ติ่งเนื้อปากมดลูก (Cervical polyp)
- โดย รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิง ประนอม บุพศิริ
- 9 มกราคม 2563
- Tweet
- ติ่งเนื้อปากมดลูกคืออะไร?
- สาเหตุเกิดติ่งเนื้อปากมดลูกคืออะไร?
- ติ่งเนื้อปากมดลูกมีอาการอย่างไร?
- เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?
- ติ่งเนื้อปากมดลูกกลายเป็นมะเร็งได้หรือไม่?
- แพทย์วินิจฉัยติ่งเนื้อปากมดลูกอย่างไร?
- แพทย์รักษาติ่งเนื้อปากมดลูกอย่างไร?
- วิธีดูแลตนเองทำอย่างไร?
- ติ่งเนื้อปากมดลูกกลับเป็นซ้ำได้หรือไม่?
- ติ่งเนื้อปากมดลูกมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
- ติ่งเนื้อปากมดลูกก่อผลข้างเคียงอย่างไร?
- มีวิธีป้องกันติ่งเนื้อที่ปากมดลูกหรือไม่?
- บรรณานุกรม
- เนื้องอก (Tumor)
- มะเร็งปากมดลูก(Cervical cancer)
- มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก (Endometrial cancer)
- เลือดออกกะปริบกะปรอยทางช่องคลอด(Irregular bleeding per vagina)
- ประจำเดือน(Menstruation)
- อวัยวะเพศภายในสตรี: กายวิภาคอวัยวะเพศภายในสตรี (Anatomy of female internal genitalia) / สรีรวิทยาอวัยวะเพศภายในสตรี (Physiology of female internal genitalia)
- เอสโตรเจน (Estrogen)
- ฮอร์โมนเพศหญิง (Female sex hormone)
- ปากมดลูกอักเสบ (Cervicitis)
ติ่งเนื้อปากมดลูกคืออะไร?
ติ่งเนื้อปากมดลูก หรือติ่งเนื้อเมือกปากมดลูก (Cervical polyp) เป็นติ่งเนื้อ/ก้อนเนื้อที่เจริญออกมาผิดปกติที่ปากมดลูก เป็นชิ้นเนื้อรูปร่างยาวคล้ายนิ้วมือ (Finger like) ลักษณะที่มองเห็นด้วยตาเปล่าจะเป็นสีแดงๆ ส่วนมากขนาดไม่ใหญ่ ติ่งเนื้อจะนิ่มเวลาสัมผัสและเลือด ออกง่ายหากได้รับการเสียดสีหรือถูกกระทบกระเทือนจากเครื่องมือการตรวจภายใน
ติ่งเนื้อนี้พบได้บ่อยโดยบังเอิญเมื่อสตรีมาตรวจภายในประจำปีหรือมาตรวจภายในด้วยสาเหตุอื่นเช่น เตรียมตั้งครรภ์ ติ่งเนื้อที่เจริญออกมาจากปากมดลูกนั้นมาจาก 2 แหล่งคือ
- เกิดจากการแบ่งตัวมากผิดปกติของเยื่อบุคอมดลูก (Endocervical polyp)
- อีกชนิดหนึ่งเกิดจากการแบ่งตัวมากผิดปกติของเยื่อบุโพรงมดลูก (Endometrial polyp)
ซึ่งส่วนมากติ่งเนื้อนี้จะอยู่ในโพรงมดลูกและบางครั้งมีขนาดยาวมากจึงอาจโผล่มาที่ปากมดลูกได้
ติ่งเนื้อปากมดลูกเป็นโรคที่พบได้บ่อย แต่ไม่มีสถิติเกิดโรคที่แน่นอน เพราะส่วนใหญ่ไม่มีรายงานเนื่องจากไม่มีอาการ แพทย์จึงมักวินิจฉัยโรคได้โดยบังเอิญดังได้กล่าวแล้ว ซึ่งโรคนี้มักพบในสตรีวัยหลังมีประจำเดือนแล้วและในสตรีวัยก่อนหมดประจำเดือนที่ยังตั้งครรภ์ (เช่น 40 ปี) และมักพบเกิดเพียงติ่งเนื้อเดียว แต่พบ 2 - 3 ติ่งเนื้อได้
สาเหตุเกิดติ่งเนื้อปากมดลูกคืออะไร?
ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดว่า ติ่งเนื้อที่ปากมดลูกเกิดจากสาเหตุใด มีข้อสันนิษฐานว่าอาจ เกิดจาก
- ภาวะฮอร์โมนเอสโตรเจนที่สูงในร่างกาย ทำให้มีการเจริญของเนื้อเยื่อที่ปากมดลูกมากผิด ปกติ
- มีการอักเสบเรื้อรังที่บริเวณปากมดลูก/ปากมดลูกอักเสบเรื้อรัง เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดเนื้อเยื่อต่างๆที่ปากมดลูกเจริญ ผิดปกติ
- มีความผิดปกติของหลอดเลือดในปากมดลูกส่งผลให้เกิดการเจริญผิดปกติของเนื้อเยื่อที่ปากมดลูก
ติ่งเนื้อปากมดลูกมีอาการอย่างไร?
ส่วนมากติ่งเนื้อที่ปากมดลูกไม่มีอาการ แพทย์มักตรวจพบโดยบังเอิญจากการตรวจภาย ในประจำปีหรือตรวจภายในวินิจฉัยโรคอื่นดังได้กล่าวแล้ว แต่เมื่อมีอาการ อาการที่พบได้เช่น
1. มีเลือดประจำเดือนกะปริบกะปรอย
2. มีเลือดออกกะปริบกะปรอยทางช่องคลอด
3. มีประจำเดือนนานผิดปกติ
4. เลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์
5. ตกขาวปนเลือด
6. ตกขาว
เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?
เมื่อมีอาการดังกล่าวในหัวข้อ อาการ ควรพบแพทย์/สูตินรีแพทย์/ไปโรงพยาบาลเสมอ เพื่อรับการตรวจภายใน เพื่อการวินิจฉัยหาสาเหตุอาการ
ติ่งเนื้อปากมดลูกกลายเป็นมะเร็งได้หรือไม่?
ติ่งเนื้อที่ปากมดลูกส่วนมากเป็นเนื้อเยื่อที่ไม่ร้ายแรง ไม่ใช่มะเร็ง แต่อย่างไรก็ตามมีโอกาส กลายเป็นมะเร็งได้ แต่น้อยมากๆโดยพบได้ประมาณ 1 %
แพทย์วินิจฉัยติ่งเนื้อปากมดลูกอย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยติ่งเนื้อปากมดลูกได้จาก
ก. ประวัติอาการ: ซึ่งผู้ป่วยมักไม่มีอาการ ส่วนมากแพทย์ตรวจพบโดยบังเอิญ กลุ่มที่มีอาการจะมาพบแพทย์ด้วยเรื่องเลือดออกกะปริบกะปรอยทางช่องคลอดหรือมีเลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์ มีประจำเดือนกะปริบกะปรอย หรือเป็นประจำเดือนนานกว่าปกติ
ข. การตรวจร่างกาย: การตรวจภายในจะเห็นติ่งเนื้อสีแดงๆยื่นออกมาจากรูปากมดลูก มีขนาดเล็ก ขนาดส่วนมากประมาณ 0.5 - 2 ซม.(เซนติเมตร) เป็นชิ้นเนื้อรูปร่างยาว ติ่งเนื้อนี้เมื่อถูกเสียดสีหรือถูกอุปกรณ์การตรวจภายในมักมีเลือดออกได้ง่าย
ค. การตรวจทางห้องปฏิบัติการ: เนื่องจากสามารถมองเห็นติ่งเนื้อที่ปากมดลูกได้ชัด เจนจากการตรวจภายใน การตรวจพิเศษ (เช่น อัตราซาวด์ภาพอุ้งเชิงกราน/มดลูก) หรือการตรวจ ทางห้องปฏิบัติการมักไม่จำเป็น และในกรณีเป็นติ่งเนื้อเล็กๆมักไม่สามารถตรวจพบได้จากการตรวจอัลตราซาวด์ ที่จะมีประโยชน์จากการตรวจอัลตราซาวด์มักเป็นติ่งเนื้อในโพรงมดลูกที่ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าขณะตรวจภายใน ซึ่งบางครั้งต้องมีการฉีดน้ำเกลือเข้าไปในโพรง มดลูกด้วยขณะทำอัตราซาวด์ (Saline infusion ultrasonography) เพื่อให้เห็นติ่งเนื้อในโพรงมดลูกชัดเจนขึ้น
แพทย์รักษาติ่งเนื้อปากมดลูกอย่างไร?
