กลุ่มอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่จากยา (Flu-like Syndrome)
- โดย ภก.ศิวัสว์ ผุลลาภิวัฒน์
- 1 เมษายน 2566
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือโรคอะไร?
- กลุ่มอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่จากยามีสาเหตุมาจากอะไร?
- อะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดกลุ่มอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่จากยา?
- กลุ่มอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่จากยามีอาการอย่างไร?
- ควรพบแพทย์เมื่อไร?
- แพทย์วินิจฉัยกลุ่มอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่จากยาได้อย่างไร?
- สามารถรักษากลุ่มอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่จากยาได้อย่างไร?
- การพยากรณ์โรคของกลุ่มอาการนี้เป็นอย่างไร? มีผลข้างเคียงจากกลุ่มอาการนี้ไหม?
- สามารถดูแลตนเองและป้องกันกลุ่มอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่จากยาได้อย่างไร?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- โรคคล้ายไข้หวัดใหญ่ หรือ โรคอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ (Influenza-like illness: ILI)
- ไข้หวัดใหญ่ (Influenza)
- อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (Adverse Drug Reaction)
- ยาเคมีบำบัด (Cancer chemotherapy)
- โมโนโคลนอลแอนตีบอดี (Monoclonal Antibodies)
- โคโลนีสติมิวเลตทิงแฟกเตอร์ (Colony Stimulating Factor)
- อินเตอร์ลิวคิน (Interleukins)
- อินเตอร์เฟอรอน (Interferon)
บทนำ: คือโรคอะไร?
นอกจากประโยชน์ด้านการรักษาโรคแล้ว ยาต่างๆก็สามารถก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยา/ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียงจากยาได้ ซึ่งลักษณะอาการมีความแตกต่างกันไปตามชนิดของยาและฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของยานั้นๆ
ยาบางชนิดใน กลุ่มยาเคมีบำบัด และกลุ่มยาที่ออกฤทธิ์ต่อระบบภูมิคุ้มกัน/ระบบภูมิต้านทาน/ระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย สามาถกระตุ้นให้เกิดกระบวนการอักเสบของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายได้ ที่ทำให้ร่างกายตอบสนองในลักษณะคล้ายกับอาการของคนเมื่อติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ เช่น มีไข้ หนาวสั่น ปวดเมื่อยเนื้อตัว/กล้ามเนื้อ ที่เรียกว่า “กลุ่มอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่จากยา (Flu like syndrome) หรือ อาการคล้ายไข้หวัดใหญ่จากยา (Flu like symptom)” ซึ่งพบว่าอาการข้างเคียงเหล่านี้ มีความสัมพันธ์กับขนาดของตัวยาที่ได้รับ และเมื่อได้รับยานั้นๆต่อเนื่อง ความรุนแรงของอาการก็จะค่อยๆลดน้อยลง
อย่างไรก็ดี ผู้ใช้ยาที่อาจก่อให้เกิดกลุ่มอาการนี้ควรมีความเข้าใจ เพื่อให้สามารถดูแลตนเองได้ และเข้าพบแพทย์/มาโรงพยาบาลหากอาการต่างๆนั้นไม่ทุเลาลง หรือมีความรุนแรงมากขึ้น
กลุ่มอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่จากยามีสาเหตุมาจากอะไร?
กลุ่มอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่จากยา เป็นกลุ่มอาการที่เป็นผลข้างเคียงจากยาเคมีบำบัด หรือ จากยาบางชนิดที่ออกฤทธิ์ต่อระบบภูมิคุ้มกัน เช่น สารปรับภูมิคุ้มกันร่างกาย, ปัจจุบันยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่แน่ชัดของกลุ่มอาการ แต่เชื่อว่าการที่ร่างกายได้รับยาเคมีบำบัดหรือยาที่ก่อผลข้างเคียงนี้ จะสามารถไปกระตุ้นให้เกิดกระบวนการอักเสบของระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย ทำให้ร่างกายเกิดการตอบสนองทีมีลักษณะคล้ายคลึงกับการเกิดไข้หวัดใหญ่
อะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดกลุ่มอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่จากยา?
ยาบางขนาน/บางชนิดที่อาจเป็นสาเหตุในการกระตุ้นให้เกิดกลุ่มอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่จากยา เช่น
ก. ยาอินเตอร์ลิวคิน 2 (Interleukin-2), ยาอินเตอร์เฟอรอน (Interferon)
ข. ยาในกลุ่มโคโลนีสติมิวเลตทิงแฟกเตอร์ (Colony-stimulating factors)
ค. ยาในกลุ่ม โมโนโคลนอลแอนตีบอดี (Monoclonal Antibodies)
ง. ยาเคมีบำบัด เช่นยาบลีโอมัยซิน (Bleomycin), คลาดรีบีน (Cladribine), ไซทาราบีน (Cytarabine), ดาคาร์บาซีน (Dacarbazine), ฟลูออโรยูราซิล (Fluorouracil), แอล-แอสพาราจีเนส (L-asparaginase), โพรคาร์บาซีน (Procarbazine), และไทรมีเทร็กเซต (Trimetrexate)
กลุ่มอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่จากยา มีอาการอย่างไร?
