ต่อมลูกหมากอักเสบเรื้อรังชนิดไม่ติดเชื้อ (Chronic non-bacterial prostatitis or Chronic prostatitis/Chronic pelvic pain syndrome)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 17 ธันวาคม 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?
- ต่อมลูกหมากอักเสบเรื้อรังชนิดไม่ติดเชื้อมีสาเหตุจากอะไร?
- ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดต่อมลูกหมากอักเสบเรื้อรังชนิดไม่ติดเชื้อ?
- ต่อมลูกหมากอักเสบเรื้อรังชนิดไม่ติดเชื้อมีอาการอย่างไร?
- เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?
- แพทย์วินิจฉัยต่อมลูกหมากอักเสบเรื้อรังชนิดไม่ติดเชื้อได้อย่างไร?
- รักษาต่อมลูกหมากอักเสบเรื้อรังชนิดไม่ติดเชื้ออย่างไร?
- ต่อมลูกหมากอักเสบเรื้อรังชนิดไม่ติดเชื้อมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
- มีผลข้างเคียงจากต่อมลูกหมากอักเสบเรื้อรังชนิดไม่ติดเชื้อ อย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไร?
- ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?
- ป้องกันต่อมลูกหมากอักเสบเรื้อรังชนิดไม่ติดเชื้อได้อย่างไร?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ต่อมลูกหมากโต หรือ บีพีเอช (Benign prostatic hypertrophy or BPH)
- ต่อมลูกหมากอักเสบติดเชื้อ (Bacterial prostatitis)
- มะเร็งต่อมลูกหมาก (Prostate cancer)
- ปวดท้องน้อย (Pelvic pain)
- กายวิภาคและสรีรวิทยาอวัยวะสืบพันธุ์ชาย (Anatomy and physiology of male reproductive organ)
- กายวิภาคและสรีรวิทยาของระบบทางเดินปัสสาวะ (Anatomy and physiology of Urinary tract)
- การตรวจทางทวารหนัก (Rectal examination)
- แอลฟา-บล็อกเกอร์ (Alpha-blockers)
บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?
ต่อมลูกหมากอักเสบเรื้อรังชนิดไม่ติดเชื้อ (Chronic non-bacterial prostatitis) คือ ภาวะ/กลุ่มอาการ/โรคที่ต่อมลูกหมากเกิดการอักเสบ แต่เป็นการอักเสบที่ไม่ได้เกิดจากติดเชื้อโรค, ซึ่งการอักเสบนี้ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวด/เจ็บบริเวณต่อมลูกหมาก และ/หรือ เจ็บ/ปวดท้องน้อย(อุ้งเชิงกราน) ร่วมกับมีอาการผิดปกติของการปัสสาวะ เช่น ปัสสาวะขัด, อาการดังกล่าวจะเป็นๆหายๆเรื้อรังต่อเนื่องนานอย่างน้อยตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป โดยจะมีอาการ หนักบ้าง เบาบ้าง ซึ่งแพทย์ไม่สามารถพยากรณ์ได้ว่าจะเกิดอาการเมื่อไหร่ และอาการจะหนักเบาอย่างไร
อนึ่ง:ชื่ออื่นของภาวะ/กลุ่มอาการ/ โรคต่อมลูกหมากอักเสบเรื้อรังชนิดไม่ติดเชื้อ เช่น Chronic prostatitis/Chronic pelvic pain syndrome อว่า CP/CPPS หรือ CPPS ซึ่งในอดีตเรียกโรค/ภาวะ/กลุ่มอาการนี้ว่า “Prostatodynia”
ในภาพรวม: ต่อมลูกหมากอักเสบ (Prostatitis) คือ การอักเสบของต่อมลูกหมากซึ่งเป็นอวัยวะเฉพาะเพศชาย โดยต่อมฯนี้อยู่ในส่วนอุ้งเชิงกราน/ท้องน้อยตอนล่างที่ล้อมอยู่ที่โคนท่อปัสสาวะช่วงต่อออกจากกระเพาะปัสสาวะ, มีหน้าที่ สร้างน้ำอสุจิ, ทั่วไป ทางแพทย์แบ่งต่อมลูกหมากอักเสบเป็น 4 กลุ่มย่อยได้แก่
- ต่อมลูกหมากอักเสบติดเชื้อเฉียบพลัน (Acute bacterial prostatitis)
- ต่อมลูกหมากอักเสบติดเชื้อเรื้อรัง (Chronic bacterial prostatitis)
