นมแม่ : นมแม่ดีที่สุด (Human breast milk)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

เนื่องจากนมแม่ (Human breast milk) เป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารก องค์การอนามัยโลก องค์การยูนิเซฟ และสมาคมกุมารแพทย์ทั่วโลก แนะนำให้มารดาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว (Exclusive breastfeeding) เป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือน หลังจากนั้นให้อาหารเสริมตามวัย ร่วมกับนมแม่ต่อไปอีกจนเด็กครบอายุ 1 ปี และให้ต่อจากนั้น ให้นมแม่ได้อีกตามความต้อง การของแม่ เนื่องจากมีหลักฐานสนับสนุนผลดีของนมแม่

การเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และยังคงให้กินนมแม่ตามข้อแนะนำดังกล่าว เป็นเป้าหมายของกระทรวงสาธารณสุขของแต่ละประเทศ และมีการทำแผนให้มีการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างจริงจัง

ข้อมูลของประเทศไทย มีการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่น้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ได้มีการสำรวจเด็กอายุ 1 ปี ถึง 1 ปี 11 เดือน ที่กินนมแม่เพียงอย่างเดียวอย่างน้อย 6 เดือนหลังเกิด มีเพียง 7.1% โดยสัดส่วนของเด็กที่อาศัยนอกเขตเทศบาลกินนมแม่เพียงอย่างเดียวอย่างน้อย 6 เดือน สูงกว่าเด็กที่อยู่ในเขตเทศบาลเล็กน้อย ( 7.2% และ 6.9% ตามลำดับ) เด็กที่อาศัยในภาคใต้กินนมแม่อย่างเดียวอย่างน้อย 6 เดือนในสัดส่วนที่สูงกว่า ( 8.7%) ภาคอื่น ยก เว้นกรุงเทพมหานคร พบสัดส่วนของเด็กกินนมแม่อย่างเดียวอย่างน้อย 6 เดือนสูงสุด (13.8%)

 

นมแม่มีประโยชน์อย่างไร?

นมแม่

ประโยชน์ของนมแม่ ได้แก่

ก.ประโยชน์ของนมแม่ต่อลูก: ได้แก่

  • มีสารอาหารครบถ้วน เหมาะสมต่อการย่อยและต่อการดูดซึมของลูก ทำให้การเจริญเติบ โตและพัฒนาการของลูกสมบูรณ์
  • ให้ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคแก่ลูก ทำให้ไม่ค่อยเจ็บป่วย โดยเฉพาะหัวน้ำนม/นมน้ำเหลือง (Colostrum) เป็นวัคซีนหยดแรกของชีวิต มีสารซึ่งทำให้ระบบที่สำคัญของร่างกาย เช่น สมอง ประสาท เจริญเติบโตสมบูรณ์
  • ทำให้สมองลูกดี มีสติปัญญา เฉลียวฉลาด
  • ให้ฮอร์โมนที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของลูก
  • มีน้ำย่อยอาหารหลายชนิด บางชนิดช่วยย่อยนมแม่ บางชนิดเป็นตัวนำเกลือแร่ทำให้เกลือแร่ถูกดูดซึมได้ง่าย และบางชนิดทำลายเชื้อโรค ซึ่งจะช่วยป้องกันโรคท้องร่วง/ท้องเสียได้
  • เมื่อลูกได้กินนมจากเต้านม จะได้รับความอบอุ่นทางจิตใจ อันเป็นรากฐานของเด็กต่อสุข ภาพจิต และการปรับตัวเข้ากับสังคม
  • เมื่อฟันบนขึ้น จะทำให้ฟันไม่ซ้อนกัน และไม่กร่อน
  • ทำให้เด็กถ่ายสบาย อุจจาระไม่แข็ง
  • นมแม่มีสารกระตุ้นการเจริญของเซลล์บุเนื้อเยื่อ ทำให้ผนังลำไส้เจริญเติบโตดี ป้องกันสารแปลกปลอมเข้าสู่ร่างกายทางลำไส้ ป้องกันการแพ้โปรตีน หรือป้องกันโรคภูมิแพ้

ข. ประโยชน์ของการให้นมแม่ต่อแม่ คือ

  • ทำให้แม่รูปร่างดี ไม่อ้วน เพราะการให้นมลูกจะกระตุ้นให้ร่างกายแม่สร้างฮอร์โมนที่ลดการสะสมไขมันในร่างกาย
  • มดลูกเข้าอู่/หดตัวหรือคืนสู่สภาพเดิมได้เร็วขึ้น
  • สะดวกเพราะสามารถให้ลูกกินที่ไหนและเมื่อไรก็ได้
  • ลดความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่
  • ลดความเสี่ยงต่อภาวะโลหิตจาง จากการไม่มีประจำเดือนระหว่างให้นมลูก
  • กระตุ้นให้มีจิตสำนึกของการเป็นแม่ ทำให้แม่เอาใจใส่เลี้ยงลูกได้ดี
  • เกิดความรัก ความผูกพัน ระหว่างแม่และลูก เป็นรากฐานต่อการพัฒนาสุขภาพจิตของลูก
  • ลดภาวะซึมเศร้าหลังคลอดในแม่