ส่วนมากแพทย์รักษาติ่งเนื้อปากมดลูกโดยการตัดติ่งเนื้อนั้นออก ซึ่งสามารถทำได้ที่ห้องตรวจผู้ป่วยนอกเลย ไม่ต้องฉีดยาชาหรือดมยาสลบ ไม่ค่อยมีอาการเจ็บปวดมากนัก ทำได้ง่าย ยกเว้นติ่งเนื้อที่มีขนาดใหญ่มาก แพทย์อาจต้องมีการผูกที่ขั้วของติ่งเนื้อหรือต้องจี้ด้วยไฟฟ้าที่ขั้วติ่งเนื้อก่อนตัดและหลังตัดติ่งเนื้อเพื่อหยุดเลือดออก ซึ่งต้องทำในห้องผ่าตัด
วิธีดูแลตนเองทำอย่างไร?
วิธีดูแลตนเองหากมีติ่งเนื้อที่ปากมดลูกและภายหลังการตัดติ่งเนื้อคือ กรณีตรวจพบติ่งเนื้อที่ปากมดลูก แพทย์จะแนะนำให้ตัดออก และส่งติ่งเนื้อที่ได้จากผ่าตัดเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา
การตัดติ่งเนื้อทำได้ง่ายไม่ยุ่งยาก ไม่ต้องนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล หลังตัดติ่งเนื้อ จะมีเลือดออกทางช่องคลอดเล็กน้อยประมาณ 1 - 2 วันก็จะหายไปเอง แพทย์จะนัดมาฟังผลทาง พยาธิวิทยาของติ่งเนื้ออีกประมาณ 2 - 4 สัปดาห์ ซึ่งการดูแลตนเองระหว่างนี้คือ ไม่ควรสวนล้างช่องคลอด ควรงดมีเพศสัมพันธ์ประมาณ 1 สัปดาห์ และสังเกตอาการผิดปกติต่างๆเช่น หากมีตกขาวมากผิดปกติ ตกขาวมีสีเขียว มีกลิ่น ปวดท้องน้อยมากผิดปกติ มีไข้ มีเลือดออกทางช่องคลอด มากผิดปกติ ควรไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัด
ติ่งเนื้อปากมดลูกกลับเป็นซ้ำได้หรือไม่?
ติ่งเนื้อที่ปากมดลูกสามารถเกิดใหม่/เกิดเป็นซ้ำได้อีก ระยะเวลาที่จะเกิดใหม่และเปอร์ เซนต์การเกิดใหม่ไม่มีรายงานชัดเจน
ติ่งเนื้อปากมดลูกมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
ติ่งเนื้อปากมดลูกเป็นโรคมีการพยากรณ์โรคที่ดี รักษาได้หายหลังการตัดออก แต่อาจกลับ เป็นซ้ำได้ โดยยังไม่มีรายงานชัดเจนว่า โอกาสเกิดเป็นซ้ำมีกี่เปอร์เซนต์ หรือจะกลับเป็นซ้ำเมื่อ ไหร่ ส่วนการกลายเป็นมะเร็งนั้นพบได้น้อยมากประมาณ 1%
ติ่งเนื้อปากมดลูกก่อผลข้างเคียงอย่างไร?
ผลข้างเคียงจากติ่งเนื้อปากมดลูกคือ การมีเลือดออกทางช่องคลอดหรือการมีประจำเดือน ที่ผิดปกติ และติ่งเนื้อนี้อาจกลายเป็นมะเร็งได้ประมาณ 1%
มีวิธีป้องกันติ่งเนื้อที่ปากมดลูกหรือไม่?
ปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกันติ่งเนื้อปากมดลูก แต่เมื่อดูจากสาเหตุแล้ว เมื่อมีตกขาวที่ผิด ปกติ ควรรีบพบแพทย์/สูตินรีแพทย์ เพื่อการรักษาการติดเชื้อที่ปากมดลูกที่เป็นสาเหตุตกขาว ซึ่งอาจช่วยลดปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคนี้ได้
บรรณานุกรม
1. http://www.drugs.com/health-guide/cervical-polyps.html [2019,Dec28]
2. http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/18001188 [2019,Dec28]
3. http://en.wikipedia.org/wiki/Cervical_polyp [2019,Dec28]