คาเพ็กไซทาบีน (Capecitabine)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ: คือยาอะไร

คาเพ็กไซทาบีน (Capecitabine) คือ ยาเคมีบำบัดที่ใช้รักษาโรคมะเร็งชนิดต่างๆ เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งไส้ตรง, โดยตัวยาเป็นสารที่อยู่ในรูปไม่ออกฤทธิ์, ต่อเมื่อรับ ประทานยานี้แล้ว ยานี้จะถูกเปลี่ยนให้อยู่ในรูปออกฤทธิ์โดยตับ เรียกว่าสาร/ยาฟลูออโรยูราซิล (Fluorouracil) ออกฤทธิ์ด้วยการรบกวนการสร้างสารรหัสพันธุกรรมของเซลล์มะเร็ง ทำให้เซลล์มะเร็งไม่สามารถแบ่งตัวเพิ่มจำนวนได้รวดเร็วเช่นปกติ

ยาคาเพ็กไซทาบีน จัดเป็นหนึ่งในรายการยาจำเป็นขององค์การอนามัยโลก และจัดเป็นยาควบคุมพิเศษในประเทศไทย ใช้ภายใต้การดูแลจากแพทย์เฉพาะทางเท่านั้น

ยาคาเพ็กไซทาบีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

คาเพ็กไซทาบีน-01

 

ยาคาเพ็กไซทาบีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้:เพื่อรักษาโรคมะเร็งบางชนิด เช่น

  • โรคมะเร็งเต้านมระยะแพร่กระจาย
  • โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ และมะเร็งไส้ตรง ระยะแพร่กระจาย

นอกจากนี้ ยาคาเพ็กไซทาบีนยังมีการนำมาใช้รักษามะเร็งชนิดอื่นๆซึ่งเป็นข้อบ่งใช้ที่ไม่ได้รับการขึ้นทะเบียน (Off label use) ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของแพทย์ผู้ทำการรักษา เช่น มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งหลอดอาหาร

ยาคาเพ็กไซทาบีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาคาเพ็กไซทาบีน เป็นสารที่อยู่ในรูปไม่ออกฤทธิ์ (Prodrug) ซึ่งเมื่อเข้าสู่ร่างกายจะเปลี่ยนรูปของตัวยาที่ตับเป็นรูปตัวยาที่ออกฤทธิ์ชื่อว่า ‘ฟลูออโรยูราซิล (Fluorouracil)’ ทำหน้าที่ยับยั้งเอนไซม์ชื่อ ‘ไธมิดิเลทซินธิเทส (Thymidylate Synthetase)’ ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่มีบทบาทต่อการสร้างสารรหัสพันธุกรรม ทำให้เกิดการรบกวนกระบวนการสร้างสารรหัสพันธุกรรมชนิดดีเอ็นเอ/DNA และอาร์เอ็นเอ/RNA  ส่งผลให้เซลล์มะเร็งเกิดการแบ่งตัวได้ช้าลง และถึงตายได้ในที่สุด

ยาคาเพ็กไซทาบีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาคาเพ็กไซทาบีน มีรูปแบบการจำหน่าย: เช่น

  • ยาเม็ดเคลือบชนิดรับประทาน ขนาดความแรง 150 และ 500 มิลลิกรัมต่อเม็ด

ยาคาเพ็กไซทาบีนมีขนาดรับประทานหรือวิธีใช้ยาอย่างไร?

ยาคาเพ็กไซทาบีน มีขนาดรับประทาน โดยทั่วไป คือ 1,250 มิลลิกรัมต่อพื้นที่ผิวของร่างกาย 1 ตารางเมตร (1,250 mg/m2), รับประทานวันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 2 สัปดาห์, อาจใช้เป็นยาเดี่ยว หรือใช้ร่วมกับยาอื่นในการรักษา, โดยหลังจากครบ 2 สัปดาห์แล้ว แพทย์จะให้หยุดพักทานยาเป็นเวลา 1 สัปดาห์ นับเป็น 1 รอบ (3 สัปดาห์), ก่อนเริ่มรับประทานยานี้ในรอบใหม่

ทั้งนี้ ควรรับประทาน ยาคาเพ็กไซทาบีน หลังอาหาร และรับประทานยานี้ในเวลาเดียวกันของทุกๆวัน, ไม่บด ไม่หัก หรือเคี้ยว เม็ดยานี้

