ทารกท่าขวาง (Transverse lie baby)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

ทารกท่าขวางหมายถึงอะไร?

ในการตั้งครรภ์ เมื่ออายุครรภ์ครบกำหนดคลอด ทารกส่วนใหญ่ (95%) จะเอาศีรษะอยู่ต่ำสุดในมดลูกเมื่อเทียบกับช่องเชิงกรานของแม่ ส่วนก้นจะอยู่ด้านบนของมดลูกเรียกว่า ทารกอยู่ในท่าศีรษะหรือมีศีรษะเป็นส่วนนำ เตรียมพร้อมสำหรับการคลอดทางช่องคลอด หากทารกนอนขวางในมดลูกโดยที่แนวลำตัวของทารกตั้งฉากกับลำตัวของมารดา โดยมีหัวไหล่เป็นส่วนนำหรือส่วนอยู่ต่ำสุดในมดลูกเรียกภาวะนี้ว่า ทารกท่าขวาง หรือเด็กท่าขวาง (Transverse lie baby)”

ทารกท่าขวางมีอันตรายอย่างไร?

อันตรายที่พบได้จากทารกท่าขวาง เช่น

  • ต้องผ่าตัดคลอด (การผ่าท้องคลอดบุตร) เพราะไม่สามารถคลอดทางช่องคลอดได้
  • มีความเสี่ยงต่อการแตกของมดลูก (มดลูกแตกในสตรีตั้งครรภ์)
  • มีภยันตรายต่ออวัยวะต่างๆของทารกในการทำคลอดเช่น ทารกถูกดึงแขนจากการหมุนเปลี่ยน ท่าทารกในครรภ์เพื่อทำคลอด (Internal podalic version)
  • มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะสายสะดือโผล่แลบในทารกหากมีการแตกของถุงน้ำคร่ำที่อาจเป็นสาเหตุให้ทารกในครรภ์ถึงตายได้

ทารกท่าขวางพบได้บ่อยเพียงใด?

ทารกท่าขวางพบมากช่วงในอายุครรภ์น้อยๆ เนื่องจากมีที่ว่างในโพรงมดลูกมาก จึงส่งเสริมให้ทารกอยู่ในท่าขวางได้ง่าย สำหรับทารกท่าขวางในอายุครรภ์ที่ครบกำหนดคลอดพบได้น้อย คือประมาณ 0.3% ของอายุครรภ์ที่ครบกำหนดคลอดทั้งหมด

ทำไมทารกจึงอยู่ในท่าขวางมีปัจจัยเสี่ยงหรือไม่?

สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ทารกอยู่ในท่าขวาง เช่น

  • ทารกที่อายุครรภ์น้อยๆเป็นปัจจัยเสี่ยงที่พบมากที่สุดเนื่องจากทารกในครรภ์จะมีขนาดเล็ก จึงสามารถหมุนเปลี่ยนท่าได้ง่าย
  • สตรีที่ตั้งครรภ์หลายครั้งทำให้กล้ามเนื้อหน้าท้องหย่อน กล้ามเนื้อมดลูกยืดขยายมากไป ทำให้ทารกในครรภ์สามารถเปลี่ยนท่าไปมาได้ง่าย
  • การมีสิ่งขัดขวางการหมุนตัวของทารกในครรภ์ เช่น การมีเนื้องอกมดลูกขวางอยู่, การมีรกเกาะต่ำขวางอยู่
  • ภาวะน้ำคร่ำมากกว่าปกติทำให้ทารกหมุนไปมา
  • การตั้งครรภ์แฝด
  • ความผิดรูปของมดลูกทำให้ทารกไม่สามารถหมุนตัวได้ตามปกติเช่น มดลูกที่มีโพรงมดลูก โพรง (Uterus didelphys; ปกติจะมีโพรงเดียว) หรือมีผนังกั้นในโพรงมดลูก (Septate uterus;ปกติจะไม่มีผนังกั้นในโพรงมดลูก)
  • ทารกที่มีความพิกลรูป (พิการ) เช่น ทารกหัวบาตร (ทารกหัวโตมากจากภาวะโพรงน้ำในสมองตีบตัน), ทารกที่มีเนื้องอกขนาดใหญ่ที่บริเวณก้นกบหรือบริเวณคอทำให้การหมุนตัวตามธรรมชาติของทารกเป็นไปไม่ได้

สตรีตั้งครรภ์จะสังเกตว่าทารกอยู่ท่าขวางได้อย่างไร?

สตรีตั้งครรภ์จะสังเกตได้ว่าทารกในครรภ์อาจอยู่ในท่าขวางโดยท้อง/ครรภ์จะมีลักษณะอ้วนออกด้านข้างๆ หรือสังเกตว่าทารกจะดิ้นอยู่ด้านส่วนบนของมดลูกหรือด้านส่วนล่างของมดลูกเหนือหัวหน่าว

แพทย์วินิจฉัยทารกท่าขวางอย่างไร?

