การตัดปากมดลูกเป็นรูปกรวย (Cervical conization)
- โดย รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิง ประนอม บุพศิริ
- 19 มีนาคม 2561
- Tweet
สารบัญ
- การตัดปากมดลูกเป็นรูปกรวยคืออะไร?
- สตรีใดมีความจำเป็นต้องตัดปากมดลูกเป็นรูปกรวย?
- เตรียมตัวก่อนตัดปากมดลูกเป็นรูปกรวยอย่างไร?
- ขั้นตอนการตัดปากมดลูกเป็นรูปกรวยเป็นอย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไรหลังการตัดปากมดลูกเป็นรูปกรวย?
- ต้องกลับมาพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?
- ภาวะแทรกซ้อนของการตัดปากมดลูกเป็นรูปกรวยมีอะไรบ้าง?
- สามารถป้องกันการตัดปากมดลูกเป็นรูปกรวยได้หรือไม่?
- หลังผ่าตัดปากมดลูกเป็นรูปกรวยสามารถตั้งครรภ์ได้หรือไม่?
- ทารกที่เกิดหลังจากตัดปากมดลูกเป็นรูปกรวยมีปัญหาหรือไม่?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- มะเร็งปากมดลูก (Cervical cancer)
- ภาวะเซลล์ปากมดลูกเจริญผิดปกติ (Cervical dysplasia)
- แป๊บสเมียร์: การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก (Pap- smear หรือ Pap test)
- มะเร็งระยะศูนย์ (Stage 0 cancer)
- การตัดปากมดลูกด้วยห่วงไฟฟ้า (Loop electrosurgical excision procedure –LEEP)
- การส่องกล้องปากมดลูกด้วยคอลโปสโคป (Colposcopy)
- การแท้งบุตร (Miscarriage)
- คลอดก่อนกำหนด (Preterm labor)
- มดลูกทะลุ (Uterine perforation)
การตัดปากมดลูกเป็นรูปกรวยคืออะไร?
การตัดปากมดลูกเป็นรูปกรวย(Cervical conization หรือ Conization of cervix)เป็นหัตถการอย่างหนึ่งทางนรีเวช มีความหมายตรงตามชื่อที่เรียก คือตัดเนื้อบริเวณปากมดลูกเป็นรูปกรวย เพื่อให้ได้ชื้นเนื้อมากพอที่จะใช้วินิจฉัยความผิดปกติที่ปากมดลูก โดยใช้มีดตัดปากมดลูก(Cold knife conization)ครอบคลุมบริเวณรอยต่อของเซลล์ 2 ชนิดที่ปากมดลูก(Squamo-columnar junction) ซึ่งจะเป็นฐานของรูปกรวย ตัดเข้าไปจนถึงคอปากมดลูกด้านใน(Endocervical cervix) ที่เป็นยอดรูปกรวย ซึ่งการตัดปากมดมูกเป็นรูปกรวยสามารถใช้ในการรักษาภาวะมีเซลล์ผิดปกติของปากมดลูก(ภาวะเซลล์ปากมดลูกเจริญผิดปกติ)ได้ และนอกจากนี้ยังใช้เพื่อเป็นวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งปากมดลูกชนิดที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า(มะเร็งระยะศูนย์)หรือไม่ การตัดปากมดลูกเป็นรูปกรวยสามารถตัดได้หลายวิธี เช่น ตัดด้วยมีด ด้วยแสงเลเซอร์ หรือด้วยการจี้ตัดด้วยไฟฟ้า(LEEP)
อนึ่ง บทความนี้จะกล่าวเฉพาะ “การตัดปากมดลูกเป็นรูปกรวยด้วยมีด”เท่านั้น
สตรีใดมีความจำเป็นต้องตัดปากมดลูกเป็นรูปกรวย?
