ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ (Thyrotoxicosis)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือโรคอะไร?

ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ คือ โรคเกิดจากต่อมไทรอยด์สร้างไทรอยด์ฮอร์โมนออกมามากเกินไปจนทำให้เกิดอาการผิดปกติของอวัยวะต่างๆที่เรียกว่า ภาวะ หรือ โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ (Thyrotoxicosis) หรือโรค/ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน (Hyperthyroid/ Hyperthyroidism) โดยอาการหลักคือ กินจุแต่น้ำหนักลด(น้ำหนักลดผิดปกติ), หงุดหงิดง่าย, เหงื่อออกมาก, ใจสั่น

ต่อมไทรอยด์ (Thyroid gland) เป็นอวัยวะที่อยู่บริเวณใต้ลูกกระเดือกทางด้านหน้าของลำคอ มีหน้าที่สร้างฮอร์โมนไทรอยด์(ฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์)เพื่อใช้ควบคุมการทำงานของอวัยวะต่างๆของร่าง กาย

ต่อมไทรอยด์เป็นพิษเกิดได้อย่างไร?

ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ

ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ มีหลายสาเหตุ แต่ส่วนใหญ่เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายที่ผิดปกติกระตุ้นให้ต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินไป พบภาวะนี้ในผู้หญิงได้บ่อยกว่าในผู้ชาย และพบว่าผู้ป่วยบางรายมีญาติพี่น้องเป็นต่อมไทรอยด์เป็นพิษเหมือนกันด้วย

ต่อมไทรอยด์เป็นพิษมีอาการอย่างไร?

ผู้ป่วยภาวะต่อมไทรอยด์เป็นพิษ มักมีอาการหลายๆอย่างร่วมกัน ที่พบบ่อยได้แก่

  • เหนื่อยง่าย
  • ใจสั่น
  • ขี้ร้อนง่าย
  • เหงื่อออกมาก
  • หงุดหงิด
  • นอนไม่หลับ
  • กินจุแต่น้ำหนักตัวลดลง
  • ประจำเดือนผิดปกติ
  • บางรายอาจมีคอโต (ต่อมไทรอยด์โต/คอพอก) หรือ ตาโปนทั้งสองตาร่วมด้วย

ต่อมไทรอยด์เป็นพิษมีผลข้างเคียงแทรกซ้อนอย่างไร?

ผู้ป่วยภาวะต่อมไทรอยด์เป็นพิษ ที่ไม่ได้รับการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆอาจมีผลข้างเคียงแทรกซ้อนที่อันตรายต่างๆ เช่น หัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะ ,กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด, ภาวะหัวใจวาย, เกิดลิ่มเลือดในช่องหัวใจแล้วกระจายไปอุดตันตามหลอดเลือดต่างๆ เช่น ที่สมองทำให้เกิดอาการอัมพฤกษ์หรืออัมพาตได้, ผู้ป่วยบางรายที่มีอาการตาโปนร่วมด้วยอาจทำให้ ตาแห้ง, หนังตาปิดไม่สนิท, กระจกตาอักเสบเป็นแผล, หรือมีผลกระทบต่อการมองเห็นได้

แพทย์วินิจฉัยภาวะต่อมไทรอยด์เป็นพิษได้อย่างไร?

เมื่อผู้ป่วยมีอาการที่สงสัยว่ามีภาวะต่อมไทรอยด์เป็นพิษ ควรไปพบแพทย์เพื่อให้ได้รับการตรวจวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้อง โดยแพทย์จะ

  • สอบถามอาการและตรวจร่างกาย
  • ตรวจคลำ ต่อมไทรอยด์, ต่อมน้ำเหลืองบริเวณลำคอ
  • ถ้าหากสงสัยว่ามีภาวะต่อมไทรอยด์เป็นพิษ ก็จะเจาะเลือดเพื่อตรวจวัดระดับฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์เพื่อยืนยันว่าเป็นต่อมไทรอยด์เป็นพิษจริงหรือไม่

ต่อมไทรอยด์เป็นพิษมีวิธีรักษาอย่างไร?