- *ต่อมลูกหมากอักเสบเรื้อรังชนิดไม่ติดเชื้อ (Chronic non-bacterial prostatitis or Chronic prostatitis/Chronic pelvic pain syndrome)
- ต่อมลูกหมากอักเสบชนิดไม่มีอาการ (Asymptomatic inflammatory prostatitis)
*โดยบทความนี้ จะกล่าวเฉพาะ 'ภาวะ/โรคต่อมลูกหมากอักเสบเรื้อรังชนิดไม่ติดเชื้อ' และขอเรียกว่า “ต่อมลูกหมากอักเสบเรื้อรังชนิดไม่ติดเชื้อ,” ส่วนบทความต่อมลูกหมากอักเสบชนิดอื่นแยกเขียนต่างหาก อ่านเพิ่มเติมได้จากเว็บ haamor.com
ต่อมลูกหมากอักเสบเรื้อรังชนิดไม่ติดเชื้อ พบไม่บ่อยนัก ประมาณ 2-6% ของเพศชายทุกเชื้อชาติ พบทุกอายุ แต่พบน้อยมากๆในเด็ก (นิยามคำว่าเด็ก) บางรายงานพบสูงในช่วงอายุ 35-45 ปี บางรายงานพบสูงในช่วงอายุ 50 ปีขึ้นไป, ทั้งนี้พบต่อมลูกหมากอักเสบเรื้อรังชนิดไม่ติดเชื้อได้บ่อยที่สุดในโรคกลุ่มต่อมลูกหมากอักเสบทุกชนิด
ต่อมลูกหมากอักเสบเรื้อรังชนิดไม่ติดเชื้อมีสาเหตุจากอะไร?
ปัจจุบัน ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดต่อมลูกหมากอักเสบเรื้อรังชนิดไม่ติดเชื้อ แต่มีสมมุติฐานว่าอาจเกิดได้จาก
- มีการติดเชื้อแบคทีเรียในต่อมลูกหมาก แต่เป็นเชื้อที่แพทย์ยังไม่มีวิธีที่จะตรวจพบได้
- อาจมีความผิดปกติในการทำงานของระบบประสาทที่ควรคุมการทำงานของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันของต่อมลูกหมาก เช่น กล้ามเนื้อ เนื้อเยื่อพังผืด
- อาจเกิดจากโรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเองของต่อมลูกหมากเอง
- อาจจากมีการระคายเคืองของต่อมลูกหมากจากการมีปัสสาวะในท่อปัสสาวะไหลย้อนเข้าไปในต่อมลูกหมาก
ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดต่อมลูกหมากอักเสบเรื้อรังชนิดไม่ติดเชื้อ?
แพทย์เชื่อว่าปัจจัยเสี่ยงเกิดต่อมลูกหมากอักเสบเรื้อรังชนิดไม่ติดเชื้อ น่าจะมีหลายปัจจัยฯร่วมกัน แต่ปัจจุบันพบปัจจัยสำคัญมีเพียงปัจจัยเดียว คือ “อายุที่มากขึ้น,” ส่วนปัจจัยร่วมอื่นๆที่อาจเข้ามามีผล เช่น พันธุกรรม, สิ่งแวดล้อม,วัฒนธรรมการดำเนินชีวิต, ปัญหาด้านอารมณ์จิตใจ, พฤติกรรมการใช้ชีวิต, สุขภาพร่างกาย, พฤติกรรมการบริโภค,และอาจรวมไปถึงการศึกษา และฐานะทางเศรษฐกิจ
ต่อมลูกหมากอักเสบติดเรื้อรังชนิดไม่ติดเชื้อมีอาการอย่างไร?
อาการจากต่อมลูกหมากอักเสบเรื้อรังชนิดไม่ติดเชื้อ เป็นอาการเรื้อรัง เป็นๆหายๆ เช่น
- อาการปวด: เป็นอาการพบบ่อยที่สุด และพบในผู้ป่วยทุกราย โดยอาการปวดจะเป็นๆหายๆบริเวณต่อมลูกหมาก เช่น
- ปวดท้องน้อย, ปวดรอบๆ โคนอวัยวะเพศ, และ/หรือรอบๆทวารหนัก
- บางครั้งอาจปวดร้าวลงมาในส่วนปลายของอวัยวะเพศ, และ/หรือ ที่ถุงอัณฑะ
- ความรุนแรงของอาการปวดจะแตกต่างกันในแต่ละวัน อาจปวดมาก ปวด น้อย หรือไม่ปวด
- บางครั้งอาการจะเป็นมากขึ้นหลังมีเพศสัมพันธ์, และ/หรือเมื่อมีอาการ ท้องผูก
- บางครั้งอาการปวดอาจร้าวไปเป็นอาการปวดหลังร่วมด้วย
- อาการทางปัสสาวะ: เช่น ปวดเบ่งปัสสาวะ ปัสสาวะขัด ลำปัสสาวะไม่พุ่ง ลำปัสสาวะไหลช้า กลั้นปัสสาวะไม่อยู่
- อาการทางอวัยวะเพศ: เช่น นกเขาไม่ขัน ปวดเวลาหลั่งน้ำอสุจิ บางครั้งอาจมีน้ำอสุจิเป็นเลือด
- อาการอื่นๆ: เช่น อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ปวดเมื่อยเนื้อตัว
เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?
