ 13.8 มีอาการกรนเป็นประจำ โดยตัวเลขนี้จะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 60 ในผู้ชายและร้อยละ 40 ในผู้หญิงที่มีอายุระหว่าง 60 ถึง 65 ปี ผลการสำรวจนี้บ่งชี้ว่าเรามีแนวโน้มที่จะกรนเพิ่มขึ้นเมื่อมีอายุมากขึ้น

การศึกษาผ่านการสังเกตโดย UK Biobank พบว่า จากผู้เข้าร่วมทั้งหมด 408,317 คนมีประมาณร้อยละ 37 ที่มีอาการกรนเป็นประจำ และการศึกษานี้ยังยืนยันว่าการกรนมีความสัมพันธ์กับดัชนีมวลกายที่สูงขึ้น สถานะทางเศรษฐกิจและสังคมที่ต่ำกว่า รวมถึงการสูบบุหรี่และการบริโภคแอลกอฮอล์บ่อยครั้ง

อ่านตรวจทานโดย นพ. ธัชชัย วิจารณ์

 

แปลและเรียบเรียงจาก https://en.wikipedia.org/wiki/Snoring [2025, March 25] โดย ภวรัญชน์ วีระวุฒิพล