การตัดปากมดลูกเป็นรูปกรวยด้วยมีด ปัจจุบันทำกันลดลง ส่วนมากจะทำการตัดปากมดลูกด้วยขดลวดไฟฟ้า/LEEP(การตัดปากมดลูกด้วยห่วงไฟฟ้า) อย่างไรก็ตาม การตัดปากมดลูกเป็นรูปกรวยด้วยมีด ยังมีความจำเป็นในกรณีดังต่อไปนี้ คือ
1. เพื่อการวินิจฉัยโรค ทำในกรณีต่อไปนี้
- เมื่อตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก(Pap smear) แล้วพบเซลล์ปากมดลูกผิดปกติในกรณีชนิดHigh-grade squamous intraepithelial lesions (HSIL) or Low-grade squamous intraepithelial lesions (LSIL) โดยที่แพทย์มองไม่เห็นรอยโรคที่ปากมดลูกได้ชัดเจนด้วยตาเปล่า ในกรณีที่ไม่สามารถทำ LEEP ได้
- เมื่อแพทย์ทำการส่องตรวจปากมดลูกด้วยกล้อง Colposcopy แล้วแต่ไม่สามารมองเห็นเซลล์/ตำแหน่งปากมดลูกที่เรียกว่า Transformation zone ได้ครบวงทั้งหมด หรือรอยแผลที่ปากมดลูกที่แพทย์พบ มีขนาดใหญ่มาก
- เมื่อทำการตัดชิ้นเนื้อที่ปากมดลูกแบบตัดเป็นชิ้นเล็ก(Punch biopsy) แล้วพบเป็นมีมะเร็งระยะลุกลามเล็กน้อย(Minimal invasive carcinoma) ต้องมีการตัดชิ้นเนื้อที่ใหญ่ขึ้นเพื่อดูการลุกลามที่ชัดเจน
- ผลจากการตรวจทางเซลล์วิทยามีความแตกต่างจากผลการตรวจจากการตัดชิ้นเนื้อที่ปากมดลูกแบบชิ้นเล็ก
2. สามารถใช้เป็นการรักษาได้พร้อมกับการวินิจฉัยโรค ในกรณีที่มีความผิดปกติของเซลล์ปากมดลูกในระยะก่อนมะเร็ง(โรคมะเร็งระยะศูนย์)
เตรียมตัวก่อนตัดปากมดลูกเป็นรูปกรวยอย่างไร?
การเตรียมตัวก่อนการตัดปากมดลูกเป็นรูปกรวย คือ การตัดปากมดลูกเป็นรูปกรวย เป็นหัตถการที่ตัดเนื้อชิ้นใหญ่กว่าการทำ LEEP (Loop electrosurgical procedure) มีโอกาสเสียเลือดมากกว่า ต้องทำในห้องผ่าตัด ดังนั้นแพทย์จะนัดผู้ป่วยให้นอนโรงพยาบาลก่อนเพื่อเตรียมผ่าตัด ผู้ป่วยต้องไปตามแพทย์นัด มีการงดน้ำงดอาหารก่อนผ่าตัด 6 ชั่วโมง แพทย์มักให้ยาระงับความรู้สึกโดยการฉีดยาเข้าน้ำไขสันหลัง เพื่อให้ผู้ป่วยเกิดอาการชาระดับใต้สะดือลงไป
ขั้นตอนการตัดปากมดลูกเป็นรูปกรวยเป็นอย่างไร?