เมื่อมีอาการดังกล่าวใน 'หัวข้อ อาการฯ' โดยเฉพาะเมื่ออาการไม่ดีขึ้นหลังดูแลตนเอง หรืออาการส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเสมอ
แพทย์วินิจฉัยต่อมลูกหมากอักเสบเรื้อรังชนิดไม่ติดเชื้อได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยต่อมลูกหมากอักเสบเรื้อรังชนิดไม่ติดเชื้อได้จาก
- ซักถามประวัติอาการต่างๆ
- การตรวจร่างกาย
- ตรวจคลำต่อมลูกหมากจากการตรวจทางทวารหนัก
- การตรวจปัสสาวะ
- การตรวจเชื้อและ/หรือการเพาะเชื้อจากสารคัดหลั่งจากท่อปัสสาวะและจาก น้ำปัสสาวะ
- ตรวจเลือดดูค่า ซีบีซี/CBC
- ตรวจภาพต่อมลูกหมากด้วย อัลตราซาวด์
- อาจมีการสืบค้นเพิ่มเติมตามดุลพินิจของแพทย์เพื่อการวินิจฉัยแยกโรคจาก โรคต่อมลูกหมากโต, ต่อมลูกหมากอักเสบติดเชื้อเรื้อรัง, มะเร็งต่อมลูกหมาก, หรือโรคกระเพาะปัสสาวะ เช่น
- เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (ซีทีสแกน) และ/หรือเอมอาร์ไอ เพื่อตรวจภาพอุ้งเชิงกราน/ท้องน้อย
- ส่องกล้องกระเพาะปัสสาวะ และอาจตัดชิ้นเนื้อจากต่อมลูกหมาก หรือจากกระเพาะปัสสาวะกรณีแพทย์พบรอยโรคในเนื้อเยื่อ/อวัยวะดังกล่าวเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา
รักษาต่อมลูกหมากอักเสบเรื้อรังชนิดไม่ติดเชื้ออย่างไร?
ปัจจุบัน การรักษาต่อมลูกหมากอักเสบเรื้อรังชนิดไม่ติดเชื้อ เป็นการรักษาตามอาการ ยังไม่มีวิธีรักษาหรือมียารักษาที่เฉพาะเจาะจง เนื่องจากเป็นโรคที่ยังไม่ทราบสาเหตุชัดเจน ซึ่งการรักษา เช่น
- ยาแก้ปวด: เช่น ยาในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs), ยาในกลุ่มฝิ่น (Opioids)
- ยาต้านการอักเสบ/ยาแก้อักเสบชนิดที่ไม่ใช่เกิดจากติดเชื้อ: เช่น ยาในกลุ่มเอ็นเสด
- อาจมีการใช้ยาปฏิชีวนะกรณีแพทย์เชื่อว่าอาจมีการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดที่ยังไม่สามารถตรวจพบได้ เช่น ยา Ciprofloxacin, Levofloxacin
- ยาคลายกล้ามเนื้อของต่อมลูกหมากและของกล้ามเนื้อในท้องน้อย: เช่น ยากลุ่ม Alpha blocker
- ยาฮอร์โมนเพศเพื่อปรับสมดุลของฮอร์โมนเพศ: เช่นยา Finasteride
- ยาต้านเศร้าชนิดที่มีผลบรรเทาอาการปวดที่เกิดจากระบบประสาท: เช่น ยาในกลุ่ม ยารักษาโรคซึมเศร้า TCAs, ยา Amitriptyline
- ยาที่มีผลต่อการทำงานของเซลล์ประสาท: เช่น ยาในกลุ่ม Neuromodulatory agents เช่นยา Gabapentin, Pregabalin
- อื่นๆ: เช่น การฝังเข็ม การนวดบริเวณต่อมลูกหมาก ยาแผนโบราณ การผ่าตัดเปิดทางเดินปัสสาวะให้ปัสสาวะไหลสะดวกขึ้น
อนึ่ง: การจะใช้วิธีการใด หรือยาใดๆเป็นการรักษา(อาจใช้หลายวิธีร่วมกัน)จะอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา, นอกจากนี้ ปัจจุบัน กำลังมีการศึกษาอย่างกว้างขวางในการค้นหาวิธีรักษา ที่รวมถึงตัวยาต่างๆที่จะใช้ในการรักษาโรคนี้ให้มีประสิทธิภาพมากกว่าวิธีรักษาปัจจุบัน
ต่อมลูกหมากอักเสบเรื้อรังชนิดไม่ติดเชื้อมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
ต่อมลูกหมากอักเสบเรื้อรังชนิดไม่ติดเชื้อมีการพยากรณ์โรค โดยเป็นโรคที่รักษาไม่หายขาด เป็นโรคเรื้อรัง เป็นๆ หายๆ เพราะยังไม่ทราบสาเหตุ การรักษาที่มีในปัจจุบันจึงเป็นการรักษาเพื่อช่วยบรรเทาอาการเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่จะดำรงชีวิตประจำวันได้ใกล้เคียงปกติมากที่สุด
อย่างไรก็ตาม *โรคนี้ไม่เกี่ยวกับโรคต่อมลูกหมากโต และ’ไม่’เป็นสาเหตุหรือกลายเป็น มะเร็งต่อมลูกหมาก
มีผลข้างเคียงจากต่อมลูกหมากอักเสบเรื้อรังชนิดไม่ติดเชื้ออย่างไร?
