ง่วงกลางวันมากเกินปกติ (Excessive daytime sleepiness)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คืออะไร? พบบ่อยไหม?

ง่วงกลางวันมากเกินปกติ/ง่วงกลางวันมาก/ง่วงนอนมากกลางวัน(Excessive daytime sleepiness ย่อว่า อีดีเอส/EDS) คือ อาการที่ง่วงนอนมากผิดปกติตลอดทั้งวันโดยเฉพาะในช่วงกลางวัน กล่าวคือง่วงมากโดยไม่ได้ตั้งใจจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันโดยเฉพาะขีดความสามารถในการทำงาน การเรียน และการรับรู้ต่างๆ ซึ่ง’ทางการแพทย์ การจะวินิจฉัยว่า อาการนี้ผิดปกติ จะต้องมีอาการนี้ติดต่อกันอย่างน้อยนาน 3 เดือน’

ง่วงกลางวันมากเกินปกติ/อีดีเอส/ง่วงกลางวันมาก/ง่วงนอนมากกลางวัน เป็นอาการหรือภาวะ(โรค-อาการ-ภาวะ)ผิดปกติ ไม่ใช่โรค เกิดได้จากหลากหลายสาเหตุดังจะกล่าวใน’หัวข้อ สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงฯ’ซึ่งสาเหตุพบบ่อยคือ นอนปกติกลางคืนไม่พอ และโรค/ภาวะผิดปกติของการนอนหลับ(Sleep disorders)

ง่วงกลางวันมากเกินปกติ/อีดีเอส/ง่วงกลางวันมาก/ง่วงนอนมากกลางวัน ทั่วโลกมีรายงานพบได้ประมาณ 2.5%-25% พบทุกอายุรวมถึงในเด็ก(พบน้อยมากในเด็ก) แต่ทั่วไปพบในวัยผู้ใหญ่และยิ่งอายุสูงขึ้นก็จะพบได้บ่อยขึ้นโดยเฉพาะในผู้สูงอายุ เพศชายพบบ่อยกว่าเพศหญิง

อนึ่ง: ‘ง่วง’ จากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ความหมายคือ ’อาการที่ร่างกายอยากนอน’

อะไรเป็นสาเหตุของอาการง่วงกลางวันมากเกินปกติ?

ง่วงกลางวัน

สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงของอาการง่วงกลางวันมากเกินปกติ/อีดีเอส/ง่วงกลางวันมาก/ง่วงนอนมากกลางวัน มีหลากหลายสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงมาก เช่น

  • นอนหลับกลางคืนไม่พอ: เป็นสาเหตุพบบ่อยที่สุด เช่น การทำงานเป็นกะ(Shift work), งานหนักจนพักผ่อนไม่พอ(เช่น พนักงานขับรถ)
  • โรค/ภาวะผิดปกติในการนอน: เช่น โรคนอนหลับแล้วหยุดหายใจ, โรคลมหลับ, กลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุข, ภาวะ/อาการนอนไม่หลับ
  • โรคสมอง: เช่น
    • โรคพาร์กินสัน
    • โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง
    • เนื้องอกสมอง/มะเร็งสมอง
    • อุบัติเหตุต่อสมอง
    • อัมพาต: โรคหลอดเลือดสมอง
    • สมองอักเสบ
  • ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน
  • โรคเรื้อรังต่างๆ: เช่น
    • โรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน
    • โรคเบาหวาน
    • โรคตับ
    • อาการปวดเรื้อรังที่มักทำให้ผู้ป่วยตื่นในช่วงกลางคืนเพราะปวดมาก เช่นจากโรคมะเร็ง
  • โรคจิตเวช: เช่น โรคซึมเศร้า
  • ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด: ที่พบบ่อย เช่น
    • ยาแก้แพ้
    • ยานอนหลับ
    • ยากันชัก
    • ยาต้านเศร้า
    • ยาแก้คลื่นไส้อาเจียน
  • เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • สารเสพติด/ยาเสพติด
  • พันธุกรรม: ซึ่งสาเหตุนี้พบน้อยมากๆ

ง่วงกลางวันมากเกินปกติมีอาการร่วมอะไรบ้าง?

อาการอื่นๆที่อาจพบร่วมกับง่วงกลางวันมากเกินปกติ/อีดีเอส/ง่วงกลางวันมาก/ง่วงนอนมากกลางวัน (ไม่จำเป็นต้องมีครบทุกอาการ) เช่น

  • นอนกรน
  • หยุดหายใจขณะหลับ(โรคนอนหลับแล้วหยุดหายใจ)ซึ่งมักได้อาการจากคนที่นอนเตียงเดียวกับผู้ป่วย
  • คุณภาพชีวิตในทุกด้านด้อยลง
  • ง่วงมากผิดปกติจนคนอื่นๆสังเกตได้
  • สมาธิลดน้อยลงถึงไม่มีสมาธิในชีวิตประจำวัน เช่น ความคิด การตัดสินใจ การทำงาน การเรียน
  • ฉุนเฉียว หงุดหงิดง่าย
  • ความจำแย่ลงมาก
  • ต้องงีบ/หลับกลางวันบ่อยมาก/ตลอดเวลา
  • นอนกลางคืนยาวนาน ตื่นมาก็ง่วงไม่ว่าจะนอนมากขนาดไหน
  • ไม่สามารถตื่นได้ในขณะทำกิจกรรมต่างๆถึงแม้จะสนใจ/ชอบ เช่น ดูทีวีรายการโปรด
  • ที่อันตรายคือ เกิดอุบัติเหตุต่างๆง่ายโดยเฉพาะการใช้รถ ใช้ถนน
  • มักมีอาการซึมเศร้าร่วมด้วย

ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?

