ต้อหินเฉียบพลัน (Acute glaucoma)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง สกาวรัตน์ คุณาวิศรุต
- 11 มีนาคม 2566
- Tweet
สารบัญ
- โรคต้อหินเฉียบพลันคืออะไร? มีอาการอย่างไร? รุนแรงไหม?
- ต้อหินเฉียบพลันเกิดได้อย่างไร?
- ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคต้อหินเฉียบพลันมีอะไรบ้าง?
- มีอาการอะไรบ้างที่น่าสงสัยเป็นต้อหินเฉียบพลัน?
- ควรพบแพทย์เมื่อไร? และต้อหินมีแนวทางการรักษาอย่างไร?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- โรคตา โรคทางตา (Eye disease)
- ต้อหินเรื้อรัง (Chronic glaucoma)
- ต้อกระจก (Cataract)
- ต้อเนื้อ (Pterygium) ต้อลม (Pinguecula)
- ต้อหิน (Glaucoma)
- การตรวจตา การตรวจสุขภาพตา (Eye examination)
- กายวิภาคและสรีรวิทยาของตา (Anatomy and physiology of the eye)
โรคต้อหินเฉียบพลันคืออะไร? มีอาการอย่างไร? รุนแรงไหม?
ในบรรดาโรคต้อทั้งหลายที่ร้ายแรงที่สุด เป็นที่ทุกขเวทนาที่สุดสำหรับผู้ป่วย คงเป็นอื่นไปไม่ได้ ต้องเป็น “โรคต้อหินเฉียบพลัน (Acute glaucoma)” หรือ “ต้อหินมุมปิด (Closed angle glaucoma หรือ Angle closure glaucoma)” เพราะทำให้ผู้ป่วยทั้ง ตาแดง ปวดตา และตาบอดในเวลาอันสั้น ทุกอย่างเป็นไปอย่างฉับพลัน, โรคต้อหินเรื้อรังว่าร้ายแรงแล้วยังถือว่าน้อยกว่ามาก เพราะต้อหินเรื้อรังกว่าตาจะบอดต้องใช้เวลานานหลายๆปี อีกทั้งเมื่อตาไม่เห็นแล้วก็ไม่มีอาการอื่น ไม่มีตาแดง และผู้ป่วยส่วนใหญ่จะไม่มีอาการปวดตาเลย เรียกกันว่า “ตาบอด ตาใส”
ส่วนต้อหินเฉียบพลันจะมีอาการหลัก 3 อย่าง ทั้ง 3 อย่างทำให้ผู้ป่วยทรมานทั้งสิ้นได้แก่ ‘ตาแดง, ตามัว, และปวดตาที่ส่วนใหญ่จะปวดหัวไปทั้งซีกเลย,’ อาจร่วมกับคลื่นไส้อาเจียน, ซึ่งตามัวและตาบอดจะเกิดอย่างรวดเร็วในไม่กี่วัน หากรักษาไม่ทัน
หากท่านมีญาติผู้ใหญ่มีอาการ 3 อย่างข้างต้น ต้องรีบพาไปพบหมอด่วนที่สุด โดยเฉพาะ หมอตา (จักษุแพทย์) มิเช่นนั้นตาอาจบอดโดยไม่มีวิธีแก้ไข
อนึ่ง: บทความนี้เขียนถึงเฉพาะ 'ต้อหินเฉียบพลัน' เท่านั้น ส่วน 'ต้อหินเรื้อรัง' แยกเขียนไว้ในอีกบทหนึ่ง อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง “ต้อหินเรื้อรัง”
ต้อหินเฉียบพลันเกิดได้อย่างไร?
ต้อหินเฉียบพลันก่อให้เกิด ปวดตา ตามัว ตาแดง ได้อย่างไร กล่าวคือลูกตาคนเราเป็นรูปทรงกลม มีอวัยวะที่ละเอียดอ่อนภายในเพื่อให้เกิดกลไกการมองเห็น เปรียบเสมือนเป็นกล้อง ถ่ายรูปขนาดจิ๋ว และภายในดวงตายังมีน้ำทั้งชนิดใสและข้นเป็นองค์ประกอบ ทำให้ลูกตาเกิดแรงดันอยู่จำนวนหนึ่ง ซึ่งถ้าใช้เครื่องมือไปวัดจะได้ประมาณ 10 - 20 มิลลิเมตรปรอท (มม.ปรอท)
น้ำในลูกตามีการไหลเวียนแลกเปลี่ยนกับกระแสเลือด มีน้ำเข้าในและออกนอกลูกตาเป็นประจำ น้ำเข้าและออกจะได้สมดุลกัน นำมาซึ่งความดันตาค่อนข้างคงที่อยู่ในช่วง 10 - 20 มม.ปรอท
ในผู้ป่วยที่เป็นต้อหินเฉียบพลันนั้นเกิดจากกลไกการไหลเวียนนี้ผิดพลาด น้ำออกจากตาน้อยกว่าน้ำเข้าตา ทำให้ความดันตาขึ้นสูงอย่างรวดเร็ว จาก 10 - 20 มม.ปรอท มาเป็น 50 - 60 มม.ปรอท ทำให้ผู้ป่วยมีอาการ ‘ปวดตา และ ปวดหัว’ อย่างรุนแรงในทันทีขณะเดียวกันแรงดันที่สูงขนาดนี้ทำให้กระจกตา (ตาดำ) ที่ปกติใสจะขุ่นมัวทันที ทำให้ผู้ป่วย 'ตามัวลงอย่างทันที' ด้วย
แล้วทำไมการไหลเวียนจึงเกิดการติดขัดทันที ทั้งนี้เป็นจากกายวิภาค (รูปร่าง ลักษณะ) ของตาผู้ป่วยที่มีช่องต่างๆภายในดวงตาที่แคบเกินไปในบางช่อง โรคนี้จึงเกิดได้เฉพาะในคนที่มีกายวิภาคภายในของตาผิดปกติ มองข้างนอกจะเป็นลูกตาปกติ ร่วมกับภาวะแวดล้อมที่ทำให้ม่านตาขยายผิดปกติ เช่น จากการใช้ยาบางชนิด และมักพบโรคนี้ในผู้หญิงสูงอายุ ด้วยเหตุที่ผู้หญิงมักมีขนาดดวงตาเล็กกว่าผู้ชาย เมื่ออายุยิ่งมากขึ้น จึงดูเหมือนขนาดแก้วตาซึ่งอยู่ภายในดวงตาใหญ่ขึ้น (เพราะเนื้อเยื่อบางส่วนของตาเสื่อมลงตามวัย)จึงทำให้ช่องต่างๆ ภายในดวงตาแคบลงนั่นเอง
ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคต้อหินเฉียบพลันมีอะไรบ้าง?
