ถุงน้ำช็อกโกแลต หรือ ช็อกโกแลตซีสต์ (Chocolate cyst)
- โดย รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิง ประนอม บุพศิริ
- 21 มิถุนายน 2563
- Tweet
- ถุงน้ำช็อกโกแลต/ช็อกโกแลตซีสต์คืออะไร?
- สาเหตุของถุงน้ำช็อกโกแลต/ช็อกโกแลตซีสต์คืออะไร?
- ใครที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นถุงน้ำช็อกโกแลต/ช็อกโกแลตซีสต์?
- ถุงน้ำช็อกโกแลต/ช็อกโกแลตซีสต์มีอาการอย่างไรบ้าง?
- เมื่อไหร่ควรพบแพทย์
- แพทย์วินิจฉัยถุงน้ำช็อกโกแลต/ช็อกโกแลตซีสต์อย่างไร?
- รักษาถุงน้ำช็อกโกแลต/ช็อกโกแลตซีสต์อย่างไร?
- ภาวะแทรกซ้อนของถุงน้ำช็อกโกแลต/ช็อกโกแลตซีสต์มีอะไรบ้าง?
- ถุงน้ำช็อกโกแลต/ช็อกโกแลตซีสต์มีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อเป็นถุงน้ำช็อกโกแลต/ช็อกโกแลตซีสต์?
- เมื่อไหร่ควรพบแพทย์ก่อนนัด?
- ถุงน้ำช็อกโกแลต/ช็อกโกแลตซีสต์สามารถป้องกันได้หรือไม่?
- ถุงน้ำช็อกโกแลต/ช็อกโกแลตซีสต์สามารถกลับเป็นซ้ำอีกได้หรือไม่?
- ถุงน้ำช็อกโกแลต/ช็อกโกแลตซีสต์จะกลายเป็นมะเร็งหรือไม่?
- เป็นถุงน้ำช็อกโกแลต/ช็อกโกแลตซีสต์แล้วต้องการตั้งครรภ์ควรทำอย่างไร?
- เมื่อเป็นถุงน้ำช็อกโกแลต/ช็อกโกแลตซีสต์และตั้งครรภ์ดูแลตนเองต่างจากครรภ์ทั่วไปอย่างไร?
- ทารกที่เกิดจากมารดาที่เป็นถุงน้ำช็อกโกแลต/ช็อกโกแลตซีสต์จะเป็นอย่างไร?
- บรรณานุกรม
- เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis / Chocolate cyst)
- ประจำเดือน (Menstruation)
- ปวดประจำเดือน (Dysmenorrhea)
- ภาวะมีบุตรยาก (Infertility)
- การตั้งครรภ์ (Pregnancy)
- ยาเม็ดคุมกำเนิด (Birth control pill)
- ยาฉีดคุมกำเนิด (Injectable contraceptive)
- ยาฝังคุมกำเนิด (Contraceptive implant)
- เมเฟนามิค (Mefenamic)
ถุงน้ำช็อกโกแลตคืออะไร?
