ดีดีที (DDT)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ไดคลอโรไดฟีนิลไตรคลอโรอีเทน(Dichlorodiphenyltrichloroethane) หรือเขียน แบบย่อว่า ดีดีที(DDT) เป็นสารประกอบในกลุ่ม ออร์กาโนคลอไรด์ (Organochlorides) ดีดีทีเป็นสารที่มีลักษณะเป็นเกล็ดผลึก ไม่มีสี ไม่มีรส และไม่ค่อยมีกลิ่น ถูกนำมาใช้ เป็นยาฆ่าแมลงที่สามารถสร้างมลพิษกับสิ่งแวดล้อมได้ค่อนข้างมาก ดีดีทีถูกสังเคราะห์ขึ้นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.1874(พ.ศ.2417) แต่นำมาใช้ฆ่าแมลงในปี ค.ศ.1939(พ.ศ.2482) ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ดีดีทีถูกนำมาใช้ในกองทัพเพื่อกำจัดแมลงที่เป็นพาหะของโรคมาลาเรีย และโรคไข้รากสาดใหญ่ และพัฒนาต่อมาเป็นยาฆ่าแมลงในแปลงเกษตรกรรมและในครัวเรือน ซึ่งพบว่าสารประกอบนี้มีอันตรายต่อสภาพแวดล้อมและร่างกายของมนุษย์ ด้วยดีดีทีสามารถก่อให้เกิดโรคมะเร็ง การปนเปื้อนในธรรมชาติจะทำให้สัตว์ป่าหลายประเภทตายลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัตว์ประเภทนก ทำให้ดีดีทีถูกขึ้นบัญชีในอนุสัญญากรุงสต็อกโฮล์มว่าด้วยสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน (Stockholm Convention on Persistent Organic Pollutants: POPs) ส่งผลให้ห้ามใช้ดีดีทีในแปลงเกษตรแต่อนุโลมให้ใช้ดีดีทีในบางพื้นที่ เพื่อควบคุมการระบาดของมาลาเรียแต่ต้องมีการควบคุมอย่างเข้มงวดเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

กลไกการออกฤทธิ์ของดีดีทีเป็นอย่างไร?

ดีดีที

ดีดีทีเป็นสารประกอบที่ไม่ละลายน้ำ แต่จะละลายได้ดีในตัวทำละลายอินทรีย์อย่างเช่น น้ำมัน ดีดีทีไม่สามารถเกิดขึ้นเองได้ตามธรรมชาติ ต้องอาศัยการสังเคราะห์จากฝีมือมนุษย์เท่านั้น ดีดีทีมีการออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทของแมลงโดยทำให้มีการเปิดออกของช่องไอออนโซเดียม(Sodium ion channel) ก่อให้แมลงเกิดสภาวะเกร็งและมีการกระตุกของกล้ามเนื้อ ทำให้แมลงตายลงในที่สุด อย่างไรก็ตามแมลงหลายสายพันธุ์ก็พัฒนาตัวมันให้ดื้อและทนต่อดีดีทีได้เช่นกัน จึงทำให้เกิดแนวคิดว่า ดีดีทีไม่ได้ส่งผลฆ่าแมลงได้อย่างยั่งยืน แต่กลับกระตุ้นให้แมลงศัตรูพืชมีความแข็งแรงมากขึ้น ประกอบกับการตกค้างของดีดีทีในสิ่งแวดล้อมสามารถส่งผลกระทบต่อมนุษย์ได้ทั้งทางตรงและทางอ้อมพร้อมๆกัน

ดีดีทีส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร?

การปนเปื้อนดีดีทีลงในดิน สามารถส่งผลต่อสิ่งมีชีวิตได้ยาวนานด้วยการสลายตัว ของดีดีทีในธรรมชาติอาจใช้เวลา 22 วัน–30 ปี หรือการปนเปื้อนลงในแหล่งน้ำ ดีดีทีจะลอยปะปนในรูปของสารแขวนตะกอน หากสัตว์น้ำกินเข้าไปจะก่อให้เกิดพิษ ต่อตัวสัตว์น้ำได้โดยตรง นักวิชาการได้กล่าวว่า ดีดีทีที่ปนเปื้อนในแหล่งน้ำอาจต้องใช้เวลานานถึง 150 ปีจึงจะสลายตัว ด้วยระยะเวลายาวนานขนาดนี้ การปนเปื้อนของดีดีทีในดินหรือแหล่งน้ำ ย่อมส่งผลกระทบต่อสายใยอาหารในระบบนิเวศน์ในธรรมชาติได้มากมาย