ค. ประโยชน์ต่อครอบครัว คือ

  • ประหยัดรายจ่ายในการซื้อและเตรียมนมผสม
  • ลูกแข็งแรงทำให้ประหยัดรายจ่ายจากค่ารักษาพยาบาลลูก และแม่ไม่ต้องลางานบ่อยเพื่อดูแลลูกป่วย
  • เชื่อมความรักและความสัมพันธ์ภายในครอบครัว

ง. นมแม่ลดการติดเชื้อทางเดินหายใจและหูชั้นกลางอักเสบของลูก

จากหลักฐานทางการแพทย์ที่มีผู้ศึกษาพบว่า ความเสี่ยงในการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่าง (ท่อลม และปอด) ในเด็กขวบปีแรกลดลง 72% ในเด็กที่กินนมแม่อย่างเดียวมากกว่า 4 เดือน และในเด็กที่กินนมแม่อย่างเดียวนานกว่า 6 เดือน มีโอกาสเป็นปอดบวมน้อยกว่าเด็กที่กินนมแม่อย่างเดียวน้อยกว่า 6 เดือน 4 เท่า

ในเด็กที่กินนมแม่อย่างเดียวมากกว่า 4 เดือน มีความรุนแรงของการอักเสบของหลอดลมฝอยจากเชื้อไวรัสเรสไปราทอรีซินไซเทียล (Respiratory syncytial virus bronchiolitis) เพียง 74% เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มเด็กที่ไม่ได้กินนมแม่หรือกินนมแม่เพียงบางส่วน

เด็กที่กินนมแม่อย่างเดียว ลดอุบัติการณ์การอักเสบของหูชั้นกลาง/Otitis media (หูติดเชื้อ) ได้ 23% เด็กที่กินนมแม่อย่างเดียวนานกว่า 3 เดือน ลดความเสี่ยงของการอักเสบของหูชั้นกลางได้ 50% เด็กที่กินนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน ลดการเป็นหวัดรุนแรงและหู (รวมหูชั้นกลางอักเสบ) ลำคอ อักเสบลงได้ 63%

จ.ลดการติดเชื้อที่ระบบทางเดินอาหารของลูก

การให้นมแม่อย่างเดียว ลดการติดเชื้อต่างๆที่ลำไส้ในเด็กลงประมาณ 64% และให้ผลลดการติดเชื้อนี้อยู่ได้นานต่อไปอีก 2 เดือนหลังจากหยุดให้นมแม่

ฉ. ลดโรคลำไส้ตายเฉพาะส่วน (Necrotizing enterocolitis) ของลูกโรคลำไส้ตายเฉพาะส่วนเป็นโรคที่พบเป็นปัญหาในเด็กเล็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทารกเกิดก่อนกำหนด เด็กบางคนเป็นมากต้องผ่าตัดลำไส้ส่วนที่ตายออก ในเด็กที่เป็นมากก่อให้เกิดการติดเชื้อกระจายทั่วร่างกาย และทำให้เด็กเสียชีวิตได้ การให้นมแม่อย่างเดียวลดการเกิดลำ ไส้ตายเฉพาะส่วนในทารกเกิดก่อนกำหนดได้ประมาณ 58-77 %

 

ช. ลดกลุ่มอาการตายอย่างกะทันหันและอัตราการตายของทารก

กลุ่มอาการตายอย่างกะทันหันของทารก (Sudden Infant Death Syndrome หรือเรียกย่อว่า SIDS) ลดลงในเด็กที่ได้รับนมแม่อย่างเดียวถึงประมาณ 36%

มีการคำนวณว่า ในประเทศสหรัฐอเมริกา หากแม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน จะป้องกันไม่ให้เด็กตายมากกว่า 900 รายต่อปี ในประเทศกำลังพัฒนา 42 ประเทศซึ่งมีเด็กตายรวมกันคิดเป็นประมาณ 90% ของการตายของเด็กในโลก การให้เด็กกินนมแม่อย่างเดียวนานถึง 6 เดือน และหยุดให้นมแม่เมื่อเด็กอายุ 1 ปี (หลัง 6 เดือนให้อาหารเสริมร่วมด้วย) เป็นวิธีการที่ช่วยป้องกันเด็กจำนวนหนึ่งล้านคนต่อปีไม่ให้เสียชีวิต ซึ่งเท่ากับป้องกันเด็กในโลกไม่ ให้ตายได้ถึงประมาณ 13%

ซ.ลดโรคภูมิแพ้ของลูก

ในเด็กที่ได้รับนมแม่อย่างเดียวนาน 3-4 เดือน จะลดอาการหืดหอบ ผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้ได้ประมาณ 27% ในเด็กกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อโรคภูมิแพ้ต่ำ และลดอาการดังกล่าวได้ประมาณ 42% ในเด็กกลุ่มที่มีประวัติภูมิแพ้ในครอบครัว

 

นมแม่มีประโยชน์ต่อเด็กในระยะยาวอย่างไร?