อาการของกลุ่มอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่จากยาจะคล้ายคลึงกับอาการจากโรคไข้หวัดใหญ่ เช่น อาการมีไข้ ซึ่งมีความสัมพันธ์กับช่วงการได้รับยานั้นๆ, หนาวสั่นซึ่งส่วนมากจะเกิดขึ้นก่อนการมีไข้ และจะเกิดกับร่างกายส่วนบนก่อน, ปวดกล้ามเนื้อและปวดข้อ, ปวดกระดูก, ปวดหัว, ตาไวต่อแสงอย่างผิดปกติ, หรือมีอาการมองเห็นได้ไม่ขัด, ความอยากอาหารลดลง, มีอาการคลื่นไส้อาเจียน, อาจมีอาการท้องเสียร่วมด้วย, มีน้ำมูกไหล (ส่วนมากจะใส), ไอแห้งๆ, และมีอาการเหนื่อยล้า/อ่อนเพลีย
อาการส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นจะมีความสัมพันธ์กับขนาดยาเคมีบำบัด หรือขนาดยาที่ออกฤทธิ์ต่อภูมิคุ้มกันที่ได้รับ นั่นหมายความว่า หากได้รับยาในปริมาณมากกว่า แนวโน้มความรุนแรงของอาการจะมีมากกว่า
อนึ่ง: ผู้ป่วยอาจจะไม่แสดงอาการทุกอาการที่กล่าวไปแล้วในข้างต้น และโดยส่วนมาก เมื่อผู้ป่วยได้รับยาต่างๆที่เป็นสาเหตุในครั้งแรกและได้เกิดกลุ่มอาการนี้จะมีความรุนแรงมากกว่าเมื่อมีการให้ยานั้นๆในครั้งต่อๆไป คือความรุนแรงของกลุ่มอาการนี้จะน้อยลง, ทั้งนี้ ทั่วไป อาการเหล่านี้จะหายไปเองได้เมื่อหยุดใช้ยานั้นๆ
ควรพบแพทย์เมื่อไร?
หากผู้ป่วยที่กำลังใช้ยาเคมีบำบัดหรือยาที่ออกฤทธิ์ต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย และเกิดกลุ่มอาการคล้ายกับโรคไข้หวัดใหญ่จากยา ควรเข้าพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เช่น
- มีไข้สูงกว่า 5 องศาเซลเซียส (Celsius)
- มีอาการคล้ายกับเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ดังที่กล่าวไปแล้วในหัวข้อข้างต้น
- มีอาการคลื่นไส้อาเจียน โดยเฉพาะหากอาเจียนมากกว่า 4-5 ครั้งภายใน 24 ชั่วโมง
- เหนื่อยล้าอย่างมาก
- หายใจไม่สะดวกหรือหายใจลำบากเมื่ออกแรงเพียงน้อยนิด
- ไม่สามารถรับประทานหรือดื่มได้อย่างปกติ โดยเฉพาะหากมีอาการขาดน้ำ/ภาวะขาดน้ำ เช่น กระหายน้ำ เหนื่อยล้า ปากแห้ง ปัสสาวะเปลี่ยนเป็นสีเข้ม ปัสสาวะน้อย ร่วมกับการเกิดอาการมึนงง
- ท้องเสีย (4-6 ครั้งภายในช่วง 24 ชั่วโมง)
- ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อที่ไม่ทุเลา เมื่อได้รับยาแก้ปวดชนิดพื้นฐานทั่วไป เช่น ยาParacetamol
- เกิดความวิตกกังวล เครียด อารมณ์เปลี่ยนไป/อารมณ์แปรปรวน หรือมีอาการคล้ายอาการซึมเศร้า
แพทย์วินิจฉัยกลุ่มอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่จากยาได้อย่างไร?
แพทย์สามารถวินิจฉัยกลุ่มอาการนี้ได้จากทางคลินิกทั่วไปได้แก่
- ประวัติอาการผู้ป่วยที่ร่วมกับประวัติการใช้ยาต่างๆโดยเฉพาะยาเคมีบำบัด และยาที่ออกฤทธิ์ต่อระบบภูมิคุ้มกัน ที่รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างช่วงการให้ยานั้นๆและช่วงของการเกิดกลุ่มอาการนี้ และ
- การตรวจร่างกาย
สามารถรักษากลุ่มอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่จากยาได้อย่างไร?
การรักษากลุ่มอาการคล้ายไข้วัดใหญ่จากยา โดยทั่วไปเป็นการรักษาประคับประคองตามอาการที่ผู้ป่วยเป็น เช่น การให้ยาแก้ท้องเสียในผู้ป่วยที่เกิดอาการท้องเสีย การให้ยาแก้ปวด/ ยาลดไข้ ในผู้ป่วยที่มีอาการปวดหรือมีไข้ หรือการให้ยาแก้คลื่นไสอาเจียนในผู้ป่วยที่มีอาการคลื่นไส้อาเจียน
การพยากรณ์โรคของกลุ่มอาการนี้เป็นอย่างไร? มีผลข้างเคียงจากกลุ่มอาการนี้ไหม?
