การทำหมันชาย (Vasectomy)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

การทำหมันชายคืออะไร?

การทำหมันชาย (Vasectomy หรือ Male surgical sterilization) เป็นการคุมกำเนิดถาวรโดยทำการผูกและตัดหลอด/ท่อนำอสุจิ (สเปิร์ม/Sperm) ป้องกันไม่ให้ตัวอสุจิจากอัณฑะเคลื่อนมายังถุงพักเชื้ออสุจิ ทำให้น้ำอสุจิที่หลั่งออกมาไม่มีตัวอสุจิ จึงทำให้ไม่มีการปฏิสนธิเกิดขึ้น

 

การทำหมันชายมีกี่วิธี? อะไรบ้าง?

การทำหมันชาย1

วิธีการทำหมันชายทำโดยการผ่าตัด ทำได้ง่าย ใช้เวลาในการผ่าตัดน้อย ปลอดภัยกว่าการทำหมันหญิง ใช้ยาชาเฉพาะที่ ไม่จำเป็นต้องดมยาสลบ ปัจจุบันมีวิธีผ่าตัดทำหมันชาย 2 วิธี คือ

1. การใช้มีดกรีดเปิดผิวหนังบริเวณถุงอัณฑะเหนือหลอดนำน้ำเชื้ออสุจิ 1 - 2 แผล ขนาดประมาณ 1 ซม. ทำการผูกและตัดหลอดน้ำเชื้ออสุจิทั้ง 2 ข้าง จากนั้นเย็บปิดผิวหนังที่กรีด

2. การใช้เครื่องมือเจาะบริเวณผิวหนังเพื่อหาหลอดนำอสุจิ จากนั้นทำการผูกและตัดหลอดนำอสุจิทั้งสองข้าง ซึ่งวิธีนี้แผลมีขนาดเล็ก จึงไม่จำเป็นต้องเย็บปิดแผล

 

ข้อดีของการทำหมันชายมีอะไรบ้าง?

ข้อดีของการทำหมันชาย คือ

  • มีประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์สูงกว่าการทำหมันหญิง มีอัตราการล้มเหลว (การตั้งครรภ์ของภรรยาหลังสามีทำหมัน) ต่ำ พบ 1 ใน 700 - 2,000 รายที่ภรรยายังตั้งครรภ์ได้หลังสามีทำหมัน
  • เป็นวิธีผ่าตัดที่ทำได้ง่าย ใช้เวลาน้อย ไม่จำเป็นต้องใช้ยาดมสลบ
  • ค่าใช้จ่ายต่ำ เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพสูงสุดเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายในการวางแผนครอบครัว
  • ผ่าตัดครั้งเดียว สามารถคุมกำเนิดได้ตลอดชีวิต ไม่ต้องพะวงเกี่ยวกับการตั้งครรภ์
  • ไม่มีผลต่อสมรรถภาพทางเพศของเพศชาย เนื่องจากการผ่าตัดไม่เกี่ยวข้องกับเส้น ประสาท ไม่เกี่ยวข้องกับการสร้างหรือการใช้ฮอร์โมนเพศของร่างกาย
  • มีรายงานเพิ่มความสุขทางเพศหลังจากทำหมันชาย เนื่องจากคู่สมรสไม่ต้องพะวงเรื่องการตั้งครรภ์
  • การทำหมันชายไม่มีผลทำให้พละกำลังการทำงานหนักตามปกติลดลง ไม่มีผลต่อการเกิด โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก โรคมะเร็งอัณฑะ หรือโรคมะเร็งชนิดใดๆรวมทั้งของอวัยวะสืบพันธุ์ทั้งของผู้ทำหมันและของภรรยา

 

ข้อจำกัดของการทำหมันชายมีอะไรบ้าง?