ประโยชน์ของนมแม่ในระยาวต่อลูก/เด็ก คือ

ก.โรคเบาหวาน

พบว่าอัตราการเป็นโรคเบาหวานในเด็กที่กินนมแม่ลดลง เบาหวานชนิดที่ 1 (เบา หวานชนิดที่ต้องพึ่งอินซูลิน มีสาเหตุมาจากการที่ร่างกายขาดฮอร์โมนอินซูลินโดยสิ้นเชิง เนื่อง จากตับอ่อนไม่สามารถผลิตอินซูลินได้) ลดลงประมาณ 30% เพราะการกินนมแม่ลดการสัมผัสกับนมวัวโดยนมวัวจะมีสารบีตาแลคโตโกลบูลิน (Beta-lacto globulin) ไปกระตุ้นระบบภูมิคุ้ม กัน ทำให้มีผลต่อบีตาเซลล์ (Beta cell) ของตับอ่อน (ซึ่งสร้างอินซูลิน/Insulin) ทำให้เกิดโรค เบาหวานชนิดที่ 1 (โรคเบาหวานในเด็กและวัยรุ่น)

เด็กที่กินนมแม่ ลดอัตราการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 (เมื่อเด็กโตขึ้น) ลงประ มาณ 40% ซึ่งโรคเบาหวานชนิดที่ 2 เป็นเบาหวานที่พบเห็นกันเป็นส่วนใหญ่ สาเหตุที่แท้จริงนั้นยังไม่ทราบชัดเจน แต่มีส่วนเกี่ยวกับพันธุกรรม นอกจากนี้ ยังมีความสัมพันธ์กับภาวะ น้ำ หนักตัวเกิน และขาดการออกกำลังกาย มีลูกดก อีกทั้งวัยที่เพิ่มขึ้น เซลล์ของผู้ป่วยยังคงมีการสร้างอินซูลินแต่ทำงานไม่เป็นปกติ เนื่องจากมีภาวะดื้อต่ออินซูลิน ทำให้เซลล์ที่สร้างอิน ซูลินค่อยๆถูกทำลายไป ทั้งนี้เชื่อว่าการกินนมแม่ จะช่วยควบคุมไม่ให้เด็กมีน้ำหนักตัวเกินเพราะการกินนมแม่เป็นกลไกในการควบคุมการกินของเด็ก (Feeding self regulation)

ข.ภาวะ/โรคอ้วน

พบว่าภาวะ/โรค (โรค อาการ ภาวะ) อ้วนลดลงประมาณ 15-30% ในวัยรุ่น และผู้ ใหญ่ที่ได้รับนมแม่เมื่อวัยเด็ก โดยการดูดนมแม่จากเต้าของแม่ ทำให้เด็กมีกลไกการควบคุมการกินได้ดีกว่าการดื่มนมจากขวด

ค.โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว

อัตราการเกิดโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลัน ลดลงประมาณ 20% ในกลุ่มโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเอแอลแอล (Acute lymphocytic leuke mia) ลดลงประมาณ 15% ในกลุ่มโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเอเอ็มแอล (Acute myeloid leukemia) ในกลุ่มเด็กที่ได้รับนมแม่นาน 6 เดือน โดยสมมุติฐานที่ว่าเด็กที่กินนมแม่ได้รับภูมิคุ้มกันต้าน ทานที่มีในนมแม่ ทำให้ลดการติดเชื้อซึ่งอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่อาจก่อให้เกิดโรคมะเร็ง

ง.การพัฒนาทางสมอง

พบว่าเด็กที่กินนมแม่มีระดับไอคิว/เชาว์ปัญญา (IQ,Intelligence quotient) สูงกว่าเด็กที่กินนมผสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กเกิดก่อนกำหนด ซึ่งมีโอกาสจะมีปัญหาในด้านการพัฒนาทางสมอง จะได้รับผลจากการให้กินนมแม่อย่างชัดเจน

มีการศึกษาเรื่องไอคิวของลูกกับระยะเวลาที่ลูกกินนมแม่ ดังนี้

  • กินน้อยกว่า 1 เดือน ไอคิว 99.4
  • กิน 1 ถึง 3 เดือน ไอคิว 101.7
  • กิน 4 ถึง 6 เดือน ไอคิว 102.3
  • กิน 7 ถึง 9 เดือน ไอคิว 106.0
  • กินมากกว่า 9 เดือน ไอคิว 104

นมแม่มีประโยชน์อย่างไรต่อเด็กเกิดก่อนกำหนด?

