การตรวจร่างกาย (Physical examination)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 30 พฤษภาคม 2562
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ
- การตรวจร่างกายมีประโยชน์และโทษอย่างไร?
- อะไรเป็นข้อบ่งชี้เพื่อตรวจร่างกาย?
- มีข้อห้าม/มีโทษในการตรวจร่างกายไหม?
- การตรวจร่างกายต้องมีการเตรียมตัวอย่างไร?
- การตรวจร่างกายมีขั้นตอนและวิธีการอย่างไร?
- ทราบผลการตรวจร่างกายเมื่อไหร่?
- สรุป
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- สัญญาณชีพ (Vital sign)
- การตรวจภายใน (Per vaginal examination)
- การตรวจตา การตรวจสุขภาพตา (Eye examination)
- การตรวจทางหูคอจมูก การตรวจทางอีเอ็นที (Clinical examination of Ear Nose Throat or Clinical ENT examination)
- การตรวจทางทวารหนัก (Rectal examination)
- วิธีตรวจวินิจฉัยโรคระบบประสาท ตอน1:การตรวจร่างกาย (Neurological Examination)
- วิธีตรวจวินิจฉัยโรคระบบประสาท ตอน2:การสืบค้นโรค (Neurological investiga tion)
บทนำ
การตรวจร่างกาย (Physical examination หรือ Medical examination หรือ Clinical examination) คือ ขั้นตอนสำคัญขั้นตอนหนึ่งที่แพทย์ปฏิบัติเพื่อใช้ช่วยในการวินิจฉัยโรค ทั้งนี้ การตรวจร่างกายมักดำเนินการหลังจากแพทย์ ได้สอบถามประวัติอาการต่างๆของผู้ป่วยแล้ว เช่น ประวัติการเจ็บป่วยในปัจจุบัน ประวัติการเจ็บป่วยในอดีต ประวัติการเจ็บป่วยในครอบครัว ประวัติประจำเดือน การตั้งครรภ์ และการมีบุตร ในผู้หญิง และประวัติการใช้ยาต่างๆ รวมทั้งประ วัติการแพ้ยา และแพ้อาหารหรือแพ้สิ่งต่างๆ
ทั้งนี้ การตรวจร่างกายและผลที่ได้จากการตรวจร่างกาย แพทย์จะบันทึกไว้ในเวชระ เบียนเสมอ เพราะนอกจากเป็นข้อมูลสำคัญของผู้ป่วยในการช่วยวินิจฉัยโรค (Diagnosis) แล้ว ยังช่วยในการวินิจฉัยแยกโรค (Differential diagnosis) ต่างๆด้วย เช่น ถ้ามี ไข้ ไอ แต่การตรวจฟังปอดจากตรวจร่างกายไม่พบความผิดปกติ แพทย์ก็สามารถแยกโรคได้ในระดับหนึ่งว่า น่าเป็นการติดเชื้อเฉพาะระบบทางเดินหายใจตอนบน ยังไม่มีการติดเชื้อในปอด เป็นต้น นอก จากนั้น ยังใช้ช่วยประเมินวิธีรักษา ช่วยติดตามผลการรักษา และประเมินสุขภาพโดยรวมของผู้ ป่วยเพื่อการดูแลรักษาผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสม
การตรวจร่างกายมีประโยชน์และโทษอย่างไร?