ทั่วไป แพทย์วินิจฉัยทารกท่าขวางได้โดย

  1. ประวัติทางการแพทย์: ได้แก่ การมีปัจจัยเสี่ยงต่างๆในการที่จะทำให้ทารกอยู่ในท่า ขวางตามที่กล่าวมาแล้วในหัวข้อ สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง หรือมีประวัติทารกดิ้นมากบริเวณเหนือหัวหน่าว หรือ บริเวณท้องส่วนด้านบน รือคลำได้ก้อนแข็งๆ (ศีรษะทารก) บริเวณด้านข้างลำตัวมารดา
  2. การตรวจร่างกาย: การตรวจคลำมดลูกจะพบยอดมดลูกอยู่ในระดับสูงไม่เท่าเกณฑ์ปกติ แลดูหน้าท้องอ้วนออกด้านข้าง และเมื่อตรวจครรภ์เพื่อคลำหาตำแหน่งของทารกที่เรียกว่า Leopold maneuver จะตรวจพบว่าทารกนอนอยู่ในแนวขวาง คลำพบศีรษะทารกที่ด้านข้างของท้องด้านใดด้านหนึ่ง
  3. การตรวจครรภ์ด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (อัลตราซาวด์): เป็นเครื่องมือที่ช่วยวินิจฉัยที่แม่นยำในกรณีที่ตรวจร่างกายไม่ชัดเจนหรือไม่สามารถบอกท่าทารกได้

ดูแลรักษาทารกท่าขวางอย่างไร?

ทารกที่อายุครรภ์ครบกำหนดและอยู่ในท่าขวางจะไม่สามารถคลอดเองทางช่องคลอดได้เพราะทารกไม่สามารเข้าสู่ท้องน้อย/อุ้งเชิงกรานได้ และมีความเสี่ยงในการทำให้เกิดมดลูกแตกได้ ทั่วไปจึงมีแนวทางการดูแลรักษา เช่น

  • การผ่าท้องคลอดบุตร ซึ่งเป็นวิธีที่นิยมมากที่สุดและปลอดภัยที่สุด
  • ทำการหมุนเปลี่ยนท่าทารกทางหน้าท้อง (External cephalic version) จากทารก ท่าขวางให้เป็นทารกท่าศีรษะ โดยแพทย์จะคลำทารกทางหน้าท้องมารดาและค่อยๆหมุนให้ศีรษะทารกเปลี่ยนจากอยู่ด้านข้างของมดลูก หมุนลงให้ศีรษะอยู่ต่ำสุดในโพรงมดลูก การหมุนนี้จะทำในช่วงอายุครรภ์ที่ครบกำหนดแต่ยังไม่มีการเจ็บครรภ์คลอด หากหมุนสำเร็จจะกระตุ้นให้เกิดการเจ็บครรภ์คลอดเลยและคลอดทารกในท่าศีรษะ หากหมุนเป็นท่าศีรษะไม่ได้อาจหมุนเป็นทารกท่าก้นแล้วทำคลอดทารกที่อยู่ในท่าก้น หากหมุนไม่สำเร็จต้องผ่าตัดคลอดทางหน้าท้อง

การดูแลตนเองของสตรีตั้งครรภ์ที่มีทารกอยู่ในท่าขวาง

ทั่วไปการดูแลตนเองของสตรีตั้งครรภ์ที่มีทารกอยู่ในท่าขวาง เช่น

1. ในช่วงการฝากครรภ์: หากแพทย์ตรวจพบว่าทารกอยู่ในท่าขวางตั้งแต่ในอายุครรภ์ น้อยๆไม่ต้องตกใจเนื่องจากทารกสามารถหมุนเปลี่ยนท่าเองได้ แพทย์จะนัดตรวจติดตามเป็นระยะ และเมื่ออายุครรภ์ 34 - 36 สัปดาห์จะมีการตรวจครรภ์ยืนยันด้วยอัลตราซาวด์อีกครั้ง เพราะหลังจากนี้โอกาสที่ทารกจะหมุนตัวเองไปเป็นท่าศีรษะ (ท่าปกติ) หรือทารกท่าก้น มีน้อยมาก ต่อจากนั้น แพทย์จะวางแผนการผ่าท้องคลอดบุตรหรือทำการหมุนเปลี่ยนท่าทารกเมื่ออายุครรภ์ครบกำหนดทั้งนี้จะเลือกใช้วิธีใดจะขึ้นกับดุลพินิจของสูติพทย์โดยประเมินจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆในการคลอดของมารดาเช่น เคยผ่าตัดคลอดทางหน้าท้องมาแล้วหรือไม่ โรคประจำตัวของมารดา ขนาดช่องอุ้งเชิงกรานของมารดา ขนาดของทารก และความต้องการของมารดา/ครอบครัว เป็นต้น

ทั้งนี้ ขณะตั้งครรภ์ทารกท่าขวาง มารดาควรรีบมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อมีอาการผิดปกติต่างๆเช่น มดลูกหดรัดตัวเพิ่มถี่กว่าปกติ มีอาการเจ็บครรภ์ มีถุงน้ำคร่ำรั่ว (มีน้ำเดิน)มีเลือดออกทางช่องคลอด