นมแม่ช่วยให้เด็กมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคดีขึ้น จึงทำให้ลดการเกิดภาวะติดเชื้อทั่วร่าง กาย (Sepsis) ลดการเกิดโรคลำไส้ตายเฉพาะส่วน ซึ่งทำให้ลดอัตราตาย และลดปัญหาภาวะขาดสารอาหารซึ่งมีผลถึงการเจริญเติบโตและการพัฒนาสมองผิดปกติ

ทารกที่เกิดก่อนกำหนดมากๆ ได้ประโยชน์จากการกินนมแม่มาก จะมีพัฒนาการทางสมอง กล้ามเนื้อ และพฤติกรรม สูงกว่าเมื่อไม่ได้กินนมแม่ และนมแม่ยังลดภาวะความผิดปกติที่จอประสาทตาในเด็กเกิดก่อนกำหนดที่รุนแรงด้วย (Severe retinopathy of prematurity)

 

ภาวะอะไรบ้างที่ให้นมแม่ไม่ได้ หรือให้ดูดนมจากเต้าแม่ไม่ได้?

ภาวะที่ให้นมแม่ไม่ได้ หรือให้ดูดนมจากเต้าแม่ไม่ได้ คือ

1. ลูกเป็นโรคที่มีความผิดปกติของเมตาบอลิซึม/การสันดาป/การใช้พลังงาน (Metabo lism) เช่น กาแลกโตซีเมีย (Galactosemia) เฟนิลคีโตยูเรีย (Phenyl ketonuria)

2. แม่ที่มีการติดเชื้อไวรัสฮิวแมนทีเซลล์ ลิมโฟโทรฟิก ชนิด 1 และ 2 (Human T-cell lymphotrophic virus type I หรือ II) หรือแม่ที่เป็น โรคบรูเซลโลซิส (โรคติดเชื้อแบคทีเรียในกลุ่ม Brucella) และยังไม่ได้รักษา (Untreated brucellosis) ไม่ควรให้นมลูกและไม่เอาน้ำ นมแม่ที่บีบออกมาให้ลูกกิน เพราะจะส่งผลให้ลูกติดเชื้อที่ปนในน้ำนมได้

3. แม่ที่เป็นวัณโรคที่ยังไม่ได้รักษา แม่ที่มีตุ่มน้ำของโรคเริม (Active herpes simplex) ที่เต้านมไม่ควรให้ลูกดูดนมจากเต้า แต่น้ำนมแม่ที่บีบออกมา นำมาให้ลูกกินได้ เมื่อรักษาวัณโรคจนไม่มีเชื้อวัณโรคแล้ว (อย่างน้อยต้องให้ยารักษาไม่น้อยกว่า 2 สัปดาห์) ก็กลับมาให้ลูกดูดนมจากเต้าได้ ในผู้ที่เป็นเริมเมื่อแผลหายก็ให้ลูกดูดนมจากเต้าได้

4. แม่ที่เป็นโรคอีสุกอีใส (Varicella หรือ Chicken pox) ในช่วง 5 วันก่อนคลอดไปจน ถึง 2 วันหลังคลอด ควรแยกแม่จากทารก แต่ให้เด็กกินนมแม่ที่บีบออกมาได้

5. แม่ที่เป็นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ เอ็ช1เอ็น1 (H1N1 influenza) ควรแยกจากลูก จนกระ ทั่งไข้ลงจึงเลี้ยงลูกต่อได้ แต่ให้เด็กกินนมแม่ที่บีบออกมาได้

6. แม่ที่มีเลือดบวกต่อเชื้อเอชไอวี (HIV positive) ในประเทศที่พัฒนาแล้วแนะนำไม่ให้ลูกกินนมแม่ แต่ในประเทศกำลังพัฒนามีปัญหาเด็กเสียชีวิตจากการติดเชื้อและภาวะขาดสาร อาหารมาก มากกว่าจะเสียชีวิตจากการติดเชื้อเอชไอวีจากนมแม่ ในปัจจุบันแนะนำว่าให้ลูกกินนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน โดยให้แม่รับประทานยาต้านไวรัส (Antiretroviral therapy) ด้วย วิธี การนี้ลดการติดเชื้อเอชไอวีของลูกลงมาก

 

อาหารอะไรบ้างที่แม่ควรรับประทานขณะให้นมลูก?