ข้อจำกัดของการทำหมันชาย คือ

  • ผู้ให้การผ่าตัดต้องเป็นผู้ที่มีความชำนาญได้รับการฝึกฝนอย่างดี
  • อาจพบภาวะแทรกซ้อน (ผลข้างเคียง) หลังผ่าตัดทำหมันได้ เช่น อาจเกิดภาวะ ปวด บวม มีเลือดออก และมีลิ่มเลือดคั่งบริเวณถุงอัณฑะ (พบได้น้อย) และ/หรืออาจมีการติดเชื้อบริเวณแผลผ่าตัด
  • ไม่ป้องกันโรคติดต่อ/โรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์
  • ไม่เป็นหมันทันทีหลังผ่าตัด ต้องรอนานประมาณ 3 เดือน หรือหลังการหลั่งน้ำอสุจิอย่างน้อย 20 ครั้ง จากนั้นควรทำการตรวจน้ำเชื้อว่าพบตัวอสุจิหรือไม่ เพื่อยืนยันการเป็นหมัน ทั้งนี้เพราะหลังทำหมัน น้ำเชื้อจะยังคงมีอสุจิตกค้างอยู่ในหลอดนำอสุจิได้อีกระยะเวลาหนึ่งดังกล่าวแล้ว ดังนั้นหลังทำหมันชาย จึงควรให้ฝ่ายหญิงคุมกำเนิดต่อไปก่อน หรือใช้ถุงยางอนามัย จนกว่าผ่านระยะเวลาดังกล่าวแล้ว แต่ที่แน่นอนคือ หลังตรวจน้ำเชื้อแล้วไม่พบตัวอสุจิ

 

ข้อห้ามของการทำหมันชายมีอะไรบ้าง?

ข้อห้ามของการทำหมันชาย คือ

  • ต้องการมีบุตรเพิ่มอีกในอนาคต
  • ผู้ที่เข้ารับบริการต้องไม่มีภาวะแข็งตัวของเลือดผิดปกติ หากได้รับยาละลายลิ่มเลือดหรือยาต้านการแข็งตัวของเกล็ดเลือด ควรแจ้งแพทย์ให้ทราบก่อน และต้องงดยาก่อนทำผ่าตัดตามแพทย์สั่ง
  • ช่วงเวลาที่ทำผ่าตัด ต้องไม่มีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และไม่มีการติดเชื้อบริเวณถุงอัณฑะ

 

ภาวะแทรกซ้อนจากการทำหมันชายมีอะไรบ้าง?

ภาวะแทรกซ้อนจากการทำหมันชาย (ผลข้างเคียง) ที่อาจพบได้ คือ

  • เกิดลิ่มเลือดคั่งในบริเวณถุงอัณฑะ พบได้ประมาณ 1% ของผู้รับการทำหมันชาย มีสาเหตุจากการบาดเจ็บต่อหลอดเลือดที่อยู่โดยรอบหลอดนำอสุจิ ถ้าลิ่มเลือดคั่งมีขนาดเล็ก ร่างกายจะดูดซึมเลือดที่คั่งให้หายไปได้เองภายในระยะเวลา 1 -2 สัปดาห์ หากมีขนาดใหญ่และมีอาการปวดมาก ควรรีบกลับมาพบแพทย์ที่ทำผ่าตัด
  • แผลผ่าตัดติดเชื้อ พบได้น้อยมาก โดยจะมีอาการบวมแดงและปวดอัณฑะ หรืออาจมีหนองไหลจากแผล หากเกิดอาการดังกล่าว ควรรีบพบแพทย์ด่วน
  • ก้อนในถุงอัณฑะ เป็นก้อนอสุจิจากการรั่วของแผลผ่าตัดผูกหลอดนำอสุจิ โดยอสุจิจะเกาะอยู่รอบๆปลายหลอด ก่อการอักเสบโดยรอบ และจับตัวกันเป็นก้อนห่อหุ้มปลายหลอด ซึ่งไม่ก่อให้เกิดอาการเจ็บปวด รักษาโดยการพักผ่อนร่างกาย และให้ยาต้านการอักเสบ
  • ปวดหน่วงเรื้อรังที่อัณฑะ พบประมาณ 1 ใน 2,000 ราย มีสาเหตุจากความดันที่เพิ่ม ขึ้นภายในหลอดนำอสุจิด้านที่ติดกับลูกอัณฑะ เนื่องจากยังมีการสร้างอสุจิได้อยู่เหมือนเดิม แต่ไม่สามารถถูกปลดปล่อยออกมาได้จากการถูกผ่าตัดหลอดนำอสุจิ อา การปวดหน่วงนี้เป็นไม่มาก และมักเป็นๆหายๆตลอดไป

 

หลังทำหมันชายมีอาการใดบ้างที่ต้องรีบพบแพทย์?