แม้ว่าเราจะไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของความดันตาสูงขึ้นอย่างกะทันหัน แต่พอจะทราบว่า ผู้มีปัจจัยเสี่ยงที่เกิดโรคต้อหินเฉียบพลันนี้มีใครบ้าง ซึ่งทั่วไปได้แก่
- ผู้ป่วยบางเชื้อชาติ เช่น ชาวเอเชียพบมากกว่าชาวยุโรป
- ผู้หญิงเป็นมากกว่าผู้ชาย
- อายุที่มากขึ้นมีโอกาสเป็นมากขึ้น มักพบในอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป
- มีบิดามารดาและ/หรือญาติพี่น้องเป็นโรคนี้ กล่าวคือเป็นโรคทางพันธุกรรม
- ส่วนใหญ่โรคนี้จะเป็นอย่างฉับพลันโดยไม่มีโรคตาอื่นๆนำมาก่อน มีบ้างที่เกิดจากมีโรคตาบางอย่าง เช่น เป็นต้อกระจกที่ต้อแก่แล้วไม่ไปรับการผ่าตัด, หรือได้รับอุบัติเหตุจนแก้วตาเคลื่อนไปจากเดิม
มีอาการอะไรบ้างที่น่าสงสัยเป็นต้อหินเฉียบพลัน?
ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการเตือนนำมาก่อนการเกิดต้อหินเฉียบพลัน อาการเตือนต่างๆ ได้แก่ รู้สึกปวดตาเวลาใช้สายตามากๆ ทำให้ตาพร่าไปชั่วคราว เมื่อได้นอนพักอาการดีขึ้น, แต่จะมีอาการแบบนี้บ่อย, ตามักพร่ามัวเวลาพลบค่ำ, บางครั้งมองเห็นสีรุ้งรอบดวงไฟ,พอนอนพัก อาการจะดีขึ้น
ดังนั้น ผู้สูงอายุโดยเฉพาะผู้หญิงหากมีอาการดังกล่าว ควรรีบปรึกษาแพทย์โดยเฉพาะหมอตา ซึ่งหากหมอตาพบว่าเป็นอาการเตือนของโรคนี้ร่วมกับมีกายวิภาคทางตาที่แคบหรือตื้น ‘การป้องกันด้วยการใช้แสงเลเซอร์รักษาจะป้องกันโรคนี้ได้ตลอดไป’
ควรพบแพทย์เมื่อไร? และต้อหินมีแนวทางการรักษาอย่างไร?
ดังได้กล่าวแล้วว่า อาการสำคัญของต้อหินเฉียบพลันมี 3 อย่าง ได้แก่ ‘ตาแดง, ตามัว, และ ปวดตา; อาการเหล่านี้ถือเป็นภาวะฉุกเฉินต้องรีบพบหมอตาทันที ซึ่งหากแพทย์วินิจฉัยได้เร็วให้ยาลดความดันตา, ตามด้วยการยิงแสงเลเซอร์, อาการทั้ง 3 อย่างข้างต้นจะหายเป็นปลิดทิ้ง ผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้โดยไม่ต้องนอนพักในโรงพยาบาลแต่อย่างใด
แต่ถ้าผู้ป่วยมาพบหมอตาช้าเกินไป การรักษาจะยุ่งยากยิ่งขึ้น การยิงเลเซอร์อาจทำไม่สำเร็จ/ไม่ได้ผล จำเป็นต้องให้ยาช่วย หรือที่รุนแรงอาจต้องลงเอยด้วยการผ่าตัดตาด้วยเทคนิคเฉพาะเมื่อไม่สามารถควบคุมความดันตาให้ลงมาสู่ระดับปกติได้, หรือถ้าบางคนมาช้าเกินไป หมออาจรักษาได้แค่หายปวด แต่ตาไม่กลับมาเห็นได้อีก
อนึ่งผู้ป่วยโรคนี้หากเป็นกับตาข้างหนึ่งแล้ว ‘ตาอีกข้าง’ อาจเป็นในเวลาต่อมา ซึ่งแพทย์มักจะยิงแสงเลเซอร์ป้องกันภาวะนี้ในตาอีกข้างด้วย ดังนั้นผู้ป่วยโรคนี้จึงควรพบหมอตาตามนัดเสมอ อย่าได้นิ่งนอนใจ
บรรณานุกรม
- https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK430857/ [2023,March11]