แม่ควรเพิ่มพลังงานจากอาหารอีก 450-500 กิโลแคลอรีต่อวัน (อาหารที่ให้พลังงาน คือ โปรตีน คาร์โบไฮเดรต/แป้ง น้ำตาล และอาหารไขมัน) โดยเพิ่มอาหารอย่างสมดุลไม่ให้เกิด โรคอ้วน และน้ำหนักตัวเกิน

แม่ควรได้รับอาหารที่มีโอเมกา 3 ซึ่งเป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัว ชื่อ Docosahexaenoic acid หรือ DHA ซึ่งเป็นโครงสร้างสำคัญของสมอง เพื่อเด็กจะได้รับ DHA จากนมเพียงพอและ เพื่อให้ได้สารนี้เพียงพอ แม่ควรรับประทานปลา 1-2 ส่วน (100-200 กรัม) ต่อสัปดาห์ ปลาที่ให้สารนี้ เช่น ปลาแฮริง (Herring) ปลาทูน่ากระป๋อง ปลาแซลมอน (Salmon) สำหรับปลาน้ำจืดที่มีโอเมกา 3 สูงได้แก่ ปลาสวายเนื้อขาว และปลาช่อน

ในแม่ที่กินอาหารมังสวิรัติ หรือแม่ที่มีภาวะโภชนาการไม่สมบูรณ์ ควรให้เสริมด้วย DHA และ วิตามินรวม

 

ระหว่างการให้นมลูก แม่ไม่ควรกินยาอะไร?

มียาหลายอย่างที่แม่ได้รับและอาจผ่านไปถึงลูกจากน้ำนมแม่ จึงเป็นข้อห้ามเมื่อแม่ได้รับยาต่อไปนี้ไม่ควรให้ลูกกินนมแม่ คือ ยากลุ่มกระตุ้นประสาท เช่น พวกแอมเฟตามีน (Ampheta mine) ยาเคมีบำบัด (ยารักษาโรคมะเร็ง) เออร์โกตามีน (Ergotamine,ยาแก้ปวดศีรษะไมเกรน ) และ ยาสตาติน (Statin,ยาลดไขมันบางชนิด)

ยาที่มีปัญหาน้อยกว่า แต่ก็ก่อปัญหาต่อทารกได้ ได้แก่ ยาต้านอาการซึมเศร้า เช่น อมิ ทริปไทลีน (Tricyclic antidepressants เช่น Amitriptyline) และยาโคลมิพรามีน (Clomipramine)

หากแม่ต้องได้รับสารรังสีเพื่อการวินิจฉัยทางเอกซเรย์ (การตรวจด้านเวชศาสตร์นิว เคลียร์) ควรหยุดให้นมลูกชั่วคราว และบีบน้ำนมออกทิ้ง โดยไม่ให้ลูกกินจนพ้น 24 ชั่วโมง หรือตามคำแนะนำของแพทย์/พยาบาลเวชศาสตร์นิวเคลียร์ หลังจากผ่านระยะเวลานั้นๆไปแล้ว จึงให้ลูกกินนมต่อได้

ในลูกที่ขาดเอมไซม์จี6พีดี (ภาวะขาดเอนไซม์จีซิกพีดี) แม่ควรงดเว้นยาและสารที่อาจทำให้ลูกเกิดภาวะเม็ดเลือดแดงแตก เช่น ยารักษาโรคมาลาเรีย (Primaquine) ยาบางชนิดที่ใช้รักษาโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ เช่น ยาไนโตรฟูแรนโทอิน (Nitrofurantoin) และยาฟีนาโซไพริดีน (Phenazopyridine) และ ถั่วบางชนิด (เช่น ถั่วปากอ้า) เป็นต้น

****** ดังนั้นในการใช้ยาทุกชนิด แม่ต้องปรึกษาแพทย์และ/หรือเภสัชกรก่อนเสมอ โดยต้องแจ้งว่าแม่กำลังให้นมลูก และลูกเป็นโรคอะไร หรือมีโรคประจำตัวอะไรบ้าง

 

ให้นมแม่อย่างไรหลังคลอดในโรงพยาบาล?

โรงพยาบาลส่วนใหญ่เป็นโรงพยาบาลสายใยรักแห่งครอบครัว และมีการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตามนโยบายขององค์การอนามัยโลกและองค์การยูนิเซฟ ตั้งแต่ พ.ศ.2534 และใช้หลักการบันได 10 ขั้น (บรรณานุกรม ข้อ 1) เพื่อความสำเร็จในการให้แม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่

แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์จะได้รับการฝึกอบรมเพื่อช่วยให้แม่ประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ คือให้ลูกดูดนมแม่ตั้งแต่ชั่วโมงแรกหลังคลอด ให้แม่ลูกอยู่ด้วยกัน ไม่ให้ป้อนน้ำ น้ำกลูโคส หรือนมผสมแก่เด็ก ไม่ให้แจกนมผสม ไม่ให้เด็กดูดหัวนมปลอม

หากเด็กดูดนมแม่เร็วตั้งแต่แรกเกิด ดูดได้ถูกวิธี คือ ปากของเด็กงับนมแม่ได้ลึกมิดลานหัวนม (ไม่ใช่งับแต่บริเวณหัวนม) นมแม่จะถูกดูดออกมาได้หมดเต้า และเมื่อให้ลูกดูดบ่อย แม่จะสามารถสร้างน้ำนมมาได้ใหม่ ในปริมาณมากพอให้ลูกดื่ม แม่จะไม่มีปัญหาเรื่องเต้านมคัดจนเจ็บ หรือเป็นก้อนขังน้ำนมในเต้านมแม่ ซึ่งจะทำให้แม่ปวดทรมาน และมีไข้