อย่างไรก็ดี แพทย์อาจใช้ยานี้เพื่อข้อบ่งใช้อื่นๆตามวิจารณญาณของแพทย์ผู้รักษา ซึ่งอาจมีการปรับขนาดยาคาเพ็กไซทาบีนและวิธีการรับประทานยานี้ เพื่อให้เหมาะสมกับผู้ป่วยและสภาวะของโรคเป็นรายบุคคลไป, ดังนั้นผู้ป่วยจึงควรสอบถามวิธีการรับประทานยานี้จากแพทย์ หรือเภสัชกรทุกครั้งที่รับยานี้ เพื่อให้รับประทานยานี้ได้อย่างถูกต้อง

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาคาเพ็กไซทาบีน ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติการแพ้ยา แพ้อาหาร และแพ้สารเคมีทุกชนิด
  • ประวัติการใช้ยา ทั้งยาที่แพทย์สั่งจ่าย และยาที่ซื้อทานเอง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร วิตามิน สมุนไพร และโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากกำลังใช้ยาวาฟาริน (Warfarin), ยาฟีไนทอยด์ (Phenytoin), และกรดโฟลิก (Folic acid),  เนื่องจากยาคาร์เพ็กไซทาบีนอาจทำให้ระดับยาเหล่านี้ในกระแสเลือดเปลี่ยนแปลงไป แพทย์ผู้ทำการรักษาและผู้ป่วยจึงต้องเฝ้าระวังผลข้างเคียงหรือพิษจากยาเหล่านี้หากมีการใช้ร่วมกับยาคาร์เพ็กไซทาบีน
  • แจ้งให้แพทย์ผู้ทำการรักษาทราบ หากเคยมีประวัติร่างกายขาดเอนไซม์ไดไฮโดรไพริมิดีนดีไฮโดรจีเนส (Dihydropyrimidine dehydrogenase/DPD, การขาดเอนไซม์นี้ ซึ่งเป็นโรคทางพันธุกรรมชนิดหนึ่งที่เกิดตั้งแต่เด็กและพบได้น้อยมาก ที่ทำให้ร่างกายเจริญเติบโตผิดปกติในหลายระบบอวัยวะโดยเฉพาะระบบประสาท), เอนไซม์นี้เป็นเอนไซม์สำคัญในการเมทาบอไลต์/การทำลายยาคาเพ็กไซทาบีนจากในรูปออกฤทธิ์ไปเป็นรูปอื่นเพื่อขับออกนอกร่างกาย, หากผู้ป่วยที่ร่างกายขาดเอนไซม์ดังกล่าว ได้ใช้ยาคาเพ็กไซทาบีนอย่างต่อเนื่อง จะทำให้เกิดการสะสมของยาคาเพ็กไซทาบีนในร่างกายและอาจก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ฯต่างๆได้มากขึ้น (อ่านเพิ่มเติมใน หัวข้อ ยาคาเพ็กไซทาบีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?)
  • ประวัติโรคประจำตัว ทั้งโรคที่เคยเป็น และโรคที่กำลังดำเนินอยู่ รวมไปถึงโรคเรื้อรังต่างๆ โดยเฉพาะ โรคตับ โรคไต และโรคหัวใจ
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหาก  คุณกำลังตั้งครรภ์ วางแผนที่จะตั้งครรภ์ หรืออยู่ในช่วงระหว่างการให้นมบุตร

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาคาเพ็กไซทาบีน, ให้ข้ามมื้อยานั้นไป, และรับประทานยาในมื้อถัดไปตามปกติโดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า

ยาคาเพ็กไซทาบีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาคาเพ็กไซทาบีน มีผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการไม่พึงประสงค์): เช่น

  • ปวดมวนท้อง
  • ท้องผูก
  • การรับรสชาติเปลี่ยนไป
  • กระหายน้ำ
  • เหนื่อยล้าง่าย
  • วิงเวียน
  • ปวดหัว
  • ผมร่วง
  • ปวดกล้ามเนื้อ
  • ปวดหลัง
  • ปวดข้อ
  • มีอาการบวมที่ตา
  • อาจมีอาการคันตามตัว
  • นอนไม่หลับ

*อนึ่ง: หากอาการเหล่านี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ทุเลาลง หรือมีแนวโน้มว่าจะรุนแรงขึ้นจนส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน, ผู้ป่วยควรต้องแจ้งให้แพทย์ผู้ทำการรักษาทราบ/รีบไปโรงพยาบาลก่อนนัด หรือฉุกเฉิน ขึ้นกับความรุนแรงของอาการ