โดยทั่วไป ขั้นตอนการตัดปากมดลูกเป็นรูปกรวย ได้แก่
1. วิสัญญีแพทย์จะทำการฉีดยาชาเข้าบริเวณน้ำไขสันหลัง ทำให้ร่างกายส่วนล่างเกิดอาการชาตั้งแต่ระดับต่ำกว่าสะดือลงไป หรืออาจจำเป็นต้องดมยาสลบ
2. ผู้ป่วยจะถูกจัดให้นอนในท่าขึ้นขาหยั่ง แพทย์/พยาบาลจะทำความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศและช่องคลอดผู้ป่วย
3. แพทย์ทำการตรวจภายใน จากนั้นใส่เครื่องมือเพื่อถ่างช่องคลอด
4. ทาน้ำยา Lugol solution(สารไอโอดีนที่อยู่ในรูปสารละลาย) ที่ปากมดลูก เพื่อทำให้เห็นรอยโรคชัดเจนขึ้น
5. แพทย์ทำการตัดปากมดลูกเป็นรูปกรวย เพื่อส่งตรวจชิ้นปากมดลูกที่ถูกตัดอกเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา จากนั้นทำการเย็บปากมดลูก และตรวจสอบจุดเลือดออก
6. ทำการขูดมดลูกที่บริเวณคอมดลูก (Endocervical curettage) และส่งตรวจชิ้นเนื้อที่ขูดได้ทางพยาธิวิทยาเช่นกัน
7. หลังผ่าตัด ผู้ป่วยจะได้นอนพักรักษาตัว 1-2 วันที่โรงพยาบาล หากไม่มีภาวะแทรกซ้อน(ผลข้างเคียง) แพทย์จะอนุญาตให้ผู้ป่วยกลับบ้านได้ และนัดมาตรวจติดตามการรักษา และฟังผลชิ้นเนื้อที่ตัดออกไปในระยะเวลาต่างกันตามข้อปฏิบัติของแต่ละโรงพยาบาล เช่น 2-4 สัปดาห์หลังออกจากโรงพยาบาล เป็นต้น
ดูแลตนเองอย่างไรหลังการตัดปากมดลูกเป็นรูปกรวย?
หลังจากตัดปากมดลูกเป็นรูปกรวย แพทย์จะให้ผู้ป่วยนอนพักโนโรงพยาบาลอีก 1-2 วัน หากผู้ป่วยไม่มีอาการผิดปกติ แพทย์จะให้ผู้ป่วยกลับไปพักผ่อนที่บ้าน ผู้ป่วยอาจมีเลือดออกทางช่องคลอดเล็กน้อยได้ประมาณ 1 สัปดาห์ ซึ่งการปฏิบัติตัวช่วง 4-6 สัปดาห์แรกหลังการทำการตัดปากมดลูก แนะนำดังนี้
1. ห้ามสวนล้างช่องคลอด
2. หลีกเลี่ยงการยกของหนัก
3. หลีกเลี่ยงการใช้ผ้าอนามัยแบบสอด
4. งดมีเพศสัมพันธ์ เพื่อลดโอกาสเกิดเลือดออกจากแผลผ่าตัด และ/หรือการติดเชื้อที่รอยแผลผ่าตัดที่ปากมดลูก(ปากมดลูกอักเสบ)
5. ต้องกลับไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเพื่อฟังผลชิ้นเนื้อที่ตัดออกไปตามกำหนดที่แพทย์นัด ซึ่งทั่วไปจะประมาณ 2-4 สัปดาห์หลังผ่าตัด เพื่อดูผลชิ้นเนื้อว่าผิดปกติมากน้อยเพียงใด และ การตัดปากมดลูกรูปกรวยเพียงพอต่อการวินิจโรคหรือรักษาโรคที่ปากมดลูกหรือไม่
ต้องกลับมาพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?
ผู้ป่วยต้องรีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ
1. มีเลือดออกทางช่องคลอดมาก
2. ตกขาวผิดปกติ มีกลิ่นเหม็น
3. มีไข้
4. ปวดท้อง ปวดท้องน้อย
ภาวะแทรกซ้อนของการตัดปากมดลูกเป็นรูปกรวยมีอะไรบ้าง?