หากแม่ไม่สามารถให้นมแม่ได้ถูกวิธี บุคลากรทางการแพทย์ในหอทารกแรกเกิดจะสามารถช่วยเหลือแนะนำได้ ตลอดจนแม่ที่มีปัญหาหัวนมบอด หลังคลอดอาจต้องมีการบีบหรือดึง (จะได้รับการแนะนำวิธีการจากบุคลากรทางการแพทย์ในหอทารกแรกเกิด) เมื่อลูกดื่มนมแม่ได้เพียงพอ จะนอนหลับอย่างเป็นสุข ถ่ายอุจจาระได้ดี น้ำหนักขึ้นดี

ควรให้นมเวลาไหนบ้าง? ให้นมแต่ละครั้งควรนานเท่าไร?

วันแรกของชีวิตเด็ก ควรเริ่มให้ดูดนมแม่โดยเร็ว แม้น้ำนมแม่จะยังไม่ค่อยมี

  • ในวันแรกน้ำ นมแม่จะสร้างประมาณ 30 มิลลิลิตร (มล.) แต่อาจมากหรือน้อยกว่านี้ ให้ลูกดูด 10-12 ครั้ง แม้จะได้ปริมาณน้อย แต่ลูกยังมีพลังงานสำรองอยู่ได้ใน 2-3 วันแรก และในระยะ แรก เด็กจะหลับมาก จึงยังไม่ได้ใช้พลังงานมาก
  • หลังจากนั้นนมแม่จะสร้างเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 70, 100, 200, 300 มล.ต่อวัน และวันที่ 5 จะสร้างได้ประมาณ 500 มล.
  • หลังจากนั้นจะสร้างได้ประมาณ 750 มล.ต่อวันในเดือนที่ 3-5

ในส่วนการให้นมแม่บ่อยแค่ไหน ขึ้นกับหลายปัจจัย คือ ลูกได้รับนมมากน้อยเท่าใดในแต่ละครั้งของการให้นม และแม่สร้างน้ำนมได้พอหรือไม่ แม่ควรสังเกตว่าลูกเริ่มหิวนมหรือยัง ซึ่งเด็กจะแสดงว่าหิว โดยยกมือมาใกล้บริเวณปาก ทำท่าดูด และหากแม่เอาหัวนมแตะที่ข้างแก้ม ลูกก็จะหันปากไปหาหัวนม อย่าปล่อยให้ลูกหิวนาน เพราะลูกจะร้องเสียงดัง และแม่จะเครียด

การให้นม ควรให้ลูกดูดจนหมดเต้า และให้ดูดนมแม่ทั้งสองข้าง ซึ่งจะทำให้นมสร้างขึ้น มาทดแทนใหม่เพียงพอต่อการเลี้ยงลูก

เวลาที่ใช้ให้นมขึ้นกับเด็กแต่ละคน ในการดูดนมจนหมดเต้าแต่ละข้างใช้เวลาประมาณ 10-15 นาทีหลังคลอด จนเหลือประมาณ 8-10 นาที เมื่อเด็กอายุประมาณ 1 เดือน

เมื่อลูกอิ่มก็จะหลับสบาย และน้ำหนักขึ้นตามเกณฑ์ อุจจาระ ปัสสาวะ ขับออกได้ปกติ

หากเด็กเอาแต่หลับ ควรปลุกมาให้นมอีกหลังจากได้นมไปแล้วประมาณ 4 ชั่วโมง

ใน 2 สัปดาห์แรก ลูกจะดูดนม 8-12 ครั้งต่อวัน หลังจากนั้นจะลดลง เมื่อแม่สร้างน้ำนมได้ดี ลูกจะมีน้ำหนักขึ้นวันละประมาณ 15-40 กรัม อายุ 3 เดือนอาจเหลือ 7-8 ครั้งต่อวัน ลูกอายุ 4-6 เดือน การให้นมจะประมาณ 6-8 ครั้งต่อวัน

ก่อนและหลังให้นมควรดูแลเด็กอย่างไร?

ก่อนให้นมอย่าให้เด็กหิวมากจนร้องเสียงดัง ควรสังเกตอาการว่าลูกเริ่มหิวเป็นอย่างไร เมื่อจะให้นมก็จับอุ้มลูกไว้บนตัก ในท่าที่ลูกสามารถดูดอ้าปาก อมลานนมให้มิด และแม่นั่งสบาย หากไม่ถนัดใช้หมอนรองช่วย

หลังจากให้นมเสร็จ จับลูกพาดบ่าให้เรอ หรือจับลูกในท่านั่งให้เรอ ก่อนจะให้ลูกนอนต่อ

 

แม่ดูแลเต้านมอย่างไร ก่อน และ หลังให้นม?