***อนึ่ง:

  • ยาคาเพ็กไซทาบีน อาจก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ฯอื่นๆ เช่น ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน, มีอาการเหมือนติดเชื้อไข้หวัดใหญ/ กลุ่มอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ เช่น มีไข้ เจ็บคอ  หนาวสั่น
  • ซึ่งหากเกิดกลุ่มอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่จากยานี้บ่อยครั้ง ควรรีบแจ้งให้แพทย์ผู้ทำการรักษาทราบ/พบแพทย์ก่อนนัด
  • รวมไปถึง อาการ ปวด บวมตาม มือ เท้า ขา, หรือมีผิวหนังเป็นผื่นแดงและลอก, ก็ควรรีบแจ้งให้แพทย์ทราบ/มาโรงพยาบาลก่อนนัดด้วยเช่นกัน
  • *แต่หากมีอาการผิดปกติดังกล่าวที่เป็นอย่างรุนแรง หรือมีอาการปวดเค้นหน้าอก/แน่นหน้าอก รู้สึกว่าหัวใจเต้นเร็ว ปัสสาวะเปลี่ยนสีน้ำตาลเข้มหรือมีอาการเหมือนดีซ่าน (ผิวหนังเปลี่ยนเป็นสีเหลือง), ต้องรีบแจ้งให้แพทย์ทราบ/มาโรงพยาบาลโดยทันที/ฉุกเฉิน
  • *หากรับประทานยานี้แล้ว เกิดอาการแพ้ยา เช่น มีผื่นคันขึ้นตามตัว ใบหน้า ริมฝีปาก หรือเปลือก/หนังตา บวม หายใจไม่สะดวก/หายใจลำบาก ให้รีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยทันที/ฉุกเฉิน
  • ยาคาเพ็กไซทาบีน อาจก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ฯอื่นๆได้อีก หากเกิดอาการใดๆ, หรือ รู้สึกผิดไปจากปกติภายหลังการเริ่มรับประทานยานี้, ควรรีบแจ้งให้แพทย์ทราบทันที/มาโรงพยาบาลก่อนนัด/ฉุกเฉิน ขึ้นกับความรุนแรงของอาการ

อย่างไรก็ดี  ผู้ป่วยควรตระหนักว่า การที่แพทย์สั่งใช้ยานี้ เนื่องจากแพทย์พิจารณาแล้วเห็นว่ายานี้จะมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยมากกว่าโทษหรือต่อการได้รับผลข้างเคียงจากยานี้ ผู้ป่วยที่ได้รับยานี้ มักพบว่าเกิดอาการไม่พึงประสงค์ฯ ชนิดรุนแรงได้ ผู้ป่วยจึงควรเฝ้าระวังผลข้างเคียงดังกล่าวที่อาจเกิดขึ้น และรีบแจ้งให้แพทย์ผู้ทำการรักษาทราบ/มาโรงพยาบาลก่อนนัด หรือทันที/ฉุกเฉินหากเกิดอาการรุนแรงดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น

มีข้อควรระวังการใช้ยาคาเพ็กไซทาบีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาคาเพ็กไซทาบีน: เช่น