โดยทั่วไปการรักษาภาวะต่อมไทรอยด์เป็นพิษ มี 3 วิธี ได้แก่

  • การรักษาด้วยยา
  • การผ่าตัด และ
  • น้ำแร่รังสีไอโอดีน/น้ำแร่รังสี (ปัจจุบันมียาเป็นแคปซูล แต่ยังมีข้อจำกัดในการนำมาใช้มาก จึงยังไม่เป็นที่นิยม)

ทั้งนี้ แพทย์จะพิจารณาปัจจัยต่างๆของผู้ป่วย เช่น อายุ, ความรุนแรงของอาการ, ขนาดของต่อมไทรอยด์ที่โตขึ้น, เพื่อเลือกวิธีการรักษาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย

ก. การรักษาด้วยยา:

ผู้ป่วยที่มีอายุน้อย, มีอาการไม่รุนแรงมาก ,และต่อมไทรอยด์ไม่โตมาก, แพทย์มักแนะนำให้รักษาด้วยยาก่อน

ยาที่ใช้รักษานี้จะเป็นยาลดการสร้าง ฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์ , และ ยาลดอาการใจสั่น ผู้ป่วยที่รักษาด้วยยานี้จะต้องสามารถกินยาเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องตามแพทย์แนะนำ

โดยทั่วไปแพทย์จะแนะนำให้กินยาประมาณ 1 ถึง 2 ปี โดยในระหว่างที่รักษาด้วยยาอยู่นี้แพทย์จะนัดตรวจติดตามดูอาการและเจาะเลือดวัดระดับฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์บ่อยๆ เช่น ทุก 1 - 2 เดือนเพื่อให้มั่นใจว่าผู้ป่วยกินยาในขนาดที่เหมาะสม ไม่มากหรือน้อยเกินไป

ข้อเสียของการรักษาด้วยยาคือ ผู้ป่วยมักจะต้องกินยานานเป็นปี มีโอกาสเกิดการแพ้ยาได้ และโอกาสหายขาดจากโรคมีน้อย เมื่อไม่หายก็ต้องเปลี่ยนไปรักษาด้วยวิธีอื่น เช่น น้ำแร่รังสีไอโอดีน

ข. การรักษาด้วยการผ่าตัดต่อมไทรอยด์:

สำหรับผู้ป่วยที่ต่อมไทรอยด์โตมาก,หรือมีอาการหายใจลำบาก,หรือกลืนลำบาก เพราะต่อมไทรอยด์ที่โตขึ้นกดเบียดทับหลอดลมและ/หรือหลอดอาหาร, ซึ่งทั้งสองอวัยวะนี้อยู่ติดกับต่อมไทรอยด์ แพทย์จะแนะนำให้รักษาด้วยการผ่าตัดต่อมไทรอยด์ออกบางส่วนเพื่อให้ต่อมไทรอยด์มีขนาดเล็กลง จะได้สร้างฮอร์โมนไทรอยด์ได้น้อยลง และอาการหายใจลำบากหรือกลืนลำบากจะดีขึ้น แม้ว่าเป็นวิธีที่ทำให้หายจากภาวะต่อมไทรอยด์เป็นพิษได้อย่างรวดเร็ว แต่ก็อาจเกิดผลข้างเคียงจากการผ่าตัดได้ เช่น เสียงแหบจากผ่าตัดโดนเส้นประสาทกล่องเสียงที่อยู่ติดกับต่อมไทรอยด์

นอกจากนั้น ถ้าแพทย์ตัดต่อมไทรอยด์ออกน้อยเกินไป หลังผ่าตัดผู้ป่วยก็อาจจะยังมีอาการจากภาวะต่อมไทรอยด์เป็นพิษอยู่เช่นเดิม แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าตัดต่อมไทรอยด์ออกมากเกินไป หลังผ่าตัดผู้ป่วยจะเกิดอาการจากภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมนได้