การพยากรณ์โรค/ความรุนแรงของกลุ่มอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่จากยา ขึ้นกับหลายปัจจัย ทั้งจาก ตัวผู้ป่วยเอง ชนิดของยา ขนาดของยาที่ได้รับ และ ความรุนแรงของแต่ละอาการ
โดยส่วนใหญ่แล้วนั้น กลุ่มอาการนี้ ไม่ได้มีความรุนแรงมาก และอาการส่วนใหญ่จะมีความรุนแรงน้อยลงในการให้ยานั้นๆครั้งต่อไป และมักหายได้เองเมื่อหยุดใช้ยานั้นๆ
สามารถดูแลตนเองและป้องกันกลุ่มอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่จากยาได้อย่างไร?
สิ่งที่สำคัญอย่างหนึ่งในการดูแลรักษาที่รวมถึงการดูแลตนเอง คือ ผู้ป่วยต้องมีความเข้าใจในแผนการรักษาของแพทย์ อาการข้างเคียงของยาต่างๆที่อาจเกิดขึ้น เมื่อใดที่ผู้ป่วยสามารถเฝ้าระวังดูแลตนเองได้ และเมื่อใดควรที่ผู้ป่วยควรต้องรีบเข้าพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนแพทย์นัด ดังนั้น ผู้ป่วยควรพูดคุยปรึกษากับ แพทย์ พยาบาล หากมีข้อสงสัยในการดูแลรักษา เพื่อให้เกิดประโยชน์และความปลอดภัยสูงสุดตัวผู้ป่วยเอง
หากผู้ป่วยเกิดอาการเหล่านี้เพียงเล็กน้อย ผู้ป่วยสามารถดูแลตนเองเบื้องต้นได้ดังนี้ เช่น
ก. อาการไข้ อาการปวดตัว/ปวดกล้ามเนื้อ: คือการกินยาลดไข้ ยาแก้ปวดพื้นฐานทั่วไป เช่น ยา Acetaminophen/ Paracetamol
ข. ท้องเสีย: ดื่มน้ำให้ได้อย่างน้อยวันละ 8-10 แก้วเมื่อไม่มีโรคต้องจำกัดน้ำดื่ม รับประทานอาหารอ่อน นุ่ม ย่อยง่าย หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารทอด อาหารมัน ผักสด ผลไม้ดิบ อาหารที่มีรสจัด อาหาร และ/หรือเครื่องดื่มที่มี แก๊ส นม และ/หรือ เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน/กาเฟอีน, ผู้ป่วยอาจซื้อ ยาแก้ท้องเสีย มาทานเองเพื่อบรรเทาอาการได้ แต่ต้องแจ้งแพทย์และเภสัชกรเพื่อให้ทราบถึงประวัติการใช้ยาต่างๆของผู้ป่วยก่อนใช้ยาแก้ท้องเสียนั้นๆ
ค. น้ำมูกไหล: ดื่มน้ำให้พียงพอ อาจใช้เครื่องช่วยทำให้อากาศชุ่มชื้น (humidifier) ด้วยก็ได้, หากต้องการซื้อยาทานเองเพื่อบรรเทาอาการ ควรปรึกษาแพทย์ หรือ เภสัชกร ก่อนเสมอ
ง. อาการไอ: หากผู้ป่วยสูบบุหรี่ ควรต้องงด/เลิกบุหรี่, การใช้เครื่องช่วยให้อากาศชุ่มชื้นอาจช่วยบรรเทาอาการได้, แต่หากต้องการใช้ยาบรรเทา/ยาแก้ไอ ควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกรก่อนเสมอ โดยการให้ประวัติการใช้ยาต่างๆที่ครบถ้วน และแจ้งอาการให้ละเอียด เช่น ไอย่างไร ไอแห้งๆ หรือไอแบบมีเสมหะ มีสิ่งใดกระตุ้นการไอหรือไม่ เวลาไอมีเลือดปนหรือไม่ มีไข้ร่วมด้วย หรือมีอาการหายใจไม่ออกร่วมด้วยหรือไม่
จ. เหนื่อยล้า: ผู้ป่วยที่เกิดกลุ่มอาการนี้อาจเกิดความเหนื่อยล้า การอ่อนแรงได้จากการรับประทานอาหารไม่เพียงพอ ดังนั้น จึงควรรับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะและครบหมวดหมู่ของอาหาร(อาหารมีประโยชน์ห้าหมู่), ดื่มน้ำให้เพียงพอ, ปรึกษาแพทย์ พยาบาลถึงวิธีการออกกำลังกายที่เหมาะสม, วางแผนการทำงาน ผ่อนคลาย ไม่ตึงเครียด
ฉ. อื่นๆ: ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเมื่อมีอาการดังกล่าวใน ‘หัวข้อควรพบแพทย์เมื่อไหร่?’