ถุงน้ำช็อกโกแลต หรือ ช็อกโกแลตซีสต์ (Chocolate cyst) เป็นถุงน้ำชนิดหนึ่งที่เกิดในรังไข่ ซึ่งภายในถุงน้ำจะเป็นเลือดเก่าๆข้นๆสีน้ำตาล ทำให้ดูเหมือนช็อกโกแลต จึงเรียกโดยทั่วไปเป็นชื่อง่ายๆว่า ‘ช็อกโกแลตซีส’ ซึ่งโรค/ภาวะนี้เกิดจากการที่มีเยื่อบุโพรงมดลูกหลุดไปกับเลือดประจำเดือนที่ไหลย้อนขึ้นไปในท่อนำไข่ แล้วไปตกอยู่ที่รังไข่และมีการเจริญแบ่งตัวมากขึ้น และเยื่อบุโพรงมดลูกกลุ่มนี้จะมีการลอกหลุดทำให้มีเลือดออกเป็นรอบๆตามรอบประจำเดือน ทำให้เกิดการสะสมเลือดที่รังไข่เป็นระยะเวลานานจนเกิดเป็นก้อนถุงน้ำเลือดหรือ’ถุงน้ำช็อกโกแลต/ช็อกโกแลตซีสต์’ขึ้นมา
ถุงน้ำช็อคโกแลต/ ช็อกโกแลตซีสต์ เป็นโรคที่สัมพันธ์กับระดับฮอร์โมนเพศหญิงชนิดเอสโตรเจนจึงพบโรคนี้มากในสตรีวัยเจริญพันธุ์
อนึ่ง ชื่ออื่นๆทางการแพทย์ของถุงน้ำช็อกโกแลต/ช็อกโกแลตซีสต์ คือ
- Endometriotic cyst
- หรือ Endometrioid cyst
- หรือ Endometrial cyst
- หรือ Endometriosis of ovary
- หรือ Endometrioma
- หรือ Ovarian endometrioma
สาเหตุของถุงน้ำช็อกโกแลตคืออะไร?
ทฤษฎีการเกิดถุงน้ำช็อกโกแลต/ช็อกโกแลตซีสต์ นี้เชื่อว่า เกิดจากการไหลย้อนของเลือดประจำเดือนกลับเข้าไปในช่องท้องและไปเกาะและเจริญอยู่ที่รังไข่ แต่การที่สตรีทุกคนที่มีประจำเดือนไม่เป็นโรคนี้มีคำอธิบายว่า อาจเกิดจากภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของแต่ละคนไม่เหมือนกันที่ช่วยป้องกันการเกาะและเจริญของเยื่อบุมดลูกนอกตัวมดลูก
ใครที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นถุงน้ำช็อกโกแลต?
ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นถุงน้ำช็อกโกแลต/ช็อกโกแลตซีสต์ ได้แก่
1. การเริ่มมีประจำเดือนครั้งแรกเร็ว คือมักเร็วกว่าอายุ 11 ปี ซึ่งส่วนมากวัยรุ่นหญิงไทยทั่วไปจะมีประจำเดือนครั้งแรกที่อายุ 11 - 13 ปี
2. มีประจำเดือนแต่ละครั้งมากและนานคือ นานกว่า 7 วันทำให้เลือดประจำเดือนมีโอกาสไหลย้อนเข้าไปในช่องท้องมากขึ้น
3. ไม่มีบุตรเพราะการตั้งครรภ์จะเป็นปัจจัยป้องการการเกิดภาวะนี้จากการตั้งครรภ์ทำให้ไม่เป็นประจำเดือน
4. มีความผิดปกติของมดลูกหรือของช่องคลอด ทำให้มีการอุดกั้นของทางออกของประจำ เดือน ทำให้ประจำเดือนท้นกลับเข้าไปในช่องท้องได้
5. ผู้หญิงที่มีประวัติในครอบครัวที่เป็นโรค/ภาวะนี้จะมีโอกาสเป็นโรคนี้สูง
ถุงน้ำช็อกโกแลตมีอาการอย่างไรบ้าง?
ถุงน้ำช็อกโกแลตมีอาการดังนี้ เช่น
1. ปวดประจำเดือนมากทุกเดือน
2. ปวดท้องน้อยเรื้อรัง
3. ปวดท้องรุนแรงเฉียบพลันในกรณีที่ถุงน้ำนี้แตก
4. คลำได้ก้อนที่ท้องน้อย
5. มีภาวะมีบุตรยาก
6. บางครั้งเป็นส่วนน้อย ผู้ป่วยอาจไม่มีอาการได้
เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?