ค. การรักษาด้วยน้ำแร่รังสีไอโอดีน:

น้ำแร่รังสีไอโอดีน เป็นสารไอโอดีนประเภทหนึ่ง (Iodine-131) ที่ให้รังสีแกมมา (Gamma ray) และรังสีบีตา (Beta ray, รังสีที่ใช้ตรวจและรักษาโรค) และสามารถปล่อยรังสีนั้นๆออกมาทำลายเซลล์ของต่อมไทรอยด์ได้ เมื่อผู้ป่วยกินน้ำแร่รังสีไอโอดีนเข้าไป ต่อมไทรอยด์จึงมีขนาดเล็กลงและสร้างฮอร์โมนลดลง อาการจากภาวะต่อมไทรอยด์เป็นพิษจึงดีขึ้น น้ำแร่รังสีไอโอดีนนี้ไม่สามารถหาซื้อได้ทั่วไป จะต้องรับการรักษาเฉพาะโรงพยาบาลบางโรง พยาบาลที่ให้การรักษาด้านนี้เท่านั้น

การรักษาด้วยน้ำแร่รังสีไอโอดีน มีข้อดีคือ สามารถรักษาภาวะต่อมไทรอยด์เป็นพิษให้หายขาดได้สูง สะดวก ง่าย ปลอดภัย เหมาะสมกับผู้ป่วยที่อายุ 20 ปีขึ้นไปและต่อมไทรอยด์ไม่โตมาก, หรือผู้ป่วยที่รักษาด้วยยาเป็นเวลานาน 1 - 2 ปีแล้วยังไม่หาย ,หรือหายแล้วกลับมาเป็นใหม่อีก, หรือผู้ป่วยที่รักษาด้วยการผ่าตัดแล้วยังมีอาการจากภาวะต่อมไทรอยด์เป็นพิษอยู่

ข้อเสียของการรักษาด้วยน้ำแร่รังสีไอโอดีน คือ หลังการรักษาผู้ป่วยจะเกิดภาวะขาด ไทรอยด์ฮอร์โมนได้บ่อย ทำให้ต้องกินยาฮอร์โมนไทรอยด์ไปตลอดชีวิต

นอกจากนั้น การรักษาด้วยน้ำแร่รังสีไอโอดีนนี้ ไม่สามารถใช้ได้กับผู้ป่วยที่กำลังตั้ง ครรภ์เพราะรังสีมีผลต่อทารกในครรภ์ อาจก่อความพิการหรือการแท้งบุตร, หรือในผู้ป่วยให้นมบุตรอยู่เพราะน้ำแร่รังสีไอโอดีนจะปนออกมากับน้ำนมส่งผลต่อต่อมไทรอยด์ของทารกได้ทั้งในระยะเฉียบพลัน (ต่อมไทรอยด์อักเสบชนิดไม่ติดเชื้อ) และในระยะยาว (โรคมะเร็งต่อมไทรอยด์)

ต่อมไทรอยด์เป็นพิษรักษาให้หายขาดได้หรือไม่?

ภาวะต่อมไทรอยด์เป็นพิษ สามารถรักษาให้หายขาดได้ จะหายช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับวิธีที่ใช้รักษา

  • ถ้ารักษาด้วยยามักจะหายช้า และแม้จะหยุดยาได้ แต่หลังการหยุดยาจะพบว่าผู้ป่วยประมาณครึ่งหนึ่งจะกลับมาเป็นโรคใหม่ได้อีกโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 2 ปีแรกหลังหยุดยา
  • แต่ถ้ารักษาด้วยการทำลายต่อมไทรอยด์ เช่น การผ่าตัดต่อมไทรอยด์ออก, หรือการกินน้ำแร่รังสีไอโอดีนก็จะมีโอกาสหายขาดได้สูง

หลังรักษาต่อมไทรอยด์เป็นพิษหายขาดแล้ว จะต้องกินยาต่ออีกหรือไม่?

