ซัลฟาเมทอกซาโซน (Sulfamethoxazole)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ: คือยาอะไร?

ซัลฟาเมทอกซาโซน (Sulfamethoxazole) คือ ยาปฏิชีวนะกลุ่มซัลฟา (Sulfa drug) ทางคลินิกใช้เพื่อต่อต้านเชื้อแบคทีเรียทั้งชนิดแกรมบวกและลบ เช่น  รักษาโรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ หลอดลมอักเสบ และโรคต่อมลูกหมากอักเสบติดเชื้อ, โดยมีรูปแบบเป็นยารับประทาน และยาฉีด     

เริ่มแรกเมื่อมีการใช้ยาซัลฟาเมทอกซาโซนในอเมริกาเมื่อปี ค.ศ.1961 (พ.ศ. 2504) แต่ถูกเพิกถอนไปสักระยะหนึ่ง ปัจจุบันวงการแพทย์ได้นำยานี้กลับมาใช้ใหม่โดยนำมาผสมร่วมกับยา Trimethoprim  และมีการใช้ชื่อย่อว่า SMX-TMP หรือ SMZ-TMP (Sulfamethoxazole and Trimethoprim)  

เมื่อตัวยาซัลฟาเมทอกซาโซนเข้าสู่กระแสเลือด จะเกิดการรวมตัวเข้ากับพลาสมาโปรตีนประมาณ 70%, ตับจะเป็นอวัยวะที่คอยเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง และทำลายยาซัลฟาเมทอกซาโซนอย่างต่อเนื่อง,  ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 10 ชั่วโมงขึ้นไปในการกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือด และผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ,  ธรรมชาติของยาซัลฟาเมทอกซาโซนสามารถซึมผ่านเข้าไปได้ทั่วเนื้อเยื่อของอวัยวะต่างๆในร่างกาย และยานี้ยังสามารถผ่านรกได้อีกด้วย,  นอกจากนั้น สามารถตรวจพบยานี้กระจายตัวอยู่ในน้ำหล่อเลี้ยงหูชั้นกลาง  พบในเสมหะ  รวมถึงน้ำที่หล่อเลี้ยงบริเวณช่องคลอดอีกด้วย 

อาการข้างเคียงที่สามารถพบได้บ่อยเมื่อมีการใช้ยาซัลฟาเมทอกซาโซน  คือ คลื่นไส้  อาเจียน  เบื่ออาหาร  ผื่นคัน หรือกรณีที่รุนแรงอาจเกิดภาวะ Stevens-Johnson syndrome

ทั้งนี้ มีเงื่อนไขบางประการที่ผู้บริโภคควรทราบก่อนการใช้ยาซัลฟาเมทอกซาโซน เช่น  

  • ห้ามใช้กับผู้ป่วย โรคตับ โรคไต ที่ทำงานผิดปกติในระดับรุนแรง และผู้ที่แพ้ยานี้ และแพ้ยากลุ่มซัลฟา
  • แพทย์จะไม่จ่ายยานี้ให้กับผู้ป่วยโลหิตจาง รวมถึงผู้ป่วยที่มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ
  • ผู้ที่ร่างกายขาดกรดโฟลิก (Folic acid) ผู้ป่วยโรคหืด  ผู้ป่วยโรคเอดส์ 

ผู้ป่วยภาวะขาดเอนไซม์จีซิกพีดี (G6PD) ผู้ป่วยด้วยโรคต่อมไทรอยด์ เป็นกลุ่มที่สามารถ ได้รับผลกระทบ/ผลข้างเคียงจากการใช้ยานี้ได้ง่าย

  • สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร  เด็กอายุต่ำกว่า 2 เดือน เป็นกลุ่มเสี่ยง

ที่ตัวยานี้สามารถก่อให้เกิดอาการพิษได้  แพทย์จะหลีกเลี่ยงการใช้ยากับผู้ป่วยกลุ่มนี้ เช่นกัน 

ปัจจุบันยาซัลฟาเมทอกซาโซน เป็นหนึ่งในรายการยาที่บรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติของไทย โดยต้องผสมกับตัวยา Trimethoprim  และมีรูปแบบผลิตภัณฑ์ทางการค้าทั้งที่เป็นยา ชนิดเม็ด ยาแคปซูล ยาน้ำแขวนตะกอนชนิดรับประทาน รวมถึงยาฉีดที่ปราศจากเชื้อ 

ยาซัลฟาเมทอกซาโซนจัดอยู่ในหมวดของยาอันตราย การใช้ยานี้ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น, ผู้บริโภคสามารถพบเห็นการใช้ยานี้ในสถานพยาบาลทั้งของรัฐ และเอกชน  และสามารถหาซื้อจากตามร้านขายยาโดยทั่วไป

ซัลฟาเมทอกซาโซนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

ซัลฟาเมทอกซาโซน

 

ยาซัลฟาเมทอกซาโซนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้:  เช่น

  • รักษาโรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ   
  • บำบัดรักษาโรคหนองในเทียม   
  • รักษาการติดเชื้อบริเวณหูชั้นกลาง/ หูน้ำหนวก/ หูชั้นกลางติดเชื้อ
  • ใช้ป้องกันการติดเชื้อเยื่อหุ้มสมองอักเสบ(Prophylaxis of meningococcal meningitis)

ซัลฟาเมทอกซาโซนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาซัลฟาเมทอกซาโซน คือตัวยาจะรบกวนการสังเคราะห์กรดนิวคลีอิก (Nucleic acid, สารเกี่ยวกับการสร้างสารพันธุกรรม) ในตัวแบคทีเรีย ส่งผลให้แบคทีเรียหยุดการเจริญเติบโต ไม่สามารถกระจายพันธุ์ และตายลงในที่สุด

ซัลฟาเมทอกซาโซนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาซัลฟาเมทอกซาโซน มีรูปแบบการจัดจำหน่าย:  

ก. ยาเม็ดที่ผสมร่วมกับยา Trimethoprim:เช่น

  • Trimethoprim 160 มิลลิกรัม + Sulfamethoxazole 800 มิลลิกรัม / เม็ด
  • Trimethoprim 80 มิลลิกรัม + Sulfamethoxazole 400 มิลลิกรัม / เม็ด
  • Trimethoprim 20 มิลลิกรัม + Sulfamethoxazole 100 มิลลิกรัม / เม็ด

ข. ยาแคปซูลที่ผสมร่วมกับยา Trimethoprim: เช่น                                                        

  • Trimethoprim 80 มิลลิกรัม + Sulfamethoxazole 400 มิลลิกรัม / แคปซูล

ค. ยาน้ำแขวนตะกอนที่ผสมร่วมกับยา Trimethoprim: เช่น

  • Trimethoprim 40 มิลลิกรัม+ Sulfamethoxazole 200 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร                      

ง. ยาฉีดที่ผสมร่วมกับ Trimethoprim: เช่น

  • Trimethoprim 80 มิลลิกรัม + Sulfamethoxazole 400 มิลลิกรัม / 5 มิลลิลิตร

ซัลฟาเมทอกซาโซนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาซัลฟาเมทอกซาโซน มีขนาดรับประทาน: เช่น

  • ผู้ใหญ่: เริ่มต้นรับประทาน 2 กรัม, จากนั้นแพทย์จะให้รับประทานต่อเนื่องครั้งละ 1 กรัม  วันละ 2 ครั้ง เช้า – เย็น ก่อนอาหาร,  กรณีที่ติดเชื้อขั้นรุนแรง แพทย์จะปรับขนาดรับประทานเป็นครั้งละ 1 กรัม วันละ 3 ครั้ง เช้า – กลางวัน – เย็น
  • เด็กอายุตั้งแต่ 2 เดือนขึ้นไป: เริ่มต้นรับประทาน 50 - 60 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม, จากนั้นแพทย์จะให้รับประทานยา 25 - 30 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม วันละ 2 ครั้ง, ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 75 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน
  • เด็กอายุต่ำกว่า 2 เดือน: ทางคลินิก ยังไม่มีข้อมูลเรื่องผลข้างเคียงของยานี้ในเด็กกลุ่มนี้อย่างชัดเจน การใช้ยานี้ในเด็กกลุ่มนี้ จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีไป

 *อนึ่ง สามารถรับประทานยานี้ ก่อน หรือ พร้อม หรือ หลังอาหาร ก็ได้

*****หมายเหตุ:ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้นไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้  การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาซัลฟาเมทอกซาโซน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น                       

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก  ขึ้นผื่น  หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาซัลฟาเมทอกซาโซนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาซัลฟาเมทอกซาโซน  สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า

อย่างไรก็ตาม เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทานยาซัลฟาเมทอกซาโซน ตรงเวลา

ซัลฟาเมทอกซาโซนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาซัลฟาเมทอกซาโซนสามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย:  เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น มีอาการ คลื่นไส้อาเจียน  เบื่ออาหาร  ท้องเสีย เกิดแผลในลำคอ
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น ก่อให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ, ฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์ต่ำ /ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมย
  • ผลต่อระบบการทำงานของหัวใจ: เช่น เกิดภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น  เกิดภาวะผื่นคัน  ลมพิษ   สีผิวซีดจาง

มีข้อควรระวังการใช้ซัลฟาเมทอกซาโซนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาซัลฟาเมทอกซาโซน: เช่น             