โดยทั่วไป เมื่อมีอาการจากถุงน้ำรังไข่ที่รวมถึงถุงน้ำช็อกโกแลต/ช็อกโกแลตซีสต์ซึ่งไม่ใช่ภาวะปกติ ต้องรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล แต่หากไม่มีอาการผิดปกติอาจทำให้ไปพบแพทย์ช้า
โดยอาการที่พบได้บ่อยที่ควรไปพบแพทย์คือ
- มีอาการปวดประจำเดือนมากกว่าปกติ รับประทานยาหลายอย่างแล้วอาการปวดมักไม่ดีขึ้น หรือต้องรับประทานยาปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆทุกเดือน หรือปวดมากจนต้องฉีดยาระงับปวด ไปทำงานไม่ได้ หรือต้องขาดเรียน เหล่านี้เป็นต้น ซึ่งไม่ใช่อาการปวดประจำเดือนปกติ
- อาการอย่างอื่นที่ต้องไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลคือ
- คลำได้ก้อนในท้องน้อย
- หรือมีภาวะมีบุตรยาก หลังแต่งงาน 1 ปียังไม่มีบุตรแม้จะไม่ได้คุมกำเนิด ควรไปปรึกษาแพทย์/ไปโรงพยาบาลซึ่งอาจพบสาเหตุเป็นถุงน้ำช็อคโกแลต/ช็อกโกแลตซีสต์ ได้
แพทย์วินิจฉัยถุงน้ำช็อกโกแลตอย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยถุงน้ำช็อกโกแลต/ช็อกโกแลตซีสต์ได้ด้วยวิธีการดังนี้
ก. ประวัติทางการแพทย์: มีประวัติปวดประจำเดือนมากขึ้นเรื่อยๆ หรือมีภาวะมีบุตรยาก หรือคลำได้ก้อนที่ท้องน้อย แต่ในบางรายอาจไม่มีอาการได้
ข. การตรวจร่างกาย: ส่วนมากการตรวจร่างกายทั่วไปไม่พบความผิดปกติ ยกเว้นมีก้อนถุงน้ำขนาดใหญ่จะสามารถคลำก้อนได้ที่ท้องน้อย
ค. การตรวจภายใน: ที่จะตรวจคลำพบก้อนถุงน้ำที่ปีกมดลูกข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้าง
ง. การตรวจทางห้องปฏิบัติการ: เช่น
- ตรวจเลือด: จะไม่มีความเฉพาะเจาะจงสำหรับโรคนี้
- การตรวจที่เป็นประโยชน์มากคือ การตรวจอัลตราซาวด์ท้องน้อยโดยการตรวจผ่าน ทางช่องคลอด: เพราะส่วนมากถุงน้ำช็อกโกแลต/ช็อกโกแลตซีสต์ขนาดไม่โตมาก ลักษณะของถุงน้ำชนิดนี้จะมีลักษณะจำเพาะที่วินิจฉัยได้ง่ายจากอัลตราซาวด์ซึ่งพบว่าเป็นที่รังไข่ทั้ง 2 ข้างได้บ่อย
รักษาถุงน้ำช็อกโกแลตอย่างไร?