2. ในระยะหลังคลอด: ในการตั้งครรภ์ครบกำหนดที่ทารกอยู่ท่าขวาง ต้องได้รับการผ่า ตัดคลอด การดูแลในระยะหลังคลอดจะเหมือนสตรีที่ได้รับการผ่าตัดคลอดทั่วไป มักได้นอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล 3 - 4 วันหลังผ่าตัด จากนั้นแพทย์จะอนุญาตให้กลับไปพักผ่อนที่บ้านและนัดตรวจหลังคลอดประมาณอีก 4 - 6 สัปดาห์

ทั้งนี้ นระยะหลังคลอดเมื่อดูแลตนเองที่บาน หากมีอาการผิดปกติต่างๆเช่น มีไข้ น้ำคาวปลามีกลิ่นเหม็น น้ำคาวปลาออกมากต่อเนื่องโดยไม่ค่อยๆลดปริมาณลง ก็ต้องรีบมาพบแพทย์/มา โรงพยาบาลก่อนกำหนดนัด

ป้องกันเกิดทารกอยู่ในท่าขวางได้อย่างไร?

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกันการเกิดทารกท่าขวางได้ 100% แต่การกำจัดหรือลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆที่ขัดขวางไม่ให้ทารกอยู่ในท่าปกติตามที่กล่าวมาข้างต้นในหัวข้อ สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง” จะช่วยลดโอกาสเกิดทารกท่าขวางลงได้

หากเคยตั้งครรภ์ที่มีทารกท่าขวางแล้วการตั้งครรภ์ครั้งต่อไปจะเกิดทารกท่าขวางอีกหรือ ไม่?

หากเคยตั้งครรภ์ที่มีทารกท่าขวางแล้ว มีโอกาสที่จะเกิดทารกอยู่ในท่าขวางได้อีก หากไม่มีการกำจัด/รักษาปัจจัยเสี่ยงต่างๆที่ได้กล่าวแล้วในหัวข้อ ปัจจัยเสี่ยง

ควรรอนานเท่าไรก่อนตั้งครรภ์ครั้งต่อไป?

เนื่องด้วยการดูแลรักษาทารกในท่าขวางมักต้องทำการผ่าตัดคลอด เทคนิคการผ่าตัดที่บริเวณมดลูกอาจแตกต่างกันขึ้นอยู่กับท่าของทารก เช่น

  • ในกรณีที่ทารกนอนขวาง ส่วนหลังอยู่บริเวณด้านบนของมดลูกและแขนขาห้อยลงมาด้านล่าง (Dorso superior) รอยแผลผ่าตัดที่มดลูกจะเหมือนการผ่าตัดคลอดบุตรทั่วๆไป(Low transverse incision cesarean section)
  • แต่หากทารกนอนขวาง และ ส่วนหลังอยู่บริเวณส่วนด้านล่างของมดลูก (Dorso inferior) บางครั้งต้องลงแผลผ่าที่ตัวมดลูกในแนวตรง (Classical incision cesarean section) เพื่อให้สะดวกในการทำคลอดทารก แผลในแนวตรงที่ตัวมดลูกมีโอกาสแตกในการตั้งครรภ์ครั้งต่อไปมาก กว่าการลงแผลแบบขวาง ซึ่งทั่วไปแพทย์ผู้ดูแลจะมีการบอกสตรีผู้คลอดก่อนออกจากโรงพยาบาล และให้คำแนะนำในการดูแลตนเองในการตั้งครรภ์ครั้งต่อไป

อนึ่ง: โดยทั่วไปการตั้งครรภ์ครั้งต่อไปต้องเว้นระยะไปอย่างน้อย 1 - 2 ปีเพื่อให้มีเวลาเลี้ยงลูกคนแรกเต็มที่และเพื่อให้แผลผ่าตัดหายดีที่สุด, อย่างไรก็ตาม การสอบถามโดยตรงจากสูติแพทย์จะได้ระยะเวลาที่เหมาะสมกับแต่ละผู้ป่วยที่สุด

ทารกที่อยู่ในท่าขวางหลังคลอดจะมีปัญหาหรือไม่?

ทั่วไปทารกที่อยู่ในท่าขวางหลังคลอดจะไม่มีปัญหา จะเจริญเติบโตได้ปกติเช่นเดียวกับทารกท่าปกติ หากระหว่างคลอดไม่เกิดเหตุการณ์ที่ทำให้สมองทารกขาดออกซิเจน, หรือเป็นทารกคลอดก่อนกำหนด, หรือทารกมีภาวะติดเชื้อระหว่างคลอด, หรือมีภยันตรายต่ออวัยวะต่างๆของทารกระหว่างทำคลอด เช่น ข้อไหล่ทารกเคลื่อนกรณีทำคลอดโดยการหมุนเปลี่ยนท่าทารกเป็นต้น

บรรณานุกรม

  1. https://www.uptodate.com/contents/transverse-fetal-lie?source=search_result&search=transverse%20lie&selectedTitle=1~37  [2023, Feb18]