การตรวจร่างกายเป็นการตรวจพื้นฐานควบคู่กันไปกับการสอบถามอาการผู้ป่วย เป็นการตรวจที่มีประโยชน์มาก เพราะ
- ช่วยการวินิจฉัยโรค
- ช่วยการวินิจฉัยแยกโรค (ดังกล่าวแล้วใน บทนำ)
- ช่วยประเมินผลการรักษา
- และช่วยในการติดตามผลการรักษา
ซึ่งการตรวจร่างกาย มีค่าใช้จ่ายในการตรวจต่ำมาก ไม่ต้องใช้เทคโนโลยีที่ยุ่งยากและมีราคาสูง แพทย์ทุกคนสามารถทำได้ นอกจากนั้นแพทย์ยังใช้เป็นแนวทางช่วยในการส่งตรวจอื่นๆเพิ่มเติม (การสืบค้น, Investigation) ที่เป็นการตรวจที่จะช่วยยืนยันให้การวินิจฉัยโรคแม่นยำขึ้น เช่น ถ้าแพทย์ตรวจจากหูฟัง พบมีเสียงผิดปกติในปอด แพทย์จะส่งตรวจภาพปอดด้วยเอกซเรย์ เพื่อจะช่วยยืนยันการวินิจฉัยว่า มีรอยโรคหรือพยาธิสภาพอะไรเกิดขึ้นในปอดบ้าง ซึ่งจะช่วยให้การวินิจฉัยและการรักษาโรคถูกต้องและมีประสิทธิภาพเหมาะสมสำหรับผู้ป่วย
การตรวจร่างกาย เป็นการตรวจที่ไม่มีโทษ ไม่มีผลข้างเคียง ตรวจได้ในทุกเพศ ทุกวัย ตั้งแต่ทารกแรกเกิดไปจนถึงผู้สูงอายุ ไม่จัดเป็นหัตถการ และสามารถให้การตรวจได้ในทุกสถานที่ โดยอาจมี อุปกรณ์ช่วยตรวจพื้นฐาน เช่น
- หูฟัง (Stethoscope)
- ปรอทวัดไข้
- และเครื่อง วัดความดันโลหิต อย่างไรก็ตาม
ในบางกรณีที่เป็นการตรวจคลำ อาจทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการเจ็บได้บ้าง แต่ไม่มาก และอาการจะหายได้เองโดยไม่ต้องมีการรักษาภายใน 2-3 นาทีหลังตรวจ เช่น การตรวจคลำช่องท้อง การตรวจทางทวารหนัก หรือ การตรวจภายใน เป็นต้น
อะไรเป็นข้อบ่งชี้เพื่อตรวจร่างกาย?
ข้อบ่งชี้สำหรับการตรวจร่างกาย คือ ตรวจในผู้ป่วยทุกคนที่มีอาการผิดปกติ เพื่อช่วยใน
- การวินิจฉัยโรค
- วินิจฉัยแยกโรค
- ประเมินผลการรักษา
- ติดตามผลการรักษา
- และประเมินสุขภาพผู้ป่วย
มีข้อห้าม/มีโทษในการตรวจร่างกายไหม?
ไม่มีข้อห้ามสำหรับการตรวจร่างกาย แต่เป็นสิ่งที่แพทย์ตรวจในผู้ป่วยที่มีอาการผิดปกติต่างๆเพื่อช่วยการวินิจฉัยโรค วินิจฉัยแยกโรค ประเมินผลการรักษา ติดตามผลการรักษา และประเมินสุขภาพผู้ป่วย
การตรวจร่างกายต้องมีการเตรียมตัวอย่างไร?
ไม่จำเป็นต้องมีการเตรียมตัวล่วงหน้าสำหรับการตรวจร่างกาย แพทย์สามารถตรวจร่าง กายผู้ป่วยได้เลยที่ห้องตรวจผู้ป่วยนอก และสามารถให้การตรวจได้กับ ทุกเพศ ทุกวัย ทั้งผู้ป่วยทั่วไป ผู้ป่วยหนัก และผู้ป่วยฉุกเฉิน
แต่ในบางครั้ง ในบางโรงพยาบาล กรณีเป็นผู้ป่วยทั่วไปที่เป็นผู้ป่วยโรคเฉพาะทางที่ไม่ ใช่ผู้ป่วยหนัก มักให้ผู้ป่วยมีการเปลี่ยนเสื้อผ้าเป็นเสื้อผ้าของโรงพยาบาลก่อน เพื่อความสะดวกในการตรวจร่างกายของแพทย์ ซึ่งบางครั้ง อาจให้เปลี่ยนเสื้อผ้าเฉพาะส่วน เช่น จากกางเกงเป็นผ้าถุง (ของโรงพยาบาล) กรณีมีการตรวจภายใน หรือเปลี่ยนเฉพาะเสื้อ กรณีเป็นผู้ป่วยโรคปอดและ/หรือโรคหัวใจ เป็นต้น
การตรวจร่างกายมีขั้นตอนและวิธีการอย่างไร?