การรักษาถุงน้ำช็อกโกแลต/ช็อกโกแลตซีสต์ ขึ้นอยู่กับ อาการ, ความต้องการมีบุตร, และขนาดของถุงน้ำ, ซึ่งวิธีรักษามีดังนี้
1. รักษาโดยการรับประทานยา: เช่น
- ยาแก้ปวด: หากมีอาการปวดไม่มากสามารถเริ่มด้วยการรับประทานยาแก้ปวดพาราเซตตามอล (Paracetamol) 500 มก.ครั้งละ 1 เม็ดวันละ 3 - 4 ครั้ง เมื่อมีอาการปวดมากให้รับประทานยาพอนสแตน/เมเฟนามิค(Ponstan/Mefenamic) 500 มก.ครั้งละ 1 เม็ดวันละ 3 ครั้ง
- ยาฮอร์โมนเพศหญิง: ใช้ในกรณีที่ ปวดท้องน้อยมากใช้ยาแก้ปวดไม่ได้ผล, ไม่ได้วางแผนที่จะตั้งครรภ์, และขนาดของถุงน้ำช็อคโกแลตไม่ใหญ่ (น้อยกว่า 3 ซม.), ยาเหล่านี้จะเป็นยาในกลุ่มยาเม็ดคุมกำเนิดรับประทาน หรือใช้ยาฉีดคุมกำเนิดนานอย่างน้อยๆประมาณ 6 - 9 เดือน
2. รักษาโดยการผ่าตัด: เช่น
- ผ่าตัดเลาะถุงน้ำรังไข่ออก/ถุงน้ำช็อกโกแลต/ช็อกโกแลตซีสต์(Ovarian cystectomy) แพทย์พิจารณาผ่าตัดในกรณีที่
- ถุงน้ำมีขนาดมากกว่า 3 ซม. และจะผ่าตัดเลาะเฉพาะถุงน้ำช็อกโกแลตออก โดยพยายามเหลือเนื้อรังไข่ที่ดีไว้ให้มากที่สุดเพื่อผลิตฮอร์โมนเพศต่อไป
- การผ่าตัดวิธีนี้ พิจารณาทำให้ผู้ป่วยอายุน้อย ยังต้องการมีบุตรอีก
- หรือหากมีความจำเป็นแพทย์อาจพิจารณาตัดรังไข่ (Oophorectomy) ข้างที่เป็นก้อนขนาดใหญ่มากๆออกไปเลยทั้งรังไข่
- ผ่าตัดมดลูกร่วมกับผ่าตัดถุงน้ำรังไข่ (Hysterectomy with salpingo-oohorecto my) ซึ่งแพทย์จะทำในกรณีที่
- มีพยาธิสภาพมากที่มดลูกและที่รังไข่
- และ/หรือในผู้ป่วยมีอายุมากไม่ต้องการมีบุตรแล้ว
*อนึ่ง: การผ่าตัดเหล่านี้สามารถผ่าโดยการส่องกล้องทางหน้าท้อง หรือการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง ทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา
ภาวะแทรกซ้อนของถุงน้ำช็อกโกแลตมีอะไรบ้าง?
ภาวะแทรกซ้อน (ผลข้างเคียง) ของถุงน้ำช็อกโกแลต/ช็อกโกแลตซีสต์ ที่อาจพบได้คือ
1. ถุงน้ำช็อคโกแลต/ช็อกโกแลตซีสต์ แตกทำให้เกิดอาการปวดท้องรุนแรงเฉียบพลัน ต้องผ่าตัดด่วน
2. เกิดมีพังผืดในอุ้งเชิงกราน/ท้องน้อยมากทำให้ปวดท้องน้อยเรื้อรัง และทำให้การเคลื่อนไหวของท่อนำไข่ไม่ดี มีผลให้เกิดภาวะมีบุตรยาก
ถุงน้ำช็อกโกแลตมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
ถุงน้ำช็อกโกแลต/ช็อกโกแลตซีสต์ มีการพยากรณ์โรคที่ไม่ดีเพราะมีอัตราการกลับเป็นซ้ำสูงมากหากยังมีประจำเดือนอยู่, และ/หรือ ได้รับการรักษาแบบอนุรักษ์คือ ผ่าตัดเอาเฉพาะถุงน้ำออกเหลือรังไข่ไว้, และ/หรือการเจาะดูดเอาเฉพาะเลือดในถุงน้ำช็อกโกแลตออกยิ่งมีอัตราการกลับเป็นซ้ำสูงมาก, แต่ในรายที่ตัดรังไข่ออกทั้งหมดหรือตัดมดลูกด้วยอัตราการเป็นซ้ำจะน้อยลง
ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อเป็นถุงน้ำช็อกโกแลต?