ภาวะแทรกซ้อนของการตัดปากมดลูกเป็นรูปกรวย ได้แก่
ก. ภาวะแทรกซ้อนระยะสั้นภายในประมาณ 1 เดือนหลังผ่าตัด: เช่น
1. เลือดออกมากทางช่องคลอดโดยออกจากแผลผ่าตัด
2. ติดเชื้อที่ปากมดลูก(ปากมดลูกอักเสบ) และทำให้มีเลือดออก และ/หรือตกขาวมีกลิ่นเหม็น
3. มีการติดเชื้อจากปากมดลูกลุกลามเข้าไปในอุ้งเชิงกราน(การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน)
4. มดลูกทะลุจากที่ตัดปากมดลูกมากหรือลึกเกินไป ซึ่งต้องรีบรักษาโดยการผ่าตัดมดลูกโดยเร็ว
ข. ภาวะแทรกซ้อนระยะยาวที่เกิดขึ้นหลัง 1-3เดือนหลังผ่าตัด: เช่น
1. รูปากมดลูก/ปากมดลูกตีบ ทำให้ประจำเดือนไหลออกมาลำบาก ทำให้ปวดประจำเดือนมาก หรือปวดท้องน้อยเรื้อรัง
2. รูปากมดลูกตีบแคบ ทำให้มีภาวะมีบุตรยาก
3. รูปากมดลูก/ปากมดลูกปิดไม่สนิท สามารถเกิดขึ้นได้หลังจากการตัดปากมดลูกเป็นรูปกรวย ทำให้มีโอกาสแท้งบุตร หรือคลอดก่อนกำหนดได้ง่าย
สามารถป้องกันการตัดปากมดลูกเป็นรูปกรวยได้หรือไม่?
การป้องกันการตัดปากมดลูกเป็นรูปกรวย ต้องป้องกันตั้งแต่ต้นเหตุให้ไม่มีเซลล์ปากมดลูกเจริญผิดปกติ ซึ่งคือ การป้องกันการติดเชื้อเอชพีวีอวัยวะเพศหญิงนั่นเอง ได้แก่
1. หลีกเลี่ยงการมีคู่นอนหลายคน
2. ใช้ถุงยางอนามัยชายขณะมีเพศสัมพันธ์ทุกครั้ง
3. ต้องหมั่นตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกทุกปี หรือบ่อยตามคำแนะนำของแพทย์
4. ฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อเอชพีวี ตามแพทย์แนะนำ
หลังจากตัดปากมดลูกเป็นรูปกรวยสามารถตั้งครรภ์ได้หรือไม่?
หลังผ่าตัดปากมดลูกเป็นรูปกรวย ผู้ป่วยสามารถตั้งครรภ์ได้หลังการผ่าตัดผ่าน 4-6 สัปดาห์ไปแล้ว โดยต้องรอฟังผลชิ้นเนื้อที่ตัดออกไปก่อนว่า มีความผิดปกติหรือไม่ หากมีความผิดปกติ ต้องรับการรักษาความผิดปกตินั้นๆก่อน แต่หากไม่มีความผิดปกติหรือมีความผิดปกติเพียงเล็กน้อย แพทย์จะนัดทำการตรวจปากมดลูกเป็นระยะๆ
ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรต้องปรึกษาแพทย์ล่วงหน้าเพื่อวางแผนตั้งครรภ์เสมอ เพราะต้องระวังการเกิดภาวะปากมดลูกปิดไม่สนิท(Cervical insufficiency)ในขณะตั้งครรภ์ ซึ่งทำให้เสี่ยงต่อการแท้งบุตรหรือต่อการคลอดก่อนกำหนด หรือมีภาวะแท้งบ่อยๆ(แท้งซ้ำ) ซึ่งแพทย์จะมีการเย็บปากมดลูก( Cervical cerclage) หรือใส่ห่วงพยุงปากมดลูก(Cervical pessary)เพื่อดันบริเวณปากมดลูกเพื่อป้องกันการแท้งหรือการคลอดก่อนกำหนดเมื่อมีการตั้งครรภ์
อนึ่ง สำหรับวิธีในการคุมกำเนิดหลังการตัดปากมดลูกรูปกรวย สามารถใช้ได้ทุกวิธี แนะนำอ่านเพิ่มเติมเรื่องวิธีคุมกำเนิดได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง
- การคุมกำเนิด และเรื่อง
- การวางแผนครอบครัว
ทารกที่เกิดหลังจากตัดปากมดลูกเป็นรูปกรวยมีปัญหาหรือไม่?
ปัญหาของทารกที่คลอดจากมารดาผ่าตัดปากมดลูกเป็นรูปกรวย จะขึ้นกับอายุครรภ์ที่คลอดมากกว่า ยิ่งคลอดก่อนกำหนดมาก ทารกจะยิ่งมีปัญหามาก