การตรวจร่างกาย จะอาศัยหลัก 4 ประการ คือ การดู (Inspection) การคลำ (palpation) การเคาะ (Percussion) และการฟัง (Auscultation)
- การดู (Inspection) คือ การตรวจโดยใช้สายตา โดยแพทย์จะดูผู้ป่วยทั้งตัว เช่น ลักษณะการเดิน นั่ง ยืน เคลื่อนไหว สีของใบหน้า เล็บ ผิวหนัง เป็นต้น ซึ่งจะเป็นตัวช่วยบอกโรค (เช่น โรคอัมพาต) และ/หรือ สุขภาพร่างกายผู้ป่วย (เช่น ไม่แข็งแรงกรณีต้องมีคนช่วยพยุงเดิน เป็นต้น)
- การคลำ (palpation) โดยใช้ นิ้วมือ และ/หรือ ฝ่ามือ คลำตามส่วนต่างๆของร่างกายผู้ ป่วย เพื่อตรวจหา ก้อนเนื้อ ขนาดอวัยวะ ความนุ่ม แข็ง เกร็ง และอาการเจ็บปวด เป็นต้น เช่น คลำช่องท้อง คลำต่อมน้ำเหลือง คลำเต้านม
- การเคาะ (Percussion) แพทย์จะวางมือหนึ่งบนตำแหน่งที่ต้องการตรวจ แล้วใช้นิ้วมืออีกข้างเคาะบนหลังมือของแพทย์ข้างที่วางอยู่บนอวัยวะผู้ป่วย เพื่อตรวจรับการสะท้อนของเสียง ดูลักษณะและ/หรือขนาดของอวัยวะนั้นๆ เช่น การเคาะปอด การเคาะช่องท้องดูปริมาณแก๊สในลำไส้ เป็นต้น
- การฟัง (Auscultation) โดยการได้ยินเสียง เช่น เสียงพูดของผู้ป่วยแหบผิดปกติ หรือ เหมือนอมอะไรอยู่ และโดยการใช้หูฟัง (Stethoscope) เช่น ใช้หูฟัง ฟังเสียงการหายใจของปอด หรือฟังเสียงการเคลื่อนไหวของลำไส้ในการฟังที่ช่องท้องเป็นต้น
นอกจากนี้ การตรวจร่างกาย ยังแบ่งเป็น การตรวจทั่วไป (Systemic physical examina tion) และการตรวจเฉพาะที่ (Specific organ examination)
ก. “การตรวจร่างกายทั่วไป” (Systemic physical examination) คือ การตรวจร่างกายพื้นฐานที่ตรวจในผู้ป่วยทุกคน โดยตรวจดูลักษณะภายนอกของผู้ป่วย เช่น การเดิน อ้วน ผอม ซีด บวม การตรวจปอดด้วยหูฟัง และการตรวจคลำช่องท้อง
ข. “การตรวจเฉพาะที่” (Specific organ examination) คือ การตรวจเฉพาะบางผู้ป่วยที่มีอาการเฉพาะที่ ในตำแหน่ง และ/หรือ อวัยวะ และ/หรือในระบบที่ผู้ป่วยมีอาการ เช่น
- ตรวจช่องปากและคำคอ เมื่อเจ็บคอ
- ตรวจทางหูคอจมูก เมื่อมีอาการทางหูคอจมูก
- ตรวจตา เมื่อมีอาการทางการมองเห็น
- ตรวจภายในเมื่อมีอาการตกขาวหรือมีความผิดปกติของประจำเดือน
- ตรวจทางทวารหนักกรณีอุจจาระเป็นเลือด
- และตรวจรีเฟล็กซ์ต่างๆเมื่อมีความผิดปกติในระบบประสาท เป็นต้น
