การติดเชื้อสเตรปโตคอคคัสกรุ๊ป- บีระหว่างตั้งครรภ์ การติดเชื้อจีบีเอสระหว่างตั้งครรภ์ (Group B streptococcus: GBS infection in pregnancy)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

เชื้อสเตรปโตคอคคัสกรุ๊ป บี คืออะไร?

เชื้อสเตรปโตคอคคัสกรุ๊ป บี (Group B streptococcus หรือ ย่อว่า GBS) หรือ Streptococcus agalactiae เป็นเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง รูปร่างกลม สั้นๆ หากนำไปย้อมสีที่เรียกว่า สีกรัม/สีแกรม (Gram stain) จะติดสีน้ำเงิน หรือเรียกว่า กรัมบวก/แกรมบวก ทั้งนี้ สามารถพบเชื้อตัวนี้ได้ (โดยไม่ก่ออาการ)ใน ลำไส้, ช่องคลอด, และบริเวณก้น,ในสตรีปกติได้ประมาณ 25 %

อนึ่ง การติดเชื้อ GBS ระหว่างตั้งครรภ์ ไม่มีความสัมพันธ์กับการติดเชื้อในต่อมทอนซิลอักเสบ (สเตรปโธรท/Strep throat) เป็นคนละโรคกัน

การติดเชื้อสเตรปโตคอคคัสกรุ๊ป บี ระหว่างตั้งครรภ์มีความสำคัญอย่างไร?

การติดเชื้อสเตรปโตคอคคัสกรุ๊ปบี

การติดเชื้อสเตรปโตคอคคัสกรุ๊ปบีในสตรี:

  • ในสตรีทั่วไปที่ร่างกายแข็งแรงปกติ เชื้อ GBS นี้จะไม่ก่อให้เกิดอันตราย แต่เชื้อ GBS สามารถทำให้เกิดการติดเชื้อได้ ในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายต่ำ เช่น ผู้สูงอายุ, สตรีตั้งครรภ์, และทารก
  • ในสตรีตั้งครรภ์: เชื้อ GBS สามารถทำให้เกิดระบบทางเดินปัสสาวะอักเสบ/ โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ ทั้งแบบไม่มีอาการและที่มีอาการ, การติดเชื้อในระบบสืบพันธุ์ (เช่น การติดเชื้อในโพรงมดลูก/ เยื่อบุโพรงมดลูกอักเสบ), การติดเชื้อหลังคลอด, ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด (ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ), และปอดบวมได้
  • สำหรับทารกในครรภ์:
    • สามารถติดเชื้อ GBS ได้ตั้งแต่อยู่ในถุงน้ำคร่ำ และเกิดการติดเชื้อต่อทารกระหว่างคลอดผ่านช่องคลอดออกมา หรือแม้แต่การผ่าท้องคลอดก็สามารถติดเชื้อได้ ซึ่งทารกที่ติดเชื้อจะมีอาการตั้งแต่น้อยมากจนถึงรุนแรงมาก บางรายถึงกับตายได้ บางรายก็เป็นการคลอดก่อนกำหนด โดยอาจมีการติดเชื้อที่ ปอด, สมอง, ไขสันหลัง, กระดูก และ/หรือผิวหนังได้
    • ในสหรัฐอเมริการายงานอุบัติการณ์การติดเชื้อ GBS ในทารก 1 ใน 200 คนที่คลอดจากมารดาที่มีเชื้อ GBS ดังนั้นหน่วยงานควบคุมและป้องกันเรื่องโรคติดเชื้อของสหรัฐอเมริกา (the Centers for Disease Control and Prevention: CDC) จึงแนะนำให้ทำการเพาะเชื้อจากช่องคลอดและก้นของสตรีตั้งครรภ์ทุกคน ที่อายุครรภ์ 35-37 สัปดาห์ว่า มีเชื้อ GBS หรือไม่ หากตรวจพบว่ามีเชื้อ ต้องให้ยาปฎิชีวินะป้องกัน เพื่อไม่ให้เกิดการติดเชื้อในมารดาและในทารก
    • สำหรับประเทศไทยพบอุบัติการณ์การติดเชื้อ GBS ในทารกค่อนข้างน้อย จึงยังไม่มีคำแนะนำให้ทำการเพาะเชื้อ GBS ในสตรีตั้งครรภ์ทุกราย ยกเว้นผู้ที่มีความเสี่ยงสูง

อะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ทารกเกิดการติดเชื้อสเตรปโตคอคคัสกรุป บี?

ปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้ทารกติดเชื้อ GBS ได้แก่

  • การเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด
  • มีถุงน้ำคร่ำแตกก่อนเจ็บครรภ์คลอด > 18 ชั่วโมง
  • ทารกในครรภ์ครั้งก่อน มีประวัติติดเชื้อ GBS

อนึ่ง ปัจจุบัน สตรีตั้งครรภ์ที่มีอาการดังกล่าวข้างต้น จะได้รับยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันไม่ ให้ทารกติดเชื้อสเตรปโตคอคคัสกรุ๊ป บี/GBS

ทารกที่ติดเชื้อสเตรปโตคอคคัสกรุ๊ป บี จะมีอาการอย่างไร?