แม่ควรดูแลเต้านมโดย อาบน้ำตามกิจวัตรปกติ ฟอกสบู่ที่เป็นกรด หรือด่างอ่อน เพื่อไม่ ให้ผิวแห้ง หรือหัวนมแตก หรือจะไม่ฟอกก็ได้แล้วแต่สถานการณ์ อย่าเอาครีมเหนียวเหนอะ หนะทาผิว/ผิวนม/หัวนม เพราะอาจทำให้หัวนมอุดตัน

ก่อนและหลังให้ลูกดูดนม ใช้สำลีชุบน้ำอุ่นสะอาด เช็ดหัวนมและบริเวณรอบๆเบาๆ ความจริงหากอากาศไม่ร้อน แม่ไม่ได้มีเหงื่อออกมาก อาจไม่จำเป็นต้องเช็ดหัวนมทุกครั้ง เพราะการเช็ดหัวนมบ่อยๆ อาจทำให้หัวนมแห้ง หัวนมจึงแตกง่าย ทำให้เจ็บ

 

เมื่อไรควรพบแพทย์ก่อนนัด?

ในการเลี้ยงลูกและให้กินนมแม่ในช่วงแรกๆ เด็กหรือแม่บางคนอาจมีปัญหาที่ต้องรีบให้การดูแลรักษา จึงควรพาลูก หรือตัวแม่เอง ไปพบแพทย์ หรือ ควรพบแพทย์ก่อนนัด เมื่อมีอาการดังนี้

ก.ตัวเด็กเอง

1. เมื่อเด็กตัวเหลืองมากขึ้นหลังจากกลับจากโรงพยาบาลไปแล้ว

2. น้ำหนักของเด็กลดลงมากกว่า 7% หรือมีไข้ ซึ่งแสดงว่าเด็กขาดน้ำจากได้รับนมไม่เพียงพอ

3. เมื่อลูกมีอาการซึม ไม่ร้อง ไม่ดูดนม โดยปกติเด็กเมื่อกินนมเสร็จจะอิ่มและหลับสบาย เมื่อหิวก็ร้องกินนมอีก แต่บางคนหลับนาน แม่ควรปลุกให้นมเมื่อให้นมแม่ไปแล้ว 4 ชั่วโมง การที่เด็กซึมลงและไม่ดูดนม เป็นอาการของโรคหลายอย่างที่ต้องการการวินิจฉัยและรักษาอย่างทันท่วงที เช่น ภาวะติดเชื้อที่สมอง การติดเชื้อทั่วร่างกาย หรือภาวะที่มีเลือดออกในกะโหลกศีรษะ

ข.ตัวแม่เอง

1. เมื่อแม่มีแผลที่หัวนม และ/หรือมีอาการปวดที่แผลที่หัวนม

2. เมื่อแม่มีอาการเต้านมแข็ง มีไข้ ซึ่งอาจมีปัญหาลูกดูดนมได้ไม่หมด จึงมีน้ำนมคั่งอยู่ในเต้านม จึงอาจก่อให้เกิดการติดเชื้อในเต้านมตามมา

 

หากแม่ไปทำงาน จะทำอย่างไรที่จะมีนมพอให้ลูกดื่ม?

ในปัจจุบัน มีถุงเก็บน้ำนมแม่ขายตามร้านค้าหรือห้างสรรพสินค้า ราคาไม่แพงมาก หากแม่ต้องเดินทางไปไหนก็พกกระติกน้ำแข็งเพื่อเก็บน้ำนมไว้ให้ลูกดื่ม หรือเมื่ออยู่บ้านก็แช่เย็นเก็บไว้ในช่องแช่แข็งของตู้เย็น

แม่ควรปั๊มนมไว้ให้ลูกกิน ซึ่งนมแม่สามารถเก็บในช่องแช่แข็งของตู้เย็นแล้วหมุนเวียนนำออกมาตั้งนอกตู้เย็นให้ละลาย แล้วนำมาให้ลูกกิน แม่บางคนทำงานต่างจังหวัด ด้วยความตั้งใจเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ก็ปั๊มนมใส่ถุงไว้ แล้วเก็บในช่องแช่แข็งไว้ แล้วส่งทางรถทัวร์โดยใส่กล่องโฟม หรือกระติกแช่เย็นและให้คนไปรับที่ปลายทาง สามารถให้นมลูกได้จนลูกอายุหลายขวบ

ในเด็กที่ยังดูดนมแม่ เมื่อเอานมแม่ที่บีบไว้ป้อน ควรใช้ช้อนป้อน ไม่ควรใส่ขวดนมให้ลูกดูด เพราะกลไกการดูดนมขวดกับดูดนมแม่ต่างกัน ยกเว้นใกล้เวลาที่แม่จะต้องเปลี่ยนไปให้ลูกได้นมอื่นร่วมด้วย ซึ่งหากจำเป็นก็ให้ลูกดูดจากขวดได้

การหย่านมทำได้อย่างไร?