การดูแลตนเองเมื่อเป็นถุงน้ำช็อกโกแลต/ช็อกโกแลตซีสต์ คือ
- ในกรณีที่ถุงน้ำช็อกโกแลต/ช็อกโกแลตซีสต์มีขนาดเล็ก หากมีอาการปวดประจำเดือนมากและยังไม่ต้องการวางแผนตั้งครรภ์ แพทย์จะให้รับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด หรือใช้ยาฉีดคุมกำเนิด เป็นระยะ เวลาประมาณ 6 - 9 เดือน ซึ่งยาเหล่านี้อาจมีผลข้างเคียงทำให้ประจำเดือนกะปริบกะปรอย น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น ผู้ป่วยเองต้องมีการควบคุมอาหารเพื่อไม่ให้น้ำหนักเพิ่มมากเกินไป แต่หากต้องการมีบุตรแพทย์จะให้ยาบรรเทาปวดและรักษาเรื่องภาวะมีบุตรยาก
- สำหรับถุงน้ำช็อกโกแลต/ช็อกโกแลตซีสต์ ที่ขนาดถุงน้ำช็อกโกแลตมีขนาดใหญ่ แพทย์จะแนะนำให้ผ่าตัดซึ่งมีหลายวิธีการดังกล่าวใน ‘หัวข้อ การรักษาฯ’ หลังจากนั้นจะพยายามให้ผู้ป่วยมีบุตร ซึ่งการตั้งครรภ์จะทำให้โรค/ภาวะนี้ดีขึ้น โอกาสกลับเป็นซ้ำช้าลง
เมื่อไหร่ควรพบแพทย์ก่อนนัด?
หากมีอาการปวดท้องน้อยมากอย่างเฉียบพลัน ควรรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดฉุกเฉิน/ทันที เพราะอาการอาจเกิดจากการแตกของถุงน้ำช็อกโกแลต/ช็อกโกแลตซีสต์ได้
ถุงน้ำช็อกโกแลตสามารถป้องกันได้หรือไม่?
ถุงน้ำช็อกโกแลต/ช็อกโกแลตซีสต์ เป็นโรค/ภาวะที่ป้องกันได้ยาก อย่างไรก็ตาม
- การรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด, การใช้ยาฉีดคุมกำเนิด, หรือการใช้ยาฝังคุมกำเนิด จะมีผลลดปริมาณประจำเดือนหรือทำให้ไม่มีประจำเดือน จึงสามารถช่วยลดโอกาสการเป็นโรคนี้ลงได้
- นอกจากนี้ การตั้งครรภ์ก็เป็นการป้องกันโรคนี้ด้วยเพราะทำให้ไม่เป็นประจำเดือนนานถึงประมาณ 9 - 10 เดือน
ถุงน้ำช็อกโกแลตสามารถกลับเป็นซ้ำอีกได้หรือไม่?
ในกรณีที่รักษาโดยการเลาะเฉพาะถุงน้ำช็อกโกแลต/ช็อกโกแลตซีสต์ออกและยังมีประจำเดือน โรค/ภาวะนี้สามารถกลับเป็นซ้ำได้บ่อยมาก (ประมาณ 30% ภายใน 3 - 5 ปี) เนื่องจากถุงน้ำช็อกโกแลต/ช็อกโกแลตซีสต์อเกิดจากอิทธิพลของฮอร์โมนเอสโตรเจน ดังนั้นเมื่อร่างกายยังมีฮอร์โมนนี้ ตัวโรคก็มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำๆได้อีก ดังนั้นเพื่อลดหรือป้องกันการเกิดซ้ำ แพทย์มักจะให้ยากลุ่มฮอร์โมน เช่น ยาฉีดคุมกำเนิด, ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดรับประทาน, เพื่อไม่ให้มีประจำเดือน โดยให้ยาต่อไปอีกเป็นระยะเวลานานอาจประมาณถึง 2 - 3 ปีหากยังไม่ประสงค์จะตั้งครรภ์
ถุงน้ำช็อกโกแลตจะกลายเป็นมะเร็งหรือไม่?