หลังทำหมันชาย ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนแพทย์นัด เมื่อ

  • มีอาการปวด บวม บริเวณถุงอัณฑะ
  • มีน้ำเลือด หรือหนอง ซึมจากแผลผ่าตัด
  • อัณฑะมีขนาดใหญ่มากขึ้น

 

หลังทำหมันชายควรปฏิบัติตัวอย่างไร?

การปฏิบัติตัวหลังทำหมันชาย คือ

  • ห้ามมิให้แผลผ่าตัดถูกน้ำเป็นเวลาอย่างน้อย 3 วัน
  • เว้นการยกของหนัก หรือการออกกำลังกายอย่างหนัก หลังผ่าตัดอย่างน้อย 24 - 48 ชม.
  • งดการมีเพศสัมพันธ์อย่างน้อย 7 วัน
  • เนื่องจากหลังผ่าตัดจะไม่เป็นหมันทันที จึงควรใช้วิธีคุมกำเนิดอื่นร่วมด้วย เช่น ถุงยางอนามัยเป็นเวลาอย่างน้อย 3 เดือน หรือจนกว่าได้รับการตรวจน้ำเชื้อยืนยันว่าไม่พบตัวอสุจิ

 

โอกาสตั้งครรภ์หลังทำหมันชายมีหรือไม่? อย่างไร?

การทำหมันชายถือเป็นวิธีคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพสูงวิธีหนึ่ง พบมีอัตราความล้มเหลว (ภรรยาตั้งครรภ์หลังสามีทำหมัน) 1 ใน 700 - 2,000 ราย โดยความล้มเหลวอาจเกิดจากการ

  • ผิดพลาดจากการผ่าตัด
  • หรือเกิดการเชื่อมต่อใหม่ของหลอดนำอสุจิ

 

หากต้องการมีบุตรหลังทำหมันชายทำได้หรือไม่? อย่างไร?

หากต้องการมีบุตรหลังผ่าตัดทำหมันชายสามารถทำได้ แต่มีค่าใช้จ่ายสูง ต้องใช้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และผลสำเร็จในการตั้งครรภ์ไม่แน่นอน ทั้งนี้อัตราความสำเร็จขึ้นกับ

  • ระยะเวลาหลังจากการผ่าตัดทำหมัน
  • ความเชี่ยวชาญของผู้ผ่าตัด
  • อุปกรณ์เครื่องมือที่ใช้แก้ไข
  • อายุและสุขภาพของผู้ทำหมันและของภรรยา

 

ทั้งนี้ โดยทั่วไป โอกาสแก้ไขได้ผลสำเร็จประมาณ 30 - 75% โดยพบมีอัตราตั้งครรภ์สูงสุดเกิดภายใน 3 ปีหลังผ่าตัดแก้ไขทำหมัน

 

อนึ่ง นอกจากวิธีผ่าตัดแก้ไข ยังสามารถใช้วิธีดูดเก็บเนื้อเยื่อบริเวณอัณฑะ เพื่อหาตัวอสุจิ แล้วนำมาใช้ในเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ เช่น เด็กหลอดแก้ว

 

บรรณานุกรม

  1. Marc A. Fritz and Leon Speroff. Contraception. Clinical Gynecologic Endocrinology And Infertility. 8th edition. Philadelphia, P.A.: Lippincott Williams & Wilkins.; 2011.
  2. Cunningham FG, et al. Williams Obstetrics. 22nd ed. New York, N.Y.: McGraw-Hill Companies, Inc.; 2005:1.
  3. Stubblefield PG, et al. Family planning. In: Berek JS. Berek & Novak's Gynecology. Philadelphia, Pa.: Lippincott Williams & Wilkins; 2007:287.
  4. https://www.sexwise.fpa.org.uk/contraception/sterilisation [2019,Dec14]
  5. https://www.sexwise.fpa.org.uk/contraception/which-method-contraception-right-me [2019,Dec14]
  6. https://www.vasectomy-information.com/ [2019,Dec14]
  7. https://patient.info/sexual-health/sterilisation/vasectomy-male-sterilisation [2019,Dec14]
  8. https://journals.lww.com/greenjournal/Abstract/2019/03000/ACOG_Practice_Bulletin_No__208__Benefits_and_Risks.44.aspx [2019,Dec14]