ผลข้างเคียงจากต่อมลูกหมากอักเสบเรื้อรังชนิดไม่ติดเชื้อ ที่สำคัญ คือ อาการปวดที่ต่อมลูกหมาก/ ปวดท้องน้อย, และอาการทางการปัสสาวะ ที่รบกวนต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
ดูแลตนเองอย่างไร?
การดูแลตนเองเมื่อมีต่อมลูกหมากอักเสบเรื้อรังชนิดไม่ติดเชื้อ: เช่น
- ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
- กินยา/ใช้ยาต่างๆที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วน อย่าหยุดยาเอง
- ลดการกดทับต่อมลูกหมากเพื่อช่วยลดอาการปวดที่ต่อมลูกหมาก/ที่ท้องน้อย โดยเวลานั่งให้นั่งบนหมอน/หมอนลมรูปโดนัท (หมอนที่มีรูกว้างตรงกลาง)
- ลดอาการปวดต่อมลูกหมากด้วยการนั่งแช่ในน้ำอุ่น (Hot bath) ตามแพทย์/พยาบาล แนะนำ
- เลิก/จำกัดการกินอาหาร/เครื่องดื่มที่ระคายเคืองต่อระบบทางเดินปัสสาวะที่รวมถึง ต่อมลูกหมาก เช่น อาหารรสจัด อาหารเผ็ด เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่ม คาแฟอีน(เช่น ชา กาแฟ โคลา เครื่องดื่มชูกำลัง) เครื่องดื่มที่มีความเป็นกรด (เช่น น้ำส้ม)
- ไม่ออกกำลังกายประเภทที่มีการกดทับต่อมลูกหมาก เช่น ขี่จักรยาน
- ระวังไม่ให้ท้องผูก เพราะจะกระตุ้นให้อาการต่างๆแย่ลง
- ดื่มน้ำสะอาดให้พอเพียง เช่น วันละ 6-10 แก้ว เมื่อไม่มีโรคที่แพทย์ให้จำกัดน้ำดื่ม
- มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัด
ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?
เมื่อมีภาวะ/โรคต่อมลูกหมากอักเสบเรื้อรังชนิดไม่ติดเชื้อ ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัด เมื่อ
- อาการต่างๆ แย่ลง เช่น อาการทางการปัสสาวะแย่ลง
- มีอาการที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่น มีหนองออกมาทางช่องปัสสาวะ
- มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งอย่างต่อเนื่องจนส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ท้องเสียมาก คลื่นไส้อาเจียนมาก ปวดหัวมาก
- เมื่อกังวลในอาการ
ป้องกันต่อมลูกหมากอักเสบเรื้อรังชนิดไม่ติดเชื้อได้อย่างไร?
ปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีป้องกันภาวะ/โรคต่อมลูกหมากอักเสบเรื้อรังชนิดไม่ติดเชื้อ เพราะเป็นโรคยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด และปัจจัยเสี่ยงที่แน่ชัดเท่าที่พบ มีเพียงการมีอายุที่เพิ่มมากขึ้นเท่านั้น
บรรณานุกรม
- Nickel, J. Int J Antimicrob Agents. 2008;31(suppl 1): 112-116
- https://www.canada.ca/en/public-health/services/infectious-diseases/sexual-health-sexually-transmitted-infections/canadian-guidelines.html [2022,Dec17]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Chronic_prostatitis/chronic_pelvic_pain_syndrome [2022,Dec17]
- https://emedicine.medscape.com/article/437745-overview#showall [2022,Dec17]
- https://emedicine.medscape.com/article/785418-overview#showall [2022,Dec17]
- https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC7256330/ [2022,Dec17]