ทั้งนี้ไม่มีขั้นตอนที่ซับซ้อนในการตรวจร่างกาย อาจมีการใช้เครื่องมือช่วยบ้าง แต่เป็นเครื่องมือที่ไม่ซับซ้อน ไม่มีอันตราย ไม่มีผลข้างเคียง และไม่เจ็บ เช่น หูฟัง และอุปกรณ์ช่วยการตรวจรีเฟล็กซ์ที่เป็นค้อนยางเล็กๆ
ในบทนี้ จะกล่าวถึงเฉพาะ “การตรวจร่างกายทั่วไป” เท่านั้น ส่วนการตรวจเฉพาะที่ได้แยกเขียนต่างหากในแต่ละบทความอื่นๆที่เกี่ยวข้องในเว็บ haamor.com
ทั้งนี้ ขั้นตอนและวิธีในการตรวจร่างกายทั่วไป เป็นดังนี้ คือ
- พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเมื่อมีอาการผิดปกติ กรณีไม่ใช่ภาวะเร่งด่วน ควรแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่ ถอด สวมใส่ ได้ง่าย รวมทั้งรองเท้า
- เมื่อถึงโรงพยาบาล ทำประวัติที่แผนกทำประวัติ และรอพบแพทย์หน้าห้องตรวจ ถ้ามีระเบียบที่ต้องเปลี่ยนเสื้อผ้า เจ้าหน้าที่จะให้ไปเปลี่ยนเสื้อผ้าก่อนในห้องที่จัด เตรียมไว้ให้ และมักแนะนำให้ผู้ป่วยไปเข้าห้องน้ำให้เรียบร้อย
- บริเวณหน้าห้องตรวจ เจ้าหน้าที่หรือพยาบาลอาจสอบถามประวัติอาการผู้ป่วยในเบื้องต้น เพื่อการจัดคิวตรวจที่เหมาะสม ชั่งน้ำหนัก บางโรงพยาบาล หรือในคลิ นิกโรคเฉพาะทาง อาจมีการวัดส่วนสูง ชั่งน้ำหนัก และมีการตรวจวัดสัญญาณชีพ (ชีพจร อุณหภูมิ อัตราการหายใจ และความดันโลหิต) หลังจากนั้นรอพบแพทย์ตามคิว
- เมื่อพบแพทย์ แพทย์จะตรวจสอบประวัติเบื้องต้นจากเวชระเบียน ซึ่งรวมทั้งสัญ ญาณชีพ สอบถามอาการและประวัติทางการแพทย์เพิ่มเติม หลังจากนั้น จะตรวจร่างกายผู้ป่วย ถ้าเป็นการตรวจทั้งตัว พยาบาล/ผู้ช่วยแพทย์จะช่วยจัดให้ผู้ป่วยนอนเตียง หรือกรณีเป็นการตรวจเฉพาะส่วนบนของร่างกาย เช่น กรณีทั่วไปของผู้ป่วยทาง หู คอ จมูก ตา หรือปอด การตรวจโดยผู้ป่วยจะอยู่ในท่านั่งบนเก้าอี้ที่อยู่ในห้องตรวจ
- การตรวจจะเริ่มที่จุดไหนก่อน ขึ้นอยู่กับความชำนาญของแพทย์แต่ละท่าน บางท่านเริ่มตรวจทั้งตัวก่อน โดยเริ่มจากศีรษะ ลำคอลงไปถึงเท้า แล้วตามด้วยการตรวจตำแหน่งที่ผู้ป่วยมีอาการ บางท่านเริ่มตรวจในตำแหน่งที่ผู้ป่วยมีอาการก่อน ต่อจากนั้นจึงตรวจส่วนอื่นๆของร่างกาย
- เมื่อตรวจร่างกายเสร็จ แพทย์จะบอกว่าตรวจเสร็จแล้ว พยาบาล/ผู้ช่วยแพทย์จะช่วยให้ผู้ป่วยลงมาจากเตียง หรือ กลับมานั่งเก้าอี้ที่ใช้นั่งพูดคุยกับแพทย์
- แพทย์จะพูดคุยกับผู้ป่วย แจ้งว่าน่าจะเป็นโรคอะไร จำเป็นต้องตรวจอะไรเพิ่มเติม หรือสามารถรักษาสั่งยาได้เลย หรือไม่จำเป็นต้องสั่งยา บอกวันนัด (ถ้ามี) และให้ผู้ป่วยซักถามแพทย์ เมื่อผู้ป่วยเข้าใจดีแล้ว ก็เป็นอันเสร็จสิ้นการตรวจ