  • ไม่ใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่แพ้ยานี้
  • ยานี้ควรใช้ภายใต้ความดูแลจากแพทย์เฉพาะทางด้านมะเร็งเพื่อประเมินประสิทธิภาพ และผลข้างเคียงจากยาเป็นระยะๆ
  • *ไม่ใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่ขาดเอนไซม์ไดไฮโดรไพริมิดีนดีไฮโดรจีเนส (Dihydropyri midine dehydrogenase/DPD), และแพทย์อาจสั่งตรวจเลือดของผู้ป่วยว่ามีเอนไซม์นี้ในร่างกายหรือไม่ก่อนเริ่มการบริหารยานี้, หรืออาจพิจารณาสั่งตรวจภายหลังเริ่มการบริหารยานี้ไปแล้วและพบว่าเกิดผลข้างเคียงจากยานี้แก่ผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องหรือรุนแรง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของแพทย์ผู้ทำการรักษา
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดชนิดต่างๆ เช่น โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย (Myocardial Infraction), ภาวะหัวใจล้มเหลว
  • หลีกเลี่ยงการฉีดหรือรับวัคซีนต่างๆขณะใช้ยานี้
  • ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ในสตรีตั้งครรภ์ เนื่องจากยานี้อาจเป็นอันตรายต่อทารก ในครรภ์,  หากผู้ป่วยหญิงที่กำลังตั้งครรภ์อยู่ก่อนใช้ยานี้ ควรต้องแจ้งให้แพทย์ทราบ, หากวางแผนที่จะตั้งครรภ์ควรปรึกษากับแพทย์ก่อนการใช้ยานี้
  • ผู้ป่วยทั้งชายและหญิงที่ใช้ยานี้ ควรคุมกำเนิดเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์, จึงต้องปรึกษา แพทย์ผู้ทำการรักษาถึงวิธีการคุมกำเนิดที่เหมาะสม
  • หลีกเลี่ยงการให้นมบุตรขณะใช้ยานี้
  • รักษาความชุ่มชื้นให้แก่ผิวหนังบริเวณมือและเท้าเพื่อหลีกเลี่ยงกลุ่มอาการที่เรียกว่า ‘Hand-Foot Syndrome’ ซึ่งเป็นอาการข้างเคียงจากยานี้ คือ ทำให้มีการอาการบวมแดงที่ผิวหนังโดยเฉพาะมือและเท้าเหมือนถูกแดดจัดเผา ทำให้รู้สึกแสบร้อนตึงบริเวณดังกล่าว
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ “ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมถึงยาคาเพ็กไซทาบีน) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาคาเพ็กไซทาบีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาคาเพ็กไซทาบีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น: เช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาคาเพ็กไซทาบีน รวมกับวัคซีนต่างๆโดยเฉพาะวัคซีนเชื้อเป็น (Live vaccine, วัคซีนที่ผลิตจากเชื้อโรคที่ยังมีชีวิต) เช่น วัคซีนบีซีจี (BCG) หรือกับ ยากดภูมิคุ้มกัน เช่น ยาทาโครไลมัส (Tacrolimus)  ยาพิมีโครไลมัส (Pimecrolimus)   
  • ยาคาเพ็กไซทาบีน อาจทำให้ระดับยาวาฟาริน (Warfarin)  ยาแอลโลพูรินอล (Allopurinol) และยาฟีไนทอยด์ (Phenytoin) ในกระแสเลือดเปลี่ยนไป แพทย์อาจสั่งตรวจวัดระดับยาเหล่านี้ในกระแสเลือดเพื่อปรับระดับยาดังกล่าวให้เหมาะสมขณะที่ผู้ป่วยใช้ยาเหล่านี้ร่วมกับยาคาเพ็กไซทาบีน

ควรเก็บรักษายาคาเพ็กไซทาบีนอย่างไร?

ควรเก็บรักษายาคาเพ็กไซทาบีน: เช่น

  • เก็บยานี้ในภาชนะดั้งเดิมของผู้ผลิต ปิดฝาภาชนะให้แน่น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • หลีกเลี่ยงการเก็บยาในบริเวณที่มีความชื้นสูง เช่น บริเวณใกล้ห้องน้ำ หรือในตู้เย็น
  • ไม่ควรนำสารดูดความชื้นที่ผู้ผลิตใส่ไว้ในภาชนะของผลิตภัณฑ์ออกจากภาชนะหากผู้ผลิตได้บรรจุไว้
  • เก็บยานี้ในภาชนะดังกล่าวในตอนต้น ในอุณหภูมิห้อง

ยาคาเพ็กไซทาบีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาคาเพ็กไซทาบีน  มียาชื่อการค้าอื่น และชื่อบริษัทผู้ผลิต/จัดจำหน่าย เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
ซีโลดา (Xeloda) บริษัท โรชไทยแลนด์ จำกัด
อินทาเคป (Intacape) บริษัท อัลลายแอนซ์ ฟาร์มา จำกัด
เคปซัยตาบีน อัลโวเจน (Capecitabine Alvogen) เคปซัยตาบีน อัลโวเจน

 

บรรณานุกรม

  1. American Pharmacists Association. Capeitabine, Drug Information Handbook with International Trade Names. 23;334-7:2014.
  2. https://chemocare.com/chemotherapy/drug-info/capecitabine.aspx [2022,Sept17]
  3. https://www.cancer.net/coping-with-cancer/physical-emotional-and-social-effects-cancer/managing-physical-side-effects/hand-foot-syndrome-or-palmar-plantar-erythrodysesthesia [2022,Sept17]
  4. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2000/20896lbl.pdf [2022,Sept17]
  5. https://www.who.int/publications/i/item/WHO-MHP-HPS-EML-2021.02 [2022,Sept17]
  6. https://www.cancerresearchuk.org/about-cancer/cancer-in-general/treatment/chemotherapy/side-effects/dpd-deficiency [2022,Sept17]
  7. http://ndi.fda.moph.go.th/drug_detail/index/?ndrug=5&rctype=1C&rcno=6215101&lpvncd=10&lcntpcd=%E0%B8%99%E0%B8%A21&lcnno=5300001&licensee_no=1/2553 [2022,Sept17]