โอกาสที่ถุงน้ำช็อกโกแลต/ช็อกโกแลตซีสต์ จะพัฒนาไปเป็นมะเร็งมีได้ แต่น้อยมากๆ มักเป็นเพียงการรายงานผู้ป่วย ไม่สามารถนำมาคิดเป็นเปอร์เซ็นต์การเกิดได้
เป็นถุงน้ำช็อกโกแลตแล้วต้องการตั้งครรภ์ควรทำอย่างไร?
เมื่อเป็นถุงน้ำช็อกโกแลต/ช็อกโกแลตซีสต์ แล้วต้องการตั้งครรภ์ ต้องปรึกษาสูตินรีแพทย์ก่อนเสมอเพื่อประเมินขนาดถุงน้ำฯและโรคร่วมอื่นๆของอวัยวะเพศ (เช่น เนื้องอกมดลูก) และให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ ซึ่งคำแนะนำจะขึ้นกับแต่ละผู้ป่วยแตกต่างเป็นกรณีๆไป เช่น อาจต้องผ่าตัดถุงน้ำก่อนกรณีถุงน้ำมีขนาดใหญ่
- หากตั้งครรภ์โดยที่มีถุงน้ำช็อกโกแลต/ช็อกโกแลตซีสต์มีขนาดเล็กก็สามารถตั้งครรภ์ต่อไปได้ โดยมีการตรวจติดตามขนาดของถุงน้ำฯด้วยอัลตราซาวด์บริเวณท้องน้อยเป็นระยะๆจนหลังคลอด
- แต่หากตั้งครรภ์ไปแล้วและตรวจพบถุงน้ำช็อกโกแลต/ช็อกโกแลตซีสต์มีขนาดใหญ่ มีความจำเป็นที่แพทย์อาจจะผ่าถุงน้ำออกช่วงตั้งครรภ์ประมาณ 4 - 5 เดือนเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน (ผลข้างเคียงจากถุงน้ำฯ), หรืออาจต้องผ่าตัดฉุกเฉินหากเกิดอาการปวดท้องน้อยฉับพลันที่เกิดจากการแตกของถุงน้ำช็อกโกแลต/ช็อกโกแลตซีสต์มี
เมื่อเป็นถุงน้ำช็อกโกแลตและตั้งครรภ์ดูแลตนเองต่างจากครรภ์ทั่วไปอย่างไร?
การตั้งครรภ์กรณีเป็นถุงน้ำช็อกโกแลต/ช็อกโกแลตซีสต์ ถือเป็นการตั้งครรภ์ความเสี่ยงสูง ต้องไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามนัดอย่างเคร่งครัด นอกจากการดูแลเช่นเดียวกับในการตั้งครรภ์ทั่วไปแล้ว แพทย์จะนัดตรวจติดตามขนาดถุงน้ำเป็นระยะๆจากการตรวจอัลตราซาวด์ท้องน้อย และจะพิจารณาผ่าตัดถ้าถุงน้ำมีขนาดใหญ่, และต้องไปพบแพทย์ก่อนนัดหากมีอาการปวดท้องขึ้นมาอย่างเฉียบพลัน, หรืออาการผิดปกติต่างๆที่อาจเกิดจากการแตกของถุงน้ำช็อกโกแลต, ก็อาจต้องผ่าตัดช่องท้องฉุกเฉิน
ทารกที่เกิดจากมารดาที่เป็นถุงน้ำช็อกโกแลตจะเป็นอย่างไร?
ถุงน้ำช็อกโกแลต/ช็อกโกแลตซีสต์ ไม่มีผลทำให้เกิดความผิดปกติกับทารก, ไม่มีผลต่อการพัฒนาการทางร่างกายและสติปัญญา, แต่ทารกเพศหญิงมีโอกาสที่จะเป็นโรคนี้ในอนาคตเมื่อมีประจำเดือนมากกว่าเด็กที่เกิดจากแม่ที่ปกติ