หลังคลอด ทารกที่ติดเชื้อ GBS อาจมีอาการ ดังต่อไปนี้ เช่น

  • มีไข้
  • ซึม
  • ปอดบวม
  • หายใจเร็ว
  • มีอาการเขียวคล้ำ
  • ชัก

ดูแลตนเองอย่างไรหากติดเชื้อสเตรปโตคอคคัสกรุ๊ป บี ระหว่างตั้งครรภ์?

ส่วนมากสตรีตั้งครรภ์ที่มีเชื้อ GBS ในร่างกาย จะไม่มีอาการอะไร ส่วนน้อยจะตรวจพบว่ามีการอักเสบในทางเดินปัสสาวะ/โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ ซึ่งอาจไม่มีอาการปัสสาวะแสบขัด แต่ตรวจพบโดยบังเอิญจากการตรวจปัสสาวะตามข้อกำหนดในการฝากครรภ์ แต่บางรายมีปัสสาวะแสบขัดได้ สตรีบางรายจะมีอาการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด หรือถุงน้ำคร่ำแตกก่อนเจ็บครรภ์คลอด หากมีอาการผิดปกติเหล่านี้ ก็ต้องรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล

แพทย์วินิจฉัยการติดเชื้อสเตรปโตคอคคัสกรุ๊ป บี ระหว่างตั้งครรภ์ได้อย่างไร?

ส่วนมากสตรีที่ติดเชื้อ GBS จะไม่มีอาการ ดังนั้นแพทย์จึงมักวินิจฉัยได้จากการตรวจปัสสาวะตามปกติในกระบวนการฝากครรภ์ แต่หากสตรีมีครรภ์มีอาการผิดปกติดังที่กล่าวมา จะมีการตรวจเพิ่มเติม คือ

  • การเพาะเชื้อจากปัสสาวะกรณีหากตรวจพบความผิดปกติในการตรวจปัสสาวะ หรือเมื่อมีปัสสาวะแสบขัด
  • การเพาะเชื้อจากช่องคลอดและก้น หากมีปัจจัยเสี่ยงต่างๆตามที่กล่าวมาข้างต้นใน ’หัวข้อ ปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้ทารกติดเชื้อ GBS’

การดูแลรักษาของแพทย์เป็นอย่างไร?

ในกรณีที่สตรีมีครรภ์มีการติดเชื้อ GBS และเกิดอาการปัสสาวะผิดปกติ หรือ ปอดอักเสบ/ปอดบวม แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะรักษาอาการนั้นๆ

หากสตรีตั้งครรภ์ไม่มีอาการผิดปกติ แต่มีความเสี่ยงที่จะทำให้ทารกติดเชื้อ GBS (ดังได้กล่าวแล้วในข้อ ปัจจัยเสี่ยงของทารกต่อการติดเชื้อ) แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะเข้าหลอดเลือดดำ เช่น Ampicillin 2 กรัม ทันที และอีก 1 กรัมทุก 4 ชั่วโมงจนกว่าจะคลอด

การป้องกันไม่ให้ทารกเกิดการติดเชื้อสเตรปโตคอคคัสกรุ๊ป บี?

หากสตรีตั้งครรภ์ ถูกตรวจพบว่าเป็นพาหะโรค คือ มีเชื้อ GBS ในตัวสตรีเอง แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะระหว่างคลอด เพื่อลดการติดเชื้อ GBS ต่อมารดาและต่อทารก และหากมีถุงน้ำคร่ำแตกต้องรีบไปโรงพยาบาล เพื่อแพทย์จะได้ให้ยาปฏิชีวนะได้อย่างรวดเร็ว

หากครรภ์แรก เกิดติดเชื้อสเตรปโตคอคคัสกรุ๊ป บี ระหว่างตั้งครรภ์แล้ว ครรภ์ที่สองจะเกิดไหม?

หากครรภ์แรกเกิดติดเชื้อสเตรปโตคอคคัสกรุ๊ป บี ระหว่างตั้งครรภ์ ครรภ์ต่อมา มีโอกาสเกิดการติดเชื้อนี้ซ้ำค่อนข้างสูง เพราะแสดงว่ามารดาน่าจะมีเชื้อ GBS อยู่ในช่องคลอด

มีวิธีที่จะป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อสเตรปโตคอคคัสกรุ๊ป บี ระหว่างตั้งครรภ์หรือไม่?

ปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีป้องกันการติดเชื้อ GBS ระหว่างตั้งครรภ์

บรรณานุกรม

  1. https://americanpregnancy.org/pregnancy-complications/group-b-strep-infection/ [2019,Dec14]
  2. https://www.uptodate.com/contents/group-b-streptococcal-infection-in-pregnant-women [2019,Dec14]
  3. https://www.cedars-sinai.org/health-library/diseases-and-conditions---pediatrics/g/group-b-streptococcus-infection-in-newborns.html [2019,Dec14]