เมื่อมีอาการง่วงกลางวันมากเกินปกติ/อีดีเอส/ง่วงกลางวันมาก/ง่วงนอนมากกลางวัน โดยเฉพาะเมื่อมีอาการร่วมต่างๆดังกล่าวใน’หัวข้อ อาการร่วมฯ’ ทั่วไปคือ เมื่อมีอาการจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเสมอ

แพทย์วินิจฉัยสาเหตุอาการง่วงกลางวันมากเกินปกติได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยว่ามีอาการง่วงกลางวันมากเกินปกติ/อีดีเอส/ง่วงกลางวันมาก/ง่วงนอนมากกลางวัน จนควรต้องรักษาและหาสาเหตุได้จาก

  • การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ คือ ประวัติอาการ ประวัติการนอน โรคประจำตัว การใช้ยาต่างๆ การงานอาชีพ การอุบัติเหตุต่อศีรษะ และอาการนี้ในครอบครัว
  • การตรวจร่างกาย
  • การตรวจเฉพาะทางทางด้านการนอนซึ่งมีหลากหลายวิธีขึ้นกับอาการผู้ป่วยและดุลพินิจของแพทย์
  • อาจมีการตรวจอื่นๆเพื่อการสืบค้นเพิ่มเติม เช่น โรคสมอง ทั้งนี้ขึ้นกับอาการผู้ป่วยและดุลพินิจของแพทย์ เช่น
    • การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง
    • การตรวจภาพสมองด้วย เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (ซีทีสแกน) และ/หรือ เอมอาร์ไอ

รักษาอาการง่วงกลางวันมากเกินปกติอย่างไร?

แนวทางหลักในการรักษาง่วงกลางวันมากเกินปกติ/อีดีเอส/ง่วงกลางวันมาก/ง่วงนอนมากกลางวัน คือ การรักษาสาเหตุ เช่น

  • ดูแลรักษาโรคต่างๆที่เป็นสาเหตุ(แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมแต่ละโรคที่เป็นสาเหตุที่รวมถึงการรักษาได้จากเว็บ haamor.com)
  • ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต อาจรวมถึงตารางการทำงาน เมื่อสาเหตุมาจากการพักผ่อนนอนหลับไม่พอ
  • พบแพทย์เพื่อปรับเปลี่ยนยากรณีสาเหตุเกิดจากผลข้างเคียงของยาที่แพทย์สั่ง

อาการง่วงกลางวันมากเกินปกติรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงอย่างไร?

ความรุนแรง/การพยากรณ์โรคของอาการง่วงกลางวันมากเกินปกติ/อีดีเอส/ง่วงกลางวันมาก/ง่วงนอนมากกลางวัน ขึ้นกับสาเหตุ ดังนั้นจึงต่างกันในแต่ละผู้ป่วย แพทย์ผู้รักษาผู้ป่วยเท่านั้นที่จะให้การพยากรณ์โรคได้เหมาะสมกับผู้ป่วยเฉพาะแต่ละรายไป

ด้านผลข้างเคียง:

ผลข้างเคียงจากการง่วงกลางวันเกินปกติ/อีดีเอส/ง่วงกลางวันมาก ที่สำคัญคือ

  • เสียคุณภาพชีวิต
  • มีผลกระทบต่อ การงาน การเรียน การดำรงชีวิตประจำวัน และความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล
  • เป็นสาเหตุพบบ่อยของอุบัติเหตุโดยเฉพาะจากการขับรถ

ดูแลตนเองอย่างไร? ป้องกันอาการง่วงกลางวันมากเกินปกติได้อย่างไร?

การดูแลตนเองและการป้องกันอาการง่วงกลางวันมากเกินปกติ/อีดีเอส/ง่วงกลางวันมาก/ง่วงนอนมากกลางวัน ขึ้นอยู่กับแต่ละสาเหตุ (แนะนำอ่านรายละเอียดแต่ละโรคที่เป็นสาเหตุที่รวมถึงการดูแลตนเองและการป้องกันได้จากเว็บ haamor.com เช่น โรคนอนหลับแล้วหยุดหายใจ, กลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุข, นอนกรน, โรคลมหลับ)

บรรณานุกรม

  1. J.F. PAGEL, et al. Am Fam Physi¬cian. 2009;79(5):391-396.
  2. Gemma Slater and Joerg Steier. J Thorac Dis. 2012 ; 4(6): 608–616.
  3. https://www.uptodate.com/contents/approach-to-the-patient-with-excessive-daytime-sleepiness [2020,Nov28]
  4. https://www.sleephealthfoundation.org.au/excessive-daytime-sleepiness.html [2020,Nov28]
  5. https://en.wikipedia.org/wiki/Excessive_daytime_sleepiness [2020,Nov28]
  6. https://www.skh.com.sg/patient-care/conditions-treatments/excessive-daytime-sleepiness/overview [2020,Nov28]