ขอยกตัวอย่างเรื่องผลกระทบของดีดีทีในสัตว์ปีกสักหนึ่งตัวอย่าง ดังนี้ การสลายตัวของดีดีทีจะทำให้ได้สารประกอบที่สามารถก่อให้เกิดพิษอีก 2 ตัว คือDichlorodiphenyldichloroethylene (DDE)กับ Dichlorodiphenyldichloroethane (DDD) สารประกอบดังกล่าวส่งผลกระทบต่อไข่ของนกนักล่าที่อาศัยในทวีปอเมริกาและยุโรป มีเปลือกไข่บางลงและเสี่ยงต่อการแตกง่าย จนนำไปสู่ภาวะสูญพันธุ์ในที่สุด กลุ่มนกที่ได้รับผลกระทบ เช่น นกอินทรีย์ใหญ่หัวขาว นกกระทุงสีน้ำตาล เหยี่ยวเพเรกริน และเหยี่ยวขนาดใหญ่ที่กินปลาเป็นอาหาร ด้วยเหตุผลนี้เองในปี ค.ศ.2004(พ.ศ.2547)

อนุสัญญากรุงสต็อกโฮล์มว่าด้วยสารมลพิษฯ(POPs) ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุมมากกว่า 170 ประเทศทั่วโลกจึงลงนามต่อต้านการใช้ดีดีทีในภาคเกษตรกรรมและยอมรับการใช้ดีดีทีเพื่อลดการระบาดของโรคมาลาเรียอย่างมีการควบคุมเท่านั้น

พิษของดีดีทีต่อมนุษย์มีอะไรบ้าง?

อาจแบ่งลักษณะการเกิดพิษจากดีดีทีออกเป็น 2 แบบดังนี้

1. การเกิดพิษแบบเฉียบพลัน(Acute toxicity): การได้รับดีดีทีเข้าสู่ร่างกายโดยตรง เช่น กินดีดีทีเพียงปริมาณไม่มากก็สามารถทำให้มีภาวะไตวายเฉียบพลัน เกิดอาการชัก และหมดสติ นอกจากนี้ดีดีทีที่เข้าสู่ร่างกายสามารถทำให้เลือดมีฤทธิ์เป็นกรด/เลือดเป็นกรด และมีเม็ดเลือดแดงปนออกมากับปัสสาวะ/ปัสสาวะเป็นเลือด การช่วยเหลือผู้ป่วยต้อง ให้แพทย์ทำการล้างท้องโดยเร็ว

2. การเกิดพิษแบบเรื้อรัง(Chronic toxicity): การสะสมปริมาณดีดีทีทีละน้อยในร่างกายมนุษย์สามารถส่งผลกระทบระยะยาวซึ่งพอจะสรุปได้ดังนี้

  • เข้ารบกวนการทำงานของระบบต่อมไร้ท่อในร่างกาย ส่งผลให้ปริมาณน้ำอสุจิน้อยลง ประจำเดือนผิดปกติ ระยะเวลาในการตั้งครรภ์ และการหลั่งน้ำนมของมารดเปลี่ยนแปลงไป
  • ในปี ค.ศ.2015(พ.ศ.2558) หน่วยวิจัยมะเร็งนานาชาติ (International Agency for Research on Cancer - IARC) ซึ่งขึ้นกับองค์การอนามัยโลก(WHO)ได้เปิดเผยว่า ดีดีทีสามารถกระตุ้นให้เกิดมะเร็งชนิดต่างๆได้ เช่น มะเร็งตับอ่อน มะเร็งตับ มะเร็งอัณฑะ มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งลำไส้ตรง และมะเร็งเต้านม

ดีดีทียังมีจำหน่ายในประเทศไทยหรือไม่?

ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 กำหนดให้ดีดีทีเป็นวัตถุอันตรายในประเภท4 ซึ่งหมายถึงกลุ่มวัตถุมีพิษ ห้ามการผลิตหรือนำเข้าและส่งออก หรือมีไว้ครอบครอง ทำให้ปัจจุบันเราจะไม่พบเห็นการใช้ดีดีทีในประเทศเราเป็นเวลานานแล้ว

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Insecticide#Synthetic_insecticide [2018,June 23]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/DDT [2018,June 23]
  3. http://mnre.stage.symetr.com/th/convention/%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%B8%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%8D%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B8%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%95%E0%B9%87%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B9%82%E0%B8%AE%E0%B8%A5%E0%B9%8C%E0%B8%A1/ [2018,June 23]
  4. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/15362598 [2018,June 23]
  5. https://jusci.net/node/3484 [2018,June 23]
  6. http://www.uniserv.buu.ac.th/forum2/topic.asp?TOPIC_ID=1199 [2018,June 23]