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้ และ/หรือ แพ้ยากลุ่มซัลฟา
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ ด้วยตัวยาสามารถส่งผลต่อการเจริญเติบโตของทารก ในครรภ์ได้
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ด้วยยาซัลฟาเมทอกซาโซนสามารถผ่านเข้าน้ำนมของมารดา และส่งผ่านเข้าสู่ตัวทารกได้
  • ห้ามใช้ยานี้กับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 เดือน
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วย โรคไตระยะรุนแรง ผู้ป่วยโรคตับ ผู้ป่วยด้วยโรคเลือด ผู้ป่วยโรคลูปัส-โรคเอสแอลอี   
  • ห้ามปรับขนาดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วย โรคหืด โรคเอดส์ ผู้ป่วยภาวะขาดเอนไซม์จีซิกพีดี  (G6PD)
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้สูงอายุ ด้วยเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการแพ้ยานี้มากกว่ากลุ่มอื่น
  • เพื่อหลีกเลี่ยงการตกตะกอนของยานี้ในไตและในกระเพาะปัสสาวะจึงควรต้องดื่มน้ำ ตามในปริมาณที่มากพอหลังรับประทานยากลุ่มซัลฟาที่รวมถึงยานี้
  • กรณีที่รับประทานยานี้ก่อนอาหาร แล้วมีอาการรู้สึกไม่สบายในกระเพาะอาหาร- ลำไส้ สามารถเปลี่ยนมารับประทานยาพร้อมอาหารได้
  • *หากเกิดอาการแพ้ยานี้ เช่น อึดอัด/หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก   ตัวบวม  ผื่นคันขึ้นเต็มตัว มีไข้  หรือมีภาวะ Stevens-Johnson syndrome ให้หยุดการใช้ยานี้ทันที แล้วรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว ทันที/ฉุกเฉิน
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ "ยา" ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบัน ทุกชนิด (รวมยาซัลฟาเมทอกซาโซนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม  ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ซัลฟาเมทอกซาโซนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาซัลฟาเมทอกซาโซนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น: เช่น

  • การใช้ยาซัลฟาเมทอกซาโซน ร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่นยา Warfarin จะทำให้การทำงานของยาต้านการแข็งตัวของเลือดมีฤทธิ์นานขึ้น หากจำเป็นต้องใช้ยา  ร่วมกัน  แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นรายบุคคลไป
  • การใช้ยาซัลฟาเมทอกซาโซน ร่วมกับยา Sodium nitrite อาจทำให้มีภาวะ Methemoglobinemia/ภาวะเมทฮีโมโกลบินในเลือด เกิดขึ้นภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังจากใช้ยาร่วมกัน  ซึ่งจะทำให้ความสามารถในการขนส่งออกซิเจนของเลือดเพื่อไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆของร่างกายด้อยประสิทธิภาพลงไป,  โดยอาจสังเกตพบอาการ ผิวหนังซีดคล้ำ  คลื่นไส้ ปวดหัว   วิงเวียน  อ่อนเพลีย  หายใจลำบาก เป็นต้น, หากไม่มีความจำเป็นใดๆ จึงควรต้องหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยาซัลฟาเมทอกซาโซน ร่วมกับยาลดความดันกลุ่ม ACE inhibitors จะทำให้ระดับโพแทสเซียมในเลือดสูงมากขึ้น   แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้ เหมาะสมในผู้ป่วยเป็นกรณีไป
  • ห้ามใช้ยาซัลฟาเมทอกซาโซน ร่วมกับยา Methenamine  ด้วยจะทำให้เกิดการตกตะกอนของยาซัลฟาเมทอกซาโซนในปัสสาวะ

ควรเก็บรักษาซัลฟาเมทอกซาโซนอย่างไร?

ควรเก็บยาซัลฟาเมทอกซาโซน: เช่น

  • เก็บยาภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น
  • ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ย

ซัลฟาเมทอกซาโซนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาซัลฟาเมทอกซาโซน  มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Actin (แอคติน) The Forty-Two
Actrim/Actrim-Cap/Addtrim (แอคทริม/แอคทริม-แคป/แอดทริม) Medicine Products
Agsulfa (อักซัลฟา) Charoon Bhesaj
Babytrim (เบบี้ทริม) T.O.Chemicals
Bacin (บาซิน) Atlantic Lab
Bactin (แบคทิน) Siam Medicare
Bactrim (แบคทริม) Roche
Bactoprim (แบคโทพริม) Charoen Bhaesaj Lab
Co-Fatrim (โค-ฟาทริม) T. Man Pharma
Comox (โคม็อก) T. O. Chemicals
Comoxole (โคม็อกโซล) Inpac Pharma
Coprim (โคพริม) Community Pharm PCL
Co-Star (โค-สตาร์) Inpac Pharma
Cotamox (โคตาม็อก) Asian Pharm

 

*อนึ่ง: ยาซัลฟาเมทอกซาโซน ยังมีชื่ออื่นอีก เช่น Septra, Septrin, Co-Trimoxazole

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Sulfamethoxazole  [2022,Dec10]
  2. https://www.mims.com/India/drug/info/sulfamethoxazole/?type=full&mtype=generic#Dosage  [2022,Dec10]
  3. https://www.drugs.com/mtm/sulfamethoxazole-and-trimethoprim.html  [2022,Dec10]
  4. https://www.drugs.com/drug-interactions/sulfamethoxazole-trimethoprim-index.html?filter=3&generic_only=   [2022,Dec10]
  5. https://www.mims.com/Thailand/drug/search?q=sulfamethoxazole&page=0  [2022,Dec10]