- ต่อจากนั้น ผู้ป่วยจะออกจากห้องตรวจ พบพยาบาลเพื่อรับใบนัดพบแพทย์ครั้งต่อไป หรือใบตรวจเพิ่มเติมต่างๆ
- กรณีมีการนัดตรวจเพิ่มเติม (การสืบค้น) ผู้ป่วยต้องไปยังแผนกต่างๆที่ต้องมีการนัดตรวจเพิ่มเติม เช่น เอกซเรย์ การตรวจเลือด เป็นต้น หลังจากนั้น จึงไปยังห้องยา และ/หรือห้องชำระเงิน เป็นอันครบกระบวนการตรวจร่างกาย ส่วนผลของการตรวจเพิ่มเติมต่างๆ แพทย์จะนัดผู้ป่วยอีกครั้งหลังได้รับผลการตรวจเพิ่มเติมนั้น
อนึ่ง
- ระหว่างการตรวจร่างกาย แพทย์จะมีผู้ช่วยแพทย์/พยาบาล ที่มักเป็นหญิงร่วมอยู่ด้วยเสมอ เพื่อคอยช่วยเหลือแพทย์ และเป็นระเบียบปฏิบัติของแพทย์สภาที่แนะนำไม่ให้แพทย์อยู่ตามลำพังกับผู้ป่วย
- ระหว่างตรวจร่างกาย ผู้ป่วยควรผ่อนคลาย ไม่ต้องกลัวจนเกร็งไปหมด วางมือทั้งสองข้างในตำแหน่งที่แพทย์แนะนำ หายใจเข้าออกตามปกติ เพราะการผ่อนคลาย ไม่เกร็ง จะช่วยเพิ่มความถูกต้องของการตรวจร่างกาย โดยเฉพาะในการคลำ
- ในระหว่างการตรวจร่างกาย แพทย์อาจมีการซักถามประวัติอาการ และ/หรือ ซัก ถามความรู้สึกผู้ป่วยขณะตรวจ เช่น เจ็บไหม? เจ็บมากไหม? เจ็บร้าวไปที่ใดบ้าง? เป็นต้น
- แพทย์บางท่านจะให้ญาติเข้าพบแพทย์พร้อมผู้ป่วย แต่ขณะตรวจ อาจมีม่านกั้นระ หว่างผู้ป่วยกับญาติ แต่แพทย์บางท่านจะพบผู้ป่วยและตรวจผู้ป่วยก่อน ต่อจากนั้นจึงพูดคุยอธิ บายกับญาติ ทั้งนี้ขึ้นกับแพทย์แต่ละท่าน
- ในการพบแพทย์ ผู้ป่วยควรต้องเตรียมคำถาม จดไว้ล่วงหน้า รวมทั้งชนิดยาที่รับ ประทานอยู่ และผลการตรวจจากโรงพยาบาลอื่นๆ (ถ้ามี) ทั้งนี้เพื่อพูดคุย สอบถามแพทย์ได้ รวดเร็ว ครบถ้วน ตามที่ผู้ป่วยกังวล สงสัย อยากรู้
ทราบผลการตรวจร่างกายเมื่อไหร่?
ผลการตรวจร่างกาย ทราบได้ทันทีจากแพทย์ หลังแพทย์ตรวจร่างกายเสร็จแล้ว ซึ่งแพทย์มักจะแจ้งให้ผู้ป่วยทราบว่า ผลตรวจปกติ หรือ ผิดปกติ หรือต้องตรวจอะไรเพิ่มเติม ซึ่งถ้าแพทย์ไม่บอก ผู้ป่วยสามารถสอบถามแพทย์ได้เสมอ
สรุป
การตรวจร่างกาย เป็นการตรวจพื้นฐาน ที่แพทย์ให้การตรวจในผู้ป่วยทุกคน ซึ่งเป็นการตรวจที่ง่าย ไม่ซับ ซ้อน ไม่มีผลข้างเคียง และผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องมีการเตรียมตัวล่วงหน้า เพื่อแพทย์ใช้ช่วยใน
- การวินิจฉัยโรค
- ประเมินผลการรักษา
- และติดตามผลการรักษา