การให้นมแม่อย่างเดียวจนเด็กอายุ 6 เดือนแล้ว สามารถให้ต่อไปจนถึง 1 ปีร่วมกับให้อาหารเสริมตามวัยด้วย หลังจากนั้นก็สามารถให้ต่อได้ตามความต้องการของมารดาและของทารก

เมื่อต้องการหย่านมแม่ ก็ใช้หลักการตรงข้ามกับเมื่อให้ลูกเริ่มดูดนมซึ่งให้ดูดเร็ว ดูดแรงและดูดบ่อย ทำให้สร้างน้ำนมออกมาได้เพียงพอ เมื่อจะหย่านมต้องค่อยๆเป็น ค่อยๆไป คือให้ลูกดูดนมค่อยๆห่างออก ให้อาหารหรือนมให้ลูกอิ่ม ให้ลูกดูดนมไม่หมดเต้า (การสร้างนมใหม่ก็จะน้อยลง) เมื่อยืดเวลาให้ห่างออกไปเรื่อยๆ ในที่สุดก็จะหยุดให้นมแม่ได้

 

ช่วงเลี้ยงลูกด้วยนม แม่ควรคุมกำเนิดด้วยวิธีใด?

ในขณะที่ลูกดูดนมแม่ ระดับฮอร์โมนชื่อโปรแลคติน (Prolactin) ในร่างกายจะสูงขึ้น ทำให้ยับยั้งการตกไข่ ในแม่ที่ให้ลูกดูดนมจากเต้าสม่ำเสมออย่างน้อยทุก 3-4 ชม. จะทำให้สามารถควบคุมการตกไข่ได้ถึง 95% การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวจะเป็นการคุมกำเนิดตามธรรมชาติได้ประมาณ 70 วัน แต่ถ้าไม่ได้ให้นมลูกเลยไข่จะตกในประมาณ 45 วันหลังคลอด

โดยทั่วไป ประมาณ 6 สัปดาห์แรกหลังคลอดจะยังไม่มีการตั้งครรภ์ แต่หลังจากนั้น ควรมีการคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่นร่วมด้วย ทั้งนี้ในแม่ที่ให้นมลูกอย่างเดียว (Exclusive breast feeding ) 6 เดือน และยังไม่กลับมามีประจำเดือนในช่วงนั้น พบอัตราการตั้งครรภ์เพียงประมาณ 0.45-0.9%

ทั้งนี้ ถ้าแม่ต้องการจะคุมกำเนิด โดยเฉพาะในช่วงให้นมบุตร ควรปรึกษาสูตินรีแพทย์เพื่อแพทย์ได้แนะนำวิธีคุมกำเนิดที่เหมาะสมกับแม่แต่ละคนรวมทั้งสามี ซึ่งการคุมกำเนิดในแม่ขณะให้นมลูกมีได้หลายวิธี เช่น การใช้ถุงยางอนามัยของสามี การใส่ห่วง หรือการใช้ยาคุมกำ เนิดชนิดใช้ในช่วงให้นมลูก

ยาคุมกำเนิดมีหลายชนิด และทุกชนิดสามารถผ่านจากน้ำนมแม่ไปสู่ลูกได้ ซึ่งยาคุมกำ เนิดบางชนิดอาจส่งผลต่อลูก และ/หรือต่อการสร้างน้ำนมของแม่ได้ ดังนั้นจึงไม่ควรซื้อยาคุม กำเนิดทุกชนิดใช้เอง ควรต้องปรึกษาแพทย์/สูตินรีแพทย์ก่อนเสมอ

บรรณานุกรม

  1. เยาวลักษณ์ รพีพัฒนา. เอกสารประกอบการอบรมโรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท. การคุมกำเนิดกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่. 2548
  2. สาหรี จิตินันท์และคณะ,เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ความรู้สู่ปฎิบัติ.การคุมกำเนิดกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ สำนักพิมพ์กรุงเทพเวชสาร.2546,หน้า 207-214
  3. https://www2.aap.org/breastfeeding/files/pdf/Breastfeeding2012ExecSum.pdf [2016,Dec24]
  4. http://www.uptodate.com/contents/physiology-of-lactation [2016,Dec24]
  5. http://www.uptodate.com/contents/breastfeeding-parental-education-and-support [2016,Dec24]
  6. http://www.uptodate.com/contents/breastfeeding-guide-beyond-the-basics [2016,Dec24]
  7. http://www.uptodate.com/contents/maternal-health-and-nutrition-during-breastfeeding-beyond-the-basics [2016,Dec24]
  8. http://www.scielo.br/pdf/jped/v80n5s0/en_v80n5s0a11.pdf [2016,Dec24]
  9. http://www.oknation.net/blog/ION/2008/06/28/entry-1 [2016,Dec24]
Updated 2016,Dec24