โดยทั่วไป ผู้ป่วยที่รักษาต่อมไทรอยด์เป็นพิษหายขาดแล้ว แพทย์จะนัดตรวจติดตามผล การรักษาห่างๆ เช่น ทุก 6 เดือนหรือ 1 ปีเพื่อตรวจดูอาการ, และเจาะเลือดตรวจวัดระดับฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์ว่ายังอยู่ในระดับปกติหรือไม่, ถ้ายังอยู่ในระดับปกติ ผู้ป่วยก็ไม่จำเป็นต้องกินยาใดๆ แต่ถ้าพบว่าฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำกว่าปกติแล้ว แพทย์จะให้กินยาฮอร์โมนไทรอยด์เพื่อเพิ่มระดับฮอร์โมนไทรอยด์ให้ขึ้นมาเป็นปกติ ในกรณีนี้ผู้ป่วยมักจำเป็นต้องกินยาฮอร์โมนไทรอยด์นี้ไปตลอดชีวิต

ต่อมไทรอยด์เป็นพิษป้องกันได้หรือไม่?

เนื่องจากสาเหตุหลักของภาวะต่อมไทรอยด์เป็นพิษเกิดจากภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายที่ผิดปกติ เราจึงไม่สามารถป้องกันได้ สิ่งที่สำคัญก็คือ ถ้าพบว่ามีอาการที่สงสัยภาวะต่อมไทรอยด์เป็นพิษ ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อให้ได้รับการตรวจวินิจฉัยถูกต้องและได้รับการรักษาที่เหมาะสม เพราะถ้าเป็นต่อมไทรอยด์เป็นพิษจริง แล้วไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้เกิดอาการรุนแรง ที่สำคัญคือ หัวใจเต้นเร็ว, ภาวะหัวใจล้มเหลว, และอาจเป็นอันตรายถึงตายได้

เมื่อเป็นต่อมไทรอยด์เป็นพิษควรดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อใด?

ผู้ป่วยที่แพทย์ให้การวินิจฉัยว่าเป็นต่อมไทรอยด์เป็นพิษ ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ พยาบาล อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยที่รักษาด้วยยา จะต้องกินยาอย่างสม่ำเสมอ เพราะสาเหตุสำคัญที่ทำให้การรักษาด้วยยาไม่ได้ผลก็คือ การกินยาได้ไม่สม่ำเสมอ, ลืมกินยาบ่อยๆ, หรือกินยาไม่ได้ตามจำนวนครั้งต่อวันตามที่แพทย์สั่ง, นอกจากนั้นผู้ป่วยต้องไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลสม่ำเสมอตามแพทย์นัด เพื่อให้มั่นใจว่าฮอร์โมนไทรอยด์อยู่ในระดับที่ปกติ

ผู้ป่วยที่กินยารักษาอยู่อาจเกิดการแพ้ยาได้ ซึ่งมักจะมีอาการ ไข้, ปวดข้อ, บางรายอาจมี ตัวเหลือง ตาเหลือง (โรคดีซ่าน) จากภาวะตับอักเสบ, หรือเจ็บคอ (คออักเสบชนิดไม่ติดเชื้อ) เป็นไข้สูง, ซึ่งกินยาปฏิชีวนะฆ่าเชื้อแบคทีเรียแล้วไม่ดีขึ้นเพราะอาจเกิดจากภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ (อ่อนเพลีย, ติดเชื้อโรคได้ง่าย) ดังนั้นถ้ามีอาการที่สงสัยว่าอาจจะแพ้ยาดังกล่าว ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนกำหนดนัดเสมอ

บรรณานุกรม

1. Bahn RS, Burch HB, Cooper DS, Garber JR, Greenlee MC, Klein I, et al. Hyperthyroidism and other causes of thyrotoxicosis: management guidelines of the American Thyroid Association and American Association of Clinical Endocrinologists. Thyroid 2011; 21: 593 – 646.